posttoday

กินข้าวกะเหรี่ยงบ้านไร่ อุทัยธานี

23 มีนาคม 2562

คนข้างบน คือคำเรียกแทนชาวบ้านบ้านแก่นมะกรูดใน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

คนข้างบน คือคำเรียกแทนชาวบ้านบ้านแก่นมะกรูดใน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เพราะที่นี่เป็นชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตทำเกษตร และพยายามทำการท่องเที่ยว โดยมีตัวตั้งตัวตีอย่าง สีฟ้า กรึงไกรเกษตรกรและเจ้าของไร่สีฟ้า และพี่ชาย วินัย กรึงไกร ปราชญ์ชาวบ้านด้านวัฒนธรรม ที่ได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูงจ.อุทัยธานี (บ้านอีมาดอีทราย หมู่ 4 ต.แก่นมะกรูด) เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ภาษากะเหรี่ยงให้กับเด็กๆ ในชุมชน

วินัย กล่าวว่า ต.แก่นมะกรูด มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มากกว่าร้อยละ 80 ทุกคนยังใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายตามพื้นเพเดิมคือ อยู่กับป่า กินกับป่า

“ถ้าย้อนกลับไปสมัยที่ยังไม่ตั้งอุทัยธานี ชุมชนแรกที่อยู่อาศัยในตัวเมืองอุทัยฯ คือ กะเหรี่ยงกับมอญ แต่เมื่อเมืองเจริญขึ้น ชาวกะเหรี่ยงที่มีนิสัยไม่ชอบความวุ่นวาย ไม่ชอบอาศัยอยู่ไกลป่า จึงค่อยๆ อพยพขึ้นไปบนภูเขาจนถึงที่นี่

ปัจจุบันแก่นมะกรูดมีชุมชนกะเหรี่ยง 4 หมู่บ้าน อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแทบทั้งนั้น เราจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่สามารถใช้ทำกิน เพราะอยู่มานานก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ และมีข้อตกลงกันข้อหนึ่งว่า ห้ามคนนอกพื้นที่เข้ามาถือครอง ยึดถือ ที่นี่จึงไม่มีนายทุนเข้ามา”

ส่วนเรื่องสัญชาติไทย วินัย กล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงทุกคนมีบัตรประชาชน มีสิทธิเลือกตั้ง เด็กๆ มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษา แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงกลับกลายเป็นเรื่องการรักษารากเหง้า นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เขาก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูงแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อให้เด็กๆ ในหมู่บ้านมารวมตัวกันเรียนภาษากะเหรี่ยงและเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิม

“ที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่องของภาษา เพราะถ้าภาษาหายไปเราก็เหมือนคนไทยทุกอย่าง ซึ่งตอนนี้หมู่บ้านที่ไม่มีเจ้าวัดหรือผู้นำทางจิตวิญญาณจะมีความเสี่ยงที่วัฒนธรรมกะเหรี่ยงจะหายไปสูงมาก

จากสมัยก่อนคนกะเหรี่ยงพูดภาษาไทยไม่ชัด แต่ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่พูดภาษากะเหรี่ยงไม่ชัด และพบว่าเด็กหลายคนในหมู่บ้านอื่นพูดภาษากะเหรี่ยงไม่ได้เลย”

กินข้าวกะเหรี่ยงบ้านไร่ อุทัยธานี

แก่นมะกรูดมีชาวกะเหรี่ยงประมาณ 200 ครัวเรือน โดยคนรุ่นเก่าพยายามรักษาและส่งต่อประเพณีดั้งเดิมไว้ อย่างประเพณีไหว้เจดีย์ ค้ำต้นไทร ทำบุญข้าวใหม่ ซึ่งนอกจากการอนุรักษ์วัฒนธรรม ด้านน้องชายสีฟ้า ยังทดลองทำการท่องเที่ยวเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนในเรื่องการสร้างรายได้เสริมจากสิ่งที่ตัวเองมี

“เราทำท่องเที่ยวมาหลายปีแล้วแต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง” สีฟ้าเผย

“เพราะส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะมาแค่หน้าหนาว มาเก็บสตรอเบอร์รี่ ถ่ายรูป แล้วก็ไป พอเข้าหน้าร้อนก็ไม่มีใครมา แม้จะยังมีสตรอเบอร์รี่ให้เก็บก็ตามที”

หน้าแปลงสตรอเบอร์รี่มีจุดเช็กอินเขียนแฮชแท็กว่า “หนาวสุดกลางสยาม”นั่นเพราะแก่นมะกรูดถูกล้อมด้วยภูเขาและอยู่ใกล้ป่าใหญ่ห้วยขาแข้ง จึงได้รับอิทธิพลความหนาวเย็นจากธรรมชาติ กลายเป็นจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง (ตามการแบ่งเขตพื้นที่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ที่หนาวสูสีกับทางตอนบน

“นอกจากสตรอเบอร์รี่ผมยังปลูกผักเมืองหนาว มีบร็อกโคลี่ กะหล่ำหัวใจ เบบี้แครอตกรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก กะหล่ำปม หอมญี่ปุ่นซึ่งเราปลูกผักแบบปลอดภัย คือยังใช้สารเคมีในการเลี้ยงดู แต่ทิ้งระยะก่อนเก็บ ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยกับผู้บริโภค”

สีฟ้า ชวนกินสตรอเบอร์รี่แบบสดๆ จากต้น พร้อมอธิบายต่อว่า แก่นมะกรูดมีความสูง 500-700 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความหนาวเย็นมากในฤดูหนาว และยังมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นที่ด้านล่างตลอดทั้งปี ทำให้ปลูกผักเมืองหนาวได้บางชนิด ซึ่งเขาปลูกผักมานาน 5 ปี ยึดวิถีผักปลอดภัย จึงสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคจนมีลูกค้าประจำ

“ผมทำไป เรียนรู้ไป เหมือนการปลูกผักเมืองหนาวเป็นแปลงทดลองที่ผมอยากทำให้ชาวบ้านคนอื่นๆ เห็นว่าเราปลูกได้และขายได้ราคามากกว่าไร่อ้อย โดยผมเริ่มต้นจากความไม่รู้ แต่คนเราสามารถศึกษาเรียนรู้จากข้อมูลและการลงมือทำจริงได้

กินข้าวกะเหรี่ยงบ้านไร่ อุทัยธานี

อย่างกะหล่ำหัวใจ ผมเคยปลูกแล้วเสียหายเกือบหมด ส่งขายได้แค่ 30% แต่เพราะผมใช้วิธีทำเกษตรแบบผสมผสานตามทฤษฎีของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้ผมยังมีพืชผลอย่างอื่นเก็บขาย หรืออย่างน้อยครอบครัวผมก็ยังมีข้าวกิน ไม่อดตายเพราะเราปลูกหลายอย่างทั้งไว้ขายและเลี้ยงครอบครัว”

ครอบครัวกรึงไกรยังอาศัยกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีพื้นที่ทำกินประมาณ 30 ไร่ ปลูกทั้งข้าวไร่ สตรอเบอร์รี่ ผักเมืองหนาวมันสำปะหลัง และไม้ผล ต่างจากคนส่วนใหญ่ในชุมชนที่ทำไร่ข้าวโพดและไร่อ้อย

“หลังจากหมดฤดูสตรอเบอร์รี่ ช่วงหลังเดือน มี.ค.เป็นต้นไป ผมจะไถกลบแล้วปลูกมัน โดยเราจะปลูกเท่าที่เราทำไหวไม่จ้างใคร ทำชีวิตให้มันเรียบง่ายและพอเพียงที่สุด” สีฟ้า กล่าวเพิ่มเติม

วกกลับมาที่การท่องเที่ยวต่อว่านักท่องเที่ยวจะแห่มาเที่ยวแก่นมะกรูด เพราะมีอากาศหนาวและสตรอเบอร์รี่ (ที่จะออกลูกดกช่วงเดือน ก.พ.) แต่หลังจากนั้นเขาอยากชูจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง โดยเฉพาะอาหารการกินที่เป็นเรื่องใหม่และทุกคนอยากลอง

อย่างสำรับอาหารกลางวันที่มีแกงหยวกกล้วย น้ำพริกกะเหรี่ยงกินกับผักสลัดและผักพื้นบ้าน ผัดผักหวานป่า ทั้งหมดจะถูกจัดไว้ในกระบอกไม้ไผ่ กินกับข้าวไร่ร้อนๆที่ห่อมาในใบตอง

ส่วนเมนูของหวานจะได้ชิมข้าวยืด อาหารมงคลที่ชาวกะเหรี่ยงมักทำในงานบุญงานแต่งงาน ทำจากข้าวเหนียว งาดำ และเกลือนำไปตำให้เข้ากันในครกไม้ คนหนึ่งยกสากตำอีกคนคอยพลิกข้าวเหนียว รสชาติออกเค็ม หอมกลิ่นงา และสามารถเพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลอ้อย หรือถ้ารุ่นใหม่หน่อยก็กินกับนมข้นหวาน

“อาหารการกินสะท้อนวิถีชีวิตของเราได้ชัดเจนมาก เพราะเรากินผักที่ขึ้นในป่า กินผักที่ขึ้นตามรั้ว ในแต่ละมื้อจะไม่ค่อยมีเนื้อสัตว์เพราะมีอะไรก็กินแบบนั้น ไม่ต้องลงไปซื้อวัตถุดิบในตลาด เพราะเรามีตลาดสดอยู่หน้าบ้านเราเอง” วินัย กล่าวเสริม

กินข้าวกะเหรี่ยงบ้านไร่ อุทัยธานี

ตอนนี้ที่ไร่สีฟ้ามีโฮมสเตย์ให้บริการ2 หลัง คิดค่าใช้จ่ายหลังละ 1,000 บาทพักได้ 4 คน รวมข้าวต้มตอนเช้า หากใครต้องการดื่มด่ำวัฒนธรรม วินัยจะจัดกิจกรรมตำข้าวยืด หุงข้าวในกระบอกไม้ไผ่ ทำกับข้าวพื้นบ้าน และการทำไร่ทำสวนให้ชุดใหญ่ โดยคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มคนละ500 บาท

นอกจากนี้ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ สีฟ้าและภรรยาจะขับรถไปขายพืชผักที่ ตลาดซาวไฮ่ บ้านไฮ่ บ้านเฮา ตลาดนัดวันหยุด ตั้งอยู่บนพื้นราบด้านล่างแก่นมะกรูดเป็นตลาดที่ให้ชาวบ้านและคนจากจังหวัดใกล้เคียงมาขายสินค้าที่ดี คือ อาหารปลอดสารพิษ อาหารปลอดภัย อาหารที่ดีต่อร่างกาย และสินค้าที่ผลิตในชุมชน เปิดตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น

ได้นั่งแวะดื่มกาแฟดริปร้านเดียวในตลาด เจ้าของร้านเป็นบาริสต้ามีอาชีพทำเกษตรวันธรรมดา ส่วนวันหยุดสุดสัปดาห์มาขายกาแฟ เขาเล่าไปพลางว่า ตลาดแห่งนี้เปิดมานาน 4 ปี เจ้าของที่ดินเป็นคนบ้านไร่ที่ต้องการสร้างศูนย์รวมของอาหารที่ดีและปลอดภัย และต้องการสร้างพื้นที่ขายสินค้าให้ชาวบ้านนำพืชผลทางการเกษตรมาขาย

ยกตัวอย่างสีฟ้าก็จะนำสตรอเบอร์รี่แพ็กใส่กล่องมาขาย หรือช่วงนี้จะเก็บผักสลัดและพืชเมืองหนาวมาจำหน่ายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

ปัจจุบันตลาดซาวไฮ่ หรือตลาดชาวไร่ เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว หลายคนขับรถมาจากชัยนาท นครสวรรค์ เพื่อมาเดินตลาด รวมถึงคนในตัวเมืองอุทัยฯ ก็นิยมใช้วันหยุดพาครอบครัวหรือชวนเพื่อนๆ มาเดินเที่ยว กินของอร่อย และนั่งฟังเพลงชิลใต้ร่มไม้ช่วงบ่ายแก่ๆ

แม้ว่าตอนนี้ความเย็นจะเหลือน้อย และไร่สตรอเบอร์รี่ก็รอวันไถกลบ จนหลายคนมองว่าบ้านไร่ช่วงซัมเมอร์ไม่มีอะไรน่าสนใจแต่สำหรับคนที่อยากเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง ไม่ว่าฤดูกาลไหนก็มาได้

กินข้าวกะเหรี่ยงบ้านไร่ อุทัยธานี

ถ้ามีเวลาน้อยก็สามารถติดต่อมารับประทานอาหารกลางวันในกระบอกไม้ไผ่ชิมอาหารกะเหรี่ยงและนั่งพูดคุยกับครอบครัวกรึงไกร หรือถ้ามีเวลามากหน่อยก็มาพักโฮมสเตย์และใช้ชีวิตแบบชาวไร่ มาสัมผัสความเรียบง่ายและเคารพธรรมชาติ

ติดต่อสอบถาม สีฟ้า กรึงไกร โทร. 09-7007-3474, 08-1295-4866