posttoday

ผ้าไหมทอมือ ‘ชุมชนบ้านครัว’ เสน่ห์กลางมหานครที่ยังคงรักษ์ไว้

02 มีนาคม 2562

นามราชเทวีศรีสง่า ล้ำคุณค่าวังพญาไท อนุสาวรีย์ชัยฯ ทหารหาญ ศิลปะโบราณ

“นามราชเทวีศรีสง่า ล้ำคุณค่าวังพญาไท อนุสาวรีย์ชัยฯ ทหารหาญ ศิลปะโบราณ วังสวนผักกาด เด่นผงาดใบหยกตึกระฟ้า งามจับตาผ้าไหมที่บ้านครัว”

เป็นคำขวัญประจำเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร การันตีได้ถึงความงดงามของผ้าไหมทอมือที่ชุมชนบ้านครัว ชุมชนเล็กๆ ของชาวมุสลิม อยู่ริมคลองแสนแสบ

เมื่อก่อนบริเวณชุมชนนี้เป็นลูกหลานแขกจาม ที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่พระราชทาน โดยเริ่มทำผ้าไหมจากการทอผ้าขาวม้าหรือผ้าโสร่งไหมแล้วส่งขายตามต่างจังหวัด ใช้สีธรรมชาติ และทอกี่กระทบ

การทำผ้าไหมของชุมชนบ้านครัวรุ่งเรือง ซบเซา หมุนเวียนกันไปตามวัฏจักรของสังคมและเศรษฐกิจ วันนี้นอกจากการทอผ้าและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเลื่องชื่อกลางมหานครแล้ว

ที่นี่กำลังถูกยกระดับให้เป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ของกรุงเทพมหานครที่อยู่ใจกลางเมืองที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ย้อนวันวานผ้าไหมกลางมหานคร

ผ้าไหมทอมือ ‘ชุมชนบ้านครัว’ เสน่ห์กลางมหานครที่ยังคงรักษ์ไว้

ลุงอู๊ด หรือ นิพนธ์ มนูทัศน์ ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ เล่าประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า ชาวบ้านที่นี่เป็นแขกจาม อพยพหนีสงครามมาจากกัมพูชาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การทอผ้าของชาวบ้านแขกครัวนี้ เดิมทอไว้ใช้สอยในครัวเรือนโสร่ง ผ้าขาวม้า ตั้งแต่ก่อนจะอพยพมา เมื่อ 130 ปีที่แล้ว หรือประมาณปี 2430 ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

จุดเด่นของผ้าไหมบ้านครัว ก็คือ เนื้อผ้าแน่น เงางาม สีสันสวย สด เมื่อตัดสวมใส่จะดูสง่า ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของผ้าไหม และยังมีคุณสมบัติปกป้องผิวพรรณ แม้จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

แต่ชื่อเสียงของผ้าไหมที่นี่ เริ่มโด่งดังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจิม ทอมป์สันซีไอเอชาวอเมริกัน มาเที่ยวบ้านเพื่อน ใกล้กับที่ตั้งของชุมชนบ้านครัว ได้ยินเสียงกี่ทอผ้า จึงเดินมาดูและประทับใจกับผ้าไหมของชาวบ้านที่มีความงดงามและคงเอกลักษณ์ทอมือแบบดั้งเดิม จึงซื้อผ้าไหมนำกลับไปอเมริกา

ก่อนกลับมาส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าไหมขายในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ชื่อยี่ห้อ “จิม ทอมป์สัน” ในช่วงปี 2494 กลายเป็นจุดเริ่มที่นำผ้าไหมยุคนั้นออกสู่ตลาดโลก

เหตุนี้จึงนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงจากกี่กระทบมาเป็นกี่กระตุก และเปลี่ยนจากสีธรรมชาติมาเป็นสีเคมี เพราะสีธรรมชาติมีสีน้อย โดยสีเคมีนำมาจากอุตสาหกรรมไหมไทยของ จิม ทอมป์สัน

“ความเฟื่องฟูยุคนั้น ทุกบ้านจะทอผ้ากันตลอดเวลา ขนาดว่าจะได้ยินเสียงกี่ทอผ้า ดังตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ชาวบ้านจะใช้น้ำในคลองล้างไหม และตากเส้นไหมไว้ริมคลอง รายได้ก็มากขึ้นด้วย บ้านหลังไหนมีกี่ทอผ้ามาก ก็ยิ่งทำรายได้ให้มาก บ้านลุงเองมีกี่ 70 ตัว มีรายได้จากการทอผ้า กว่า 2 แสนบาท/เดือน”

ผ้าไหมทอมือ ‘ชุมชนบ้านครัว’ เสน่ห์กลางมหานครที่ยังคงรักษ์ไว้

ลายเกร็ดเต่าและลายลูกฟูก คือลายโบราณที่ขึ้นชื่อของที่นี่ แต่หลังคุณจิมหายตัวไป ร้านจิม ทอมป์สัน ก็ไม่ได้สั่งผ้าไหมของชาวบ้านครัวต่อ หลานของ จิม ทอมป์สัน มารับมรดกแทน แต่กลับไปสร้างโรงงานของตนเองที่โคราช อ.ปักธงชัย โดยทิ้งชุมชนบ้านครัว จึงเป็นสาเหตุให้คนในชุมชนเลิกผลิตผ้าไหมทีละครัวเรือน เพราะทำไปแล้วไม่รู้จะขายใครผ้าไหมที่เคยสร้างรายได้รุ่งเรืองให้กับชุมชนค่อยๆ เลือนรางไป

จนเหลือเฉพาะแค่บ้านลุงอู๊ดที่ยังทอผ้าอยู่ ช่างทอกี่เหลือแค่ 3 คน ทอส่งตามร้านและไปแสดงตามงานต่างๆ เวลาหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงต่างประเทศ มีงาน จะมาสั่งทอเพื่อนำไปมอบเป็นของที่ระลึกให้กับแขกสำคัญๆ

ครอบครัวลุงอู๊ดโชคดีเพราะมีแขกนับถือศาสนาอิสลาม แถวปักษ์ใต้ จ.สุราษฎร์ธานี หมู่บ้านภูมิเรียม มาเช่าบ้านแถวชุมชนบ้านครัวอยู่ เห็นว่ามีกี่ทอผ้าว่างจึงเข้ามาทำผ้าไหมส่งพาหุรัด สีลม เพราะสมัยนั้นตลาดนี้พึ่งเกิด เขาเลยจ้างบ้านลุงอู๊ดย้อมไหม จึงเป็นสาเหตุที่ไม่ได้เลิกกิจการนี้ไป และทำต่อมาจนถึงปี 2562 ผ้าไหมของชุมชนนี้กลับมาเฟื่องฟู ในสมัยที่เริ่มมีสินค้าโอท็อป

“ทุกวันนี้ผ้าไหมบ้านครัวอาจไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนสมัยก่อน แต่พยายามอนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นวัฒนธรรม เป็นอาชีพเก่าแก่ของบรรพบุรุษ เราเคยมีโอกาสทอผ้าไหมถวายพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย เป็นความภาคภูมิใจยากจะอธิบาย

นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อผ้าไหมที่เราใช้เทคนิคใหม่ในการทอ ว่า ‘ผ้าไหมเหลืองสิรินธร’ และมีพระราชดำรัสกับชาวบ้านว่าขอให้อนุรักษ์ไว้ อย่าให้สูญหายไป นี่คือสิ่งที่จดจำและตั้งใจตลอดว่า ไม่ว่าจะอย่างไรจะต้องรักษาผ้าไหมบ้านครัวให้คงอยู่ เหมือนเป็นการได้ทดแทนคุณแผ่นดินที่พวกเราได้อพยพมาอาศัยอยู่พึ่งพระบรมโพธิสมภารด้วย”

ยกระดับบ้านครัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ผ้าไหมทอมือ ‘ชุมชนบ้านครัว’ เสน่ห์กลางมหานครที่ยังคงรักษ์ไว้

ในยุคปัจจุบัน การแข่งขันในตลาดโลกได้ให้ความสำคัญในการนำเอาวัฒนธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตนจำหน่าย เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง สอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่กำลังมาแรง

การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่ได้นำเอาวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันและยุโรปต่างสนใจเรียนรู้วัฒนธรรม มรดกทางประวัติศาสตร์ เยี่ยมชมงานสถาปัตยกรรม และสัมผัสวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในประเทศนั้น

โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียและแอฟริกา รวมถึงซื้อของที่ระลึกที่เป็นงานหัตถกรรมและงานฝีมือที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในประเทศนั้น การท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าวเราเรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ดร.ไกรฤกษ์ ปิ่นแก้ว นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มองการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และได้เขียนเผยแพร่ถึงความหมายของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไว้ว่า เป็นการศึกษาหาความรู้ในพื้นที่หรือบริเวณที่มีคุณลักษณะที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

มีการบอกเล่าเรื่องราวในการพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ผ่านทางประวัติศาสตร์อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม องค์ความรู้ และการให้คุณค่าของสังคม โดยสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าหรือสภาพแวดล้อมอย่างธรรมชาติ ี่สามารถแสดงออกให้เห็นถึงความสวยงามและประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม หรือขนบธรรมเนียมประเพณี

ผ้าไหมทอมือ ‘ชุมชนบ้านครัว’ เสน่ห์กลางมหานครที่ยังคงรักษ์ไว้

ธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี กล่าวถึงแผนงานของกรุงเทพมหานครที่มีต่อชุมชนบ้านครัวว่า เตรียมที่จะเปิดชุมชนบ้านครัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผ้าไหมบ้านครัว ตั้งแต่ยุคสมัยแรกจนถึงปัจจุบัน และสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เก่าแก่ของชาวแขกจาม ทั้งเรื่องของอาหาร สถาปัตยกรรม และสินค้าพื้นเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างรองบประมาณ

“เราจะสร้างสะพานคนเดินข้ามคลองแสนแสบเชื่อม 2 เขต ระหว่างเขตราชเทวีกับปทุมวัน จากฝั่งพิพิธภัณฑ์ จิม ทอมป์สันมาที่ชุมชนบ้านครัว เพื่อเชื่อมเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้เข้าไปชมกระบวนการผลิตผ้าไหมบ้านครัว ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของผ้าไหมไทยก่อนจะมีชื่อเสียงโด่งดังในตลาดโลก เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน”