posttoday

‘กาดวิถีชุมชนคูบัว’ ชิมรสพื้นบ้านแห่งเมืองโบราณ

13 มกราคม 2562

ชวนไปเดินย้อนเวลาหาอดีต จ.ราชบุรี ที่ “เมืองโบราณคูบัว”

โดย /ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย 

ชวนไปเดินย้อนเวลาหาอดีต จ.ราชบุรี ที่ “เมืองโบราณคูบัว” อดีตเมืองท่าสมัยทวารวดีประมาณ 1,300 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเหลือไว้เพียงซากปรักหักพังของโบราณสถานที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปตามลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของเมืองริมน้ำที่เคยคึกคึกแห่งนี้

เมืองคูบัวเป็นเมืองท่าและตลาดการค้าที่สำคัญจนถูกเรียกว่า เป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองของอาณาจักรทวารวดี ทั้งยังเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาวตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีทักษะการแกะสลักไม้ และการทอผ้าซิ่นตีนจกที่มีลายเป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายดอกเซีย ลายหักนกคู่ ลายโก้งเก้ง ลายหน้าหมอน และลายกาบ โดยในการจกจะใช้เส้นด้ายยืนสีดำเพื่อจกให้เห็นลายชัดเจน ส่วนสีสันของเส้นใยจะสดใสและประณีต กระทั่งปัจจุบันผ้าซิ่นตีนจกกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อที่ใครมาคูบัวต้องมาชมและอุดหนุนกลับไป

‘กาดวิถีชุมชนคูบัว’ ชิมรสพื้นบ้านแห่งเมืองโบราณ

นอกจากนี้ ยังมีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ถึงความรุ่งเรืองในอดีตทั้งสถาปัตยกรรมในเมืองโบราณคูบัวที่ได้รับอิทธิพลด้านศิลปะจากช่างสมัยราชวงศ์คุปตะ ประเทศอินเดีย และการค้นพบเศียรพระพุทธรูปซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมากในอาณาจักรแห่งนี้

โบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้นถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี และบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่ วัดโขลงสุวรรณคีรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่สันนิษฐานว่าเป็นฐานของวิหารสมัยทวารวดี และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยวนชื่อ จิปาถะภัณฑ์สถาน ซึ่งเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับชาวไทยวนที่สมบูรณ์ที่สุดในภาคตะวันตกด้วย

‘กาดวิถีชุมชนคูบัว’ ชิมรสพื้นบ้านแห่งเมืองโบราณ

จิปาถะภัณฑ์สถานถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมไทยวนที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงภาษาพูดและการทอผ้าจกเท่านั้น ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย ห้องแสดงศิลปวัตถุโบราณสมัยทวารวดีที่ขุดค้นพบตามหัวไร่ปลายนา ห้องแสดงวิถีชีวิตของชุมชนไทยวนที่ได้เคลื่อนย้ายจากเมืองเชียงแสนเมื่อปี 2347 มาตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองราชบุรี รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทำนาและการดำรงชีวิต ห้องแสดงภูมิปัญญาการทอผ้าจกไทยวนเชียงแสน การจำลองชีวิตแบบดั้งเดิมไปจนถึงการพัฒนาวิธีการทอผ้าในปัจจุบัน ห้องแสดงผ้าจกโบราณอายุ 200 ปี และผ้าจกผลงานของลูกหลานไทยวนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และห้องแสดงการแต่งกายของชาติพันธ์ุต่างๆ ในราชบุรี เช่น ลาวโซ่ง มอญ กะเหรี่ยง ไทยทรงดำ และไทยพื้นถิ่น

นอกจากนี้ ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรียังเป็นที่ตั้งของ “กาดวิถีชุมชนคูบัว” เปิดทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. เป็นตลาดที่เปิดพื้นที่ให้ชาวคูบัวนำสินค้าเกษตร อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเองในบ้านหรือในชุมชนมาวางขายราคาย่อมเยา ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีผ้าซิ่นตีนจกคูบัวให้เลือกซื้อ รวมไปถึงผักไร้สารสดๆ จากสวน กล้วยน้ำว้าผลอวบ ผัดไทยใส่จานหัวปลี อาหารยวนเมนูแปลก ขนมไทย น้ำสมุนไพร แต่ละร้านขายแบบไม่เอากำไร ถือแบงก์ร้อยใบเดียวก็ทำให้อิ่มได้ทั้งคาวหวาน โดยสามารถซื้อและนำไปนั่งรับประทานบนโตกที่ตลาดเตรียมไว้ให้ฟรี

‘กาดวิถีชุมชนคูบัว’ ชิมรสพื้นบ้านแห่งเมืองโบราณ

หากเดินเพลินจนถึงช่วงแดดร่มลมตกประมาณ 17.00-19.00 น. ตลาดจะมีการแสดงพื้นเมืองให้ชมอย่างเพลิดเพลิน เป็นการปิดท้ายวันหยุดแบบไม่ต้องไปไกลกรุงเทพฯ แค่เมืองราชบุรีก็ทำให้อิ่มและฟินได้

สำหรับผู้ที่สนใจศิลปะทวารวดีเพิ่มเติมยังสามารถชมโบราณสถานและโบราณวัตถุได้ที่ ถ้ำฤาษีเขางู อยู่บริเวณเชิงเขา ในบริเวณสวนสาธารณะเขางู มีลักษณะเป็นถ้ำหินปูนที่ถูกทำให้เป็นศาสนสถาน ภายในถ้ำพบพระพุทธรูปนูนต่ำบนผนังถ้ำ ลักษณะนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรมเทศนา เป็นที่เคารพบูชาของชาวราชบุรี

‘กาดวิถีชุมชนคูบัว’ ชิมรสพื้นบ้านแห่งเมืองโบราณ

ไม่ห่างจากกันนักยังเป็นที่ตั้งของถ้ำจาม ที่ต้องเดินบันไดขึ้นเขาไปประมาณ 15 นาที จะพบกันโพรงถ้ำที่ภายในมีภาพพระพุทธประวัติตอนปรินิพพานปรากฏอยู่ และถ้าจะเที่ยวให้เต็มสูตรต้องไปจบที่อุทยานหินเขางู แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของสายชิล ตระการตาด้วยภูเขาหินปูนหลายลูกที่ถูกน้ำฝนกัดเซาะเป็นยอดแหลม โดยในอดีตเคยเป็นเหมืองหินปูนทำให้มีบึงน้ำขนาดใหญ่ด้านล่าง มีสะพานทอดยาวให้เดินชมบรรยากาศ และมีเรือเป็ดให้เช่า ทำให้ที่นี่กลายเป็นสวนสาธารณะอีกแห่งของเมืองนี้

หนึ่งวันในราชบุรีได้ทั้งกิน เที่ยว ช็อป ครบรสของการท่องเที่ยว และที่มากกว่าคือนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านอาหารและการพูดคุยกับชาวบ้าน เป็นรสชาติกลมกล่อมและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค