posttoday

ทิวาวัลย์ บุญศิริพันธ์ อาหารคือรักที่ไม่เปลี่ยนแปลง

21 ธันวาคม 2561

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ร้านไอฮอป (IHOP) ร้านอาหารที่มีแพนเค้กเป็นเมนูซิกเนเจอร์

เรื่อง พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ร้านไอฮอป (IHOP) ร้านอาหารที่มีแพนเค้กเป็นเมนูซิกเนเจอร์ ส่งตรงความอร่อยมาถึงเมืองไทยโดย ดร.อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ ไม่ได้มีดีแค่ของหวาน แต่ยังมีเมนูของคาวที่รังสรรค์มาให้ถูกปากคนไทย ซึ่งเชฟสาวผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยนี้คือ เชฟวี-ทิวาวัลย์ บุญศิริพันธ์

“วีเข้ามาช่วยรังสรรค์เมนูไอฮอป พาสต้ารสชาติเข้มข้น เอาใจคนชอบเส้น โดยนำสูตรที่มีอยู่แล้วมาปรับให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น โดยหน้าที่หลักของวีนอกจากจะคิดค้นและพัฒนาสูตร ยังต้องเวียนไปทุกสาขาเพื่อดูแลเรื่องรสชาติและคุณภาพของอาหาร”

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นเชฟของเธอ วีเล่าว่า หลงใหลในการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก ตามคุณยายเข้าครัวมาตลอด ถึงคุณพ่อจะไม่สนับสนุน เพราะเป็นห่วงลูกสาวกลัวจะโดนมีดบาด น้ำร้อนลวก แต่ด้วยใจรัก เด็กสาวตัวน้อยหาได้สนใจ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อได้ทำตามสิ่งที่รัก

ทิวาวัลย์ บุญศิริพันธ์ อาหารคือรักที่ไม่เปลี่ยนแปลง

“วีโชคดีที่รู้ตัวว่าชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นได้เร็วกว่าคนอื่น เราค้นคว้าหาข้อมูลตลอด ว่าจะไปเพิ่ม พูนทักษะการทำอาหารและขนมได้ที่ไหน สมัยนั้นกอร์ดอง เบลอ ยังไม่มา จะไปเรียน อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ก็แพงมาก พออายุ 11 ปี เลยหนีพ่อไปเรียนทำอาหารที่ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร แอบไปเรียนทุกเสาร์-อาทิตย์ พอตกเย็นก็มีขนมกลับมาฝากที่บ้าน ตอนแรกๆ ก็หลอกพ่อว่าซื้อจากแถวที่เรียนพิเศษ จนพอเรียนจบคอร์สได้ใบประกาศนียบัตร ถึงกล้ามาสารภาพกับพ่อตามตรงว่าแอบไปเรียนทำอาหาร ทำขนมมา” วีย้อนวันวานอย่างอารมณ์ดี

“พอเรียนจบมัธยม ตอนนั้นวีคิดจะเอาดีในสายอาหารที่รัก แต่เพราะอาชีพเชฟในยุคนั้นยังไม่ได้รับความนิยมเท่าปัจจุบัน ทางบ้านยังมองว่าเป็นอาชีพที่เหนื่อย และถึงในอนาคตจะได้เข้าไปทำงานในโรงแรม แต่ก็ต้องเลิกงานดึก ทางบ้านก็ยิ่งเป็นห่วงเพราะเป็นผู้หญิง

ตอนแรกวีตั้งใจว่าจบ ม.ปลาย จะสอบเข้าวิทยาลัยในวังหญิง แต่ทางบ้านอยากให้เข้ามหาวิทยาลัย วีเลยอาศัยวิชาแกะสลัก สอบเข้ามหาวิทยาลัยสวนดุสิต สาขาการโรงแรม เอกธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร แต่ปัจจุบันสาขานี้ไม่มีแล้ว และวีเองตอนนี้ถ้าให้กลับไปแกะสลักก็ทำไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) จริงๆ แล้วตอนนั้นที่วีเลือกสาขานี้พ่อก็ไม่แฮปปี้ วีเลยขออนุญาตให้พ่อช่วยส่งเสียค่าเล่าเรียนให้ 1 เทอม หลังจากนั้นวีทำงานเป็นฟรีแลนซ์ด้านอาหารเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนจนจบ”

ทิวาวัลย์ บุญศิริพันธ์ อาหารคือรักที่ไม่เปลี่ยนแปลง

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี วียังไม่ลืมเส้นทางความฝันที่วาดไว้ เธอสมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยในวังหญิง ซึ่งเปิดรับผู้ที่สนใจด้านการทำอาหารอายุตั้งแต่ 15-45 ปี แต่ละปีจะรับแค่ 40 คน จากผู้สมัคร 300-400 คน และเนื่องจากต้องเข้าไปเรียนในเขตพระราชฐานชั้นใน ผู้เรียนจึงเป็นผู้หญิงทั้งหมด โดยเน้นศึกษาเกี่ยวกับตำรับโบราณ

“แต่ส่วนใหญ่ปีหนึ่งจะจบแค่ 30 คน เพราะการเรียนการสอนไม่ใช่สไตล์คุณหนู ทุกอย่างต้องลงมือทำเอง ตั้งแต่ไปจ่ายตลาด คุณครูจะบอกว่าพรุ่งนี้จะทำเมนูอะไร แล้วให้นักเรียนไปจ่ายตลาดเอง เตรียมของเอง เรียนจันทร์-ศุกร์ สัปดาห์ละประมาณ 15 เมนู ถึงไม่มีค่าเทอม แต่ค่าใช้จ่ายเวลาไปซื้อของก็หนักไม่เบา”

หลังจากติดอาวุธวิชาการทำอาหารมาอีกขั้น เชฟวีเลยผันตัวเองจากทำงานฟรีแลนซ์มาสู่การทำงานประจำในฐานะผู้ช่วยสอนที่กอร์ดอง เบลอ อยู่ 2 ปีครึ่ง ก่อนจะออกมาโลดแล่นรับเป็นฟรีแลนซ์ให้กับแบรนด์และร้านอาหารต่างๆ ที่มองหาเชฟสำหรับพัฒนาเมนูใหม่ๆ และรสชาติในแบบฉบับที่ต้องการ

“ที่เลือกเป็นฟรีแลนซ์ เพราะรู้ตัวมาตลอดว่าไม่ชอบทำงานประจำ ที่สำคัญเราตีโจทย์ธุรกิจอาหารว่ามากกว่าการทำงานในโรงแรมหรือร้านอาหาร เรามีความสุขกับการได้ท้าทายตัวเองทุกวันในการคิดและพัฒนาเมนูใหม่ๆ จากโจทย์ที่แบรนด์ต่างๆ มาจ้างเรา เช่น บางแบรนด์บอกว่าอยากได้อาหารไทย ขนมไทย โดยใช้น้ำตาลตัวนี้ สูตรนี้ วีว่ามันทำให้งานของเราไม่จำเจ ได้เป็นนายตัวเอง

ทิวาวัลย์ บุญศิริพันธ์ อาหารคือรักที่ไม่เปลี่ยนแปลง

วีร่วมงานกับไอฮอปมา 2 ปีแล้ว อย่างเมนูพาสต้าเกิดจากคุณตุ๊กอยากได้โลคัลเมนู เราก็มาช่วยและพัฒนาสูตรเมนูพาสต้าให้ถูกปากคนไทย ปรุงได้ง่ายที่ร้าน เป็นต้น”

เชฟวีในวัย 31 ปี ย้ำว่า เธอไม่เคยคิดอยากมีร้านอาหาร หรือสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง เธอมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่

“วีไม่เคยคิดอยากมีร้านอาหาร หรือแบรนด์ขนมเป็นของตัวเอง อาจเพราะเราเป็นคนไม่อยู่นิ่ง เลยคิดว่าคงไม่สามารถทำงานอยู่ในร้านร้านเดียวไปตลอดได้ คิดว่าชอบเข้าไปช่วยเซตอัพร้านให้คนอื่นมากกว่า นอกจากได้ทำงานที่หลากหลาย ยังได้คอนเนกชั่น”

เชฟวียังทิ้งท้ายด้วยว่า ความสุขในการทำอาหารของเธอคือ ได้เห็นผลสำเร็จของอาหารทุกจาน ไม่ว่าผลลัพธ์ที่กลับมาจะเป็นคำติหรือคำชม เธอรู้สึกว่ามีความสุข เพราะอย่างน้อยถึงเป็นคำติ เธอก็ได้กลับมาพัฒนาตัวเอง ควบคู่ไปกับการตระเวนชิมอาหารร้านอาหารใหม่ๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจในการทำงาน