posttoday

คลองมหาสวัสดิ์ บานฉ่ำ สีบานเย็น

08 ธันวาคม 2561

จากคลองสีดำส่งกลิ่นเหม็นฉุน ทุกวันนี้ “คลองมหาสวัสดิ์”

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ

จากคลองสีดำส่งกลิ่นเหม็นฉุน ทุกวันนี้ “คลองมหาสวัสดิ์” กลายสภาพเป็นคลองน้ำใสสดชื่น ซึ่งไม่ใช่แค่สายน้ำที่ฟื้นคืน เพราะชาวบ้านสองฟากฝั่งยังยืนได้ผ่านการท่องเที่ยว

คลองมหาสวัสดิ์ไม่ใช่คลองธรรมชาติ แต่เป็นคลองขุดอายุ 158 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เดิมชื่อคลองมหาสวัสดี ขุดจากคลองบางกอกน้อยผ่านพุทธมณฑลและไหลออกไปยังแม่น้ำท่าจีน รวมระยะทาง 28 กม. เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดจากกรุงเทพฯ ไปสู่พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม และยังมีการสร้างศาลาพักทุกๆ 4 กม. ทั้งสิ้น7 หลัง หลังสุดท้ายตั้งอยู่ใน ต.มหาสวัสดิ์ เรียกกันว่า “บ้านศาลาดิน”

วันชัย สวัสดิ์แดง ชาวบ้านชุมชนศาลาดิน ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการพัฒนาคลองและการท่องเที่ยว เล่าว่า แต่เดิมน้ำในคลองมหาสวัสดิ์บริเวณชุมชนเป็นน้ำเน่า มีสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น และเต็มไปด้วยผักตบชวา

สาเหตุที่ทำให้น้ำเสียคือ ชาวบ้านผู้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงคลองโดยไม่มีการบำบัด วันชัยจึงเริ่มแก้ปัญหาด้วยการแจกจ่ายถังดักไขมันให้ทุกครัวเรือน เพราะไขมันเป็นตัวการปิดผิวน้ำไม่ให้ออกซิเจนผ่าน ทำให้ปลาตายและตัวย่อยสลายจุลินทรีย์ก็เริ่มหมด จากนั้นก็เริ่มชักชวนชาวบ้านเก็บผักตบชวาเพื่อเกลี่ยทางให้น้ำระบายสะดวกและปล่อยให้แสงอาทิตย์ส่องถึง

คลองมหาสวัสดิ์ บานฉ่ำ สีบานเย็น

“เวลาที่เราเรียกมันว่า สวะ มันจะไม่มีค่าเลย แต่เรารับซื้อผักตบชวาจากชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเก็บผักตบชวาจากคลอง นำไปสับและตากแห้ง มาขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท หลังจากนั้นเราจะนำผักตบไปผสมกับดิน ขี้เถ้า ขุยมะพร้าว กลายเป็นวัสดุปลูกกรอกใส่ถุง ขายถุงละ 10 บาท ซึ่งเงินที่ได้มาก็นำไปซื้อผักตบชวาจากชาวบ้าน และซื้อถังดักไขมันแล้วแจกจ่ายให้ชาวบ้าน เป็นการรักษาคลองโดยที่ชาวบ้านก็มีรายได้เสริมด้วย” วันชัย กล่าว

หลังจากจัดการกับสองต้นเหตุนี้อย่างต่อเนื่อง 4 ปี ต่อมาก็เริ่มเห็นผลคือ น้ำในคลองเปลี่ยนจากสีดำเป็นน้ำใส กลิ่นจางไป และสัตว์น้ำก็กลับมาแหวกว่ายอีกครั้ง ส่วนชาวบ้านก็ช่วยกันรักษาคลองจนเป็นกิจวัตร และยังมีการเก็บผักตบชวาที่ไหลมาตามน้ำอยู่ทุกสัปดาห์

เมื่อคลองสะอาดน่ามองก็อยากอวดให้คนข้างนอกมาชม วันชัย จึงริเริ่มเปิดการท่องเที่ยวชุมชนตั้งแต่ปี 2543 โดยนำวิถีชาวบ้านมาเป็นจุดขาย เลือกใช้วิธีล่องเรือไปตามคลองแล้วแวะขึ้นไปตามบ้านเพื่อเรียนรู้ตามสโลแกน “วิถีชุมชน คนมหาสวัสดิ์”

“ชุมชนบ้านศาลาดินมี 180 กว่าครัวเรือนที่อยู่ริมคลอง แต่เราเลือกมา 5 จุด ที่เป็นตัวแทนสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ส่วนบ้านอื่นๆ สามารถนำพืชผลการเกษตรที่ปลูกเองนำมาขายที่ตลาดน้ำได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นประโยชน์กับชาวบ้านทุกคน” เขากล่าวเพิ่มเติม

นาบัว

คลองมหาสวัสดิ์ บานฉ่ำ สีบานเย็น

จุดแรกที่เรือล่องไปคือ นาบัวลุงแจ่ม พื้นที่ปลูกบัวสัตตบงกชสีชมพู ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการไม่พอกิน เนื่องจากแต่เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำนาปีละครั้งทำให้เกิดความยากจนและบางคนต้องขายที่ดินทำกินของตัวเอง เมื่อไม่พอกินชาวบ้านจึงเริ่มทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9

อย่างนาบัวแห่งนี้เลือกปลูกบัวตามลักษณะภูมิสังคม เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงจึงหันมาปลูกบัวและปลูกไม้ผลแซมบนคันนา ทำให้จากที่มีรายได้เป็นรายปีเปลี่ยนเป็นรายวัน เพราะสามารถเก็บบัวขายได้ทุกวัน วันละหลายพันบาท ตกเดือนละ 4-5 หมื่นบาททีเดียว

“ติ๋ว” ประไพ สวัสดิ์โต ลูกสาวของลุงแจ่ม เป็นรุ่นที่ 2 ที่สืบทอดนาบัวเล่าถึงกระบวนการเก็บบัวว่า ช่วง 06.00-10.00 น. จะลงเก็บดอกบัวตูมในนาบัว โดยในฤดูหนาวและฤดูฝนจะเก็บได้ 1,500 ดอก ส่วนฤดูร้อนจะเก็บได้มากกว่าคือ 3,000-4,000 ดอก ขายได้ดอกละ 4 บาท

จากนั้นช่วงบ่าย 13.00-15.00 น. จะมานั่งกำดอกบัว คือคัดไซส์ดอกบัวขนาดใหญ่ กลาง เล็ก แยกเป็นกำ กำละ10 ดอกแล้วห่อด้วยใบบัว หลังจากนั้นแม่ค้าจะมารับถึงบ้านเพื่อไปส่งที่ปากคลองตลาด พอตกเย็น 17.00-18.00 น. ดอกบัวจากนาบัวลุงแจ่มจะถูกนำไปวางขายเป็นที่เรียบร้อย

ส่วนกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว คนที่พายเรือได้ ป้าติ๋วก็ใจดีให้ยืมเรือลงไปพายชมดอกบัวใกล้ๆ ส่วนคนที่นั่งชมวิวอยู่บนศาลากลางน้ำจะมีคอร์สสอนพับกลีบบัว โดยระหว่างที่จับจีบอยู่นั้นป้าติ๋วเล่าต่อว่า เธอมีพื้นที่ทำเกษตรอยู่ 20 ไร่ แบ่งมาทำนาบัว 15 ไร่ ซึ่งนอกจากจะปลูกบัวยังเลี้ยงปลาไว้กินและเก็บขาย

นอกจากนี้ ยังทำชาเกสรดอกบัวรสหวานชื่นใจขายขวดละ 10 บาท ทำเป็นชาถุงพร้อมดื่มขายกล่องละ 150 บาท ขายดอกบัวดอกละ 4 บาท ขายใบบัวใบละ 1 บาท ส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาป้าติ๋วจะได้หัวละ 10 บาทจากเจ้าของเรือที่พามาเที่ยว

“การท่องเที่ยวยั่งยืนได้ ก็เพราะว่าถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวมา ป้าติ๋วก็ยังเก็บบัวของเขาไปตามปกติ ป้าทำอาชีพของเขา แต่เพียงแค่เข้ามาอยู่ในระบบจัดการการท่องเที่ยว ดังนั้นใครจะมาตอนไหน ก็มีนาบัวให้ดู มีป้าติ๋วคอยสาธิตและให้ความรู้หรือถ้าป้าไม่อยู่ก็มีรุ่นหลานที่ตอนนี้เรียนจบมาสืบต่อเป็นรุ่นที่สามต่อแล้ว การท่องเที่ยวแบบนี้จึงมีความสุข ป้าติ๋วมีความสุขที่ได้รายได้ และนักท่องเที่ยวก็มีความสุขที่ได้เห็นอะไรใหม่ๆ” วันชัย กล่าวและร่ำลาเจ้าของบ้าน เพราะถึงเวลาลงเรือไปต่อแล้ว

นากล้วยไม้

คลองมหาสวัสดิ์ บานฉ่ำ สีบานเย็น

เรือลำเดิมลัดเลาะจากลำคลองเล็กๆ หน้าบ้านป้าติ๋วออกไปยังคลองมหาสวัสดิ์ และมุ่งหน้าผ่านวัดสุวรรณาราม วัดที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับคลอง ตรงไปยังท่าน้ำหน้า “สวนกล้วยไม้ป้าสร้อย” ถามว่าคนไหนป้าสร้อย วันชัยตอบว่า ป้าสร้อยไม่อยู่ แต่สวนกล้วยไม้ไม่มีประตูสามารถเดินเข้าไปถ่ายรูปได้เลย

ส่วนค่าเข้าชมหัวละ 10 บาทตามที่ตกลงกันไว้ วันชัยจะจดลงบัญชีและรวบรวมให้ป้าสร้อยเอง

สวนกล้วยไม้แห่งนี้จึงเป็นสถานที่สำหรับถ่ายภาพโดยเฉพาะ สำหรับข้อมูลคร่าวๆ จะมีให้อ่านอยู่ตรงทางเข้า อธิบายว่า ภายในสวนมีแปลงปลูกกล้วยไม้หลายสายพันธุ์ ทั้งสกุลหวายและสกุลม็อคคาร่า

โดยเฉพาะกล้วยไม้ตระกูลม็อคคาร่าเป็นสายพันธุ์ยอดนิยม ดอกมีสีสดทั้งเหลือง ส้ม ชมพู และม่วง รวมถึงยังมีพันธุ์ทัศนีย์ กล้วยไม้สกุลหวายสีม่วงสด ดอกใหญ่ มีช่อยาว กลีบอวบ และกลมกว่า เป็นเอกลักษณ์ของชาวมหาสวัสดิ์

คลองมหาสวัสดิ์ บานฉ่ำ สีบานเย็น

“ท่องเที่ยวคลองมหาสวัสดิ์ไม่มีโลว์ไม่มีไฮซีซั่น และเปิดตลอด 365 วัน จนถึงวันนี้ป้าติ๋วเปิดบ้านมา 18 ปีแล้วยังไม่เคยปิด สวนกล้วยไม้ก็ไม่เคยคิดจะสร้างประตูกั้น ถ้าผ่านไปผ่านมาก็แวะเข้าไปถ่ายรูปได้ เขาไม่ห่วง แค่อย่าไปเด็ดดอกไม้ของป้าเขาก็พอ” วันชัย กล่าวต่อ

“เราเปิดท่องเที่ยวชุมชนมา 18 ปี ตอนใหม่ๆ มีนักท่องเที่ยวมาน้อยมาก น้อยขนาด 3 เดือนเรือถึงจะได้ออก แต่เพราะเราไม่ได้นำการท่องเที่ยวเป็นตัวตั้ง แต่เราทำไปเรื่อยๆ ทำจนมีคนเห็น มีคนรู้จัก จนวันนี้ลุงๆ ป้าๆ วิ่งเรือได้วันละ 2 รอบ มีนักท่องเที่ยวมาชุมชนวันละ 300-400 คน ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม โดยที่ไม่ต้องออกไปหางานนอกชุมชน และไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อรองรับใคร”

สำหรับนักท่องเที่ยวมีค่าบริการเรือลำละ 350 บาท (นั่งได้ 6 คน) และค่าทริปท่องเที่ยวอีกคนละ 100 บาท รวมที่เที่ยว 5 จุด ได้แก่ นาบัวและนากล้วยไม้อย่างที่เล่าไป ส่วนอีก 3 จุด คือ การสาธิตทำข้าวตัง บ้านฟักข้าว และสวนลุงบุญเลิศ คงต้องเก็บไว้เล่าในฉบับต่อไป รับรองว่าคลองมหาสวัสดิ์ยังมีอะไรให้เซอร์ไพรส์มากกว่าดอกไม้แน่นอน