posttoday

กินอยู่เรียบง่าย ภายใต้วิถีแห่งศรัทธา

24 พฤศจิกายน 2561

เมื่อเอ่ยชื่อ จ.ลำพูน คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงพระธาตุหริภุญชัย

เมื่อเอ่ยชื่อ จ.ลำพูน คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงพระธาตุหริภุญชัย หรือไม่ก็ผลไม้ขึ้นชื่อ ลำไย แต่เมื่อมีโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ เน้นการมีส่วนร่วม และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน เกิดเป็นโครงการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีขึ้น ทำให้หลายคนหันมาสนใจการท่องเที่ยวลำพูนมากขึ้น

จ.ลำพูน มีความน่าเที่ยวมากกว่าที่บางคนเคยเข้าใจ คุณณัฏฐิยาภรณ์ ศรีสุบรรณ์ พัฒนาการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า

คนภายนอกมักจะรู้จักพระธาตุหริภุญชัย แล้วก็ลำไย แต่ที่จริงแล้วลำพูนเรามีอะไรดีๆ มากมาย ด้วยเหตุที่คนลำพูนมีหลายชนเผ่า ทั้ง ไทโยน ไทยอง ​ไทลื้อ ไทปกากะญอ แล้วก็มอญ พอมีหลายชนเผ่า วิถีชีวิตวัฒนธรรมที่สวยงาม ก็มีเยอะแยะมากมาย สามารถเอาไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งตอนนี้มีโครงการที่ดังๆ ที่เราจะได้ยินกันทั่วไปก็คือ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

บ้านหนองเงือก เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของ จ.ลำพูน ที่ได้มีโอกาสต้อนรับการมาเยือนของนายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

บรรพบุรุษของคนที่นี่เป็นไทลื้ออพยพมาจากเมืองยอง จึงเรียกตัวเองว่า ไทยอง คนที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และเมื่อว่างเว้นจากการทำสวนทำไร่ ก็จะทำงานหัตถกรรมอยู่ที่บ้านแบบดั้งเดิม ก็คือ ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน

และด้วยความมีฝีมือและช่างประดิดประดอยนี่เอง ทำให้งานหัตถกรรมของบ้านหนองเงือก กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อหลายอย่างด้วยกัน เช่น ผ้าฝ้ายและผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายทอมือ รองเท้ายางรถยนต์จาวยอง และกระเป๋านกฮูกบ้านหนองเงือก

ปิ่นนภา มูลชีพ กล่าวแนะนำกระเป๋านกฮูกว่า กระเป๋านกฮูกนับว่าเป็นสินค้าขึ้นชื่อของบ้านหนองเงือก ถ้าเรามาเที่ยวเมืองเหนือ เราจะเจอกระเป๋านกฮูกอยู่ทั่วไป ทุกๆ ตลาด ทุกๆ จังหวัด กระเป๋านกฮูกของที่นี่จะเน้นคุณภาพ การันตีจากโอท็อป ของเราเป็นโอท็อปของ จ.ลำพูน ได้ 4 ดาว

กินอยู่เรียบง่าย ภายใต้วิถีแห่งศรัทธา

ราคาขายก็ไม่แพง ตั้งแต่ 40 บาทขึ้นไป มีหลายราคา รูปแบบก็จะแปลกตากว่าที่เราเคยเห็นที่ตลาดนัดทั่วไป เพราะเรามีการพัฒนาสินค้าให้ทันสมัย แล้วก็ออกแบบสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาดเรื่อยๆ

นอกเหนือจากการผลิตสินค้าคุณภาพแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยตัวเอง ที่นี่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาตลอด คือการทำเวิร์กช็อป ต่างชาติก็มา เพราะว่ากระเป๋านกฮูกนี้เมื่อลงมือทำเองก็จะเป็นใบแรกและใบเดียวในโลก สามารถเก็บไปเป็นที่ระลึกได้

เมื่อได้รู้จักเจ้ากระเป๋านกฮูกมากขึ้น เพิ่งได้รู้ว่ากว่าจะมาเป็นกระเป๋าหนึ่งใบได้นั้น มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องหลายคน และที่สำคัญคือ คนเหล่านั้นก็เป็นคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ในชุมชน คนในหมู่บ้านช่วยกันทำ แผนกนี้ทำขนนกมาส่ง อีกแผนกก็ทำตามาส่ง คือกระจายรายได้ให้ชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่เขาก็ดีขึ้น เพราะว่ามีงานทำที่ดี

บางชุมชนที่เศรษฐกิจไม่ดี ก็จะตามมาด้วยปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด แต่ถ้าสามารถทำให้เขามีงานทำ มีรายได้ ชีวิตเขาก็จะมีเรื่องให้กังวลน้อยลง แล้วก็จะอยู่กันอย่างมีความสุขมากขึ้น

ตอนแรกเราก็รู้สึกว่า กระเป๋านกฮูกของที่นี่ก็คงเป็นแค่หนึ่งในสินค้าที่มีความสวยงาม มีความเก๋ไก๋เท่านั้นเอง แต่พอเราได้มีโอกาสลงมือทำเอง ก็รู้สึกว่ากระเป๋าใบนี้มีคุณค่าและมีเรื่องราวเพิ่มมากขึ้น แม้จะเป็นกระเป๋าที่หน้าตาคล้ายกับกระเป๋าใบอื่นๆ ยิ่งได้ยินเรื่องราวที่มาของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นของกระเป๋าใบนี้ ว่ามีส่วนช่วยในการสร้างรายได้ให้กับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน เราก็ยิ่งรู้สึกว่า กระเป๋านกฮูกที่ได้จากที่นี่ มีทั้งความสวยงามมีคุณค่า​ มีเรื่องราว และมีความภาคภูมิใจของผู้ซื้อ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการกระจายรายได้ให้ชุมชน

ดังนั้น ใครได้มาเที่ยวลำพูนคราวหน้า อย่าลืมหาโอกาสมาเย็บกระเป๋านกฮูกใบพิเศษด้วยตัวคุณเอง

อีกหนึ่งสินค้า OTOP ของบ้านหนองเงือกที่น่าสนใจ ก็คือ รองเท้ายางรถยนต์จาวยอง ไม่ได้หมายถึงว่า รองเท้าแบบนี้เป็นวัฒนธรรมของชาวไทยอง แต่รองเท้าแบบนี้ทำโดยชาวไทยองที่บ้านหนองเงือกนั่นเอง นอกเหนือจากการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าได้แล้ว ยังช่วยสร้างอาชีพ สร้างงานให้กับคนที่นี่อีกด้วย

กินอยู่เรียบง่าย ภายใต้วิถีแห่งศรัทธา

แม้ว่าจะตั้งราคาขายที่ถูกจนน่ากลับมาซื้อบ่อยๆ คือราคาคู่ละ 60 บาท แต่ลูกค้าก็ไม่ค่อยได้กลับมาซื้อบ่อยๆ สาเหตุก็เพราะว่ารองเท้ายางแบบนี้ใส่ทน จนลืมซื้อรองเท้าใหม่ไปอีกนาน

อีกหนึ่งงานหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งแต่เดิมก็ทำเพื่อใช้งานกันในชุมชนเท่านั้น แต่ปัจจุบันก็กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อ ที่สร้างรายได้ให้กับคุณตา-คุณยายเช่นกัน คืองานจักสาน

คุณตาเสย มูลชีพ กำลังทำโคมไฟ ภาษายองเรียกว่า โกมไฟแปดเหลี่ยม เอาไว้ใช้ในเทศกาลหลายๆ เทศกาล ตั้งแต่วันเกิด ขึ้นปีใหม่ แต่งงาน และเทศกาลอื่นๆ อีกมาก วิธีการก็คือขึ้นโครงก่อน ต้องหักไม้ให้ได้แปดเหลี่ยม แล้วต่อกันด้วยกาว ต่อด้วยแปะผ้าโทเรอย่างดี ติดกระดาษฉลุสีทอง ดูเผินๆ เหมือนจะไม่ยาก แต่ถ้าใม่ใช่คนใจเย็นจริง ทำงานแบบนี้ไม่ได้เลย เพราะว่าแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาและใช้ความประณีตพอสมควร

เสร็จจากชมงานหัตถกรรม เราก็มาดูเรื่องของกินกันต่อ ถ้ามาถึงบ้านหนองเงือกแล้วไม่ได้ชิม 2 เมนูเด็ดของที่นี่ จะได้รับประสบการณ์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่ไม่สมบูรณ์แบบ

เมนูพื้นบ้านของเขา ชื่อน่ารักๆ หน่อย เรียกว่า แกงผักอะยิอะเยาะ คำว่า อะยิอะเยาะ เป็น ภาษายอง แปลว่า เล็กๆ น้อยๆ มารวมกัน ก็คือมีไอ้นั่นนิด ไอ้นี่หน่อย เอามารวมกัน เป็นแกงเพื่อสุขภาพ

ป้าบุญชุม แก้วกัน และป้าลาวัลย์ คำเวียง ได้แนะนำขั้นตอนการทำว่า เริ่มจากโขลกปลาแห้ง ถ้าเป็นปลาเนื้ออ่อนจะอร่อย แต่ที่จริงปลาอะไรก็ได้ แต่ถ้าหาได้ก็เอาปลาเนื้ออ่อน ต่อจากนั้นตำพริกแกง ตำเองมันถึงจะอร่อย ไม่ต้องซื้อสำเร็จ ก็จะมีพริกแห้ง มีหอม ​ มีกระเทียม กะปิ ปลาร้านิดนึง ต้มน้ำให้เดือด เอาพริกแกงใส่ ตามด้วยปลา ทิ้งไว้ให้เดือดก่อน แล้วเด็ดผักที่เตรียมไว้ ผักเสี้ยว ยอดมะรุม บวบ ยอดฟักทอง ผักหวานบ้าน เอาใส่รวมกันเลย

อีกอย่างคือ หมี่สะแน้ด แต่มองดูแล้ว ไม่มีเส้นหมี่ซักเส้นเดียว มีถั่วฝักยาว ผักกาด แล้วก็มะเขือ ผักชี กระเทียม กับหัวหอมแดง เพิ่มอย่างอื่นอีกก็ได้ เป็นผักบุ้ง ผักอะไรก็ได้ มาลวกก่อนแล้วใส่รวมกัน มีน้ำยำ ก็คือต้มกะปิ ปลาร้า แล้วก็มีหมูบดใส่ลงไปด้วย

กินอยู่เรียบง่าย ภายใต้วิถีแห่งศรัทธา

เรื่องคุณค่าทางอาหารนี่ไม่ต้องสงสัย เพราะว่าดูแล้วสารพัดผัก หารับประทานได้ยาก และเป็นของพิเศษสำหรับยุคสมัยนี้

ชุมชนบ้านแพะต้นยางงาม หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า บ้านแพะ เหตุที่เรียกว่าบ้านแพะ ก็คือ บ้านนอก แพะ คือป่า หรือบ้านป่านั่นเอง เพราะอยู่ไกลจากเมือง

พ่อหลวงเกษม ปัญโญใหญ่ แนะนำว่า คนที่นี่เป็นไทลื้อ ก็จะมีภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ แม้ว่าคำศัพท์ส่วนใหญ่จะคล้ายกับภาษาเหนือ แต่สำเนียงพูด และบางสำนวนก็จะมีรูปแบบเป็นของตัวเอง

หมู่บ้านนี้เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะได้สัมผัสกับประสบการณ์แปลกใหม่ ที่ไม่น่าจะหาได้จากการไปเที่ยวที่อื่น ทั้งการแต่งกาย ประเพณี ของกินพื้นบ้าน

มาถึงบ้านแพะ สิ่งแรกที่ควรมาทำ คือการมากราบสักการะอุโบสถโบราณ สร้างมากว่า 400 ปี

หากอยากมาเรียนรู้วิถีไทลื้อ ก็มาจุดนี้ก่อน เรียนรู้วิธีการทำขนมเส้น ทำกล่องข้าวจากใบลาน ทำสรวยดอกไม้

การนุ่งห่ม ผู้ชายก็ใส่กางเกงสะดอหลวมๆ เสื้อก็จะเป็นเสื้อแบบพื้นเมือง ส่วนมากจะเป็นสีดำ ที่เห็นเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างคือจะมีผ้าคาดหัวหรือผ้าปันโห ก็คือผ้าพันหัว สิ่งที่สังเกตเห็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ชายไทลื้อจะต้องสะพายย่ามเพราะว่าชุดของไทลื้อไม่มีกระเป๋า ก็เลยเอาสัมภาระทุกอย่างใส่ไว้ในย่าม

กินอยู่เรียบง่าย ภายใต้วิถีแห่งศรัทธา

ผู้หญิงจะใส่ผ้าถุงหรือซิ่น หลักๆ ก็จะเป็นพื้นสีดำ สีกรม สีน้ำเงิน เสื้อของชายและหญิงเป็นเสื้อป้ายที่มีรูปแบบต่างกัน และยังต่างกันในวิธีการใส่ด้วย

ทำสรวยดอกไม้ สรวย ก็คือ กรวย กรวยดอกไม้ เอาไปไหว้พระ คนไทลื้อชอบไปวัดกัน ช่วงเข้าพรรษาผู้เฒ่าผู้แก่จะนอนวัดกัน ส่วนใหญ่สังคมที่เป็นพุทธจะเป็นสังคมที่สงบ ร่มเย็น อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน และวัดก็ยังเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง

ขนมจีน ภาษาไทยเรียกขนมจีน แต่ไทลื้อเรียกขนมเส้น ทำง่าย กินกันง่าย

ข้าวแคบ ของกินเล่นของคนไทลื้อ เมื่อก่อนทำกินช่วงหน้าหนาว คนจะผิงไฟ เพราะอากาศหนาว เมื่อก่อนมีข้าวแคบ แล้วก็ข้าวปิ้งด้วย ความจริงแล้วข้าวแคบก็เป็นอาหารพื้นเมืองที่ทำรับประทานกันแทบทุกจังหวัดทางภาคเหนือ แต่ที่ชุมชนบ้านแพะต้นยางงามนี้ เขาหยิบเอามาเป็นหนึ่งในอาหารแนะนำ และยังเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถมีประสบการณ์ร่วมได้อีกด้วย

ไข่ป่าม ก็คือไข่ปิ้ง แต่ไม่ได้ปิ้งธรรมดา เราใช้ใบตอง ปรุงรสก่อนด้วย จะมีรสชาติ แล้วก็ได้กลิ่นหอมของใบตอง

การทำนาของชาวบ้านแพะ ปัจจุบันนี้เราทำสืบสานตำนานข้าวโบราณ เยาวชน คนในบ้าน ชวนมาดำนา ปลูกข้าว ใครอยากดูก็มาดูที่นี่ได้ อยากสนุกก็มาทำด้วยกัน มาดำนากัน หลังจากเราปลูกนาได้ 3 เดือนแล้ว ข้าวแก่เต็มที่แล้ว เราก็มาที่ลานกว้าง เอาข้าวมาตี เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแบบนี้แล้ว ใช้เครื่องจักรกัน แต่บ้านแพะเรายังใช้วิถีโบราณ ใครอยากเห็นของจริง ใครอยากเห็นของดั้งเดิม ก็ต้องมาเรียนรู้ที่นี่ จากนั้นก็ไปตำข้าว ฝัดข้าว กว่าจะได้มาไม่ใช่ง่ายๆ เลย

วิถีชีวิตแบบเดิมๆ คนในท้องถิ่นก็คุ้นเคย อาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับคนที่อยู่สังคมภายนอก หรือว่านักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาได้มาเห็นแบบนี้ มันเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเขา

แล้วอีกอย่างหนึ่งมันดีตรงที่ว่า พอชาวบ้านได้มาช่วยกันทำแบบนี้เขาก็จะรู้สึกหวงแหน รู้สึกว่ามันมีคุณค่า ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

ประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวไทย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ช่วยกระจายรายได้ให้กับประชาชน สร้างการมีส่วนร่วม ลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าใครอยากสัมผัสประสบการณ์สนุกๆอยากเรียนรู้วิถีพื้นบ้าน ท่ามกลางธรรมชาติสวยงามแบบนี้ ครั้งหน้ามาลำพูน ก็อย่าลืมแวะมาที่ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านแพะต้นยางงาม