posttoday

‘ดาลัด’ ปารีสแห่งตะวันออก สูดกลิ่นหอมของฤดูใบไม้ผลิ

24 พฤศจิกายน 2561

ปารีสแห่งตะวันออก คือ สมญานามของเมือง “ดาลัด”

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ

ปารีสแห่งตะวันออก คือ สมญานามของเมือง “ดาลัด” ที่นี่เคยเป็นบ้านเก่าของชาวเขา และเต็มไปด้วยอารยธรรมของชาวฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่แม้คนเวียดฯ ก็ยังไม่ปฏิเสธที่จะมา

มินิปารีส

‘ดาลัด’ ปารีสแห่งตะวันออก สูดกลิ่นหอมของฤดูใบไม้ผลิ

ท้าย หมาก-วี เตี๊ยน หรือ “แคท” มัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่ร่ำเรียนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์มาหลายปี เล่าว่า ดาลัดหรือที่คนเวียดนามเรียกว่า “ด่าหลาด” ไม่ใช่ภาษาเวียดนาม แต่เป็นภาษาของชนกลุ่มน้อย คือ ด่า แปลว่า เมือง และ หลาด คือ ชื่อชนเผ่าที่เคยอาศัยอยู่

ดาลัดจึงหมายถึง เมืองของคนหลาด ซึ่งปัจจุบันคนหลาดได้อพยพออกไปอยู่ในป่า ส่วนเมืองดาลัดก็กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

“ในอดีตเมืองดาลัดมีแต่ป่าเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าหลาด มีประชากรประมาณ 5,000 คน ที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรมของชาวหลาด ผู้หญิงจะมีฐานะทางสังคมเหนือกว่าผู้ชาย อย่างเวลาแต่งงานผู้หญิงจะเป็นคนไปสู่ขอผู้ชาย และผู้ชายต้องย้ายไปอยู่บ้านผู้หญิง ซึ่งคนหลาดไม่ได้เรียกประเพณีนี้ว่าการแต่งงาน แต่เรียกว่า การซื้อสามี

ถ้าผู้หญิงต้องการสามีจะต้องนำของมีค่าไปแลกผู้ชาย ซึ่งของมีค่าที่สุดในสมัยนั้นคือ สัตว์เลี้ยง เช่น วัวหรือควาย ดังนั้นผู้หญิงชาวหลาดจะนำควายไปแลกสามี ซึ่งผู้ชายหนึ่งคนมีราคาเท่ากับควาย 2-3 ตัว และผู้หญิงหนึ่งคนสามารถซื้อสามีกี่คนก็ได้” แคท เล่าเรื่องนี้เพราะน่าจะชอบการตอบสนองของลูกทัวร์ไทย

ส่วนประวัติศาสตร์ของเมืองดาลัดก็น่าสนใจ เธอเล่าต่อว่า เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครองประเทศเวียดนาม ทหารฝรั่งเศสได้ตั้งฐานอยู่ที่นครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นเมืองร้อนชื้น จึงได้ออกค้นหาเมืองที่มีอากาศเย็นให้ใกล้เคียงกับสภาพอากาศทางยุโรป จนมาพบเมืองดาลัด เมืองที่ตั้งอยู่บนความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

จากนั้นฝรั่งเศสจึงเข้ามาวางผังเมือง สร้างโบสถ์เผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกให้ชาวหลาด สร้างทางรถไฟเพื่อเป็นเส้นทางสัญจรจากโฮจิมินห์สู่เมืองตากอากาศ และสร้างบ้านพักสไตล์ฝรั่งเศสจนกลายเป็น “มินิปารีสแห่งเวียดนาม”

ต่อมาในปี 1954 ทหารฝรั่งเศสพ่ายต่อเวียดนามในสมรภูมิรบเดียนเบียนฟู แต่การสู้รบยังคงยืดเยื้อ เพราะหลังจากที่ฝรั่งเศสออกไป อเมริกาก็เข้ามาทำสงครามแทน ซึ่งในยุคนั้นเวียดนามถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ มีเส้นแบ่งประเทศอยู่ที่เวียดนามกลาง

ฉะนั้น เวียดนามกลางโดยเฉพาะเมืองหลวงอย่าง เมืองเว้ จึงได้รับความเสียหายจากสงครามมากที่สุด ทำให้คนเวียดนามกลางกระจัดกระจายหนีไป บ้างหนีเข้าลาวและไปทางภาคอีสานของไทย บ้างหนีขึ้นเวียดนามเหนือ รวมถึงลงมาที่เวียดนามใต้ โดยเฉพาะคนเว้ที่อพยพมาอยู่เมืองดาลัด ซึ่งปัจจุบันคนดาลัดร้อยละ 80 คือคนเวียดนามกลางที่อพยพเข้ามา

“เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว เวียดนามยังมีกษัตริย์ แต่ทุกวันนี้ระบบศักดินาล้มเหลวไป และถูกแทนที่ด้วยระบบสังคมนิยม ในเมืองเว้จึงยังมีพระราชวังเก่า และคนเมืองเว้ถือว่าเป็นคนใกล้วังจึงมีความเรียบร้อยไม่เสียงดัง ส่งผลให้คนดาลัดเป็นคนนอบน้อมและน่ารักกว่าคนเมืองอื่น” แคท กล่าวเพิ่มเติม

กลิ่นหอมของฤดูใบไม้ผลิ

‘ดาลัด’ ปารีสแห่งตะวันออก สูดกลิ่นหอมของฤดูใบไม้ผลิ

ใจกลางเมืองดาลัดมีทะเลสาบขนาดใหญ่ชื่อ ทะเลสาบซวนเฮือง มีความหมายว่า กลิ่นหอมของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งทะเลสาบแห่งนี้ไม่ใช่ทะเลสาบธรรมชาติ แต่เป็นอ่างเก็บน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นระบบชลประทานทั้งเป็นน้ำประปาและน้ำเพื่อการเกษตร โดยประเทศเวียดนามจะขุดอ่างเก็บน้ำไว้ตามเมืองใหญ่ เนื่องจากเวียดนามมีพื้นราบอยู่เพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นภูเขา จึงต้องสร้างแอ่งรองรับน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภค

ทะเลสาบซวนเฮือง มีเส้นรอบวงประมาณ 7 กม. ล้อมรอบด้วยเส้นทางเดินที่นี่จึงกลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ให้คนมาออกกำลังกาย นั่งตกปลา ปูเสื่อปิกนิกกินของว่าง และเป็นที่พลอดรักของหนุ่มสาว

แคทเล่าว่า ดาลัดไม่มีฤดูร้อน แต่ในหนึ่งวันดาลัดจะมีครบ 4 ฤดู คือ ช่วงเช้าอากาศสดใสเหมือนฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นช่วงเที่ยงอากาศเริ่มอุ่นขึ้นถึง 25 องศาเหมือนฤดูร้อน จนถึงช่วงเย็นอากาศจะอึมครึม เมฆมาก เหมือนฤดูใบไม้ร่วง และเมื่อพระอาทิตย์ตกดินอุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็วถึงหลัก 10 องศา เหมือนฤดูหนาว

ใกล้กับทะเลสาบมีลานกว้างสำหรับจัดกิจกรรมของเมือง ไกด์สาวเรียกที่นี่ว่า สนามหลวงของเมืองดาลัด ที่เห็นเด่นชัดคือ สถาปัตยกรรมทันสมัย 2 แห่ง คือ สิ่งปลูกสร้างสีเหลืองที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกบัวตอง ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นโรงละครและศูนย์วัฒนธรรม แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เปิดใช้

ข้างๆ กันคือ สิ่งปลูกสร้างสีเขียวที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกอาร์ติโชค ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของเมืองดาลัด ภายในคือร้านกาแฟชื่อ โดฮาคาเฟ่ มี 2 ชั้น เป็นจุดเช็กอินยอดฮิตของวัยรุ่นเวียดนาม และถือเป็นร้านกาแฟราคาแพงของเมือง

นอกจากนี้ ด้านใต้ของลานกว้างยังเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าและโรงภาพยนตร์ หากด้านบนคือสนามหลวง ด้านล่างก็คงเทียบได้กับสยามบ้านเรา

หมอนรถไฟยังหลับ

‘ดาลัด’ ปารีสแห่งตะวันออก สูดกลิ่นหอมของฤดูใบไม้ผลิ

สถานีรถไฟเก่าของเมืองดาลัดปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากมีถนนหนทางที่ดีเข้ามาแทน สถานีรถไฟจึงเปลี่ยนบทบาทเป็นโบราณสถานและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยโถงผู้โดยสารเปลี่ยนเป็นร้านขายของ โบกี้รถไฟเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ และขบวนรถไฟรุ่นเก่าที่ปลดระวางถูกใช้เป็นจุดถ่ายภาพ แต่ละขบวนมีวัยรุ่นเวียดนามหลายกลุ่มแต่งตัวแนวเคเป๊อปมาถ่ายรูป สลับกับคู่บ่าวสาวหลายคู่ที่มาถ่ายพรีเวดดิ้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีรถไฟเหลืออยู่หนึ่งขบวนที่ยังวิ่งอยู่ แต่เดินทางเพียงระยะทางสั้นๆ สำหรับการท่องเที่ยวเท่านั้น โดยจะออกวิ่งเมื่อมีผู้โดยสารอย่างน้อย 15 คน รองรับได้มากที่สุด 164 คน ออกจากสถานีดาลัดไปสถานีจายหมัต (Trai Mat) ใช้เวลา 30 นาที ให้บริการวันละ 6 รอบจากสถานีดาลัด (รอบ 05.40 07.45 09.50 11.55 14.00 และ 16.05 น.)

นรกใต้เจดีย์

บริเวณสถานีจายหมัตมีจุดท่องเที่ยวชื่อดังคือ วัดเจดีย์มังกร หรือ วัดลินเฟื่อก(Linh Phuoc) เป็นวัดพุทธนิกายเซน สร้างขึ้นมาได้ 30 ปี ภายในวัดประกอบด้วย วิหารที่ประดิษฐานพระประธาน รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมที่ทำขึ้นจากดอกกระดาษสูง 4 เมตร หอระฆัง 7 ชั้น และนรก 18 ชั้นอยู่ใต้ดิน โดยคนเวียดนามใช้ธูป 1 ดอกสำหรับไหว้พระ ถ้าคนไทยไปไหว้อย่าฝืนไหว้ 3 ดอกตามความเชื่อของตัวเอง แต่ควรเคารพธรรมเนียมของคนเวียดนาม

อย่างไรก็ดี แคทเล่าว่า คนเวียดนามร้อยละ 80 ไม่มีศาสนา แต่นับถือบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นค่านิยมความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน อย่างลุงโฮหรือโฮจิมินห์เป็นบรรพบุรุษที่ทุกบ้านเคารพรักและนับถือ วันที่ลุงโฮเสียชีวิตคนทั้งประเทศจุดธูปไหว้รูปลุงโฮที่บ้าน เพราะท่านคือหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว

สวนมนุษย์กับไฮเดรนเยีย

‘ดาลัด’ ปารีสแห่งตะวันออก สูดกลิ่นหอมของฤดูใบไม้ผลิ

เนื่องด้วยดาลัดมีอากาศเย็นตลอดปี จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูกพืชและดอกไม้เมืองหนาว เมื่อออกมาจากตัวเมืองได้ไม่นานวิวสองข้างทางก็จะเปลี่ยนเป็นแปลงเกษตรและโรงเรือนดอกไม้ ซึ่งตอนนี้เกษตรกรไม่ได้ทำแค่การเกษตร แต่ยังเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยว

อย่างที่ฮิตมากในตอนนี้คือ สวนไฮเดรนเยีย ดอกไม้ที่ออกดอกตลอดปี โดยในดาลัดมีสวนไฮเดรนเยียขนาดใหญ่อยู่ 3 สวน แต่ที่อยู่ใกล้เมืองที่สุดชื่อกั๋นด่องกั๋มตู๊เก่า (Canh Dong Cam Tu Cau) เก็บค่าเข้าคนละ 1.5 หมื่นด่อง หรือ 20 บาท แบบไม่จำกัดเวลา

“อาชีพหลักของคนดาลัดคือ ทำเกษตร ที่ขึ้นชื่อมากคือ มันฝรั่ง ถ้าปลูกที่ดาลัดจะราคาสูงกว่ามันฝรั่งทั่วไปเพราะรสชาติจะดีกว่า และยังมีแครอต กะหล่ำปลีอาร์ติโชค ลูกพลับ อโวคาโด มะเขือเทศ ฟักทอง ส่วนดอกไม้ขายตัดดอกจะมีไฮเดรนเยีย ลาเวนเดอร์ ดอกเบญจมาศ ส่งขายไปทั่วเวียดนาม แต่ยังไม่ส่งออกขายเมืองนอกเพราะยังผลิตไม่ได้เยอะมากมาย” แคท กล่าวต่อ

ภาพสวนไฮเดรนเยียที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียดูสวยงามชวนฝัน ไม่แปลกใจว่าทำไมจึงเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งคนเวียดนามและคนไทย โดยเฉพาะสาวๆ ที่แต่งตัวสวยมาถ่ายรูปคู่กับดอกไม้ดูแล้วเหมือนเจ้าหญิงในเทพนิยาย

แต่เมื่อลงไปดูใกล้ๆ ดอกไม้ส่วนใหญ่ล้วนบอบช้ำ เพราะคนโน้มดอก โน้มต้น บ้างไม่ทันระวังก็ไปเหยียบย่ำให้โน้มเตี้ยเรี่ยพื้น ทำให้ยิ่งเข้าใกล้ ยิ่งไม่สวย ถ้ามันพูดได้คงกำลังร้องไห้หรือไม่ก็กำลังบ่นพวกมนุษย์ ว่ามาเสพความงามแต่ไม่ช่วยกันรักษาความสวยงาม

ประเทศเวียดนามมีพื้นที่ทั้งหมด 3.3 แสน ตร.กม. ซึ่งเล็กกว่าไทย แต่มีประชากรมากกว่าคือ ราวๆ 90 ล้านคน นั่นเป็นเพราะประเทศเวียดนามไม่มีการคุมกำเนิด เพราะอิทธิพลของระบบการปกครอง

“เวียดนามปกครองด้วยระบบสังคมนิยม เราเป็นคอมมิวนิสต์และไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยน มีพรรคการเมืองอยู่พรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์ แต่แม้ว่าการเมืองจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เวียดนามมีเศรษฐกิจเสรี ซึ่งในอดีตเวียดนามเคยมีกฎคุมกำเนิดมาแล้ว คือในช่วงที่ประเทศเพิ่งผ่านสงครามมาใหม่ๆ และประชาชนยากลำบากมากๆ จึงมีกฎให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้ 2 คน ถ้ามีคนที่ 3 จะถูกปรับหรือถ้าเป็นข้าราชการจะถูกไล่ออกทันที เพราะหากมีลูกเยอะแต่ไม่มีเงินเลี้ยงดูก็จะกลายเป็นภาระสังคม

แต่สมัยนี้เวียดนามดีขึ้นแล้ว เศรษฐกิจของเราเจริญเติบโต ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเวียดนามก็สบายมากขึ้น รัฐบาลจึงยกเลิกการคุมกำเนิด ส่งผลให้ประชากรเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีคนในวัยทำงานมากถึง 40-50 ล้านคน ทำให้เวียดนามเป็นจุดดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนาม เพราะเหตุผลด้านแรงงาน และค่าแรงขั้นต่ำวันละ 90-150 บาท อย่างตอนนี้ถ้าเปิดโทรศัพท์ซัมซุงดูจะเห็นว่า เมด อิน เวียดนาม”

แคท ขมวดทิ้งท้ายว่า ประเทศเวียดนามมีอายุ 4,000 ปี ใช้เวลารบกับประเทศจีนยาวนาน 2,000 ปี หลังจากสิ้นสุดยุคจีนก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสและต่อสู้เพื่อเอกราชมานาน 100 ปี แต่หลังจากสนามรบเดียนเบียนฟูเพียง 1 ปี เวียดนามก็ต้องต่อสู้กับอเมริกา เกิดเป็นสงครามเวียดนามหรือที่คนเวียดนามเรียกว่า สงครามต่อต้านอเมริกา เนื่องจากเวียดนามใต้สมัยนั้นถูกปกครองโดยรัฐบาลอเมริกา คนเวียดนามจึงต่อสู้กับคนอเมริกันไม่ใช่คนเวียดนามด้วยกันเอง

การต่อสู้กับอเมริกายาวนาน 20 ปีจนสิ้นสุดในปี 1975 เวียดนามชนะอเมริกาและรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว แต่ก็ไม่แคล้วมีสงครามขึ้นอีก คือ เวียดนามเหนือสู้รบกับจีน ส่วนเวียดนามใต้ต่อสู้กับเขมรแดง ซึ่งสองสงครามนี้ถือเป็นสงครามสุดท้ายของประเทศ ก่อนที่จะถูกปกครองด้วยพรรคเดียวภายใต้ธงค้อนเคียวสีเหลืองแดง

กล่าวได้ว่า คนเวียดนามเผชิญกับสงครามมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กระทั่ง 40 ปีหลังนี้เองที่เพิ่งผ่านพ้นและเริ่มเปิดประเทศ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวถือว่ายังอยู่ในช่วงบุกเบิกแต่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การันตีได้จากเสียงสะท้อนจากทุ่งไฮเดรนเยียที่มีแต่เสียงภาษาไทย