posttoday

Mensooree Okinawa 6

04 พฤศจิกายน 2561

ก่อนจะจบทริปนี้ ยังมีอีกภารกิจหนึ่งที่ต้องทำกันก็คือ การตามล่าของฝากครับ

ก่อนจะจบทริปนี้ ยังมีอีกภารกิจหนึ่งที่ต้องทำกันก็คือ การตามล่าของฝากครับ เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการท่องเที่ยวที่จะต้องมีการซื้อของกลับไปฝาก หรือถูกฝากให้ซื้อกลับไป อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะทั้งสองอย่างก็เป็นได้ เอาจริงๆ เวลาผมจะซื้อของฝากจากโอกินาวาไปฝากใคร มันคิดไม่ออกจริงๆ ครับ มีแต่ภาพมันม่วงกับสับปะรดวนเวียนอยู่ในหัว

จนรอบนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากทางบ้านว่า ให้หาซื้อสาหร่ายกับไปฝากด้วย ใจก็คิดไปถึงสาหร่ายอบแห้งที่มีขายกันทั่วไป แต่คนสั่ง (ที่มิอาจกล่าวคำปฏิเสธได้) บอกว่า ไม่ใช่! ไปโอกินาวาต้องซื้อสาหร่ายพวงๆ สิ ถึงร้องอ๋อ สาหร่ายพวงองุ่น หรือ Umibudo ที่แปลตรงตัวว่า องุ่นทะเล นั่นเอง เออ! มัวแต่ไปนึกถึงขนมยอดนิยมลืมสาหร่ายตัวนี้ได้ยังไงเนี่ย

คิดแล้วก็เลยเกิดไอเดียอยากไปเยี่ยมฟาร์มสาหร่ายให้สมกับที่เป็นรายการ Japan Origin ที่จะแค่ไปซื้อไปชิมไม่พอ ต้องขอไปหาความรู้เพิ่มเติมด้วย และเนื่องจากจบภารกิจกับสปอนเซอร์รถบัสวันเดียวทัวร์กันไปแล้ว วันนี้เลยต้องหายานพาหนะชนิดอื่นใช้แทน มาโอกินาวาถ้าอยากเที่ยวให้ทั่วควรเช่ารถขับครับ สะดวกง่ายและไม่แพง

Mensooree Okinawa 6

วันนี้เราเลยไปเช่ารถขับเที่ยวพร้อมไปแวะชมฟาร์มสาหร่ายด้วยซะเลย ลืมบอกไปว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ควรพกติดตัวเวลาไปเที่ยวก็คือ ใบขับขี่สากล เพื่อนผมหลายคนมาถึงญี่ปุ่นแล้วเพิ่งคิดได้ว่าอยากขับรถเที่ยว เงินมีเวลามี แต่ไม่มีใบขับขี่สากล เป็นอันจบกัน

เนื่องจากเป็นคิวงอก เลยต้องโทรไปติดต่อขอถ่ายทำกันวันนั้นเลย ทางฟาร์มก็ใจดีตอบรับกันแบบ เฮ้ย! ทำไมง่าย ไม่เหมือนที่อื่นๆ ติดต่อเป็นเดือนยังไม่คืบหน้า ฟาร์มที่ว่านี้ชื่อ Uminchi อยู่ที่เมืองอิโตมัน ทางตอนใต้ของเกาะ ห่างจากเมืองนาฮะออกไปประมาณ 16 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถราว 40 นาทีก็ถึงแล้ว ที่นี่มีทั้งที่ดูและที่กิน

สามารถเลือกได้ว่าจะดูอย่างเดียวหรือกินด้วย เราเลยเลือกแบบจัดเต็มรวมทุกอย่างแล้ว พอขับรถไปถึง เจ้าหน้าที่ก็ออกมาต้อนรับแล้วพาไปชมขั้นตอนการเลี้ยงสาหร่ายกันก่อน เริ่มจากส่วนแรกเป็นบ่อเลี้ยงสาหร่ายแยกตามอายุ จากสาหร่ายเบบี้ไปจนถึงสาหร่ายที่พร้อมเก็บ ตามปกติจะใช้เวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 30 วันในฤดูร้อน จึงจะได้สาหร่ายที่มีความยาวราว 10 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นฤดูฝนที่มีแสงแดดสาดส่องน้อยกว่าก็อาจใช้เวลานานขึ้น

เราค่อยๆ เดินเก็บรายละเอียดกันทีละบ่อ เริ่มจากบ่อแรก สาหร่ายในช่วงทารกนั้นจะมีลักษณะเป็นก้านเกลี้ยงๆ มีกิ่งแตกแขนงออกไปแต่ยังไม่มีตุ่ม ในส่วนนี้จะกลายเป็นก้านหลักหรือลำต้นของสาหร่ายพวงองุ่นนั่นเอง สาหร่ายเบบี้จะถูกนำมาเรียงในตะแกรงสี่เหลี่ยมที่ใช้ตาข่ายประกบกันเพื่อให้สาหร่ายได้ยึดตัว แล้วนำมาเลี้ยงไว้ในบ่อที่เตรียมไว้โดยการสูบน้ำทะเลที่อยู่ติดกับฟาร์มขึ้นมาไว้ในบ่อ มีระบบทำให้น้ำหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา

Mensooree Okinawa 6

มีการเติมสารอาหารเพื่อช่วยในการเจริญเติบโต และทุก 10 วัน สาหร่ายที่ยาวขึ้นประมาณ 3-4 เซนติเมตร ก็จะถูกเปลี่ยนไปยังบ่อถัดไป และบริเวณกิ่งที่แตกแขนงออกจากก้านหลักก็จะเริ่มมีตุ่มหรือเมล็ดเล็กๆ งอกออกมาคล้ายกับพวงองุ่นขนาดย่อม เราเดินชมบ่อต่างๆ ไปจนเกือบสุดโรงเรือน
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เราจะทดลองเก็บสาหร่ายกันที่บ่อนี้ พร้อมอธิบายวิธีการเก็บสาหร่าย โดยเริ่มจากการใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งจับบริเวณก้านหลักแล้วหยิบขึ้นมา

ทำการเลือกเด็ดกิ่งที่โตเต็มที่จนมีลักษณะคล้ายพวงองุ่นและมีความยาวราว 10 เซนติเมตร ใส่ลงในตะกร้าเป็นอันเสร็จ เมื่อเจ้าหน้าที่สอนจบด้วยความร้อนวิชาเราจึงเริ่มเก็บกันอย่างเมามัน เพียงไม่กี่นาทีก็เต็มตะกร้าเป็นอันจบพิธี ดูเวลาเที่ยงพอดี เจ้าหน้าที่นำพวกเราไปยังบริเวณศาลาโปร่งริมทะเล เพื่อเตรียมเตาย่าง พร้อมวัตถุดิบสารพัด และที่ขาดไม่ได้คือสาหร่ายพวงองุ่นสำหรับรับประทานคู่กับของย่าง คล้ายกับเวลากินเนื้อย่างเกาหลีและมีผักเป็นเครื่องเคียงนั่นแหละ

ใครมาเที่ยวที่ฟาร์ม Uminchi แนะนำให้จองคอร์สแบบที่เรามาซึ่งคุ้มค่ามาก เพราะรวมอาหารกลางวันแบบบาร์บีคิวด้วยแล้ว ระหว่างนั่งรอเจ้าหน้าที่ย่างเนื้ออยู่นั้น ก็มีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ให้นั่งจิบชมวิวทะเลคนละกระป๋อง มีกับแกล้มเป็นสาหร่ายพวงองุ่นพร้อมน้ำจิ้มที่ออกรสเปรี้ยวหวานจิบไปกินไปเพลินดีเหมือนกัน ไม่นานนักเจ้าหน้าที่ก็นำของย่างทั้งหลายมาเสิร์ฟให้เราเต็มโต๊ะ

ไม่รู้ว่าตอนเช้ากินมาน้อยหรือใช้พลังงานเยอะตอนเดินดูสาหร่าย อาหารตรงหน้าจึงอร่อยมากเป็นพิเศษ แถมได้วิวทะเลงามๆ พร้อมจิบเบียร์นุ่มๆ ทำให้มื้อนี้แฮปปี้มาก เป็นอันเสร็จกิจกรรมในช่วงเช้าของวันนี้ หลังจากขอบคุณและร่ำลาเจ้าหน้าที่กันเรียบร้อย ก็ออกเดินทางกลับสู่เมืองนาฮะ เราขับรถมายังบ้านเก่าหลังหนึ่งที่ถนน Yachimun (ถนนเครื่องปั้นดินเผา)

Mensooree Okinawa 6

ปัจจุบันถูกปรับปรุงให้เป็นร้านอาหารที่เราสามารถเพลิดเพลินไปกับเหล่าอาหารพื้นเมืองแสนอร่อย ในบรรยากาศอาคารแบบเขตร้อนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การเดินทางมาที่นี่ในวันนี้เพราะเราจะมาตามหาของฝากอีกอย่างหนึ่งคือ Buku Buku Cha ชาพื้นเมืองดั้งเดิมของโอกินาวาที่มีลักษณะและวิธีการชงแบบเฉพาะตัว

เป็นชาที่เกิดจากการนำชาร้อนมาผสมกับน้ำข้าวต้มแล้วนำมาตีให้เกิดฟองจนฟูเต็มถ้วย แม้เราจะตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมงฟองเหล่านี้ก็ยังไม่หายไป ในภาษาโอกินาวาจะเรียกฟองฟูแบบนี้ว่า Aa Buku ในส่วนของความเป็นมานั้น ชา Baku Buku เริ่มเป็นที่นิยมในสมัยเมจิ แถวตลาดขายผ้าเขต Higashimachi ในเมืองนาฮะ จะมีพ่อค้าแม่ค้านำชาใส่ถาดเทินบนหัวมาเดินเร่ขาย

เมื่อมีคนซื้อถึงค่อยชงชาและตีฟองกันสดๆ ตรงนั้น (ทำให้นึกถึงชาชักขึ้นมาทันที) ชาชนิดนี้จึงเป็นชาที่หาดื่มได้เฉพาะในเมืองนาฮะเท่านั้น และยิ่งในช่วงฤดูร้อนจะได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวเมือง นอกจากนี้ในครอบครัวของคนชั้นกลางขึ้นไป จะนิยมดื่ม Buku Buku Cha เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง แต่พอหลังสงครมโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มเสื่อมความนิยมไป

เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ชงชาถูกเผาทำลายไปในช่วงสงคราม ปัจจุบันชา Buku Buku เป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เพราะคุณสมบัติช่วยลดไขมันในอาหารได้ดี วันนี้เราได้ของฝากที่ต่างจากทุกครั้งที่มาโอกินาวา เป็นการปิดทริปที่โล่งใจ เพราะปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วง มีของฝากผู้ทรงอิทธิพลในบ้านตามสั่งครบถ้วนสมบูรณ์ครับ