posttoday

เช็กอินงานศิลป์เส้นรถไฟฟ้า บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

04 พฤศจิกายน 2561

กรุงเทพฯ อากาศดี แถมบรรยากาศยังเปรมปรีดิ์ด้วยงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 

กรุงเทพฯ อากาศดี แถมบรรยากาศยังเปรมปรีดิ์ด้วยงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale) ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” นำผลงานศิลปะร่วมสมัยกว่า 200 ผลงานของ 75 กลุ่มศิลปินจาก 33 ประเทศทั่วโลก มาจัดแสดงบนสถานที่สำคัญ 20 แห่ง ในกรุงเทพฯ

เส้นทางชมงานศิลป์แบ่งเป็น 2 เส้นหลัก คือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อาคารอีสต์เอเชียติก โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ลโอพีเพลส โรงแรมเพนนินซูล่า วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม และศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย และเส้นทางในตัวเมืองที่
เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งมวลชนทั้งบีทีเอส เอ็มอาร์ที และบีอาร์ที

อย่างเส้นทางตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเริ่มตั้งแต่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ สยามเรื่อยไปจนถึงเอ็มอาร์ทีสวนลุมพินี แค่ไม่กี่สถานีเท่านี้ก็เต็มไปด้วยงานอาร์ตให้ไปถ่ายรูป เช็กอิน และเสพงานศิลป์ได้ทั้งวัน

เริ่มจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่นี่นับเป็นศูนย์กลางงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เพราะทั้งในและนอกอาคารจัดเต็มไปด้วยผลงานศิลปะอย่างด้านนอกหอศิลป์ฯ มีผลงาน Shelter ของ มาร์ก ชมิทซ์ เขาได้สร้างที่กำบังให้คนเข้าไปหลบภัย หนีพ้นจากความเสื่อมโทรม ความวุ่นวาย จิตใจที่หม่นหมอง และหยุดการทำร้ายซึ่งกันและกันไว้สักพัก

เช็กอินงานศิลป์เส้นรถไฟฟ้า บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

บนลานเดียวกันยังมีผลงาน ผีในเมือง ของ ศรชัย พงษ์ษา สะท้อนสภาวะความไร้ตัวตน การถูกกดขี่ และถูกเบียดบัง ผ่านงานจัดวางตู้คอนเทนเนอร์ การแสดงรูปถ่าย วิดีโอการว่าจ้าง การปลอมเอกสารสมัครงาน ข้าวของเครื่องใช้ โดยตัวตู้ถูกหุ้มด้วยโครงสร้างไม้ไผ่ขัดสานกันเหมือนนั่งร้าน มัดด้วยเชือกไนลอนสีแดง เพื่อสื่อถึงการปรับตัวและอยู่ร่วมกันของกลุ่มแรงงาน

รวมถึงผลงาน เรือแห่งความหวัง ของจิตติมา ผลเสวก ศิลปินหญิงจากภาคใต้ที่ศึกษาวิถีชีวิตและความเป็นมาของชาวเล ครั้งนี้เธอได้ติดตั้งจัดวางเรือประมง ภายใตสโลแกน “สายลมแสงแดดพลังงานที่ยุติธรรม” โดยมีสายลมและแสงแดดเป็นวัสดุหลักในการสร้างผลงานผ่านใบเรือและแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้พลังงานที่รบกวนโลกและก่อมลพิษต่อมนุษย์น้อยที่สุด

นอกจากนี้ บนผนังขาวๆ ของหอศิลป์ยังเป็นจุดแสดงผลงานภาพพอร์ตเทรตผู้ใช้แรงงาน Asian Workers Covered ของ ราฟ ทูเทน ช่างภาพชาวเยอรมัน ที่ได้เปลี่ยนผู้ใช้แรงงานที่เคยถูกมองข้ามให้มีเกียรติและศักดิ์ศรี เพื่อเตือนใจคนกรุงเทพฯ ว่า พวกเขาเหล่านี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างกรุงเทพฯ ขึ้นมา

ส่วนด้านในหอศิลป์สิ่งแรกที่เห็นชัดคือผลงาน Basket Tower ของ ชเว จอง ฮวา ศิลปินชาวเกาหลีใต้ที่ชอบทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง แฟชั่น และงานออกแบบ โดยเขาได้นำตระกร้าธรรมดาๆ มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะขนาดใหญ่และสูงลิ่ว

เช็กอินงานศิลป์เส้นรถไฟฟ้า บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

จากนั้นแต่ละชั้นของหอศิลป์ล้วนอัดแน่นไปด้วยงานเจ๋งๆ ทั้งผลงาน Spiritual Spaceship ของ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข เขาได้นำวัตถุจากอดีตที่บรรจุเรื่องราวของอาม่ามาเชื่อมโยงกับตัวเองและผู้ชม กลายเป็นประติมากรรมรูปร่างคล้ายยานอวกาศ เพื่อสื่อว่าแม้ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาการจะพามนุษย์ล้ำสมัย แต่ความศรัทธา วัฒนธรรม และประเพณีที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ

หลังจากนั้นยิ่งเดินลึกเข้าไป ยิ่งเข้มข้นกับผลงาน Forest Floor ของ ฟีโอนา ฮอล์ล ป่าทึบที่เกลื่อนไปด้วยโครงกระดูก (ที่วาดลงบนขวด) ราวกับซากปรักหักพังหลังเหตุการณ์ความรุนแรงและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ ผลงาน Good GirlsGo to Heaven, Bad Girls Go Everywhere ของ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ที่ทำขึ้นจากปีกแมลงเม่าติดบนตู้ป้ายไฟ สะท้อนถึงความเปราะบางของชีวิต ผลงาน The State of Suffering ของ สุนันทา ผาสมวงค์ ศิลปินชาวอีสานที่บอกเล่าเรื่องราวของปัจเจก เพศสภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องราวของความทุกข์ที่ได้ตีความและแสดงออกมาในรูปแบบศิลปะจัดวางและประติมากรรมที่มีลวดเป็นวัสดุหลัก

ต่อเนื่องด้วยผลงาน The Adventure of Sinxay ของ ฮูปแต้ม ลาว-ไทย กลุ่มจิตรกรจากภาคอีสานของไทยและลาว มาร่วมกันทำงานศิลปะโบราณอย่าง ฮูปแต้ม โดยได้ตีความการเดินทางของสังศิลป์ชัยใหม่ จากเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขงมายังกรุงเทพฯ และการเผชิญหน้ากับเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ ปีศาจ และกองทัพทหาร

จากนั้นร่วมเปิดประสบการณ์กับผลงาน Tape Bangkok ของ นูเมน/ฟอร์ ยูส ประติมากรรมขนาดใหญ่ที่ทำขึ้นจากเทปใส ลักษณะคล้ายรังไหมกระตุ้นให้คนดูได้สัมผัสกับแสง เสียง สัมผัส และกลิ่น ทั้งยังเป็นการเดินทางค้นหาตัวตนและเสมือนการเกิดใหม่ของมนุษย์

เช็กอินงานศิลป์เส้นรถไฟฟ้า บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ส่วนบนชั้น 8 ตั้งแต่วันนี้-11 พ.ย. 2561 เวลา 12.00-20.00 น. สถาบันมารีนา อบราโมวิช (MAI) ได้จัดกิจกรรมในห้องวิถีมารีนา โดยผู้ชมจะได้สัมผัสประสบการณ์ศิลปะสื่อการแสดงสดแบบใช้ระยะเวลาต่อเนื่องร่วมกับศิลปิน

จากนั้นเมื่อก้าวออกจากหอศิลป์ให้ใช้ทางเดินสกายวอล์กเดินไปชมต่อที่ สยามดิสคัฟเวอรี่ ผลงาน Plastic Shotguns ของ ชเว จอง ฮวา ได้ถูกจัดแสดงบนชั้น G รวมไปถึงผลงานหมูบิน Love Me Pink Pig ของศิลปินคนเดียวกันก็ถูกจัดแสดงไว้บนชั้น G ของสยามเซ็นเตอร์

นอกจากนั้น สยามพารากอนกำลังรอคอยทุกคนไปชมผลงานฟักทองสีแดงลายจุด I Carry on Living with the Pumpkins ของ ยาโยอิ คุซามะ ซึ่งผลงานของคุณป้ายังไปสร้างความตื่นตาตื่นใจต่อถึงเซ็นทรัลเวิลด์ กับผลงาน 14 Pumpkins ที่แขวนเด่นอยู่กลางห้าง

หลังจากนั้นขึ้นบีทีเอสไปต่อเอ็มอาร์ทีแล้วโผล่ขึ้นที่สถานีสวนลุมพินี บริเวณที่เคยเป็นสวนลุมไนท์บาซาเก่าตอนนี้กำลังพัฒนาเป็นโครงการ วัน แบงค็อก พิเศษช่วงงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้มีการสร้าง BAB BOX ขึ้นจากการร่วมมือของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ และวัน แบงค็อก ให้เป็นศูนย์รวมการจัดงานและข้อมูลข่าวสาร พร้อมแสดงผลงานศิลปะกว่า 10 ผลงาน

เช็กอินงานศิลป์เส้นรถไฟฟ้า บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

อย่างผลงาน Fruit Tree ของศิลปินเจ้าเก่า ชเว จอง ฮวา ผลงาน Your Dog ของ โยชิโตโมะ นาระ เจ้าของคาแรกเตอร์สุดน่ารักที่เขามักใช้ลายเส้นแบบการ์ตูนเด็ก เพราะอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและการเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวในวัยเด็กของเขา

รวมไปถึงผลงาน Animal Kingdom ของ จานัน เธอมักนำแนวคิดทางจักรวาลวิทยาของอาหรับและเปอร์เซียมาใช้ในงานศิลปะ โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับ “ญิน” (สัตว์ประหลาด) ซึ่งครั้งนี้เธอได้สร้างแดนสวรรค์ที่เต็มไปด้วยสัตว์ในเทพนิยายและสัตว์ประหลาดที่มีความน่ารัก แต่ก็พร้อมที่จะคุกคามโลกมนุษย์ได้ในเวลาเดียวกัน

เชื่อว่าเวลาหนึ่งวันอาจน้อยไปสำหรับเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 แต่ยังมีเวลาเหลือเฟือให้เก็บครบทุกชิ้น เริ่มเดินตามงานศิลป์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้-3 ก.พ. 2562 และอย่าลืมดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น BAB 2018 เพื่อวางแผนเส้นทางและอ่านข้อมูลที่น่าสนใจได้อีกเพียบ