posttoday

ย้อนรอยความอร่อย จากนิวยอร์กถึงกรุงเทพฯ

05 ตุลาคม 2561

หลายคนรู้จักชื่อ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ผ่านภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ปี 1990 เรื่อง Felicity เพราะนางเอกของเรื่อง เฟลิซิตี้

เรื่อง : เพ็ญแข สร้อยทอง ภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์

หลายคนรู้จักชื่อ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ผ่านภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ปี 1990 เรื่อง Felicity เพราะนางเอกของเรื่อง เฟลิซิตี้ สาวสวยผมลอนทำงานพาร์ตไทม์ที่คอฟฟี่ช็อปแห่งนี้ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยในนิวยอร์ก สำหรับผู้เขียนยังมีซีรี่ส์ Will and Grace อีกหนึ่งเรื่อง
ซึ่งทำให้รู้จักร้านนี้มากขึ้นไปอีก เพราะ วิลล์ ทรูแมน พระเอกของเรื่องไปร้านนี้บ่อยครั้ง

ดีน แอนด์ เดลูก้า เป็นแบรนด์ร้านอาหารและคาเฟ่ชื่อดัง ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในย่านโซโห มหานครนิวยอร์ก ในปี 1977 โดย โจเอล ดีน, จอร์จิโอ เดลูก้า และ แจ็ก เซกลิก ให้บริการอาหารที่คัดสรรจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งยังโดดเด่นด้วยกาแฟ และมีเครื่องใช้ในครัวจำหน่ายด้วย ในเมืองไทย ดีน แอนด์ เดลูก้า เปิดครั้งแรกเมื่อ 8 ปีที่แล้ว กลายเป็นร้านที่ให้ “ฟีล” เหมือนยกนิวยอร์กมาไว้ที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะด้วยบรรยากาศ อาหาร ฯลฯ และเพื่อฉลองครบรอบ 8 ปีในประเทศไทย รวมทั้งครบรอบ 41 ปี ของการก่อตั้งแบรนด์ ทาง ดีน แอนด์ เดลูก้า จึงจัดอาหารประจำเทศกาลให้ทุกคนย้อนเวลา “แฟลชแบ็ก” ไปเอร็ดอร่อย และ “ฟีล” ความเป็นนิวยอร์กกับ 8 เมนูยอดนิยมอีกครั้ง

ย้อนรอยความอร่อย จากนิวยอร์กถึงกรุงเทพฯ

นิวยอร์กเป็นมหานครที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน ทำให้เกิดวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบร้อยสีพันอย่าง รวมถึงเรื่องอาหารการกินด้วย เช่นเดียวกันกับเมนูสไตล์ “นิวยอร์เกอร์” ซึ่ง “แบงค็อกเกี้ยน” จะได้ลองลิ้ม ณ ดีน แอนด์ เดลูก้า เริ่มต้นกันที่ “เดอะ ดีน แพนเค้ก” แป้งแผ่นแบนๆ ที่เรียกว่า แพนเค้ก ซึ่งทำจากแป้งผสมกับนม เนย ไข่ น้ำตาล ฯลฯ ก่อนนำไปทอดด้วยน้ำมันหรือเนยให้สุกในกระทะนุ่มฟู ยิ่งอร่อยถ้ารับประทานตอนร้อนๆ จะรับประทานเปล่าๆ หรือราดไซรัป หรือจะนำไปสร้างสรรค์เมนูสวยงามเอร็ดอร่อยทั้งของคาวและของหวาน จากที่เป็นมื้อเช้าก็กลายเป็นเมนูที่ได้ทุกที่ทุกเวลา สำหรับแพนเค้กของดีน แอนด์ เดลูก้า จัดเป็นเมนูขนมหวานสุดคลาสสิกและมีเอกลักษณ์ อร่อยด้วยสตรอเบอร์รี่และกล้วยที่รสชาติเข้ากัน ราดด้วยวิปครีม ไซรัปเมเปิ้ล และโรยไอซิ่ง

ย้อนรอยความอร่อย จากนิวยอร์กถึงกรุงเทพฯ

สำหรับสลัดที่เรียกกันว่า “แครบ หลุยส์” นี้บางครั้งก็เรียกกันว่า “ราชาแห่งสลัด” เป็นสลัดที่มีเนื้อปูเป็นส่วนผสมสำคัญ สูตรอาหารนี้เกิดครั้งแรกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 กำเนิดที่ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ชื่อ หลุยส์ นั้นมี 2 ข้อสันนิษฐานคือ เป็นชื่อของ หลุยส์ คูทาร์ด เชฟของภัตตาคารที่เสิร์ฟสลัดขาปู หรืออาจจะมาจากชื่อ หลุยส์ ดาเวนพอร์ต นักธุรกิจโรงแรมชาวอเมริกัน ซึ่งเสิร์ฟสลัดปูที่ร้านอาหารในโรงแรม ใครอยากลองบ้างก็ต้องแวะไปที่ ดีน แอนด์ เดลูก้า โดยสลัดปูของร้านนี้มีผักสดนานาชนิดอย่างเช่น ผักกาดขาว หน่อไม้ฝรั่ง ขึ้นฉ่าย แตงกวาญี่ปุ่น และมะเขือเทศเชอร์รี่ เสิร์ฟพร้อมกับไข่ต้ม และเนื้อปู ราดด้วยซอสครีมคอกเทล

สลัดอีกสักจาน “นิซัวซ์สลัด” ดั้งเดิมมาจากเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส สูตรออริจินัลนั้นจะเป็นสลัดมะเขือเทศ ไข่ต้ม แองโชวี และแน่นอนว่า ต้องมี มะกอกนิซัวซ์ อันเป็นที่มาของชื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญ สำหรับมะกอกนิซัวซ์นี้ต้องเป็นมะกอกจากทางใต้ของฝรั่งเศส นำไปบ่มจนมีสีดำด้วยกรรมวิธีเฉพาะจากสูตรดั้งเดิม นิซัวซ์สลัดถูกสร้างสรรค์ดัดแปลงออกมามากมาย เชฟชื่อดังของโลกต่างก็ชื่นชมว่าเป็นสุดยอดความอร่อยของสลัด ด้วยมีส่วนผสมที่ดีและลงตัว สำหรับ นิซัวซ์สลัด สูตรของ ดีน แอนด์ เดลูก้า มีปลาทูน่านำไปจี่ในกระทะให้พอสุก คลุกเคล้ากับพริกไทยให้มีเนื้อสัมผัสกรุบกรอบตอนรับประทาน รวมทั้งผักกาดแก้ว ถั่วฝรั่งเศส มะเขือเทศ หอมแดง มันฝรั่ง พริกหยวก มะกอกดำ ไข่ต้ม แอนโชวี่ และซอสไวน์ขาว

ย้อนรอยความอร่อย จากนิวยอร์กถึงกรุงเทพฯ

เมื่อเอ่ยถึง “มีตโลฟ” ใครๆ ก็นึกถึงอาหารที่ปรุงจากเนื้อบดผสมวัตถุดิบต่างๆ ทำเป็นก้อนแล้วอบหรือรมควัน เป็นอาหารจานคุ้นเคยของอเมริกันชน มีความเป็นมายาวนาน สืบค้นได้ถึงศตวรรษที่ 5 เป็นตำรับอาหารของโรมัน เผยแพร่ไปสู่หลายประเทศทั้งเยอรมนี สแกนดิเนเวียน เบลเยียม ฯลฯ ต่างก็มีสูตรมีตโลฟของตัวเอง โดยชาวเยอรมันได้นำไปเผยแพร่ที่อเมริกาตั้งแต่ยุคโคโลเนียล เป็นอาหารซึ่งทำให้ชาวอเมริกันผ่านยุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่มาได้ โดยผสมเนื้อบดกับอาหารอื่นๆ เท่าที่มี แล้วใส่เครื่องเทศปรุงรสเข้าไป ก็อิ่มได้ ก่อนจะเป็นหนึ่งในคอมฟอร์ตฟู้ดและอาหารสุดโปรดอันดับต้นๆ ของชาวอเมริกัน มีตโลฟตำรับอเมริกันจะมีซอสหรือเครื่องเคียงสำหรับชูรสเสิร์ฟมาด้วย สำหรับสูตรของ ดีน แอนด์ เดลูก้า จะผสมความเป็นไทยเข้ามาด้วย โดยปรุงจากเนื้อวัวไทยวากิว หอมแดง กระเทียม ครีมชีส โรสแมรี เกล็ดขนมปังและไข่ จากนั้นนำไปอบ เสิร์ฟพร้อมกับมันบดและสลัดผัก

ลำดับถัดมาคือ “ไก่ย่างสไปซี่พิริพิริ” สำหรับไก่พิริพิรินี้เป็นสูตรไก่รสเผ็ดของชาวอัฟริกันและโปรตุเกส กำเนิดขึ้นในแองโกลาและโมซัมบิก ตั้งแต่สมัยที่ชาวโปรตุเกสเข้าไปตั้งถิ่นฐานพร้อมกับนำพริกชิลี (เรียกว่า พิริพิริ ในภาษาสวาฮีลี) ไปเผยแพร่ด้วย ก่อนจะกลายเป็นเมนูไก่ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ไก่ย่างสไปซี่พิริพิริของที่นี่นำไก่รมควันอบสมุนไพร โดยใช้อกไก่ที่หมักกับมะนาวและผักชี จากนั้นเสิร์ฟพร้อมเฟรนช์ฟรายส์และสลัดผัก

ย้อนรอยความอร่อย จากนิวยอร์กถึงกรุงเทพฯ

อีกหนึ่งเมนูไก่ คือ “ไก่แมกซิกันเอนชิลาด้า” อาหารชาวเม็กซิกันซึ่งส่งออกไปได้รับความนิยมในโลกส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างอเมริกา เมื่อเห็นคำว่า เอนชิลาด้า แล้วก็รับรองได้ว่า เผ็ด เพราะคำนี้ แปลว่า เติมพริกหรือตกแต่งด้วยพริก คำนี้บอกว่า อาหารจากนี้คือ การนำแผ่นแป้งตอร์ติยามาห่อไส้เนื้อ ราดด้านนอกด้วยซอสมะเขือเทศหรือซอสพริก อาหารจานนี้มีมาแต่โบร่ำโบราณของเม็กซิโก ซึ่งคนรับประทานตอร์ติยาหรือแผ่นแป้งที่ทำจากข้าวโพดเป็นหนึ่งในอาหารหลัก ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มนำแผ่นแป้งนี้มาห่อ ม้วน หรือยัดไส้ด้วยอาหารต่างๆ สำหรับที่ดีน แอนด์ เดลูก้า แผ่นแป้งห่อด้วยเนื้ออกไก่ ซึ่งหมักด้วยซอสพริกเม็กซิโก ผสมพริกหยวก และหัวหอม ราดด้วยชีส เสิร์ฟพร้อมกับซอสรสเด็ดสไตล์เม็กซิกัน ซอสซัลซา และซอสซาวร์ครีม

อีกหนึ่งอาหารห่อด้วยแป้งจากเม็กซิโกคือ ทาโก้ ซึ่งเป็นเมนูของเม็กซิโกที่มีมาตั้งแต่ก่อนสเปนจะเข้าไปมีอิทธิพลในภูมิภาคนั้น ดั้งเดิมต้องใช้เนื้อปลา เพราะว่าต้นกำเนิดเมนูนั้นมาจากชุมชนชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ ทะเลสาบ ก่อนจะไปแพร่ขยายในดินแดนอื่น โดยเฉพาะที่สหรัฐ สำหรับ ดีน แอนด์ เดลูก้า เสิร์ฟ “ทาโก้ปลาคอด” ทำจาก ปลาคอดทอด กะหล่ำปลีซอย ซอสเผ็ดที่เรียกว่า ซอสเรมูลาด ห่อด้วยแผ่นแป้ง เสิร์ฟคู่กับซัลซาและมะนาว

หลังจากอิ่มเอมของคาวแล้วก็มี ไอศกรีมนิวยอร์กซันเด มีให้เลือกทั้ง ช็อกโกแลต ร็อกกี้ โร้ด ซันเด, สตรอเบอร์รี่ ครัมเบิ้ล ซันเด และ บานาน่า นัตตี้ คาราเมล ซันเด ให้เลือกตามชอบ

8 เมนูของ ดีน แอนด์ เดลูก้า นี้ ทำให้ผู้ชิมได้ย้อนเวลา “แฟลชแบ็ก” ไปเอร็ดอร่อย และ “ฟีล” ความเป็นนิวยอร์กกันอีกครั้งที่กรุงเทพฯ