posttoday

พิมศิริ พิมพิสุทธิ์ ฉันตกหลุมรักเบเกอรี่

05 ตุลาคม 2561

เชฟสาวหน้าตาดี ผู้ชอบทำขนมมาตั้งแต่เด็กๆ

เรื่อง ภาดนุ ภาพ ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

เชฟสาวหน้าตาดี พิมศิริ พิมพิสุทธิ์ หรือ ต้อง วัย 31 ปี ชอบทำขนมมาตั้งแต่เด็กๆ และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่เธอก็ได้ค้นพบว่า ตัวเองตกหลุมรักการทำเบเกอรี่เป็นอันมาก ปัจจุบันเธอได้ทำเบเกอรี่แบบเดลิเวอรี่แบรนด์ตัวเองที่ชื่อว่า Pimpisut Patisserie อย่างจริงจัง จนกลายเป็นอาชีพที่เธอรัก ทำแล้วมีความสุข แถมยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างดี

“เดิมทีแล้วต้องเรียนจบปริญญาตรี สาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พอจบก็ได้เข้าไปทำงานในฝ่ายการตลาดของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีโดยทำอยู่ 1 ปี จากนั้นก็มีโอกาสได้รู้จักกับ เชฟวิลแมน ลีออง ซึ่งเป็นเชฟใหญ่ของโรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ แล้วเชฟบอกว่ากำลังต้องการคนรุ่นใหม่เข้าไปเรียนรู้การทำเบเกอรี่ในแผนกครัวของโรงแรมพอดี ต้องก็รู้สึกสนใจ เชฟก็เลยให้โอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นพนักงานแบบรายวัน ทั้งที่ตอนนั้นต้องยังไม่ได้เรียนทำ
เบเกอรี่อย่างจริงจัง อาศัยแค่ความชอบของตัวเองเท่านั้น

เมื่อเข้าไปทำงานที่โรงแรมได้สักพัก ต้องก็ฝึกทำเบเกอรี่ตั้งแต่เบสิกเลย เวลาใครทำอะไรก็จะคอยสังเกตและคอยเป็นลูกมือช่วยเหลือพวกเขา กว่าจะได้ลงมือทำขนมจริงๆ ก็ใช้เวลาหลายเดือน ขนมที่ได้ทำนั้นเริ่มจาก คุกกี้ ชีสเค้ก มูสเค้ก และอื่นๆ เรียกว่าค่อยๆ เรียนรู้เคล็ดลับในการทำเบเกอรี่อยู่หนึ่งปีเต็ม ถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ ที่ได้รับโอกาสในครั้งนี้”

ต้องเล่าว่า ระหว่างทำงานที่โรงแรม สวิสโฮเต็ลฯ เชฟวิลแมนก็ได้ชักชวนให้เธอไปแข่งทำขนมในรายการ Battle of the Chef 2011 ที่มาเลเซีย แม้ครั้งนั้นจะไม่ได้รางวัลติดมือกลับมา แต่อย่างน้อยก็ได้ประกาศนียบัตรจากงานและได้ประสบการณ์ในการแข่งขัน หลังจากนั้นเธอก็ไปแข่งทำขนมในรายการ Hot Dessert Free Style Cooking โดยทำเมนูแอปเปิ้ลพาย จนสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ (เหรียญเงิน) มาครองได้

พิมศิริ พิมพิสุทธิ์ ฉันตกหลุมรักเบเกอรี่

“หลังจากหาประสบการณ์ในแผนกเบเกอรี่ของโรงแรมแล้ว ต้องก็รู้สึกว่าอยากเรียนรู้การทำเบเกอรี่เพิ่มเติมให้มากกว่านี้ วันหนึ่งต้องก็ปรึกษาคุณแม่ ว่าอยากจะเรียนคอร์สทำ เบเกอรี่ที่ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิตธานี เมื่อคุณแม่เห็นด้วย ต้องก็ลาออกจากงานโรงแรมเพื่อมุ่งมั่นเรียนทำเบเกอรี่อย่างเต็มที่

ช่วงที่ลงคอร์สทำเบเกอรี่ก็เริ่มต้นเรียนใหม่ตั้งแต่ระดับเบสิก แล้วค่อยๆ ไล่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นเวลาทั้งหมด 9 เดือน กระทั่งเรียนจบและได้ประกาศนียบัตร (เป็นนักเรียนที่เรียนดีเป็นอันดับ 2 ของชั้นปี) วันหนึ่งเชฟวิลแมนคนเดิม ปัจจุบันนี้เขาคือผู้ก่อตั้ง Thailand Culinary Academy ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่มักจะส่งเด็กไทยไปแข่งขันทำอาหารและขนมในหลายๆ ประเทศ ก็มาชักชวนให้ต้องไปแข่งทำขนมในรายการ Afternoon Tea Dessert และรายการ Three-Tier Wedding Cake ในงาน FHC Shanghai China 2013 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นการแข่งทำขนมสำหรับอาฟเตอร์นูนทีและทำเค้กแต่งงาน ก็โชคดีว่าได้รางวัลรองชนะเลิศ (เหรียญเงิน) มาทั้งสองรายการเลยค่ะ ตอนนั้นรู้สึกดีใจมากๆ

หลังจากแข่งทำขนมกลับมา ต้องก็คิดว่าตัวเองน่าจะลองทำเบเกอรี่ขายแบบออนไลน์น่าจะดี ถ้ามีลูกค้าสั่งขนมมา เราก็จะไปส่งให้ถึงที่เลย พอตัดสินใจได้ต้องก็ซื้อเตาอบขนาดเล็กในราคาไม่แพงมากนักมาอบขนมก่อน โดยโพสต์รูปขนมแล้วขายผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมในช่วงปลายปี 2013 ขนมชนิดแรกที่ขายก็คือ มาการง จริงๆ แล้วตอนนั้นต้องยังไม่ได้ทำเอง แต่ไปรับมาจากเชฟที่โรงแรมก่อน ช่วงนั้นมาการงฮิตมาก ประกอบกับมีญาติสั่งไปในงานแต่งงาน พอคนเห็นและได้ชิมก็อยากลองสั่งบ้าง เดือนแรกนี่
โชคดีมากเลยค่ะ เพราะมีลูกค้าสั่งมาการงเข้ามาเยอะมาก รวมรายได้เดือนแรกแล้วได้เงินเป็นแสนบาทเลยละ”

ต้องบอกว่า ต่อมาเธอก็เริ่มทำเค้กเองบ้าง โดยมีทั้งเค้กหน้านิ่ม เค้กครีมสด ชีสเค้ก และคัพเค้กหลายๆ รสชาติ โดยขายปอนด์ละ 400-800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของเค้ก พอลงโซเชียลมีเดียไป คนที่สั่งไปชิมก็เริ่มแนะนำต่อเพื่อนๆ จึงเริ่มมีคนสั่งเข้ามาเรื่อยๆ และมีร้านกาแฟมาสั่งเค้กไปขายในร้านของเขาด้วย

พิมศิริ พิมพิสุทธิ์ ฉันตกหลุมรักเบเกอรี่

“ลูกค้าโดยทั่วไปมักจะสั่งเค้กอย่างน้อย 1 ปอนด์เป็นเรื่องปกติค่ะ แต่ถ้าเป็นคัพเค้กหรือแซนด์วิชที่ใช้ในช่วงคอฟฟี่เบรก บางครั้งลูกค้าอาจสั่งมากถึง 200-300 ชิ้นเลยละ เค้กที่ขายดีก็คือ เค้กมะพร้าวครีมสด และเค้กส้ม ช่วงแรกๆ ที่รับออร์เดอร์ลูกค้ามาเยอะๆ ก็จะวุ่นหน่อยค่ะ เพราะเราไม่ได้เตรียมวัตถุดิบไว้ จึงต้องวิ่งไปซื้อกันใหม่ทุกครั้ง แต่ช่วงหลังมานี้เราใช้วิธีซื้อวัตถุดิบ เช่น แป้ง เนย ครีม และช็อกโกแลต มาเตรียมไว้เลยค่ะ

ตั้งแต่ขายเบเกอรี่ออนไลน์มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เกือบ 5 ปีได้แล้วค่ะ ตอนนี้นอกจากลูกค้าวัยทำงานซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ๆ อย่าง เอสซีจี ธนาคารออมสิน ปตท. และ ททท.แล้ว ยังมีลูกค้ารายย่อยๆ เพิ่มขึ้นด้วย ก็มีคุณแม่นี่แหละที่คอยช่วย ทั้งช่วยจัดเรียงขนมและช่วยซื้อวัตถุดิบให้ รายได้ตอนนี้เรียกว่าสามารถอยู่ได้เลยค่ะ อย่างเตาอบเครื่องใหญ่ที่เห็นนี้ ต้องก็รวบรวมเงินที่ได้จากการขายขนมไปซื้อมาเองเลยนะ (ยิ้ม) ทุกวันนี้จึงรู้สึกภูมิใจและรักการทำเบเกอรี่มากๆ”

ต้องเสริมว่า ในอนาคตเธอแพลนว่าอยากจะเปิดคอร์สสอนทำเบเกอรี่แบบตัวต่อตัว เมื่อบ้านหลังใหม่ปลูกเสร็จเรียบร้อย เนื่องจากได้ทำเป็นสตูดิโอสำหรับสอนและทำเบเกอรี่ไว้โดยเฉพาะ และอาจจะรับทำแคตเทอริ่งและสแน็กบ็อกซ์โดยให้คุณย่าคุณยายหรือผู้สูงอายุที่อยู่ใกล้ๆ บ้านมาช่วยบรรจุกล่องให้ พวกท่านจะได้ทำงานเพลินๆ แบบไม่เหนื่อยนัก และจะได้ไม่เหงาด้วย

“ต้องคิดว่าทุกวันนี้ได้เลือกอาชีพที่ทำให้ตัวเองมีความสุขแล้วล่ะค่ะ แม้ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ก็พอทำให้เราอยู่ได้ เมื่อลูกค้าสั่งขนมมา ถ้าไม่ติดธุระสำคัญจริงๆ ต้องจะเป็นคนไปส่งเบเกอรี่ให้ลูกค้าเองเกือบทุกรายเลยละ เพราะถือว่าเป็นการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ถ้าส่งระยะใกล้ๆ จะไม่คิดค่าส่ง แต่ถ้าระยะทาง 15 กม.ขึ้นไป จะคิดค่าส่ง 200 บาท อีกสิ่งที่ต้องอยากทำก็คือ เปิดร้านเบเกอรี่เล็กๆ สักร้านหนึ่ง ซึ่งอาจจะเปิดควบคู่ไปกับสตูดิโอสอนทำขนมเลย แต่อย่างไรขอดูความพร้อมอีกทีนึงค่ะ

ทุกวันนี้ต้องก็ยังคงอัพเดทความรู้ในเรื่องการทำเบเกอรี่เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งไปเรียนปั้นน้ำตาล และอื่นๆ รวมทั้งเรียนแกะสลักผักผลไม้ (หัวเราะ) พูดง่ายๆ ว่าเราชอบเรียนและชอบหาความรู้ไปเรื่อยๆ เพราะความรู้หรือเคล็ดลับบางอย่างสามารถนำมาปรับใช้กับการทำเบเกอรี่ของเราได้เช่นกัน”…FB/IG : pimpisut.pastry และ Line : @pimpisut.pastry