posttoday

แอบส่องนวัตวิถี  เที่ยวชมของดีเมืองสุรินทร์

29 กันยายน 2561

กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี”

กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานรากและเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยการนำนวัตกรรมมาผสมผสานกับวิถีชีวิตในการผลิตสินค้าท้องถิ่นหรือผลิตภัณฑ์โอท็อป ภายใต้แนวคิด ร่วมสุข ร่วมวิถี ร่วมสมัย (Happiness Oriented) พร้อมกับผนวกการท่องเที่ยวของชุมชนเข้าไป
 
ที่ผ่านมาพัฒนาการของโอท็อปที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจฐานรากนั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วงประกอบด้วย ช่วงแรกปี 2546-2556 เป็นช่วงหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์-พออยู่ พอกิน ช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2557-2560 เป็นช่วงหลากเสน่ห์ หลายผลิตภัณฑ์-อยู่ดี กินดี และปี 2561 เป็นช่วงนวัตวิถี ร่วมสุข ร่วมวิถี ร่วมสมัย-มั่งมี ศรีสุข
 
โดยใช้ชุมชนเป็นตัวตั้งเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนท่องเที่ยวระดับหมู่บ้าน และช่วยกันยกระดับสินค้าโดยนำนวัตกรรมมาผสมผสานกับวิถีของชุมชนอย่างน้อย 1 หมู่บ้านต่อสินค้า 10 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีรายได้และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่เราจะพาไปเปิดประสบการณ์ในครั้งนี้ ก็คือ ชุมชนเลี้ยงช้างใน จ.สุรินทร์ จังหวัดที่มีช้างมากที่สุดในประเทศไทย
 
บางคนบอกว่า อยากเห็นช้าง ไม่เห็นจำเป็นจะต้องเดินทางมาไกลถึง จ.สุรินทร์ ไปที่สวนสัตว์เขาดิน ไปที่ซาฟารีเวิลด์ หรือไปที่พัทยา ก็มีช้างให้ดู แต่การไปสถานที่เหล่านั้น จะมีสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถพบได้ ก็คือเรื่องราวความผูกพันวิถีชีวิตของคนกับช้าง ดังนั้นเราจึงเดินทางมาที่ จ.สุรินทร์ มาที่ อ.ท่าตูม อำเภอที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุด เป็นพื้นที่ที่ช้างอยู่คู่กับคนมาหลายชั่วอายุคนแล้ว มีช้างแทบทุกบ้าน แถมแต่ละบ้านไม่ได้มีแค่เชือกเดียวเท่านั้น เรียกได้ว่า ถ้าจะตามหาช้าง ง่ายกว่าตามหาสุนัขเสียด้วยซ้ำ
 
เราเดินทางมาที่บ้านตากลาง ใน อ.ท่าตูม ที่นี่เขาว่ากันว่าเป็นหมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะในสมัยโบราณ ชาวบ้านที่นี่จะมีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง ชาวบ้านบอกว่า ปกติแล้ว เราจะเห็นช้างออกมาเดินให้เห็นมากกว่านี้ แต่ว่าวันนี้ที่วัดมีงานใหญ่ ช้างหลายๆ เชือกจึงไปร่วมงานกันที่วัด
 

แอบส่องนวัตวิถี  เที่ยวชมของดีเมืองสุรินทร์

 
วัดป่าอาเจียง เป็นวัดป่าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใน อ.ท่าตูม สถานที่แห่งนี้แหละที่เราจะเห็นเรื่องราวความผูกพันระหว่างคนกับช้าง แล้วก็หมู่บ้านรอบๆ วัด เป็นหมู่บ้านของชุมชนชาวกวยหรือชาวกูย ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่มีความเชี่ยวชาญในการคล้องช้างในสมัยโบราณ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงมีธรรมเนียมปฏิบัติ มีวิถีชีวิตที่มีความผูกพันกันอยู่ระหว่างคนกับช้าง
 
วันนี้ที่วัดป่าอาเจียง จัดงานสำคัญหลายๆ อย่างขึ้นพร้อมกัน คือมีการอุปสมบทหมู่ที่จะแห่นาคบนหลังช้าง และมีงานเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีของดี จ.สุรินทร์ ดังนั้นจึงมีทั้งคนและช้างมาที่วัดนี้เป็นจำนวนมาก และยังมีการจัดพิธีกรรมแบบโบราณ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชุมชน และเพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมให้คนภายนอกได้รับรู้อีกด้วย
 
ปัจจุบันนี้ แม้ว่ากฎหมายจะไม่อนุญาตให้เข้าไปคล้องช้างป่าได้เหมือนเดิมแล้ว แต่ด้วยความที่คนที่นี่เขามีความพยายามอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเอาไว้ ดังนั้น คนที่เป็นหมอช้างก็ยังได้รับการเคารพนับถือจากชาวบ้าน พิธีกรรมบางอย่างก็มีการพยายามนำกลับมาทำให้มีคุณค่า นำมาทำใหม่เพื่อเป็นการสื่อสารให้คนภายนอกได้รับรู้ ดังเช่น พิธีเซ่นไหว้ศาลปะกำ ซึ่งเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ของชาวช้าง
 
การเดินทางมาที่นี่เราจะไม่ได้เห็นแค่วิถีชีวิตของชุมชนชาวกูย หรือชาวกวยเท่านั้น เพราะครั้งนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ ที่มีงานเปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีของ จ.สุรินทร์ ซึ่ง อภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวในช่วงเปิดงานไว้ว่า
 
“เราต้องการให้เกิดความยั่งยืน...เอาเรื่องราวเกี่ยวกับช้างมาสร้างสตอรี่...ทำให้นักท่องเที่ยวมาแล้วติดใจอยากมาเที่ยวครั้งที่สอง ที่สามและบอกต่อ… รายได้ก็จะหมุนเวียนอยู่ในหมู่บ้านท่าน ทุกคนก็จะมีความสุข ลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองก็จะกลับมา เพราะว่าสามารถประกอบอาชีพในหมู่บ้านในชุมชนท่านได้...”
 

แอบส่องนวัตวิถี  เที่ยวชมของดีเมืองสุรินทร์

 
ดังนั้น แนวคิดของ OTOP นวัตวิถี เป็นเหมือนกับการเปลี่ยนจากที่ชาวบ้านเคยผลิตสินค้าออกไปขาย ให้เขาเอาวิถีชีวิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ออกมาเป็นบริการ ความท้าทายนี้จะเปลี่ยนวิธีคิดของคนได้อย่างไร อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
 
“การเปลี่ยนคนค่อนข้างทำได้ยาก แต่เราต้องทำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำอันแรกคือ ทำเวทีประชาคมก่อน ให้ชาวบ้านเข้าใจโครงการ พอทำเวทีประชาคมเสร็จ ก็จะได้ปัญหาและความต้องการ ของพี่น้องประชาชนว่าต้องการทำอะไร
 
“เราเอา OTOP เป็นตัวตั้ง เนื่องจากว่า OTOP ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก เพราะขณะนี้ ยอดขาย OTOP ทั้งประเทศมา 153,000 กว่าล้านแล้ว ถือว่าเป็นตัวที่มีพลัง เพราะฉะนั้น พอเราตั้งต้นจาก OTOP ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านคุ้นชินอยู่ เราก็บอกว่าโอเคนะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นหน้าที่ชาวบ้านคือ อันที่หนึ่ง ท่านต้องคุยกันให้จบว่าหมู่บ้านท่านมีเสน่ห์อะไร ดึงเสน่ห์ออกมา เพราะเสน่ห์นี้ พอนักท่องเที่ยวเข้ามา เขาจะรู้ว่า โอ้ว อันนี้แจ๋ว เช่น หมู่บ้านที่เราสัมภาษณ์ เขามีเรื่องช้าง มีช้างมากที่สุดในประเทศไทย 200 กว่าเชือกคือเสน่ห์ซึ่งที่ไหนก็ไม่มี
 
“ฝรั่งมาเมืองไทยปีละ 35 ล้านคน แล้วก็ไทยเที่ยวไทย เกิน 60 ล้านคน เพราะฉะนั้น มีลูกค้าที่ยังไม่รู้จะไปไหน 100 ล้านคน ใน 100 ล้านคน สมมติว่าเราเอานวัตกรรมเข้ามา เราทำ Application บอกเขาว่า ถ้าไปเมืองหลักแล้ว ลงมาเมืองรอง 55 จังหวัด พอเมืองรอง ลงมาที่ อ.เมือง แต่ไม่รู้จะไปไหนต่อ เราจะทำ Application ที่บอกว่า ถ้าท่านเอาโทรศัพท์ขึ้นมา เช็กอิน กดไปก็จะบอกว่า 3 กิโลมีอะไร 5 กิโล 7 กิโลมีอะไร เป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทไหน มีอาหารการกินอะไร มีวัฒนธรรมประเพณีอะไรน่าสนใจ
 
“ขณะนี้ นักท่องเที่ยวมหาศาลกำลังจะหาที่เที่ยว ชุมชนไหนที่สามารถลุกขึ้นมาสู้ เป็นชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาชุมชนของตนเองให้นักท่องเที่ยวประทับใจ สร้างเสน่ห์ แล้วก็พัฒนาสินค้า เพื่อจะขายของให้นักท่องเที่ยว สิ่งนี้ก็จะสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพราะฉะนั้นในชุมชน เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนอยู่อย่างนี้
 

แอบส่องนวัตวิถี  เที่ยวชมของดีเมืองสุรินทร์

 
“ขณะนี้กระแสตื่นตัวมาก จะเห็นชาวบ้านพูดถึงนวัตวิถีกันมาก เริ่มเข้าใจว่า เอ๊ะ เราก็ทำได้นะ ทำไมเราไม่ทำ ที่ผ่านมาเรามีของดีในหมู่บ้านเต็มไปหมดเลย แต่เราไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคมต่างๆ เข้ามาบูรณาการร่วมกันทำแล้ว”
 
เมื่อเราได้เข้าไปทักทายพูดคุยกับตัวแทนชุมชนที่มาร่วมงานกัน แต่ละชุมชนก็จะมองเสน่ห์ของตัวเองแตกต่างกันไป ดังนี้
 
เสน่ห์ที่ไม่เหมือนที่อื่นของชุมชนแข้ด่อน
 
“ของเราจะมีอาหารอร่อย เพราะว่าใน จ.สุรินทร์ ถ้าไปแถบ อ.รัตนบุรี จะต้องมาทานข้าวที่บ้านแข้ด่อน เพราะมีปลา มีหนองน้ำ แล้วก็จะมีอาหารตามเทศกาล จะมีเห็ด มีไข่มดแดง จะมีโฮมสเตย์ให้พัก แล้วเรากำลังพัฒนาฝายที่หาปลา พัฒนาให้มีเรือ ตอนนี้ก็กำลังทำแพ ทำเรืออยู่
 
“มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวล่องเรือ ทานอาหาร แล้วก็พักโฮมสเตย์ อยู่กับชุมชน มีปลูกผักบ้าง มีซ้อมมวย แม้ว่าจะเป็นค่ายมวยเล็กๆ แต่ว่าการต้อนรับ ความเป็นชุมชน ความมีเสน่ห์จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา
 
“มีการอบรมเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นยุวมัคคุเทศก์ มีการใช้ Social media โดยให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม”
 
เสน่ห์ของชุมชนโคกสะอาด
 
“บ้านโคกสะอาด ส่วนที่มีเหมือนกันกับที่อื่นๆ คือการทอผ้าไหม แต่ส่วนที่ชุมชนอื่นน่าจะไม่ค่อยมี ก็คือการเลี้ยงจิ้งหรีด แล้วก็แปรรูปจิ้งหรีด การตำจิ้งหรีด
 
“มีการให้ความรู้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดมีกระบวนการอย่างนี้ จิ้งหรีดไม่ใช่สัตว์สกปรก สะอาด กินได้ มีคุณค่าทางโภชนาการ เรามีโรงเลี้ยง โรงเรือน ตั้งแต่เพาะ จนถึงเก็บ จนถึงจับส่ง มีคนทำโฮมสเตย์ มีคนทำแปรรูป นักท่องเที่ยวก็ได้กินอาหารแปรรูปที่เราทำขาย”
 
เสน่ห์ของชุมชนหม่อนไหมพัฒนา
 
“บ้านเราเป็นชุมชนชาวส่วย หรือว่าเรียกภาษาเราก็คือว่า กวย เอกลักษณ์ของเราก็มีเป็นผ้าลูกแก้วย้อมมะเกลือ การมาที่หมู่บ้าน นอกจากจะมาดูการทอผ้าไหม ซึ่งก็จะคล้ายๆ กันในหลายๆ ที่แล้ว แต่สิ่งที่จะเห็นเป็นของแถม คือได้มาดูความเป็นอยู่
 
“แม้ว่าจะมีทอผ้าไหมเหมือนกัน แต่ว่าเสน่ห์ที่แตกต่างกัน คือเป็นผ้าไหม ซึ่งผูกกับวัฒนธรรมของชาติพันธุ์กวย, ชาติพันธุ์ส่วย หรือกูยก็ตาม ซึ่งหมู่บ้านอื่นอาจจะทำได้ไม่เหมือน หรือทำได้ไม่ดีเท่า”
 
ที่บ้านขุนไชยทอง เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่จะมีโอกาสได้เห็นความผูกพันในวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้าง แล้วก็ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของหมู่บ้านนี้ก็คือว่า คนที่นี่อยู่ร่วมกับช้างโดยที่ไม่ต้องใช้วิธีบังคับช้างด้วยตะขอ เขาใช้ใจในการบังคับช้าง เพื่อให้ได้มีโอกาสได้เห็นภาพเหล่านั้น และได้มีโอกาสสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนที่นี่ เราจึงจะพักกันที่นี่ โฮมสเตย์ช้างขุนไชยทอง
 

แอบส่องนวัตวิถี  เที่ยวชมของดีเมืองสุรินทร์

 
การต้อนรับอย่างอบอุ่น และให้เกียรติ บวกกับอาหารเย็นอร่อยๆ เป็นสิ่งแรกที่สร้างความประทับใจให้เรา และการได้นอนโฮมสเตย์ และตื่นมาใส่บาตรแต่เช้า ก็เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่เราหาไม่ได้ที่บ้าน
 
นอกเหนือจากนั้นนักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ ก็ยังได้มีโอกาสดูด้วยว่าวิธีการในการดูแลช้าง แบบไร้โซ่ ไร้ตะขอ เขาทำกันอย่างไร
 
ควาญช้างให้ความรู้มาว่า เขาใช้อาหารล่อ เช่น ใบไผ่ ไม่ได้บังคับแต่เรียกมา แต่ไม่ได้มาแบบทันใจทันที ต้องค่อยๆ ตะล่อม ตะล่อมเอา ช้างทุกเชือกสามารถเอามาปล่อยแบบนี้ได้ โดยต้องค่อยๆ ฝึก
 
เมื่อได้สอบถามกับควาญช้าง ก็ได้เกร็ดต่างๆ เพิ่มเติมดังนี้
 
“ปัจจุบันนี้ ต้องมีเงินประมาณ 2 ล้านบาท ถึงจะเป็นเจ้าของช้างได้หนึ่งเชือก เพราะถ้าเลี้ยงเขา แล้วให้ซื้ออาหารอย่างเดียว วันละเป็นพันบาท เดือนหนึ่งก็ 3 หมื่น ช้างกินเยอะ ถ้ามีช้างเราต้องขยัน หาวิถีทางที่ให้เขาอยู่ได้ ต้องดูแลให้เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว เหมือนลูกเหมือนหลาน
 
“วิธีการดูช้างว่าช้างสวย ให้ดูที่ลักษณะเล็บ 18 เล็บ คือขาหน้าข้างละ 4 ขา หลังข้างละ 5 ซึ่งช้างบางเชือกอาจจะไม่มี 18 เล็บก็ได้ ต่อมาคือต้องดูหู ต้องหูใหญ่ แต่ไม่สูง คือถ้าสูงไป ประสาทสัมผัสจะเร็ว ควบคุมยาก ถ้าหูเล็กไป ก็ดื้อ ไม่ค่อยเชื่อฟัง อีกอย่างก็คือ ให้ดูลักษณะส่วนหาง ถ้าหางคดไม่ค่อยดี จะวิ่ง เราคงเคยได้ยินสุภาษิตเก่าบอกว่า ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ คือต้องให้หางเหยียดสวยงาม ถ้าสั้นไปก็ไม่ดี ต้องให้พอดี
 
“ช้างก็เหมือนคน คนเราอาบน้ำทุกวัน ช้างก็ต้องอาบน้ำทุกวันเหมือนกัน การนำช้างไปทับ สมมติเรามีช้างเพศเมีย ไปให้เพศผู้ทับครั้งหนึ่ง ก็จะมีค่าใช้จ่าย 1 หมื่นบาท เป็นค่าแรงให้ช้างเพศผู้ และถ้าติดขึ้นมา มีค่าใช้จ่ายเป็นแสนบาท โดยจ่ายตอนลูกคลอดออกมา และถ้าลูกที่คลอดออกมา เป็นเพศผู้กับเพศเมีย ราคาจะต่างกัน ถ้าเป็นเพศเมียราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก”
 
จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในการเลี้ยงช้าง ดูแลช้าง ถ้าจะพูดกันตามตรงในสมัยก่อน คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องเอาช้างออกไปเร่หาเงิน เพราะว่า เขาก็ต้องหาเงินมาซื้ออาหาร หารายได้มาจุนเจือครอบครัว แต่ว่าพอมีโครงการพาช้างคืนถิ่น ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ แล้วก็หน่วยงานต่างๆ ถ้าไม่อย่างนั้น มันก็จะยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดิม ว่าพาช้างกลับมาที่บ้าน แล้วช้างจะกินจะอยู่อย่างไร เจ้าของบ้านจะกินจะอยู่อย่างไร
 
การพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวก็จะช่วยได้ส่วนหนึ่ง ก็คือนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ได้มาเห็นความสำคัญของช้าง มาเห็นวิถีชีวิต แล้วก็อาจจะมีโอกาสในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือรายได้ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมที่นี่ สุดท้ายก็วนกลับมาที่ช้าง
 
การเดินทางมาเที่ยว จ.สุรินทร์ ถิ่นช้างในครั้งนี้ ก็ยิ่งเห็นชัดว่า วิถีชีวิตแบบไทย ไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว ขนาดเราเป็นคนไทยด้วยกัน ได้มาเห็น ได้มามีประสบการณ์แบบนี้ ยังประทับใจ แล้วถ้าชาวต่างชาติที่มาจากประเทศที่ไม่มีทุ่งนา ไม่มีผ้าไหม ไม่มีช้าง เขาจะตื่นเต้นและประทับใจขนาดไหน !
 
เรื่องราวของคนกับช้างใน อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า บางครั้งชีวิตประจำวันของเรา หรือวัฒนธรรมบางอย่างที่เราคุ้นเคย และมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลับมีคุณค่า กลับมีความพิเศษ สำหรับผู้ได้มาเยือน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้มาเห็น กลายเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าให้กับบริการ ให้กับการท่องเที่ยว
 
นี่แหละคือตัวอย่าง คือต้นแบบของสิ่งที่เรียกว่า นวัตวิถี คือการเอาวิถีชีวิตมาปรับประยุกต์เพื่อให้เกิดเป็นมูลค่า เพื่อให้เกิดเป็นสินค้าและบริการ และถ้าอีกหลายๆ ชุมชนของประเทศไทยสามารถทำได้แบบนี้ เชื่อเหลือเกินว่าความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะดีขึ้น เพราะว่าคนไม่ต้องออกไปทำมาหากินต่างถิ่น วัฒนธรรม และวิถีชีวิตก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน