posttoday

สำรวจคุกฮ่องกง สืบค้นร่องรอยชีวิตใน ‘ต่ายกู๋น’

29 กันยายน 2561

เกาะฮ่องกงไม่ได้เป็นสวรรค์ของนักช็อปอีกต่อไป เพราะมีแม่เหล็กตัวใหม่ดึงดูดผู้หลงใหลศิลปะให้ไปรวมตัวกันที่ “ต่ายกู๋น”

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ
 
เกาะฮ่องกงไม่ได้เป็นสวรรค์ของนักช็อปอีกต่อไป เพราะมีแม่เหล็กตัวใหม่ดึงดูดผู้หลงใหลศิลปะให้ไปรวมตัวกันที่ “ต่ายกู๋น” (Tai Kwun) อาณาจักรของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่เคยถูกทิ้งร้าง แต่ต่อมาได้ถูกบูรณะและเปลี่ยนโฉมให้เป็นศูนย์กลางทางศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรม
 
เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนฮ่องกงหรือใครก็ตามที่สนใจเข้าไปเสพงานศิลป์และหาความรู้ได้ฟรี โดยมีมุมทางประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหา เพราะที่นี่เคยเป็น “คุก” ขนาดใหญ่ในฮ่องกง
 
ต่ายกู๋น คือ ชื่อภาษาจีนกวางตุ้งที่ใช้เรียก อาณาบริเวณของสถานีตำรวจกลาง (Central Police Station Compound) หากกางแผนที่ดูจะนับอาคารภายในรั้วเดียวกันได้ทั้งหมด 16 หลัง
 
ปี 2538 ฮ่องกงได้ประกาศให้ 3 อาคารในต่ายกู๋นเป็นอนุสรณ์สถาน ได้แก่ สถานีตำรวจกลาง (Central Police Station) สำนักงานคณะผู้พิพากษากลาง (Central Magistracy) และเรือนจำวิกตอเรีย (Victoria Prison)
 

สำรวจคุกฮ่องกง สืบค้นร่องรอยชีวิตใน ‘ต่ายกู๋น’

 
อาคารหลังแรกที่ถูกสร้างในอาณาจักรต่ายกู๋นคือ บ้านคณะผู้พิพากษากลางและคุก สร้างขึ้นเมื่อปี 2384 หรือ 177 ปีก่อน จากนั้นระหว่างปี 2405-2407 เป็นช่วงที่มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาตั้งรกรากในฮ่องกง ส่งผลให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับปัญหาสังคมที่พุ่งพรวดจนต้องจัดระเบียบและตั้งกฎเกณฑ์ในการควบคุมพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย นำไปสู่การก่อตั้งสถานีตำรวจกลาง สำนักงานคณะผู้พิพากษากลาง เรือนจำวิกตอเรีย และอีกหลายอาคารซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารห้องขัง
 
จากนั้นเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา เรือนจำวิกตอเรียถูกเลิกใช้งานอย่างถาวร และ 2 ปีหลังจากนั้นรัฐบาลฮ่องกงได้ร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ฮ่องกง จ็อกกี้คลับ เข้ามาอนุรักษ์และบูรณะต่ายกู๋นให้ฟื้นคืนชีวิต ซึ่งครั้งนี้ได้เปลี่ยนความมืดมิดของสถานที่ที่มีแต่ความหดหู่ ให้กลายเป็นความสว่างของเมือง โดยการเป็นศูนย์กลางของศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรม เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาบูรณะกว่า 10 ปี จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ทุกอาคาร
 
“เอสเธอร์” เจ้าหน้าที่จากต่ายกู๋น กางแผนที่ให้เห็นภาพรวมของอาณาจักร พร้อมอธิบายหน้าที่ของแต่ละอาคารโดยเริ่มจาก สถานีตำรวจกลาง สถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียลสมัยอังกฤษปกครอง ปัจจุบันถูกใช้เป็นอาคารนิทรรศการ ร้านค้า และคาเฟ่ ถัดมาคือ อาคารเก็บอาวุธที่ถูกเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร
 
จากนั้นอาคารที่อยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจกลางคือ หอพักตำรวจ (Barrack Block) เป็นอาคาร 4 ชั้น มีขอบหน้าต่างทรงโค้งแบบตะวันตก ปัจจุบันถูกใช้เป็นแกลเลอรี่และร้านค้า ข้างๆ กับหอพักคือ สำนักงานคณะผู้พิพากษากลาง ซึ่งยังบูรณะไม่เสร็จสิ้น
 

สำรวจคุกฮ่องกง สืบค้นร่องรอยชีวิตใน ‘ต่ายกู๋น’

 
เช่นเดียวกับอาคารที่พักของสารวัตรและจ่าอีก 3 อาคารที่ยังปิดเพื่อซ่อมแซม โดยกลุ่มอาคารเหล่านี้ตั้งอยู่รอบพื้นที่โล่งที่ใช้เพื่อสวนสนาม ซึ่งปัจจุบันได้ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมและวางเก้าอี้ให้ผู้คนมานั่งพัก ตระหนักถึงความแตกต่างของ “พื้นที่ชีวิต” ระหว่างอดีตและปัจจุบัน ระหว่างอดีตหอพักเตี้ย 4 ชั้น กับตึกสูงระฟ้าที่ต้องแหงนมอง
 
จากนั้นความซับซ้อนของอาคารเรือนจำจะอยู่ด้านหลังหอพักตำรวจเป็นต้นไป เอสเธอร์กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ที่มาต่ายกู๋นจะมุ่งหน้ามาดูคุกและเรือนจำเป็นอย่างแรก โดยผ่านทางเดินที่เรียกว่า ต่ายกู๋นเลน เดินตัดผ่านหอพักผ่านรั้วลวดหนามซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่หวงห้ามและอันตราย ไปยังตะรางเรียงเป็นตับ ถูกปิดกั้นด้วยประตูเหล็กหนักอึ้ง
 
เรือนจำมีทั้งสิ้น 6 อาคาร จำนวนห้องขังมีมากมายเกินนับ หนึ่งในนั้นเคยจองจำ “โฮจิมินห์” ผู้นำชาวเวียดนามที่ได้หลบหนีการรุกรานของฝรั่งเศสจากเวียดนามมายังฮ่องกงในปี 2473 จากนั้นได้ถูกจับกุมตัวโดยตำรวจฮ่องกงในปี 2474 ส่วนระยะเวลาที่ถูกจับกุมในเรือนจำวิกตอเรียไม่ได้ระบุชัด คาดว่าน่าจะถูกกุมขังนานประมาณ 2-3 ปี ภายในอาคารบี (B Hall) ซึ่งปัจจุบันถูกแปรเปลี่ยนเป็นนิทรรศการบอกเล่าชีวิตของนักโทษ
 
โฮจิมินห์ได้เขียนบันทึกขณะอยู่ในคุกว่า นักโทษจะได้รับอนุญาตให้ออกมาสูดอากาศนอกห้องขังวันละ 15 นาที โดยภาพที่เขาเห็นคือ ถูกโอบล้อมด้วยกำแพงคุกและผนังตึกจนทำให้รู้สึกเหมือนกำลังก้าวเดินอยู่ในจุดที่ลึกที่สุดของบ่อน้ำ
 

สำรวจคุกฮ่องกง สืบค้นร่องรอยชีวิตใน ‘ต่ายกู๋น’

 
นอกจากเรือนจำ ยังมีอาคารที่พักของผู้คุม อาคารอาบน้ำ ลานออกกำลังกายของนักโทษ ซึ่งปัจจุบันถูกใช้เป็นลานแสดงงานศิลป์กลางแจ้ง และลานซักผ้าหน้าตาเหมือนบันได (Laundry Steps) ซึ่งถูกเปลี่ยนให้เป็นที่นั่งชมภาพยนตร์ โดยปีนี้ได้ร่วมมือกับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกง ฉายหนังแอนิเมชั่นสั้นและยาวให้ชมฟรีทุกวันอาทิตย์ไปจนถึงเดือน พ.ย. 2561
 
นอกจากนี้ ในต่ายกู๋นยังมีอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ 2 อาคาร ไม่ต้องสังเกตก็เห็นเด่นชัดว่าอาคารไหน เพราะความโมเดิร์นตั้งแต่ภายนอก หลังหนึ่งเป็นโรงละคร ส่วนอีกหลังเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการร่วมสมัย งานที่กำลังจัดแสดงอยู่เป็นของ เฉา เฟย (Cao Fei) ศิลปินรุ่นใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่ที่เพิ่งมีโอกาสจัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในฮ่องกง โดยเธอได้สะท้อนความเป็นอยู่ของนักโทษผ่านภาพยนตร์สั้น งานปั้น และงานติดตั้งบนพื้นที่ 3 ชั้นของอาคาร
 
เอสเธอร์ กล่าวต่อว่า หากมาต๋ายกู๋นเพื่อถ่ายภาพก็จะได้ถ่ายสมใจ เพราะไม่ว่ามุมไหนก็ถ่ายได้ แม้แต่กำแพงว่างเปล่าก็ยังสวย แต่หากมาอย่างมีเป้าหมาย เช่น มาเพื่อชมงานศิลปะอาจต้องใช้เวลาครึ่งวัน หรือถ้ามาเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์แบบทุกซอกอาจต้องใช้เวลาทั้งวัน
 
ทางต่ายกู๋นได้จัดเส้นทางเล่าเรื่องไว้ 8 เส้นทาง พร้อมให้ตามรอยแล้ว 6 ทาง เช่น เส้นทางศึกษาเรื่องราวของสถานีตำรวจกลาง เส้นทางดูมื้ออาหารในคุก และเส้นทางคัดเลือกนักโทษ ส่วนอีก 2 เส้นทางที่ยังไม่เปิดคือ เส้นทางวิวัฒนาการของการพิพากษา และความรุ่งเรืองของศาล
 
แต่หากล้วงลึกไปถึงจิตวิญญาณของต่ายกู๋น แนะนำให้เดินลงไปยังชั้นล่างสุดของสถานีตำรวจกลาง เพื่อชมนิทรรศการร้อยโฉมหน้าของต่ายกู๋น (100 Faces of Tai Kwun) นิทรรศการที่ใช้เวลากว่า 3 ปีในการรวบรวมคำบอกเล่าของ ไคฟงหรือคนในท้องถิ่นจำนวน 100 คนที่เคยทำงานอยู่ในต่ายกู๋น หรือใช้ชีวิตอยู่รอบๆ ถึงความรู้สึกที่พวกเขามีต่อสถานที่แห่งนี้
 

สำรวจคุกฮ่องกง สืบค้นร่องรอยชีวิตใน ‘ต่ายกู๋น’

 
เพื่อค้นหาจิตวิญญาณของสิ่งปลูกสร้างและความรู้สึกนึกคิดของคนใน “เซ็นทรัล” ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญของฮ่องกงในปัจจุบัน นำเสนอออกมาผ่านวิดีโอสัมภาษณ์ ภาพวาด รูปถ่าย และงานติดตั้ง โดยสุดท้ายนิทรรศการนี้จะไม่ได้พาผู้ชมไปรู้จักคน 100 คน แต่จะทำให้ผู้ชมเป็นคนที่ 101 ที่รู้จักต่ายกู๋น
 
เอสเธอร์ บอกด้วยว่า นิทรรศการร้อยโฉมหน้าของต่ายกู๋นมีคนเข้าชมมากกว่า 2 แสนคนใน 3 เดือนแรกที่จัดแสดง ถ้านำตัวเลขนี้มาคิดเล่นๆ ว่า ต่ายกู๋นเปิดมานาน 5 เดือนก็น่าจะมีคนมาที่นี่แล้วกว่าครึ่งล้าน
 
หลังจากสำรวจต่ายกู๋นจนขาลาก ได้พาตัวเองไปนั่งพักกลางลานออกกำลังกาย ครั้งหนึ่งที่ตรงนี้เคยมีนักโทษเรียงแถวตอนลึกมาสันทนาการ และเคยมีนักโทษถูกเฆี่ยนตีข้างกำแพงสูงท่วมหัวที่ปิดกั้นอิสรภาพไม่ให้หลุดลอย
 
เมื่อได้หยุดนิ่งจึงทำให้คิดย้อนกลับไปถึงการเป็นคนลำดับที่ 101 ย้อนถามตัวเองว่ามีเรื่องราวอะไรอยากเล่าเกี่ยวกับต่ายกู๋น สูดลมหายใจเข้าฟอดใหญ่แล้วเงยหน้ามองพ้นกำแพงคุก สิ่งที่อยากเล่าน่าจะเป็นความไม่แน่ใจว่าชีวิตข้างนอกคือ “อิสรภาพ” อย่างที่โฮจิมินห์โหยหาหรือเปล่า? เพราะทุกวันนกพิราบบินออกไปหาอาหารแล้วกลับมาซุกตัวนอนในรังแออัด คลับคล้ายชีวิตหลังกำแพง
 
อาณาจักรต่ายกู๋น คือ กลุ่มสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียลที่หลงเหลืออยู่มากและสมบูรณ์ที่สุดในฮ่องกง ตอนนี้มันได้กลายเป็นพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ที่คนย่านเซ็นทรัลหายใจสะดวก เป็นสถานที่แฮงเอาต์ของคนรุ่นใหม่ (ที่มีรายได้สูง) และเป็นสถานที่ที่พลิกโฉมฮ่องกงในสายตานักท่องเที่ยว
 
ใครที่มาสัมผัสด้วยตัวเองอาจรู้สึกเหมือนกันว่า ในขณะเดียวกัน ที่แห่งนี้ก็ได้เปลี่ยนความคิดของนักท่องเที่ยวที่มีต่อฮ่องกง