posttoday

ธันวา แสงธูป ฝันอยู่ไกล แต่ไม่เกินไปถึง

28 กันยายน 2561

เชฟหนุ่มผู้หลงใหลในดินแดนอาทิตย์อุทัย ต่อยอดไปสู่ศาสตร์การทำขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น

เรื่อง พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

น้อยคนนักจะรู้ว่าเบื้องหลังผู้รังสรรค์เมนูแพนเค้กเด้งดึง นุ่มฟู ไม่แพ้สูตรต้นตำรับที่พาให้ใครหลายคนติดใจ จนยอมไปต่อแถวหน้าร้านแกรม (Gram) แพนเค้กสไตล์ญี่ปุ่น ต้นตำรับจากโอซากา ที่เพิ่งเปิดให้บริการความอร่อยในไทย คือ โฟร์-ธันวา แสงธูป เชฟหนุ่มผู้หลงใหลในดินแดนอาทิตย์อุทัย จนมุ่งมั่นเอาดีทางภาษาไม่พอ ยังต่อยอดไปสู่ศาสตร์การทำขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น

“ผมเรียนจบคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาญี่ปุ่น ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ตอนแรกตั้งใจว่าเรียนจบไปก็คงเป็นล่าม แต่พอปี 4 ได้มีโอกาสไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น เลยทำให้เส้นทางชีวิตเปลี่ยน เพราะผมเลือกนำค่าขนมที่ได้จากการเป็นนักเรียนทุนไปลงเรียนทำขนมที่ญี่ปุ่น”

ธันวา แสงธูป ฝันอยู่ไกล แต่ไม่เกินไปถึง

ตลอดเวลาของการเป็นตัวแทนนักศึกษาไทยไปเรียนที่ญี่ปุ่น นอกจากโฟร์จะต้องตั้งใจเรียนเพื่อทำเกรดให้ได้ตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยเมจิแล้ว เขายังต้องอาศัยความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อพิชิตหลักสูตรทำขนมที่ลงเรียนไว้แบบรวบรัดให้จบภายในปีครึ่ง

“ตอนที่ไปญี่ปุ่น ผมได้ไปเรียนคณะสื่อสารมวลชน ถึงภาษาญี่ปุ่นผมตอนอยู่เมืองไทยจะอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ แต่พอมาเรียนในสาขาที่ผมไม่มีความรู้พื้นฐาน ก็เหนื่อยพอตัว แต่ก็ต้องพยายามครับ เพราะว่าทุนที่ไปบังคับว่าต้องได้เกรด B+ขึ้นไป ไม่อย่างนั้นต้องกลับมาเรียนซ้ำที่เมืองไทย ทำให้ยิ่งเรียนจบช้า ตอนนั้นสิ่งที่ทำได้คือ พยายามไม่เครียด เรียนให้เต็มที่ มีเวลาว่างผมก็ไม่ปล่อยเวลาให้เสียเปล่า แต่ไปหาความรู้เพิ่มด้วยการลงเรียนทำขนมญี่ปุ่น อย่างน้อยกลับมาเมืองไทยจะได้มีความรู้ด้านอื่นติดตัวกลับมาด้วย”

ฟังมาถึงตรงนี้ คำถามที่ป๊อปอัพขึ้นในใจคือ ทำไมต้องเรียนทำขนม ซึ่งดูน่าจะขัดกับความชอบของหนุ่มๆ ทั่วไป คำถามนี้ทำเอาโฟร์คลี่ยิ้มก่อนตอบว่า “ผมเป็นลูกคนเดียว ที่บ้านมีลูกพี่ลูกน้องเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายไม่ชอบเข้าครัว แต่ผมเองตั้งแต่เรียน ม.ปลาย ก็เข้าครัวช่วยป้าทำอาหารอยู่บ่อยๆ หลายๆ คนก็ชมว่า ฝีมือใช้ได้ เลยทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนนั้น เริ่มจากเมนูง่ายๆ อย่างผัดกะเพรา ไข่ตุ๋น จนพอเห็นว่าเริ่มทำอาหารคาวได้แล้ว เลยขยับมาลองของหวานบ้าง จำได้ว่าตอนอยู่ปี 2 ก็เริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเอง หาสูตร แล้วก็ค่อยๆ ทยอยซื้ออุปกรณ์มาลองทำ”

จากความสนใจ ค่อยๆ ผันแปรสู่ความชอบและกลายเป็นความรักในที่สุดนี้เอง ทำให้เมื่อได้โอกาสมาเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ชีวิตถึงญี่ปุ่น โฟร์จึงไม่ปล่อยให้เวลาในชีวิตเสียเปล่า เขาไปลงเรียนหลักสูตรทำเค้กและขนมปังที่สถาบันสอนทำขนมโดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ซึ่งโฟร์เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า คล้ายๆ หลักสูตรกอร์ดอง เบลอ บ้านเรา ซึ่งเมื่อเรียนจบจะได้รับโล่และประกาศนียบัตร

“จริงๆ หลักสูตรที่ผมไปเรียน ต้องใช้เวลาเรียน 3 ปีจบ แต่ผมเรียนแบบเร่งรัด บีบให้จบภายในปีครึ่ง คือ ถ้าวันไหนว่าง ผมเรียนตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม ตอนที่ไปเรียนภาษาไม่ใช่ปัญหา จะมีพวกศัพท์เฉพาะที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันที่ต้องไปเรียนเพิ่มเติม เพื่อนๆ ร่วมชั้นของผมส่วนใหญ่เป็นวัยใกล้ๆ กัน จะมีกลุ่มแม่บ้านบ้าง ซึ่งตอนแรกเขาก็แปลกใจที่เห็นเราเป็นนักศึกษาต่างชาติมาเรียนทำขนม” โฟร์บอกเล่าอย่างอารมณ์ดี ก่อนเล่าต่อว่า

“ตอนแรกที่ไปลงเรียน ผมคิดว่ากะเรียนเล่นๆ พอไปๆ มาๆ จากเดิมที่ชอบทำเค้กไม่ชอบทำขนมปัง แต่มีเพื่อนญี่ปุ่นเอาขนมปังญี่ปุ่นมาให้ชิม ปรากฏว่าผมชิมแล้วอร่อยมาก เลยไปลงเรียนทำขนมปังบ้าง เรียนไปเรียนมาจากระดับพื้นฐาน กลายเป็นจบระดับแอดวานซ์ ซึ่งหมายความว่าหากในอนาคตทางสถาบันมีเมนูอะไรใหม่ๆ ผมสามารถนำสูตรไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะเขาเชื่อว่า เรามีความรู้พื้นฐานที่จะสามารถเรียนรู้ด้วยได้เองแล้ว”

ธันวา แสงธูป ฝันอยู่ไกล แต่ไม่เกินไปถึง

ใครจะคิดว่าเส้นทางชีวิตสายใหม่ที่โฟร์สร้างขึ้นด้วยสองมือ จะพาให้วันนี้เขากลายเป็นเชฟหนุ่มไฟแรงแห่งร้านแกรม ร้านขนมที่ใครๆ ก็อยากมาเช็กอิน

“ก่อนจะมาเป็นเชฟที่นี่ ผมเคยเป็นเทรนเนอร์อยู่ที่โรงเรียนสอนทำอาหารเอบีซีอยู่ปีครึ่ง จนรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยเห็นว่าแกรมเปิดรับเชฟ เลยแนะนำให้ผมมาสมัครและได้เป็นส่วนหนึ่งของแกรมตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว หน้าที่ของผมช่วงแรกๆ คือ เป็นล่ามติดต่อประสานงานเป็นที่ปรึกษาให้กับเชฟทางญี่ปุ่น เพื่อจัดหาวัตถุดิบสำหรับทำแพนเค้กที่ได้รสชาติใกล้เคียงกับญี่ปุ่นที่สุด พอร้านเปิด ตอนนี้ผมมีหน้าที่ดูแลครัว ฝึกสตาฟฟ์และควบคุมคุณภาพขนมให้ใกล้เคียงกับออริจินัลที่สุด”

ตลอดเวลาที่ได้เข้ามาสวมบทเชฟขนมเต็มตัว โฟร์ยกให้แกรมเป็นโรงเรียนอีกแห่งที่ทำให้เขาได้เรียนรู้หลายอย่างภายในเวลาอันสั้น

“มาทำงานที่นี่ทำให้ได้อัพเลเวลเร็วมากครับ แต่ถ้าถามว่าอะไรคือความฝันของผมจริงๆ ผมไม่ได้อยากเป็นเจ้าของร้านขนม แต่ผมอยากเปิดโรงเรียนสอนทำขนมครับ ผมคิดชื่อโรงเรียนของผมไว้แล้วครับ ชื่อ ‘สปริงเคิล’ หมายถึง ตัวตกแต่งน้ำตาลบนหน้าคัพเค้ก เหตุผลที่ผมอยากเปิดโรงเรียนสอนทำขนม ไม่ใช่แค่สอนวิธีทำขนม แต่ผมอยากถ่ายทอดประสบการณ์กระบวนการคิดที่ผมได้รับมา

มองย้อนกลับไป โฟร์ย้ำว่า เขาไม่เคยคิดเสียดายเงินที่นำไปใช้เรียนทำขนม “ผมคิดว่ามันคุ้มมาก ถ้ามีโอกาสย้อนเวลากลับไป ผมก็จะเลือกเส้นทางนี้ นอกจากจะได้ความรู้ ผมยังได้เพื่อนใหม่ๆ เพราะตอนที่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเมจิ ผมโชคร้ายเข้าไปเรียนตอนเทอม 2 ซึ่งทุกคนมีเพื่อนหมดแล้ว ยิ่งเราเป็นนักศึกษาต่างชาติก็ยิ่งหาเพื่อนยากขึ้นไปอีก ผิดกับตอนมาเรียนทำขนมเลย เหมือนผมได้เติมเต็มส่วนที่ขาด ได้เจอเพื่อนที่ชอบเหมือนกันคุยภาษาเดียวกัน”

ไม่น่าเชื่อว่าจากเด็กชายที่เข้าครัวทำอาหารเพราะญาติคนอื่นไม่อยากเข้าครัว กระทั่งได้ไปเรียนญี่ปุ่น และค่อยๆ เข้าไปในโลกของขนม วันนี้เขาจะมีธงในใจที่แน่วแน่ว่า อนาคตต้องการอะไร

“ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะมาถึงวันนี้ แม่ผมเองยังตกใจ จากงานอดิเรกวันนั้นกลายมาเป็นอาชีพวันนี้ ผมอาจจะโชคดี ที่รู้ตัวว่าตัวเองชอบอะไร แล้วแค่เดินไปให้สุดทาง” โฟร์ทิ้งท้าย