posttoday

สำรวจปอดปากน้ำปราณ ‘สวนสิรินาถราชินี’

09 กันยายน 2561

คำขวัญ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครบไปด้วยพืชเศรษฐกิจ “เมืองทองเนื้อเก้า มะพร้าว สับปะรด สวยสดหาด เขา ถ้ำ งามล้ำน้ำใจ”

โดย/ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย 

คำขวัญ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครบไปด้วยพืชเศรษฐกิจ “เมืองทองเนื้อเก้า มะพร้าว สับปะรด สวยสดหาด เขา ถ้ำ งามล้ำน้ำใจ” เมื่อยกมาแต่คำหน้าก็จะกลายเป็นคำว่า “เมือง สวย งาม”

ทองเนื้อเก้าที่กล่าวถึงคือ ทองบางสะพานที่มีความสวยงามและคุณภาพดี วรรคต่อมาคือ ประจวบฯ เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวและสับปะรดมากที่สุดในประเทศไทย (ซึ่งกำลังประสบปัญหาราคาถูก) และมีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายทั้งชายหาด ภูเขา และถ้ำ แต่ที่ในคำขวัญไม่ได้ระบุแต่เป็นทรัพยากรที่ต้องพูดถึงคือ ป่าชายเลนแห่งปราณบุรี ที่เป็นปอดของคนปากน้ำปราณและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำของทะเลอ่าวไทย

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน สิรินาถราชินี หรือที่เรียกสั้นๆว่า “สวนสิรินาถ” เป็นศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนซึ่งเกิดจากการปลูกป่าของ ปตท. ย้อนกลับไปในปี 2539 รัฐบาลมีโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทาง ปตท.จึงรับมา 1 ล้านไร่ ทั้งป่าบกและป่าชายเลน โดยเข้ามาเปลี่ยนนากุ้งร้างให้กลับมาเป็นป่าใหญ่อีกครั้ง

สำรวจปอดปากน้ำปราณ ‘สวนสิรินาถราชินี’

มาโนช เอี่ยมละออ วิทยากรชุมชน ให้สมญานามป่าผืนนี้ว่า “ป่ามหัศจรรย์คนสร้าง” เพราะร้อยละ 90 ของพื้นที่ป่าทั้งหมดปลูกขึ้นใหม่โดยมนุษย์ ซึ่งกว่าจะกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“เมื่อเริ่มปลูกป่าปี 2539 มีต้นไม้ที่ปลูกใหม่ล้มตายเยอะ เพราะปลูกไม่ถูกวิธี ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงตรัสแนะนำให้ปลูกป่าเหมือนทำนาคือ ต้องทำเทือก ก่อนที่จะหว่านข้าวต้องทำให้นาเป็นโคลนแล้วค่อยปล่อยน้ำออก จากนั้นค่อยหว่าน รากของข้าวจะเกาะโคลนได้ดีกว่าและเจริญเติบโตได้ดี เช่นเดียวกับป่าชายเลนที่ต้องทำวิธีเดียวกัน จึงเริ่มต้นปลูกใหม่ และสุดท้ายป่าชายเลยก็เติบโตเป็นป่าที่สมบูรณ์”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มาที่สวนสิรินาถ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2545 เมื่อสวนสิรินาถกลายเป็นป่า 1 ล้านไร่ และครั้งสุดท้ายในปี 2557

สำรวจปอดปากน้ำปราณ ‘สวนสิรินาถราชินี’

นักท่องเที่ยวสามารถมาท่องเที่ยวและเรียนรู้ระบบนิเวศของป่าชายเลนได้บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นสะพานปูนลัดเลาะไปในป่าโกงกางระยะทาง 850 เมตร โดยมีแผ่นป้ายสื่อความหมายเป็นระยะเพื่ออธิบายจุดเด่นของบริเวณนั้น

“ไม้เด่นของสวนแห่งนี้คือ โกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่” มาโนชกล่าวต่อ “การแยกชนิดให้สังเกตจากใบ โกงกางใบเล็กจะมีใบที่ขนาดเล็กกว่าอยู่แล้ว แต่ที่เห็นชัดกว่าคือ โกงกางใบเล็กจะมียอดใบอ่อนเป็นสีแดง ซึ่งแตกต่างจากโกงกางใบใหญ่ที่จะมีสีเขียว และโกงกางใบเล็กจะอยู่ในที่ดอน ส่วนโกงกางใบใหญ่จะอยู่ในที่ลุ่ม”

เนื่องจากเป็นป่าปลูกทำให้มีความหลากหลายทางธรรมชาติไม่มาก ทางสวนจึงพยายามแทรกความรู้อื่นๆ เข้าไป เช่น การทำโป่งผีเสื้อ การร่วงหล่นของใบโกงกางที่ทำให้เกิดสารอินทรีย์ในน้ำและกลายเป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน การใช้ประโยชน์จากต้นโกงกาง โกงกางเป็นบ้านของหอยชนิดต่างๆ ที่พบมากคือ หอยฝาเดียว หอยเม็ดบัว หอยจุ๊บแจงที่จะอาศัยอยู่ตามราก เรื่องราวของผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติอย่างเห็ดและรา รวมถึงเรื่องน่ารู้ของเจ้าถิ่นขาประจำอย่างปลาตีนและปูแสม

สำรวจปอดปากน้ำปราณ ‘สวนสิรินาถราชินี’

จากนั้นระหว่างที่เดินไปตามเส้นทางจะเห็นจุดโกงกางล้มเป็นช่องว่างน่าสงสัย วิทยากรชุมชนจึงได้อธิบายเหตุผลว่า เป็นสิ่งที่ธรรมชาติจัดการตัวเอง โดยในพื้นที่ 1 ไร่ได้ปลูกโกงกางไว้ 800 ต้น และเมื่อ 2 ปีก่อนมันเจริญเติบโตเต็มที่จนแน่นแทบไม่มีแสงสว่างเล็ดลอดลงมา ต้นที่อ่อนแอกว่าจึงล้มตาย ส่วนต้นที่ใหญ่และแข็งแรงก็รอดต่อไป ซึ่งต้นโกงกางจะมีอายุอยู่ได้ถึง 100 ปี

“ป่าชายเลนเปรียบเสมือนครัวของคนที่อาศัยอยู่ใกล้ป่าชายเลน และที่สำคัญคือเป็นปอดให้กับมนุษย์ อย่างชาวบ้านปากน้ำปราณมีปอดข้างซ้ายเป็นวนอุทยานปราณบุรี ส่วนปอดข้างขวาเป็นสวนสิรินาถ โดยมีแม่น้ำปราณเป็นเส้นเลือดใหญ่เลี้ยงชีวิต”

ปิดท้ายที่จุดสูงสุดของสวนสิรินาถบนหอชะคราม หอชมวิวแบบ 360 องศา ที่ต้องขึ้นบันได 97 ขั้นสู่ความสูง 17.45 เมตร ด้านบนจะมองเห็นผืนป่าชายเลนสุดลูกหูลูกตา เป็นพรมสีเขียวแซมสีเหลืองทองของยอดโกงกาง แน่นหนาจนไม่เห็นพื้นด้านล่าง และจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์เติมพลังให้ชีวิต

สำรวจปอดปากน้ำปราณ ‘สวนสิรินาถราชินี’

เส้นทางศึกษาธรรมชาติใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ตลอดเส้นทางจะได้รับความรู้จากแผ่นสื่อความหมาย ได้แชะภาพสวยๆ กับผืนป่าชายเลนสูงใหญ่ และจะได้บำบัดจิตใจให้ผ่อนคลายไปกับธรรมชาติที่เงียบสงบ

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ตั้งอยู่ที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30-16.00 น. สอบถามโทร. 032-632-255