posttoday

มรดกโลกอาเซียน ท่องเที่ยวสร้างสรรค์แห่งเออีซี

20 สิงหาคม 2561

การประชุมสุดยอดมรดกโลกอาเซียนครั้งที่ 1 โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพ

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : คลังภาพโพสต์ทูเดย์ 

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่เกิดขึ้นแล้ว กับการประชุมสุดยอดมรดกโลกอาเซียนครั้งที่ 1 โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นเจ้าภาพ เปิดเวทีต้อนรับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกอาเซียน ยูเนสโก และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในประเทศ มาร่วมถกสถานการณ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเมืองมรดกโลกของภูมิภาคอาเซียน และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เพื่อสร้าง “อาเซียนคอนเนก” (ASEAN Connect) โดยนำพลังของมรดกโลกในอาเซียนที่มีถึง 38 แห่งเป็นตัวชูโรง

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกโลกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกตั้งแต่ปี 2534 และเป็นหนึ่งในพื้นที่พิเศษของ อพท. โดยระหว่างการประชุมได้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัยจำนวนกว่า 200 คน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “มรดกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิต” ผ่านการตีความหมายใหม่ว่า ศิลปินคนรุ่นใหม่คือมรดกของชาติ

พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า วิธีเดียวที่จะปกป้องรักษามรดกไว้ได้ คือการเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมวาดภาพแห่งอนาคตด้วยตัวเอง เพราะพวกเขาคือเจ้าของทรัพย์สินทางวัฒนธรรมซึ่งควรแก่การหวงแหน

“เราจะไม่กอดมรดกไว้ให้ตายไปพร้อมกับคนรุ่นเก่า เราต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างอารยธรรมในแบบของพวกเขาเองด้วย ซึ่งประเทศไทยควรให้ความสำคัญและความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ให้คนรุ่นใหม่นี้ได้เรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุ ผ่านการสร้างสรรค์ในมุมมองที่มีความร่วมสมัย พวกเขาจะได้ไม่ทิ้งราก และนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดอย่างมีรากต่อไป แม้ว่าสิ่งที่พัฒนาต่อยอดอาจไม่ได้มีรูปลักษณ์เหมือนเดิม แต่มรดกจะยังคงอยู่ในทุกสิ่งที่คนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ขึ้นมา”

เช่นเดียวกับ เพลิน พริม (Phloeun Prim) ผู้อำนวยการองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรด้านวัฒนธรรม Cambodia Living Arts ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ได้แบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จในการประชุมว่า ศิลปะและการแสดงทางวัฒนธรรมนั้นเป็นอาวุธที่สำคัญยิ่งในการต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งอนาคต และจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้

ยูเนสโกได้จดทะเบียนให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเป็นมรดกโลก ผ่านมากว่า 30 ปี อพท.ได้นำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกมาเป็นแนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเน้นไปที่การเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบด้านวัฒนธรรม ขณะเดียวกัน ยังใช้หลักการทำงานที่เรียกว่า การสร้างสรรค์ร่วมกัน (Co-Creation) เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ในทุกกิจกรรม

มรดกโลกอาเซียน ท่องเที่ยวสร้างสรรค์แห่งเออีซี อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

“แม้ว่าการฟื้นฟูมรดกโลกในเชิงกายภาพจะเป็นหน้าที่หลักของหน่วยงานอื่น แต่ในเชิงการบริหารจัดการในองค์รวมเพื่อให้ชุมชนโดยรอบมรดกโลกและบริเวณใกล้เคียงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูมรดกโลกผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ถือเป็นหน้าที่ของ อพท. ที่ผ่านมา อพท.ได้สนับสนุนให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ปลุกให้ชุมชนได้ลุกขึ้นมาค้นหาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และรังสรรค์คุณค่าของอัตลักษณ์และภูมิปัญญานั้นผ่านการสร้างประสบการณ์แห่งความสุขร่วมกันระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยว โดยชุมชนก็ยังใช้ชีวิตประจำวันตามวิถีของตนตามปกติ”

ตัวอย่างกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้แก่ การปั้นและวาดลวดลายสังคโลก การทำพระพิมพ์ดินเผาสุโขทัย การเรียนรู้นาฏศิลป์สุโขทัย การทอผ้าจกไทยพวน การทำว่าวพระร่วง การปักผ้าอิ้วเมี่ยน เป็นต้น

ผู้อำนวยการ อพท. ยังกล่าวด้วยว่า การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กับพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยชุมชน ถือเป็นแนวทางในการช่วยฟื้นฟูคุณค่าของมรดกโลกในภาพกว้างขึ้น เพราะยิ่งสร้างให้ชุมชนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจ และความหวงแหนที่มีต่อมรดกโลกได้มากเท่าไร ความยั่งยืนในการธำรงรักษามรดกโลกก็จะมากขึ้นเท่านั้น

“การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีหลักคิดที่ไม่ซับซ้อน คือ การทำการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งคำว่าชุมชนในที่นี้เป็นคำใหญ่ หมายถึง ประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม”

พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวย้อนกลับไปถึงหลักการทำงานที่เรียกว่า การสร้างสรรค์ร่วมกัน ซึ่งมีคำสำคัญอยู่ตอนท้ายคือ “ร่วมรับผลประโยชน์” คำนี้มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผลประโยชน์ในรูปของรายได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์ด้านอื่นที่มิใช่เงิน เช่น ประชาชนในท้องถิ่นมีความสุขเพิ่มขึ้น มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ กับนักท่องเที่ยว มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมนำเสนอคุณค่าของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นถิ่นด้วยตัวเขาเอง ได้รับความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการการท่องเที่ยว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีจิตสำนึกร่วมกันมากขึ้นในการรักษาวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญกว่ารายได้ที่อาจมาตามช่วงฤดูกาล แต่ผลประโยชน์ที่มิใช่เงินจะอยู่ยั่งยืนกว่า และทั้งหมดนี้เป็นหลักคิดในการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม”

มรดกโลกอาเซียน ท่องเที่ยวสร้างสรรค์แห่งเออีซี การปั้นสังคโลก

ประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำผ่านการท่องเที่ยวยังเป็นหัวข้อปาฐกถาพิเศษในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทางด้าน ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากในการปรับโจทย์ให้ลดการท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปสู่เมืองรอง โดยต้องกระจายนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายเข้าผ่านกิจกรรมสร้างกระแสเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางและการใช้จ่าย

“ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมชะโงกทัวร์ให้เกิดการใช้จ่ายในท้องถิ่น และต่อยอดการสร้างรายได้ด้วยวิถีไทยที่มุ่งเน้นผ่านวิถีการกิน เพราะค่าใช้จ่าย (ด้านการกิน) ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติสูงถึงร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด นับว่าจะช่วยกระจายรายได้เป็นอย่างดี” รองผู้ว่าฯ ททท. กล่าว

นอกจากเป้าหมายการกระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง ไทยยังมีเป้าหมายที่กว้างขึ้นคือ การท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางเดียวในการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ โดยทาง อพท.มีการขับเคลื่อนแล้ว เช่น การท่องเที่ยวเชื่อมโยงพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านกับแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว การท่องเที่ยวเชื่อมโยงพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง บริเวณ อ.คลองใหญ่ กับจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา และการท่องเที่ยวภายใต้กรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง เชื่อมโยงพื้นที่พิเศษเลยและอีก 3 จังหวัด คือ จ.หนองบัวลำภู อุดรธานี และหนองคาย กับ 4 แขวงของ สปป.ลาว ได้แก่ ไซยะบุรี หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และนครหลวงเวียงจันทน์

“อาเซียนคอนเนกเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแนวใหม่ เพราะเป็นการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนที่ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวทางถนน ทำให้นอกจากจะกระจายรายได้สู่ชุมชนตามเส้นทาง ยังเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก” พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวต่อ

“สำหรับประเทศไทยถูกออกแบบมาให้ได้รับประโยชน์จากอาเซียนคอนเนกโดยตรง เนื่องจากมีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ดังนั้นประเด็นที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยคือ จะบริหารจัดการอย่างไรให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด และได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด หากจะทำเรื่องการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนต้องไม่ยั่งยืนด้วยความรู้สึก แต่ต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ”

มรดกโลกอาเซียน ท่องเที่ยวสร้างสรรค์แห่งเออีซี การวาดลวดลายสังคโลกบนผ้า

ปัจจุบันทุกประเทศสมาชิกในอาเซียนล้วนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเล็งเห็นโอกาสของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจากสหภาพยุโรป ซึ่งนอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่หลากหลายแล้ว อาเซียนยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมากถึง 38 แห่ง ทั้งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและมรดกโลกทางธรรมชาติ กระจายอยู่ใน 9 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม 8 แห่ง อินโดนีเซีย 8 แห่ง ฟิลิปปินส์ 6 แห่ง ไทย 5 แห่ง มาเลเซีย 4 แห่ง กัมพูชา 3 แห่ง ลาว 2 แห่ง สิงคโปร์ 1 แห่ง และเมียนมา 1 แห่ง

“ประเด็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนควรร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และตำแหน่งทางการแข่งขันให้ชัดเจน คือ การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีคุณค่า ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่เน้นราคาถูกและแย่งกันตัดราคา ควรเน้นการนำเสนอที่เป็นความจริงแท้ของอาเซียน ไม่ใช่จีน ไม่ใช่อินเดีย ไม่ใช่ฝรั่งนักท่องเที่ยวไปเที่ยวที่ไหนก็หาความเป็นอาเซียนไม่พบ แต่ต้องมาเที่ยวที่อาเซียนเท่านั้น ทำอย่างนี้ได้จึงจะเรียกว่า จุดเด่นของอาเซียน” ผู้อำนวยการ อพท. แสดงทัศนะ

หากมองไปในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียน ฉบับที่ 2 (2559-2568) เมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน จีน และอินเดีย กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เขายังเชื่อว่า ไทยจะรักษาระดับความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอาเซียนได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้างต้นไม่น่าวิตกกังวลเท่ากับโจทย์ใหญ่ที่ว่า ไทยจะสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นนั้นให้เกิดความยั่งยืนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ในมุมมองของ อพท. ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตัวเลขการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวมากนัก แต่จะให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนและประชาชนอย่างเหมาะสม ให้ความสำคัญกับการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการไปเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และนำไปสู่ความสุขระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยว

มรดกโลกอาเซียน ท่องเที่ยวสร้างสรรค์แห่งเออีซี นครวัด เสียมเรียบ กัมพูชา

“นับจากนี้ไป ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ตามที่สหประชาชาติกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ให้ทุกประเทศสมาชิก ซึ่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ดังนั้น อพท.อยากเห็นว่า ในปี 2025 การท่องเที่ยวไทยจะยั่งยืนเพียงใด มากกว่าจะไปยืนอยู่จุดไหนของอาเซียน” ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวทิ้งท้าย

การประชุมสุดยอดมรดกโลกอาเซียนครั้งที่ 1 มีข้อสรุปที่ถูกจัดกลุ่มภายใต้แนวคิด 5E เพื่อให้เดินหน้าอย่างมีทิศทาง ได้แก่ Empower ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก Enhance กระตุ้นและเปิดกว้างทางด้านความคิดสร้างสรรค์ในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในแหล่งมรดกโลก Embrace ควบรวมมาตรวัดในการบริหารจัดการอย่างมีหลักการ Employ ใช้สมดุลระหว่างการพัฒนาและการป้องกันอย่างมีดุลยภาพ และ Engage เชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน ร่วมส่งเสริมมรดกที่เป็นรูปธรรมและมรดกทางวัฒนธรรม