posttoday

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

18 สิงหาคม 2561

ปล่อยให้หัวหินเป็นทางผ่าน แล้วปักหมุดใหม่ให้อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเป็นจุดหมาย

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

ปล่อยให้หัวหินเป็นทางผ่าน แล้วปักหมุดใหม่ให้อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเป็นจุดหมาย ประจวบคีรีขันธ์ที่เคยรู้จักอาจเปลี่ยนไป ผ่านการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติที่มีอีกหลากหลายในด้ามขวานเล่มนี้

ข้อความในป้ายมหัศจรรย์เขาหินปูน ระบุไว้ว่า อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ส่วนใหญ่เป็นหินปูน เกิดขึ้นจากการตกตะกอนทับถมกันของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลจนกลายเป็นหินใต้น้ำ

จากนั้นเมื่อเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก จึงดันเอาชั้นหินขึ้นมาก่อเกิดเป็นภูเขาหินปูน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปหินปูนได้สึกกร่อนจากการละลายน้ำ จึงมีรูปร่างตะปุ่มตะป่ำแปลกตา เป็นซอกหลืบและโพรงถ้ำมากมายอย่างที่โด่งดังคือ “ถ้ำพระยานคร”

ถ้ำพระยานคร ตั้งอยู่บนภูเขาริมชายหาดแหลมศาลา ซึ่งหาดแหลมศาลาไม่มีถนนเข้าถึง เพราะมีภูเขาหินปูนกั้นขวางจากหมู่บ้านบางปู นักท่องเที่ยวจึงต้องใช้วิธีเดินเท้าข้ามเขาหินปูนลูกนั้นจากฝั่งบ้านบางปูไประยะทางประมาณ 500 เมตร หรือเลือกใช้บริการเรือของชาวบ้านแล่นอ้อมภูเขาไปประมาณ 10 นาที ซึ่งช่วยเซฟแรงขาไว้ได้มาก

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน  ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

จากตีนเขาไปถึงถ้ำพระยานครต้องเดิน 430 เมตร ส่วนใหญ่เป็นทางชันขึ้นเขา ไต่ไปตามขั้นบันไดที่ทำจากหินขรุขระซึ่งถูกโบกปูนไว้ไม่ให้หลุดร่วง สองข้างทางเขียวครึ้มไปด้วยป่าดิบชื้น ถ้าโชคดีจะเจอค่างแว่นเจ้าถิ่น จากนั้นพอถึงครึ่งทางจะมีจุดนั่งพัก และเป็นจุดชมวิวทะเลอ่าวไทยฝั่งหาดแหลมศาลา และก่อนถึงปากถ้ำพระยานครจะเป็นทางลาดลงให้ก้าวไปตามแรงโน้มถ่วง ก่อนจะต้องฝืนกล้ามขาอีกนิดเพื่อไปยังพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ จุดหมายปลายทางของบันไดขั้นสุดท้าย

ห้องโถงแรกที่ไปถึง บนเพดานถ้ำจะมีช่องว่างขนาดใหญ่ เกิดการสึกกร่อนและยุบตัวพังลงมาจนกลายเป็นสะพานหินธรรมชาติ ได้รับสมญานามเป็น “สะพานมรณะ” เนื่องจากมีสัตว์ป่าเดินข้ามแล้วตกลงมาตาย ขณะเดียวกันการยุบตัวของเพดานถ้ำยังทำให้เกิดช่องแสงให้แสงแดดส่องลงมา ทำให้พืชพันธุ์สามารถสังเคราะห์แสงกลายเป็นป่าผืนย่อมในโถงถ้ำ จากนั้นจะผ่านโถงที่ 2 ซึ่งมีช่องแสงและต้นไม้ขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังโถงสุดท้ายที่ตั้งของพลับพลาที่ประทับทรงจตุรมุขบนเนินดิน

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน  ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

ถ้ำพระยานคร ตั้งตามนามของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผู้พบเมื่อคราวเดินทางผ่านเขาสามร้อยยอดในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือกว่า 200 ปีที่แล้ว ครั้งนั้นเจ้าพระยาได้ขึ้นฝั่งหลบพายุจึงค้นพบถ้ำดังกล่าว และยังเป็นถ้ำที่มีพระมหากษัตริย์เสด็จประพาสถึง 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาที่ประทับทรงจตุรมุขบนเนินดินกลางโถงถ้ำชื่อพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เมื่อปี 2433 และทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ จปร ไว้บนผนังถ้ำ

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน  ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

จากนั้นในปี 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสและทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ ปปร ไว้เคียงข้างกัน จากนั้นในปี 2501 และ 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จประพาสพร้อมพระราชินีจำนวน 2 ครั้ง จึงนับเป็นถ้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดคอยเฝ้าดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยภายในถ้ำพระยานคร เขาแนะนำว่า ช่วงเวลาที่แสงอาทิตย์จะส่องผ่านช่องแสงลงมากระทบพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์คือเวลา 10.00-12.00 น. และเดือนที่สวยงามที่สุด (ในสายตาของเขา) คือ ต.ค. เพราะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ทำให้มีหมอกจางๆ ปกคลุมยอดไม้ภายในถ้ำ ช่วยสร้างบรรยากาศให้น่าหลงใหลกว่าเดิม

หลังนั่งชมพลับพลาพระที่นั่งท่ามกลางแสงอาทิตย์ที่แข็งกระด้างของบ่ายแก่ และหลังจากที่กล้ามเนื้อน่องอนุญาตให้เดินต่อ เจ้าหน้าที่บอกว่า เส้นทางกลับคือเส้นทางที่มา สลับกันจากทางขึ้นเป็นทางลง ซึ่งหลายคนบอกว่า ขาลงคือตัวแสบ เพราะต้องจิกปลายเท้าไม่ให้ลื่นหินวาววับ และอาจเมื่อยกว่าขาขึ้นถึงขั้นสั่นสะท้าน โดยเฉพาะคนน้ำหนักมาก

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน  ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

“แต่เชื่อเถอะว่า คุ้มแล้วที่ได้ขึ้นมา มาดูประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็หายเมื่อย” เจ้าหน้าที่ให้กำลังใจ

ขากลับจากอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดไปยังกรุงเทพฯ ยังคงคอนเซ็ปต์ปล่อยให้หัวหินเป็นทางผ่านแล้วตั้งหมุดใหม่เป็น “ป่าละอู” ชื่อที่หลายคนคุ้นเคยจากความโด่งดังของทุเรียนและน้ำตก จนกลบชื่อตำบล “ห้วยสัตว์ใหญ่” ที่หมู่บ้านป่าละอูตั้งอยู่ ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้จริงของ อ.หัวหิน ครั้งนี้

สมปอง พุ่มพวง เจ้าพนักงานธุรการ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และไกด์เจ้าถิ่นประจำตำบล ขอจั่วหัวดึงความสนใจให้แก่ห้วยสัตว์ใหญ่ว่า คุณอยากรู้ไหมทำไมราษฎรที่นี่ถึงร่ำรวย ทำไมที่นี่ถึงอุดมไปด้วยธรรมชาติ และทำไมที่นี่ถึงมีช้างป่าแต่อยู่ร่วมกับคนได้ แม้ว่าจะทะเลาะกันทุกวัน

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน  ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

เขาค่อยๆ เผยคำตอบผ่านประวัติของตำบลว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่กระจัดกระจายตามชายแดนเชิงเขาตะนาวศรี ทำไร่เลื่อนลอยและล่าสัตว์ ทั้งยังเป็นแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

ต่อมาในปี 2510 ในหลวง รัชกาลที่ 9 รับสั่งให้ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวรหัวหินช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงให้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ และพระราชทานพื้นที่ทำกินให้คนไทยที่ยังไม่มีที่ดินครอบครัวละ 23 ไร่ ให้เข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ และเป็นชุมชนคอยปกป้องแผ่นดินไทย เนื่องจากทิศตะวันตกของห้วยสัตว์ใหญ่ติดกับพรมแดนประเทศเมียนมาตลอดแนว

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน  ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

“ผมเป็นหนึ่งในนั้น ตอนนั้นอายุ 21 ปี มีแค่เสื่อผืนหมอนใบ แม่ให้เงินติดตัวมา 20 บาท ทุกวันนี้ผมมีสวนทุเรียน 6 ไร่ สวนยาง 20 ไร่ มีเงินฝาก ไม่มีหนี้สักบาท ค่อนข้างมีความสุข” สมปองกล่าว

ปัจจุบันห้วยสัตว์ใหญ่ ประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน (หนึ่งในนั้นคือ บ้านป่าละอู) ร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาและป่าไม้ นอกจากนี้ ห้วยสัตว์ใหญ่ยังมีความหลากหลายดังคำขวัญที่ว่า “น้ำตกป่าละอูเลื่องชื่อ ร่ำลือช้างป่า คุณค่าวัฒนธรรมชาวไทยภูเขา รวมเหล่าพสกนิกร หมู่ภมรผีเสื้อกลางคืน ดาษดื่นพฤกษ์ไพร รวมเหล่าน้ำใจในโครงการพระราชดำริ”

สมปอง กล่าวต่อว่า น้ำตกป่าละอูมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเดือนละ 5,000-8,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ส่วนการท่องเที่ยวชุมชนของตำบลมีนักท่องเที่ยวเดือนละ 100-200 คน ยิ่งในฤดูกาลทุเรียนป่าละอูออกประมาณเดือน พ.ค.-ส.ค. จะมีนักท่องเที่ยวมาเกือบทุกวัน

“จะสังเกตเห็นว่าทุเรียนที่อร่อยและโด่งดังในไทยส่วนใหญ่จะปลูกในหุบเขา ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน แต่หุบเขาที่ห้วยสัตว์ใหญ่เป็นท้องกระทะกว้างขวาง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร และมีดินดี โดยดินที่นี่มีกำมะถันน้อยกว่าที่อื่น ทำให้ทุเรียนมีกลิ่นไม่รุนแรง เนื้อมีสีเหลืองอ่อน เม็ดลีบ และรสชาติหวานมัน นอกจากนี้ ทุเรียนที่นี่ยังปลูกใต้ร่มกล้วย โดยเราจะปลูกกล้วยก่อน 1 ปี แล้วค่อยปลูกทุเรียน เพราะทุเรียนป่าละอูขาดน้ำ 5 วันตาย ดังนั้นจึงต้องใช้ระบบอุ้มน้ำของต้นกล้วยมาช่วย”

สมปอง อธิบายถึง ทุเรียนจีไอ (GI-Geographical Indications) หรือทุเรียนที่ได้รับการรับรองว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ว่า พันธุ์ที่ได้รับการรับรองจีไอคือ หมอนทองและชะนีที่ปลูกในพื้นที่นี้เท่านั้น โดยเอกลักษณ์ของทุเรียนป่าละอูคือ ผลเป็นวงรีด้านใต้ผลแหลม สีของเปลือกเป็นสีเขียวปนน้ำตาล เนื้อหนา มีสีเหลืองอ่อน รสชาติมีความมันมากกว่าความหวาน และมีกลิ่นไม่รุนแรง ซึ่งหลังจากได้รับจีไอแล้วทำให้ราคาทุเรียนป่าละอูสูงขึ้น และทำให้เจ้าของสวนต้องรักษาคุณภาพของทุเรียนไว้ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ทุเรียนป่าละอูให้อยู่ต่อไปในทางอ้อม

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน  ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

“ทุเรียนต้นแรกของห้วยสัตว์ใหญ่มีเรื่องราวคือ เมื่อปี 2523 สมเด็จย่าได้เสด็จฯ มาพร้อมในหลวง รัชกาลที่ 9 มาที่ห้วยสัตว์ใหญ่ และทรงเห็นว่าที่นี่เหมาะแก่การปลูกทุเรียน จึงทรงปลูกไว้ประมาณ 10 ต้น เวลาผ่านไป 40 ปี ทุเรียนเหล่านั้นยังอยู่ มีขนาดใหญ่ 2 คนโอบ และยังให้ผลผลิต จากนั้นเมื่อราษฎรเห็นว่าที่นี่ปลูกทุเรียนได้และรสชาติอร่อย จึงขยายพันธุ์จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบัน”

ห้วยสัตว์ใหญ่มีสวนทุเรียนประมาณ 2,100 ไร่ แต่เก็บผลผลิตได้อยู่ประมาณ 900-1,000 ไร่ เพราะอีกครึ่งหนึ่งเป็นสวนปลูกใหม่ที่ยังไม่ให้ผลผลิต โดยคนที่มีสวนทุเรียน 10 ไร่ จะมีรายได้ประมาณ 2 ล้านบาท/ปี

“ที่นี่ทำการเกษตรแบบเลยคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้ว โดยช่วงแรกชาวบ้านที่เลี้ยงโคนมและทำการเกษตรได้จับกลุ่มกันเล็กๆ แต่ตอนนี้มีการพัฒนาให้เป็นสหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ รับซื้อทุเรียนจากชาวบ้านแล้วนำไปส่งห้าง และสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ ปัจจุบันในตำบลมีฟาร์มโคนมประมาณ 400 ฟาร์ม ได้น้ำนมวันละ 40 ตัน ส่งให้กับโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงให้ศึกษา คือ มีการทอผ้า ปลูกหญ้าเลี้ยงวัว และการเกษตรแบบปลอดสารพิษ” สมปอง กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน  ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

ส่วนเรื่องช้างป่า เขาได้อธิบายย้อนกลับไปว่า เมื่อก่อนอาณาเขตของกุยบุรี ห้วยสัตว์ใหญ่ เขาพะเนินทุ่ง และแก่งกระจาน เป็นผืนป่าเดียวกัน มีช้างป่าเดินหากินต่อเนื่องทั้ง 4 เขต โดยจะมาหากินที่ห้วยสัตว์ใหญ่มากเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว แต่ต่อมามีหมู่บ้านเกิดขึ้นใหม่กั้นพื้นที่ป่าของห้วยสัตว์ใหญ่ออกจากกุยบุรีและเขาพะเนินทุ่ง ช้างป่าจึงถูกกักบริเวณไปโดยปริยาย ทำให้ปัจจุบันช้างป่าที่ห้วยสัตว์ใหญ่มีจำนวนประมาณ 150-200 ตัว มีตัวเมียมากกว่าตัวผู้ และอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ากว่า 2,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม สมปองทิ้งท้ายว่า เนื่องจากชาวบ้านที่นี่มีอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงโคนม มีรายได้ดี มีงานในไร่ ในสวน ในฟาร์มให้ทำทุกวัน ดังนั้นการท่องเที่ยวจึงเป็นเพียงรายได้เสริม โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ให้เข้ามาศึกษาดูงาน และที่แน่นอนคือ มาชิมทุเรียน (สมปอง พุ่มพวง โทร. 08-7025-8741)

เมื่อ ‘หัวหิน’ เป็นแค่ทางผ่าน  ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จะมีอะไร

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดให้ประจวบคีรีขันธ์เป็นเมืองรอง และกำหนดให้เส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดอยู่ในแอ่งทะเลตะวันตก ซึ่งเป็น 1 ใน 8 เขตพัฒนาแอ่งท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย โดยอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็น “ชุมชนรองในเมืองรอง” ที่มีศักยภาพพอรองรับนักท่องเที่ยว เป็นจุดหมายปลายทางที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้เห็นว่าประจวบคีรีขันธ์ยังมีความหลากหลายทางธรรมชาติ มากกว่าชายหาดและมากกว่าตลาดโต้รุ่ง