posttoday

ย้อนรอยเมืองเทียน เรียงร้อยเรื่องผ้าแห่งคำปุน

12 สิงหาคม 2561

ตลอด 20 ปี “บ้านคำปุน” ได้เปิดบ้านให้คนภายนอกเข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้เรื่องผ้าทอปีละครั้งในช่วงแห่เทียนเข้าพรรษา

โดย กาญจน์ อายุ

ตลอด 20 ปี “บ้านคำปุน” ได้เปิดบ้านให้คนภายนอกเข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้เรื่องผ้าทอปีละครั้งในช่วงแห่เทียนเข้าพรรษา ที่ผ่านมาคือ วันที่ 27-29 ก.ค. 2561 เป็นกิจกรรมเพื่อการกุศล ริเริ่มโดยมีชัย แต้สุจริยา เจ้าของบ้านคำปุน และครูศิลป์แห่งแผ่นดิน

“นักท่องเที่ยวที่มาอุบลฯ ส่วนใหญ่จะมาชมงานแห่เทียนเข้าพรรษา แต่อาจไม่ทราบว่าก่อนจะเป็นขบวนแห่เทียนยิ่งใหญ่ ชาวอุบลฯ เคยมีวัฒนธรรมเก่าแก่อย่างไร ทางบ้านคำปุนจึงจัดให้มีกิจกรรมทำผาสาทผึ้งหรือปราสาทผึ้งในช่วงที่เปิดบ้าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ลองทำด้วยตัวเอง” โดยเงินที่ได้จากการขายบัตรเข้าชมคนละ 100 บาท ตลอด 3 วัน แบบไม่หักค่าใช้จ่าย เขาจะนำไปพัฒนาวัดและสร้างพิพิธภัณฑ์ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน

ทว่าน่าเสียดายที่วันเข้าพรรษาปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่บ้านคำปุนเปิดให้เข้าชม เนื่องจากเจ้าของบ้านได้ทำ “พิพิธภัณฑ์คำปุน” ไว้เคียงข้างกัน จึงตัดสินใจปิดบ้านแล้วให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมและเรียนรู้เรื่องผ้าไทย รวมถึงวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวอุบลฯ ส่วนบ้านคำปุนนั้นจะปิดเป็นพื้นที่ส่วนตัวตลอดเวลา

“ผมสร้างบ้านคำปุนและใช้งานมาเกิน 25 ปีแล้ว โดยที่ผมเองเป็นผู้ออกแบบอาคารและบรรยากาศทั้งหมด อาคารด้านหน้า 4 หลังจะเป็นส่วนของเรือนทอ เราได้ว่าจ้างชาวบ้านที่มีฝีมือมาทำ ซึ่งเปิดเผยให้เห็นทุกขั้นตอนของการทอผ้าโดยไม่ปิดบังอำพราง เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นกระบวนการดั้งเดิม”

ย้อนรอยเมืองเทียน เรียงร้อยเรื่องผ้าแห่งคำปุน

นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้คิดค้นผ้าลาย “กาบบัว” ในปี 2543 ซึ่งในอีก 14 ปีต่อมา กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้ผ้ากาบบัวเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และถูกคัดเลือกให้เป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำ จ.อุบลราชธานี โดยผ้ากาบบัว คือ ผ้าทอที่ใช้เส้นด้ายยืนอย่างน้อย 2 สี ทอเป็นพื้นลายริ้วตามลักษณะซิ่นทิว และใช้เส้นด้ายพุ่งทอเป็นลาย คั่นด้วยหางกระรอก มัดหมี่ และขิด ทำให้มีความพิเศษจากการรวบรวมเทคนิคการทอผ้าดั้งเดิมของชาวอุบลฯ ไว้ในผืนเดียว

“ผมพยายามรักษาและสืบทอดเอกลักษณ์ของผ้าทออุบลฯ ไว้หลายอย่างทั้งผ้ามัดหมี่ ซึ่งบ้านคำปุนทำให้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองด้วยการผสมเส้นเงินเส้นทองด้วยวิธีเกาะล้วง และผ้าซิ่นทิวมุก ซึ่งในอดีตเป็นผ้าที่เจ้านายใช้เท่านั้น และหัวซิ่นจกดาว ซึ่งเป็นลายที่ไม่มีจังหวัดอื่นในอีสานใช้ นอกจากอุบลฯ

นอกจากการรักษามรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ผมก็ยังพยายามคิดค้นนวัตกรรมการทอผ้า โดยในปีนี้ผมได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้คิดค้นผ้าชนิดใหม่ของบ้านซะซอม อ.โขงเจียม เรียกว่า ผ้าแสงแรก เนื่องจากโขงเจียมเป็นจุดที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม มากไปกว่านั้นผมยังได้นำผ้าลายกาบบัวซึ่งเป็นสมบัติของชาติมาทำเป็นเวอร์ชั่นผ้าแสงแรก คือ มีเทคนิคการทอเหมือนผ้ากาบบัวทุกประการ แต่ที่สำคัญคือ มีมัดหมี่ในเส้นยืนเพื่อสร้างความรู้สึกเคลื่อนไหวคล้ายแสงสว่าง”

อาคารหลังอื่นในบริเวณบ้านคำปุน ประกอบด้วย ห้องพระ บ้านพักอาศัยของบิดามารดา และบ้านของเขา ส่วนของพิพิธภัณฑ์คำปุนนั้นตั้งอยู่ริมรั้วบ้านคำปุน โดยเขาตั้งใจเปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (Living Museum) เปิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา

ย้อนรอยเมืองเทียน เรียงร้อยเรื่องผ้าแห่งคำปุน

“ที่นี่ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ผ้าทั่วไป แต่เราจะแสดงขั้นตอนของการทอผ้า ซึ่งผมไม่คิดว่ามีพิพิธภัณฑ์บนโลกนี้ที่แสดงให้เห็นตั้งแต่เส้นจนกลายเป็นผืนผ้า ที่สำคัญคือ เรามีเครื่องมือทอผ้าหายาก อายุไม่ต่ำกว่า 80 ปี และบางชิ้นอาจอยู่ในยุคอยุธยา นอกจากนี้ เรายังเปิดพิพิธภัณฑ์เป็นโรงเรียนเปิดสอนการทอผ้าให้นักเรียนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างโอกาสให้สถานที่แห่งนี้สร้างบุคลากรในด้านการทอผ้าได้ ซึ่งจะมีความยั่งยืนมากกว่าการจัดแสดงเพียงอย่างเดียว” มีชัย กล่าวเพิ่มเติม

อีกสถานที่ที่มีบทบาทสำคัญในช่วงวันเข้าพรรษาคือ ทุ่งศรีเมือง สถานที่จัดงานและเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดตั้งอยู่บนถนนอุปราช บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล) ประกอบด้วย คูเมืองเป็นน้ำล้อมรอบ มีประตูทางเข้า 4 ทิศ 4 ประตู ซึ่งตั้งชื่อตามนามของเจ้านายพื้นเมือง คือ อุบลเดชประชารักษ์ อุบลศักดิ์ประชาบาล อุบลการประชานิตย์ และอุบลกิจประชากร

ย้อนรอยเมืองเทียน เรียงร้อยเรื่องผ้าแห่งคำปุน

ภายในยังมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ เช่น อภิมหาเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติหรือต้นเทียนจำลอง โดยในเวลากลางคืนจะมีการเปิดไฟประดับสวยงามตั้งตระหง่านตลอดปี อนุสาวรีย์พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี ลานออกกำลังกาย และลู่วิ่งรอบสวนสาธารณะ ซึ่งช่วงเย็นจะเนืองแน่นไปด้วยประชาชน

ล่าสุดภายในทุ่งศรีเมืองได้เปิดบริการห้องน้ำแห่งใหม่ โดย คิง เพาเวอร์ ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ส่งมอบ “สุขา สุขใจ” เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เป็นโครงการเพื่อสังคม ภายใต้แนวคิดคิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ด้านชุมชน มีเป้าหมายมอบห้องน้ำให้กับชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่งทั่วไทย รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยสุขามีรูปแบบสากล (Universal Design) สำหรับชาย หญิง และผู้พิการ ซึ่งทุ่งศรีเมืองนับเป็นแห่งที่ 2 หลังจากได้มอบแห่งแรกไปแล้ว ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ คิง เพาเวอร์ ยังมีการจัดกิจกรรมทำความดี โดยจิตอาสาจากกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปลูกต้นไม้ปรับภูมิทัศน์บริเวณรอบห้องน้ำ และทาสีห้องน้ำหลังเก่าในพื้นที่สวนสาธารณะทุ่งศรีเมืองด้วย โดยคาดว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จครบทั้ง 10 แห่ง ภายในเดือน ธ.ค. 2561

ย้อนรอยเมืองเทียน เรียงร้อยเรื่องผ้าแห่งคำปุน

สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนทุ่งศรีเมือง สามารถข้ามถนนไปสักการะศาลหลักเมือง และไปทำบุญไหว้พระที่วัดใกล้เคียง เช่นวัดศรีอุบลรัตนาราม วัดไชยมงคล วัดสุทัศนาราม และวัดทุ่งศรีเมือง ที่สำคัญอย่าลืมไปเรียนรู้เรื่องผ้าที่พิพิธภัณฑ์คำปุน เปิดทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. หรือติดตามได้ที่เพจ

เฟซบุ๊ก Khampun Museum