posttoday

จากพื้นที่สีแดงกลายเป็นดินแดนสีเขียว กรีนบุรี กุยบุรี

11 สิงหาคม 2561

หมู่บ้านที่ต้องตั้งใจมา มาหาชุมชนกลางทุ่งหญ้าและโขลงช้างในป่า ที่นี่คือ บ้านรวมไทย อดีตพื้นที่สีแดง

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ
 
หมู่บ้านที่ต้องตั้งใจมา มาหาชุมชนกลางทุ่งหญ้าและโขลงช้างในป่า ที่นี่คือ บ้านรวมไทย อดีตพื้นที่สีแดง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นดินแดนสีเขียวขจี โดยคนส่วนใหญ่อาจรู้จักในนาม “กุยบุรี” แต่ในกุยบุรียังมีการท่องเที่ยวชุมชน
 
“น้อย” หญิงวัยกลางคนที่มีอายุเท่าหมู่บ้าน เล่าว่า บ้านรวมไทยก่อตั้งตั้งแต่ปี 2521 ในอดีตพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นพื้นที่สีแดง คือที่ตั้งของคอมมิวนิสต์ ทางราชการจึงมีแนวคิดเปลี่ยนพื้นที่อ่อนไหวให้เป็นพื้นที่กันชน โดยให้ชุมชนเข้ามาอยู่ จึงเปิดรับสมัครชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินและมีความกล้าเข้ามาอยู่อาศัย รัฐจะมอบที่ทำกินให้ 20 ไร่ และพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยอีก 3 ไร่ รวมเป็น 23 ไร่/ครอบครัว
 
“ที่นี่เปิดรับสมัครรอบแรก 150 ครอบครัว โดยกลุ่มแรกๆ ที่ได้สิทธิคือ ตำรวจเกณฑ์และทหารผ่านศึก จากนั้นก็เป็นชาวบ้านจากทั่วประเทศที่ขาดแคลนและต้องการที่ทำกิน แล้วรัฐก็ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างการปลูกฝ้าย นุ่น พริก และมาจบที่สับปะรด พืชเศรษฐกิจของหมู่บ้าน เพราะเป็นพืชทนแล้ง โตเร็ว เก็บเกี่ยวผลผลิตไว แต่ก็ขายไม่ค่อยได้ราคา ทำให้ตอนนี้บางบ้านก็หันมาปลูกยางพาราแทน เหนื่อยกว่าแต่ได้กำไรบ้าง”
 
หมู่บ้านรวมไทยแบ่งเป็นซอย ตั้งแต่ซอย 1-25 คนเก่ามาก่อนจะอยู่ซอยต้นๆ มีพื้นที่รอบบ้านกว้าง 3 ไร่ แต่ซอยท้ายๆ รั้วบ้านจะแคบลง เพราะได้จัดสรรพื้นที่น้อยลงเหลือครอบครัวละ 1 ไร่ครึ่ง โดยปัจจุบันไม่มีการจัดสรรพื้นที่เพิ่มและชาวบ้านดั้งเดิมก็ไม่มีสิทธิขายที่ดินให้ใคร เพราะกรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของกรมป่าไม้ ทำให้บ้านรวมไทยไม่มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อทำรีสอร์ทหรือตั้งโรงงาน
 
บ้านรวมไทยมีประชากรประมาณ 2,000 คนเศษ จำนวนมากกว่า 600 ครัวเรือน อพยพมาไม่ต่ำกว่า 40 จังหวัดทั่วไทย และนับเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดใน ต.หาดขาม อ.กุยบุรี โดยชาวบ้านร้อยละ 70 ทำอาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ จำนวนที่เหลือทำงานรับจ้าง ส่วนการท่องเที่ยวเป็นเพียงรายได้เสริมไว้ทำเวลาว่างเว้นจากไร่และสวน

จากพื้นที่สีแดงกลายเป็นดินแดนสีเขียว กรีนบุรี กุยบุรี

 
“คนกรุงเทพฯ อาจมองว่าพื้นที่ 23 ไร่ เยอะมาก แต่สำหรับชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรถือว่าพออยู่ได้ เพราะพวกเราต้องปลูกพืชหารายได้ ต้องมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ได้ไปทำงานบนตึกแล้วมีเงินเดือนเหมือนคนเมือง” คนเมืองฟังแล้วสะอึก
 
นักท่องเที่ยวขึ้นรถพ่วงโดยมีแทรกเตอร์เป็นตัวลาก น้อยถือไมค์ทำหน้าที่ไกด์ รถก็กำลังเดินหน้าพ้นเขตหมู่บ้านไปบนเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน
 
“อุทยานแห่งชาติกุยบุรีกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่า นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมสัตว์ป่าได้ตั้งแต่เวลา 14.00-17.00 น. ดังนั้นเวลาช่วงเช้าจึงว่างสำหรับการท่องเที่ยวในหมู่บ้านรวมไทย”
 
เสียงน้อยพูดดังออกลำโพงต่อว่า “ตอนนี้เรายังอยู่เมืองไทย แต่อีกสักครู่เราจะอยู่สวิตเซอร์แลนด์”
 
ไม่ทันขาดคำ รถพ่วงท้ายก็แล่นเข้าอุโมงค์จามจุรี ทั้งสองข้างขนาบด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจี และทิวต้นสนพลิ้วไหวอยู่ไกลๆ อันที่จริงยังไม่เคยไปดินแดนแห่งยอดเขาสูง เลยตัดสินไม่ได้ว่าไทยเหมือนสวิส หรือสวิสเหมือนไทย แต่ที่แน่ๆ คือ บรรยากาศสวยเกินความคาดหมายของคำว่า ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ไปมาก
 
สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบปลูกหญ้าจำนวนไม่น้อยกว่า 1,500 ไร่ โดยได้แบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้ามาเกี่ยวหญ้าไปให้อาหารสัตว์ รวมถึงหากจังหวัดใดประสบภัยแล้งจนขาดแคลนก็จะนำหญ้าจากในพื้นที่ไปช่วย
 
เขตทุ่งหญ้าประกอบด้วยหญ้า 2 สายพันธุ์ คือ หญ้ารูซี่หรือหญ้าคองโก เป็นหญ้าพื้นเมืองของแอฟริกา ใช้เป็นพืชเลี้ยงโคกระบือ และอีกสายพันธุ์คือ หญ้าแพงโกล่า เป็นหญ้าไม่มีขน ใบเล็กเรียวยาว เหมาะสำหรับนำไปทำหญ้าแห้ง และมีสารอาหารโปรตีนสูงกว่าหญ้าชนิดอื่น

จากพื้นที่สีแดงกลายเป็นดินแดนสีเขียว กรีนบุรี กุยบุรี

 
“การท่องเที่ยวชุมชนที่นี่จะอาศัยเที่ยวตามหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้าน อย่างทุ่งหญ้าเป็นพื้นที่ของกรมปศุสัตว์ จุดชมวิวและลานกางเต็นท์เป็นพื้นที่ของหน่วยห้วยสำโหรง และการชมสัตว์ป่าอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี”
 
จากกลางทุ่งหญ้าจะมองเห็นเทือกเขาตะนาวศรี เส้นแบ่งดินแดนไทย-เมียนมาตามธรรมชาติ ซึ่งหากอยากชมทิวทัศน์มุมสูงต้องไปที่จุดชมวิวหน่วยพิทักษ์อุทยานห้วยสำโหรง ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
 
“จากจุดชมวิวเราจะมองเห็นอ่างเก็บน้ำยางชุม เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 จากนั้นตรงทิวสนจะเป็นส่วนของหมู่บ้านรวมไทย ส่วนด้านหลังของหน่วยสำโหรงที่เรายืนอยู่คือ เทือกเขาตะนาวศรี โดยไทยอยู่ห่างจากเมียนมาประมาณ 20 กิโลเมตร ลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน จึงเป็นปราการที่แข็งแกร่งและปลอดภัย”
 
น้อย กล่าวด้วยว่า การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการชมสัตว์ป่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 จากนั้นได้ต่อยอดมาสู่การท่องเที่ยวชุมชนที่เพิ่งเริ่มในช่วงหลังประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา
 
เมื่อเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแล้ว บ้านรวมไทยยังให้บริการโฮมสเตย์ น้อยจึงส่งไมค์ต่อให้ “โอ๋” ธนศิษฐ์ พิบูลย์วัฒนากร ประธานกลุ่มช้างป่ากุยบุรี โฮมสเตย์ เล่าถึงโปรแกรมท่องเที่ยวว่า ตอนนี้ในหมู่บ้านมีโฮมสเตย์ 7 หลัง รับนักท่องเที่ยวได้ 80 คน และมีโปรแกรม 2 วัน 1 คืน ที่ให้สัมผัสชุมชนและธรรมชาติ
 
วันแรกในช่วงบ่าย โอ๋พาไปชมบ้านทำกระดาษจากใบสับปะรด เป็นภูมิปัญญาของคนรุ่นใหม่ที่นำใบสับปะรดเหลือทิ้งมาแปรรูปและเข้ากระบวนการทำกระดาษ วิธีการเดียวกับกระดาษสา คือนำใบสับปะรดไปต้มให้เปื่อยยุ่ย เหลือแต่เส้นใย จากนั้นนำไปผสมสีธรรมชาติ เช่น สีม่วงจากดอกอัญชันแห้ง และสีแดงจากมะม่วงหาวมะนาวโห่ นำไปร่อนบนตะแกรงคล้ายมุ้งลวด และผึ่งลมให้แห้งสนิท (ห้ามตากแดดเพราะทำให้กรอบ) ก็จะกลายเป็นกระดาษแฮนด์เมดจากใบสับปะรด
 
จากนั้นย่างเข้าบ่าย 3 จะถึงเวลาชมช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยนักท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถกระบะของชาวบ้าน ซึ่งเป็นวิธีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและจำกัดจำนวนรถเข้าอุทยานฯมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมคือ ค่าเหมารถ 850 บาท/คัน นั่งได้ 8 คน และค่าเข้าอุทยานฯผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
 
“99% เจอช้าง” โอ๋ ไม่การันตีเต็มร้อยเผื่อโชคไม่เข้าข้าง แต่จากประสบการณ์ไม่มีครั้งไหนที่เขาไม่เคยเจอ
 
นักท่องเที่ยวทุกคนต้องออกจากอุทยานฯ ก่อนเวลา 18.00 น. จากนั้นโอ๋จะมารับช่วงต่อพาไปกินข้าวเย็นที่ท้ายไร่ เขากล่าวว่าเป็นการกินข้าวกับชาวบ้านที่มาเฝ้าช้างอยู่ท้ายไร่ ระหว่างกินก็อาจได้ยินเสียงแปร๋นจากช้างป่าแว่วออกมา และหลังจากมื้ออาหารก็จะกลับเข้าโฮมสเตย์
 
เช้าตรู่วันถัดมาประมาณ 05.30 น. รถจะไปรอรับที่หน้าบ้านเพื่อพาไปยังจุดชมวิวหน่วยพิทักษ์ห้วยสำโหรง รอชมพระอาทิตย์ขึ้น พร้อมล้อมวงกินข้าวต้มร้อนๆ กาแฟอุ่นๆ กลางอากาศชื้นๆ หรือที่เขาตั้งชื่อให้สวยเก๋ว่า “จิบกาแฟ แลตะวัน”
 
จากนั้นระหว่างทางกลับจะพาไปถ่ายรูปที่อุโมงค์จามจุรีและทุ่งหญ้า ก่อนจะเข้าไปยังหมู่บ้านอีกครั้งเพื่อไปทำกิจกรรมตามบ้านต่างๆ เช่น บ้านกลึงไม้ที่นำไม้กระถินณรงค์มาแปรรูปเป็นกำไลและแก้วไวน์ บ้านรีดยางพารา บ้านเลี้ยงไส้เดือน บ้านเลี้ยงแพะ บ้านผลไม้ทอด

จากพื้นที่สีแดงกลายเป็นดินแดนสีเขียว กรีนบุรี กุยบุรี

 
“นำขนุนแก่มาฝานเป็นแผ่นบางๆ แล้วลงกระทะทอดจะได้ขนุนกรอบรสชาติเหมือนมันฝรั่ง” โอ๋ ยั่วน้ำลาย
 
รวมถึงกลุ่มผลิตชาใบหม่อนบ้านรวมไทย เป็นกลุ่มแม่บ้านที่ปลูกต้นหม่อนและเลี้ยงไหม ผลิตเส้นไหมส่งเข้าวัง และยังทำชาใบหม่อนมีสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต และบำรุงสายตา เป็นรายได้พิเศษให้แม่บ้านนอกเหนือจากการทำไร่ทำสวน
 
สุกัญญา ราคา ประธานกลุ่มหม่อนไหมและชาใบหม่อน เล่าว่า กลุ่มแม่บ้านเริ่มทำหม่อนไหมเมื่อปี 2543 โดยได้รับพันธุ์และได้รับการส่งเสริมอาชีพจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ชุมพร
 
“หน้าฝนต้นหม่อนจะมีใบแตกเยอะ ทำให้เลี้ยงหนอนไหมได้หลายรอบ โดยเราปลูกต้นหม่อนประมาณ 200 ไร่ ไว้ที่ชายป่า จะมาปลูกในหมู่บ้านไม่ได้ เพราะจะถูกยาฆ่าแมลงของชาวบ้านทำให้หนอนตาย ถ้ามีใบอ่อนเหลือเราก็จะเก็บมาทำชาใบหม่อน เลือกเก็บเฉพาะใบที่ 2 และ 3 จากยอด มาล้างให้สะอาด ตัดขั้ว หั่นซอย จากนั้นนำไปคั่วในกระทะเพื่อไล่ความชื้นก่อนเข้าเตาอบให้แห้งสนิทก็จะได้เป็นชาใบหม่อน เราทำแค่เดือนละ 300 กล่อง ขายที่ศูนย์โอท็อปของบ้านรวมไทย”
 
ด้านประธานกลุ่มช้างป่ากุยบุรี โฮมสเตย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า
 
“คนที่มากุยบุรีส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าเรามีโฮมสเตย์และกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน เพราะนักท่องเที่ยวจะมาชมแค่ช้างป่าแล้วเดินทางกลับ ไม่ได้พักหรือสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน”
 
เขาจึงอยากฝากโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชน 2 วัน 1 คืน ไว้เป็นทางเลือกครั้งต่อไป ค่าใช้จ่ายคนละ 750 บาท รวมอาหาร 2 มื้อ และกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน สามารถสอบถามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “ช้างป่ากุยบุรี โฮมสเตย์”
 
ลงจากรถพ่วงมาอยู่ตรงหน้ารูปปั้นช้างป่า หลังจากเวลา 14.00 น.เป็นต้นไป คือช่วงเวลาของกิจกรรมชมช้างกุยบุรี ซึ่งหากเปรียบบ้านรวมไทยเป็นสวิตเซอร์แลนด์ กุยบุรีก็คงเป็นแอฟริกาใต้ แต่นอกจากซาฟารีหรือการนั่งรถไปส่องสัตว์ ที่นี่ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจระหว่างคนกับช้าง

จากพื้นที่สีแดงกลายเป็นดินแดนสีเขียว กรีนบุรี กุยบุรี

 
กีรติ มอทิพย์ หัวหน้าฝ่ายจัดการท่องเที่ยวและนันทนาการ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ให้ข้อมูลก่อนกระโดดขึ้นท้ายกระบะว่า อุทยานฯ มีพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ ซึ่งการทำงานของอุทยานฯ เป็นไปตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 นั่นคือ การจัดการสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช้างป่าในพื้นที่
 
“ในหลวง รัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ว่า ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่ามีอาหารให้ช้างเพียงพอ เจ้าหน้าที่อุทยานฯจึงช่วยกันโปรยเมล็ดพันธุ์หญ้าในป่าลึกเพื่อให้เป็นแปลงพืชสำหรับช้าง ผลักดันช้างไม่ให้มารบกวนพืชไร่ของชาวบ้าน และภารกิจที่ทำแล้วเห็นผลมากคือ ให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าเข้ามามีบทบาทในการท่องเที่ยว โดยในช่วงกลางวันที่ชาวบ้านไม่ต้องเฝ้าไร่สับปะรดและยางพาราก็สามารถนำรถกระบะมาให้บริการเป็นรถนำเที่ยว หรือถ้าครอบครัวไหนมีลูกหลานก็สามารถมาเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น โดยผ่านการอบรมจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ”
 
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทำงานร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำรวจประชากรช้างป่าในเขตอุทยานฯ ด้วยวิธีการเก็บขี้ช้างไปตรวจดีเอ็นเอ พบว่า มีช้างป่า 237 ตัว เป็นตัวผู้ 69 ตัว ตัวเมีย 168 ตัว ซึ่งปีนี้น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะมีลูกช้างเกิดใหม่ในโขลง ส่วนกระทิงพบมีไม่ต่ำกว่า 200 ตัว และมีวัวแดงที่อยู่ร่วมกับฝูงกระทิง 7 ตัว นอกจากนี้ ยังมี สมเสร็จ เลียงผา และเก้งหม้อ ซึ่งไม่ค่อยเผยตัวเหมือนพี่ใหญ่อย่างช้างและกระทิง
 
เส้นทางชมสัตว์ป่ามีทั้งหมด 4 จุด เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่กำหนดหลังจากพบเห็นสัตว์ป่าออกมาหากินตามธรรมชาติเป็นประจำ ส่วนเส้นทางที่ต้องนั่งกระบะเข้าป่าข้ามลำธารมีระยะทางไป-กลับ 14.8 กม. ลักษณะเป็นถนนดินลูกรังสร้างจังหวะโยกเยก ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะสนุกให้นักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาแอดเวนเจอร์อยู่แล้ว สำหรับวันนั้นปรากฏว่าโชคเข้าข้าง เห็นทั้งโขลงช้างและกระทิงฝูงใหญ่ ซึ่งแม้ว่าจะมองจากมุมไกลแต่ก็ยังทำให้ใจเต้นรัว
 
ปิดท้ายกิจกรรมหนึ่งวันถ้วนอย่างสมบูรณ์ ช่วงเช้าเที่ยวบ้านรวมไทย ช่วงบ่ายท่องป่า และหากมีโอกาสจะกลับมาจิบกาแฟ แลตะวัน นอนโฮมสเตย์ให้ครบเครื่องสักครั้ง สำหรับครั้งนี้ถือว่าชิมลางและจุดประกายให้เห็นภาพว่ากุยบุรีไม่ได้มีดีแค่สัตว์ป่า แต่ยังมีชาวบ้านที่น่ารักและกิจกรรมเที่ยวชุมชนที่น่าลอง