posttoday

มอญซ่อนผ้า ‘บ้านวังกะ’ อยู่ข้างหลัง

04 สิงหาคม 2561

เมื่อข้ามสะพานมอญมายัง “หมู่บ้านวังกะ” เหมือนก้าวออกจากชายแดนไทยสู่แคว้นมอญแห่งสังขละบุรี

โดย เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

เมื่อข้ามสะพานมอญมายัง “หมู่บ้านวังกะ” เหมือนก้าวออกจากชายแดนไทยสู่แคว้นมอญแห่งสังขละบุรี ในภาคกลางของไทยที่มีประชากรมอญจำนวน 1.2 แสนคน อาศัยอยู่ในแถบ จ.ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และกาญจนบุรี แต่หนึ่งในชุมชนที่เข้มแข็งและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้ คือ มอญ อ.สังขละบุรี

ชาวมอญมีภาษาพูดและภาษาเขียนของตัวเอง อย่างชื่อของไกด์หนุ่ม “แพลก” ก็เป็นภาษามอญ แปลว่า กินเก่ง กินง่าย เขารับหน้าที่เป็นคนพานักท่องเที่ยวไปรู้จักกับบ้านเกิด คือ ฝั่งบ้านวังกะ หรือฝั่งมอญ ที่เชื่อมต่อกับฝั่งไทยหรือฝั่งตัวเมืองสังขละบุรี ด้วยสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

แพลกนัดพบที่สะพานมอญตอน 6 โมงเช้า วันนั้นฝนตกตั้งแต่เมื่อคืนและดูเหมือนจะไม่หยุดอีกหลายวัน ทำพื้นไม้เปียกแฉะสะท้อนแสงไฟเหลืองนวลเหมือนเห็นดวงจันทร์หลายสิบดวงบนสะพาน ทดแทนบนท้องฟ้าที่ไม่เห็นแม้แต่แสงดาว ในเช้าตรู่เช่นนี้แทบไม่มีผู้คนทั้งชาวท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ทำให้มองเห็นสะพานมอญรูปร่างบิดเบี้ยวแบบไม่ต้องหลบมุมใคร

ไกด์หนุ่มเดินเท้ามาจากบ้านเพื่อมาตามนัดที่ฝั่งไทย เขาทำหน้าที่ไกด์ด้วยการเล่าทุกเรื่องที่รู้ตามสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์และประสบการณ์ 16 ปี

“พอสายๆ จะเห็นเด็กมาเดินตามสะพาน แม่ของพวกเขาจะนั่งมองใกล้ๆ ถ้านักท่องเที่ยวคนไหนสนใจอยากให้เด็กทาแป้งทานาคาให้ก็จะต้องจ่ายเงิน กี่บาทก็ได้ตามใจ ส่วนใหญ่ก็ 20 บาทหรือถ้าโชคดีหน่อยก็จะได้แบงก์ร้อย

พอเด็กได้เงินมาก็จะรีบวิ่งไปให้แม่ ส่วนใหญ่เงินที่ได้มาแม่ของเขาจะไม่ได้เก็บไว้ให้ลูกเรียน แต่จะนำไปใช้ซื้ออย่างอื่น ผมเลยไม่ขอตอบว่าแนะนำหรือไม่แนะนำ ขึ้นอยู่กับพี่ๆ เลย” เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นทุกวันบนสะพานมอญ โดยเฉพาะวันหยุดจะเห็นเด็กๆ เดินถืออุปกรณ์ประแป้งทานาคานับสิบคน

มอญซ่อนผ้า ‘บ้านวังกะ’ อยู่ข้างหลัง

เดินหันหลังให้อาคารปูนสูงจากฝั่งไทย มุ่งหน้าไปยังอาคารไม้ชั้นเดียวของฝั่งมอญ เวลา 06.15 น. ร้านค้าริมถนนที่ตรงมาจากสะพานตอนนี้เปิดเกือบครบแล้ว ทั้งร้านโจ๊ก ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก และร้านเสื้อผ้า อย่างที่แพลกเคยพูดไว้ว่า ธุรกิจอีกอย่างของร้านขายเสื้อผ้า คือ การให้เช่าชุดมอญตอนใส่บาตร หรือให้เช่าทั้งวัน เพราะเทรนด์นักท่องเที่ยวยุคนี้ต้องแต่งตัวเหมือนคนท้องถิ่นถึงดูเก๋ไก๋ แต่ครั้นจะซื้อกลับกรุงเทพฯ ไปก็ไม่รู้ว่าจะหาโอกาสไหนใส่ ธุรกิจให้เช่าชุดจึงรุ่งเรือง

ขณะเดียวกันกิจกรรมของคนท้องถิ่นก็ได้รับความนิยม อย่างการตักบาตร กิจวัตรธรรมดาแต่กลายเป็นเรื่องพิเศษของคนมาเที่ยว ทำให้ร้านเช่าชุดเพิ่มบริการขายชุดใส่บาตร แค่ต้องมาก่อนเวลาพระบิณฑบาตเพื่อมาแต่งองค์ทรงเครื่องให้เรียบร้อย แล้วนั่งรอพระ ทุกวันพระสงฆ์จะเดินจากวัดมาถึงแหล่งร้านค้าบริเวณหัวสะพานมอญฝั่งบ้านวังกะ ประมาณ 06.40 น. ท่านจะไม่เดินข้ามสะพานมอญไปบิณฑบาตฝั่งไทย แต่จะแยกย้ายไปตามซอยต่างๆ ในฝั่งมอญ

ชุดใส่บาตร ประกอบด้วย ข้าวสวย อาหารแห้ง และดอกไม้ ต้องอธิบายแบบนี้ว่า การใส่บาตรครั้งนี้จะเกิดขึ้นเร็วมาก คือ เมื่อพระสงฆ์เดินแถวมา (วันละไม่น้อยกว่า 5 รูป) ให้ตักข้าวใส่บาตร รูปละ 1 ทัพพี เมื่อเห็นว่าเป็นรูปสุดท้ายให้ถวายของแห้งและดอกไม้ ถือว่าเสร็จสิ้น

พระสงฆ์จะไม่หยุดให้พรซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมของที่นี่ เนื่องจากในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ชาวมอญจะใส่บาตรเพียงข้าวสวย ส่วนกับข้าวจะนำไปถวายที่วัดอีกทีและพระสงฆ์จะให้พรในตอนนั้น เหมือนกับธรรมเนียมการใส่บาตรข้าวเหนียวของชาวอีสานและชาวลาว ที่ชาวบ้านจะนำสำรับอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ที่วัดหลังจากใส่บาตรข้าวเหนียวเสร็จแล้ว

“วันไหนฝนตกพระท่านจะเดินเร็วแบบนี้แหละ” แพลกกระซิบบอก บางคนเร็วไม่พอถวายอาหารแห้งและดอกไม้ จึงฝากไว้กับศิษย์วัดเพื่อให้นำไปวัดด้วย

เวลา 06.45 น. นักท่องเที่ยวต่างแยกย้ายไปตามทาง บ้างกลับที่พัก บ้างเข้าร้านกาแฟคว้ากาเฟอีน ส่วนเจ้าแพลกเดินนำเข้าร้านโจ๊ก เขาคุยกับเจ้าของร้านเป็นภาษามอญและสั่งออร์เดอร์เป็นภาษาไทย โจ๊กร้านนี้ใช้หมูสับ ต้องกินคู่กับปาท่องโก๋ร้อนๆ ที่เพิ่งทอดออกมาจากหลังร้าน

มอญซ่อนผ้า ‘บ้านวังกะ’ อยู่ข้างหลัง

ส่วนกาแฟสดฝั่งบ้านวังกะน่าจะมีแค่ร้านกาแฟดริปเล็กๆ ของหนุ่มชาวกะเหรี่ยงตรงตีนสะพาน เขาแจงว่า ถ้ามาช่วงวันหยุดหรือเทศกาลร้านจะป๊อปปูลาร์ จนลูกค้าต้องบดเมล็ดกาแฟเอง แต่วันธรรมดาและฝนตกเยี่ยงนี้ไม่มีลูกค้าสักคน เขาจึงทำทุกกระบวนการด้วยจังหวะเชื่องช้า กินโจ๊กหมดชามแล้วถึงเสร็จ

สำหรับเส้นทางวันเดย์ทริปเที่ยวบ้านวังกะ แพลกบอกว่าถ้าเป็นเขาจะไม่เรียกว่าแหล่งท่องเที่ยว เพราะทุกที่ที่จะไป คือ สถานที่ปกติทั้งตลาดหรือวัด ทุกอย่างคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไปอยู่แล้วทุกวัน

เริ่มต้นที่ ตลาดเช้า ขนาดพอดีกับหมู่บ้าน แม่ค้าเป็นชาวมอญที่นำพืชผักตามรั้วบ้านมาขาย หรือไม่ก็ปลาที่ติดยอขึ้นมาจากแม่น้ำสามประสบ หรือไม่ก็ผลไม้ที่รับซื้อมาขายต่ออีกที

ที่น่าสงสัย คือ ไม่มีร้านไหนขายข้าวแกง จะมีก็แค่ขายของหวานตำรับคนมอญ เช่น ข้าวเหนียวกวนน้ำอ้อย หรือขนมทำจากแป้งโรยมะพร้าว นั่นเพราะทุกบ้านทำอาหาร จะมาซื้อแค่วัตถุดิบนำกลับไปทำเองที่บ้าน กินเองที่บ้าน ใช้เวลาเดินไม่ถึง 10 นาที ก็รอบตลาด ได้ข้าวเหนียวกวนติดมือกลับมา ชิ้นละ 5 บาท แบ่งกันได้ 5 คน

หลังจากนั้นเส้นทางทัวร์วัดก็เริ่มขึ้น แพลก กล่าวว่า ถ้ามีอะไรให้นักท่องเที่ยวไปได้ก็น่าจะเป็นวัด เพราะจะได้ขอพรไหว้พระและถือโอกาสบอกเล่าเรื่องราวของชาวมอญให้ฟัง ประเดิมวัดแรก วัดวังก์วิเวการาม (หลังใหม่) คำในวงเล็บระบุชัดเจนว่า ต้องมีหลังเก่า โดยตอนนี้วัดวังก์วิเวการามหลังเก่าจมอยู่ใต้น้ำ หลังสังขละบุรี เจอน้ำท่วมสูงเมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และสถานะของวัดหลังเก่าได้กลายเป็นวัดร้างเพราะไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา แต่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ เพราะใช่ว่ามาทุกครั้งจะเห็นวัดทุกครั้ง

ส่วนวัดหลังใหม่ได้ถอดรูปแบบมาจากหลังเก่าทุกประการ โดยเฉพาะความสวยงามของซุ้มหน้าต่างภายนอกอุโบสถ แต่ที่ไม่เหมือนเดิม คือ วัสดุที่เปลี่ยนมาใช้สเตนเลส ต่างจากหลังเก่าที่สร้างจากอิฐจากปูนทั้งหมด โดยอุโบสถไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไป จึงได้แต่ถามหนุ่มแพลกว่า ภายในเหมือนของเดิมไหม เขาตอบว่า เหมือนและงดงาม

มอญซ่อนผ้า ‘บ้านวังกะ’ อยู่ข้างหลัง

ภายในบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานองค์เก่าที่เคยอยู่ในวัดหลังเดิม แต่ปัจจุบันไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แพลก บอกว่า เปิดให้เฉพาะแขกวีไอพีหรือคนสำคัญเท่านั้น ส่วนเขาเคยเห็น 1 ครั้ง ตอนบวชเป็นเณรวัดนี้ และอีกจุดที่สำคัญคือ ศาลาหลวงพ่ออุตตมะ หลวงพ่ออุตตมะ คืออดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ตั้งแต่หลังเก่าถึงหลังใหม่ หลังจากที่ท่านละสังขารไปเมื่อปี 2549 สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อยและถูกเก็บรักษาไว้ในโลงแก้วภายในศาลาหลวงพ่ออุตตมะ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวมอญ

เท้าความกลับไป หลวงพ่ออุตตมะท่านเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำชาวบ้านให้อพยพจากฝั่งเมียนมาเข้ามายังฝั่งไทย และตั้งรกรากอยู่ในสังขละบุรี ท่านเป็นผู้หล่อหลอมให้ชาวมอญเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งยังเป็นผู้เรียกร้องสิทธิให้ลูกหลานชาวมอญที่เกิดบนแผ่นดินไทยมีบัตรประชาชนเพื่อรับสิทธิเท่าเทียมพลเมืองไทยคนหนึ่ง

แม้วันนี้หลวงพ่ออุตตมะจะจากไป แต่คนรุ่นใหม่อย่างแพลก ก็ยังเรียนรู้คำสอนของท่านผ่านพ่อแม่ ทำให้ความศรัทธาและความเลื่อมใสยังคงอยู่

นอกจากนี้ ระหว่างทางเดินจากอุโบสถไปวิหารพระพุทธรูปหินอ่อน (ตอนนี้กำลังปิดซ่อมแซม) ทางวัดได้ทำเป็นนิทรรศการจัดแสดงภาพวิถีชีวิตในสังขละบุรี จำนวนกว่า 100 ภาพ จากช่างภาพไม่ทราบชื่อหลายคน ที่เตะตาคือ ภาพสะพานมอญรูปร่างคดโค้งจนงงว่าคนสร้างกำลังสร้างสรรค์งานศิลปะหรืออย่างไร แต่แพลกก็มาแถลงไขว่า มันเป็นความไม่ตั้งใจของกระแสน้ำที่พัดพาให้เสาสะพานบิดเบี้ยวจนทำให้พื้นสะพานไม่เป็นเส้นตรง ผิดกับตอนนี้ที่แข็งแรงไม่โค้งเท่าไรแล้ว

อีกภาพคือ ภาพผู้เฒ่าผู้แก่ใส่บาตรพระ ในมือของพวกเขาไม่มีอย่างอื่น นอกจากข้าวและในบาตรพระก็ไม่มีอาหารอย่างอื่น ส่วนอีกภาพข้างๆ กันก็แสดงให้เห็นว่า หลังใส่บาตรชาวบ้านได้นั่งพับเพียบพนมมือให้เบื้องหลังของพระภิกษุสงฆ์ที่เดินจากไป ไม่มีการพนมมือรับพรเหมือนที่คนไทยคุ้นเคย

เวลา 2 ชั่วโมงผ่านไปไวเหมือนใครหมุนเข็มนาฬิกา ยังมีเวลาให้อีกวัด คือ เจดีย์พุทธคยา วัดที่เห็นเจดีย์สีทองบนเขาตอนล่องแม่น้ำสามประสบ ทางเข้าวัดมีประติมากรรมสิงห์ 2 ตัว ภายในมีพระประธานสถาปัตยกรรมแบบพระเมียนมา มีพระพุทธรูปประจำวันเกิดรอบฐานเจดีย์ และมีบันไดวนขึ้นไป สถาปัตยกรรมของเจดีย์ถอดลักษณะมาจากวัดมหาโพธิ ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ที่นี่ทาสีทองอร่าม มลังเมลืองบนเนินเขาจนไม่ว่าจะอยู่จุดไหนในบ้านวังกะก็จะเห็นเจดีย์พุทธคยาเสมอ

ภายนอกวัดเป็นเรือนร้านค้าขายของที่ระลึก แพลกชักชวนให้เข้าร้านแม่ค้าหน้าตาสวยที่ขายตั้งแต่ทานาคาไปจนถึงเพชรพลอยและหยกเมียนมา สินค้าขายดี คือ แป้งทานาคาออร์แกนิก ไม่ต้องฝนเองเพราะทำมาเป็นตลับพร้อมใช้งาน แม่ค้าคนงามการันตีด้วยใบหน้าของตัวเอง มองดูราคาแพ็กละหลักร้อยก็ยิ่งตัดสินใจง่ายว่าควรซื้อไปลองหรือไม่

มอญซ่อนผ้า ‘บ้านวังกะ’ อยู่ข้างหลัง

ก่อนไกด์หนุ่มจะหมดหน้าที่ เขาอยากร่ำลาด้วยเมนูเด็ดในร้านขนมจีนแบบมอญแท้ๆ แท้ตั้งแต่แม่ค้าที่พูดภาษาไทยไม่ได้แต่ฟังออกบ้างบางคำ แท้ไปจนถึงวัตถุดิบที่ไม่มีน้ำยาหรือน้ำเงี้ยว แต่เป็นน้ำแกงผสมหยวกกล้วย ราดน้ำมะขามเปียก พริก และผงชูรส โดยขนมจีนเป็นเส้นสดที่บีบใหม่ ต้มใหม่ทุกชาม จากนั้นเลือกว่าจะกินแบบน้ำหรือแห้ง

ถ้ากินแบบน้ำ คือ ใส่น้ำซุปที่ข้นคลั่กไปด้วยเยื้อหยวกกล้วยลงไป เด็ดถั่วฝักยาวใส่ และเสริมรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามเปียก เผ็ดด้วยพริก และรสนัวด้วยผงชูรส ส่วนขนมจีนแห้งจะหน้าตาคล้ายก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ลูกค้าจะลงมือยำเองว่าอยากได้รสชาติไหน ใส่เครื่องปรุงเท่าไรก็ได้แม่ค้าไม่หวง

แพลกเลือกความรู้สึกส่งท้ายได้ดี หลังจากได้เห็นและเรียนรู้เรื่องราวของชาวมอญมาตั้งแต่เช้า ตอนนี้คนมาเยือนกำลังกินรสชาติท้องถิ่นที่หาไม่ได้จากที่ไหน เป็นบทสุดท้ายที่รสชาติจะติดอยู่ในความทรงจำ และภาพของหนุ่มแพลกกินขนมจีนหมดเกลี้ยง 2 ชาม ในพริบตาก็ยังติดตา

เขาบอกว่าเป็นขนมจีนที่อร่อยที่สุด และเป็นครั้งแรกที่กินอิ่มที่สุด “อยู่บ้านกินไม่ค่อยอิ่มเพราะต้องแบ่งกัน” รู้เลยว่าเขาไม่ได้น้อยใจ แต่กำลังมีความสุขกับความเอร็ดอร่อยนั้นจริงๆ

หนุ่มน้อยขอเดินกลับบ้านจากตรงนั้น เขาทำหน้าที่ไกด์อย่างเต็มความสามารถและบอกเล่าทุกประสบการณ์ที่มีให้ฟังอย่างหมดเปลือก แต่สิ่งที่น่าประทับใจกว่า คือการแลกเปลี่ยนความสุขซึ่งกันและกัน จนอาจเรียกว่าเป็นความผูกพันระยะสั้น หากได้กลับมาสังขละบุรีอีกก็คงคิดถึงเขาเป็นคนแรก

เวลาล่วงเลยถึงบ่ายแก่ๆ สายฝนในสังขละบุรียังขยันทำบรรยากาศตอนบ่ายกลายเป็นยามเย็นชวนฝัน ก่อนไปเกิดคร่ำครวญหันไปมองสะพานมอญอีกครั้ง

แวบหนึ่งเหมือนเห็นผู้หญิงผมเทาในชุดสีชมพูอ่อนเดินกลางเม็ดฝน เธอช่างสวยแปลกตา ก่อนที่ต้องละสายตามองขึ้นไปยังท้องฟ้า มันเป็นแสงแรกในสังขละบุรีที่ไม่แน่ใจว่าเป็นคำทักทายหรือคำบอกลา แล้วเมฆสีควันก็ปกคลุม