posttoday

‘บ้านฟ้าหยาด’ ฟื้นตำนานดอกไม้สวรรค์

16 มิถุนายน 2561

ชาวฟ้าหยาดร้อยมาลัยดอกมณฑารพ ได้ยินแบบนี้ทำให้จินตนาการถึงนางฟ้าเทวดาที่กำลังนั่งร้อยมาลัยอย่างอ่อนช้อยบนสรวงสวรรค์

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ

ชาวฟ้าหยาดร้อยมาลัยดอกมณฑารพ ได้ยินแบบนี้ทำให้จินตนาการถึงนางฟ้าเทวดาที่กำลังนั่งร้อยมาลัยอย่างอ่อนช้อยบนสรวงสวรรค์ แต่ความเป็นจริงคือกำลังพูดถึงชาวบ้าน ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ชุมชนต้นกำเนิด "มาลัยข้าวตอก" หนึ่งเดียวในไทย

ป่านนี้แล้ว งานบุญบั้งไฟอีสานน่าจะสิ้นสุดลงพร้อมสายฝนที่โปรยปรายลงมา โดยปิดท้ายอย่างยิ่งใหญ่ใน อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. กับบั้งไฟเอ้ลายศรีภูมิและลายกรรไกรตัดจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่สำหรับงานบุญบั้งไฟยโสธรนั้นจัดขึ้นไปแล้วก่อนหน้าในช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ชาวอีสานมีความเชื่อว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลปักดำทำนาจะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนบนฟากฟ้า เพื่อขอให้พญาแถนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งฝนได้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้สรรพสิ่งบนผืนโลกได้ดำเนินวิถีชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น

โดยเฉพาะผู้คนบนแผ่นดินอีสานที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำไร่ทำนา ต้องอาศัยข้าวและพืชผลทางการเกษตรในการหล่อเลี้ยงดำรงชีวิต น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ประเพณีจุดบั้งไฟจึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นความหวังและกำลังใจของชาวอีสานมาเนิ่นนาน

เมื่อวันเวลาผ่านไป งานประเพณีบุญบั้งไฟก็ถูกพัฒนาทั้งรูปแบบงานและรูปแบบบั้ง จากงานประเพณีบ้านๆ กลายเป็นงานประเพณีระดับจังหวัดที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาชมความเป็นอัตลักษณ์ของชาวอีสาน

ส่วนบั้งไฟที่เคยทำง่ายๆ ด้วยวัสดุธรรมชาติ ปัจจุบันทำจากท่อพีวีซีอัดด้วยดินปืนหรือดินดำ ติดตั้งระบบจีพีเอส และมีกลไกให้ร่มชูชีพกางเพื่อพยุงให้บั้งไฟค่อยๆ ตกลงมา ไม่สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนเหมือนแต่ก่อน

‘บ้านฟ้าหยาด’ ฟื้นตำนานดอกไม้สวรรค์ พิพิธภัณฑ์ข้าวตอกบนศาลาการเปรียญ วัดหอก่อง

รวมทั้งยังมีการแข่งขันบั้งไฟของแต่ละชุมชนในยโสธรว่า บั้งไฟของใครจะลอยล่องอยู่ในอากาศได้นานกว่ากัน กลายเป็นประเพณีแห่งความสนุกสนานและการประชันขันแข่ง แต่ก็ยังเปี่ยมด้วยความเชื่อความศรัทธาต่อพญาแถน

นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานประเพณีคือ ขบวนแห่ ยโสธรมีการจัดงานแห่บั้งไฟโบราณและขบวนนางรำสุดอลังการ ถึงขนาดว่าขบวนแรกรำผ่านหน้าคณะกรรมการไปตั้งแต่สิบโมงเช้า คล้อยบ่ายสามขบวนสุดท้ายยังไม่เคลื่อนตัว

บนบั้งไฟโบราณขนาดเท่ารถบรรทุกสิบล้อ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นข้าวตอกที่หน้าตาเหมือนข้าวโพดคั่วถูกนำไปแขวนประดับอยู่บนนั้น ซึ่งไม่ใช่แค่ความสวยงามที่สามารถหลอกตาว่าเป็นดอกพุดร้อยมาลัย มันยังมีเรื่องราวโยงใยไปถึงบ้านฟ้าหยาด แหล่งกำเนิดมาลัยข้าวตอก

ชุมชนบ้านฟ้าหยาดเป็นตำบลเล็กๆ ที่มีการจุดบั้งไฟเหมือนชุมชนอื่น แต่ที่นี่เป็นชุมชนเดียวที่มีงานประเพณี "แห่มาลัยข้าวตอก" บูชาพระพุทธเจ้าเนื่องในวันมาฆบูชา

แม่สุวรรณา ศิลาพล ชาวบ้านฟ้าหยาดและผู้สาธิตการทำมาลัยข้าวตอกที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน เล่าว่า ข้าวตอกทำขึ้นเพื่อทดแทนดอกมณฑารพ หรือดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ โดยทุกวันมาฆบูชาชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจนำข้าวตอกมาร้อยเป็นมาลัยพวงใหญ่เพื่อถวายพระพุทธเจ้า

“ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ” แม่สุวรรณา กล่าว

‘บ้านฟ้าหยาด’ ฟื้นตำนานดอกไม้สวรรค์ พวงดอกไม้สีชมพูตกแต่งมาลัยข้าวตอกให้สวยงาม

“พวกเราต้องใช้เวลาทำเกือบ 3 เดือนกว่าจะเสร็จ โดยขั้นตอนแรกคือ คั่วข้าวเปลือก ข้าวเปลือกต้องเป็นข้าวเหนียวนาปี ภาชนะสำหรับคั่วต้องใช้หม้อดินเพราะเก็บความร้อนได้พอประมาณ ไม่ทำให้ข้าวไหม้ ใส่ข้าวเปลือกครั้งละ 1 กำมือเท่านั้น เพราะถ้าใส่ลงไปพร้อมกันมากๆ ข้าวจะไม่แตก และใช้ก้านกล้วยเป็นอุปกรณ์ในการคั่ว เพราะทนต่อความร้อน

คั่วไปจนกว่าข้าวเปลือกเริ่มแตกตัวกลายเป็นข้าวตอก จากนั้นนำไปร่อนในกระด้งเพื่อกรองเปลือกข้าวออก ก็จะพร้อมนำไปร้อยเป็นมาลัย โดยจะเริ่มจากร้อยเป็นเส้นยาวประมาณ 1 เมตร แล้วค่อยนำไปขึ้นทรงและตัดต่อตามที่คิดไว้”

มาลัยข้าวตอกมี 2 ประเภท คือ มาลัยข้อ คือมีการร้อยเป็นข้อ เป็นปล้อง แลดูซับซ้อน และมาลัยสายฝน ลักษณะเป็นเส้นตรงยาวดูพลิ้วไหว สามารถเก็บได้นานเป็นแรมปีโดยไม่เหี่ยว ไม่เน่าเสีย และแมลงไม่กินด้วย แม่สุวรรณากล่าวต่อว่า แต่เดิมชาวบ้านฟ้าหยาดจะถวายข้าวตอกในช่วงวันพระหลังเสร็จฤดูกาลทำนา ในลักษณะนำข้าวตอกดอกไม้ใส่จานไปถวายพระสงฆ์ที่วัด แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นพวงมาลัยข้าวตอก จากพวงเล็กก็กลายเป็นพวงใหญ่สูงเป็นเมตรๆ เหมือนในปัจจุบัน

เมื่อชาวบ้านช่วยกันแห่ไปบูชาพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ ใน ต.ฟ้าหยาดเสร็จสิ้นแล้ว หลังวันมาฆบูชามาลัยข้าวตอกของแต่ละบ้านจะนำไปเก็บไว้บนศาลาการเปรียญของวัดหอก่อง ซึ่งถูกสถาปนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอกไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

มาลัยข้าวตอกสีขาวนวลลวดลายประณีตถูกแขวนไว้บนเพดานชั้น 2 ของศาลาการเปรียญ ภาพที่เห็นต้องใช้คำว่า สุดยอดอลังการ เพราะมาลัยในจินตนาการกลายเป็นมาลัยยักษ์ที่ยังเก็บรายละเอียดทุกฝีเข็ม ทึ่งกับปริมาณข้าวตอกจำนวนมหาศาลที่ถูกเรียงร้อยชิ้นต่อชิ้นด้วยมือของชาวบ้านฟ้าหยาด และการออกแบบให้มีลวดลายอ่อนช้อยประหนึ่งว่าข้าวตอกเหล่านั้นมีความยืดหยุ่น แต่แท้ที่จริงแสนจะเปราะกรอบและบอบบางที่สุด จึงยิ่งนับถือฝีมือและความมานะของชาวบ้าน

ขณะที่แม่สุวรรณากำลังสอนร้อยข้าวตอกอยู่นั้น ก็พลางเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกว่า เรื่องราวของดอกมณฑารพมีปรากฏในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร กล่าวคือ ดอกมณฑารพ เป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เวลาที่ดอกมณฑารพบานหรือร่วงหล่นต้องมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น นั่นคือ ดอกมณฑารพได้ร่วงหล่นมายังโลกมนุษย์ในเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ จตุรงคสันนิบาต และทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

‘บ้านฟ้าหยาด’ ฟื้นตำนานดอกไม้สวรรค์ ข้าวตอกมีลายสีดำจากข้าวสเหนียวดำ

ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ดอกมณฑารพก็ได้ร่วงหล่นมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเสมือนความเสียใจพิลาปรำพัน พระอรหันต์ทั้งหลายพร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนทั้งหลายจึงพากันมาถวายสักการะพระบรมศพ และได้เก็บดอกมณฑารพที่ร่วงหล่นเพื่อไปสักการะบูชาและรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ชาวบ้านฟ้าหยาดจึงได้เปรียบข้าวตอกเป็นดอกมณฑารพนำไปบูชาพระเนื่องในวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน กลายเป็นประเพณีที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชนลุ่มน้ำชีแห่งนี้ นอกจากนี้ บ้านฟ้าหยาดยังเปิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวให้นักเดินทางได้สัมผัสวิถีถิ่นอีสาน ได้เรียนรู้การทำมาลัยข้าวตอก ได้ชิมลอดช่องข้าวตอก และพักโฮมสเตย์นอนดูมาลัยข้าวตอกริมหน้าต่าง

ยโสธรยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด หนึ่งในนั้นคือ สถาปัตยกรรมคางคกสีแสดนาม วิมานพญาแถน หรือพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก ตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์พญานาคตัวเขื่องริมแม่น้ำทวน

พิพิธภัณฑ์พญาคันคากเป็นพิพิธภัณฑ์รูปคางคกมีความสูง 19 เมตร เท่ากับตึก 5 ชั้น เหตุที่ต้องเป็นคางคกนั้นเป็นเพราะชาวอีสานเชื่อว่า คางคกเป็นสัตว์ที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และมีตำนานที่เกี่ยวโยงกับประเพณีบุญบั้งไฟ

ตำนานเล่าว่า พญาคันคากเป็นพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นโอรสของกษัตริย์ เหตุที่ได้ชื่อว่า พญาคันคาก เพราะเมื่อครั้งประสูติมีรูปร่างผิวพรรณเหมือนคางคก หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า คันคาก และถึงแม้พระองค์จะมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่พระอินทร์ก็คอยช่วยเหลือ จนพญาคันคากเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน

เมื่อชาวบ้านลืมเซ่นบูชาพญาแถน พญาแถนจึงโกรธาและไม่ยอมปล่อยน้ำฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์ จึงเกิดเป็นศึกต่อสู้ระหว่างพญาคันคากและพญาแถนขึ้น โดยพญาคันคากได้นำทัพสรรพสัตว์ต่างขึ้นไปรบจนได้รับชัยชนะเหนือพญาแถน พญาแถนจึงปล่อยให้ฝนตกลงมาเช่นเดิม แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาเป็นประจำทุกปี จึงเป็นที่มาของประเพณีบุญบั้งไฟก่อนเริ่มต้นฤดูฝนนั่นเอง

‘บ้านฟ้าหยาด’ ฟื้นตำนานดอกไม้สวรรค์ นักท่องเที่ยวสวมชุดไทยเที่ยววัดหอก่อง

ภายในพิพิธภัณฑ์คันคากได้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับคางคกกว่า 500 สายพันธุ์ และมีการจัดฉายตำนานของประเพณีบุญบั้งไฟในรูปแบบภาพยนตร์ 4 มิติให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาประเพณีและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน ส่วนพิพิธภัณฑ์พญานาคก็ได้รวบรวมตำนานไว้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเชื่อความศรัทธาที่ชาวอีสานมีต่อแม่น้ำโขง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี (ดูแลพื้นที่อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ) ยังแนะนำด้วยว่า ในยโสธรมีเส้นทางที่น่าสนใจอื่นๆ อย่างเส้นทางเยือนชุมชนบ้านสิงห์ท่าค้นหาอดีตเมืองยโสธร นมัสการรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทยโสธร วัดอัครเทวดามิคาแอล บ้านซ่งแย้ ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์ที่สร้างด้วยไม้หลังใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และหมู่บ้านหัตถกรรมสำคัญของยโสธรที่บ้านศรีฐาน บ้านนาสะไมย์ บ้านทุ่งนางโอก แหล่งผลิตหมอนขวานผ้าขิด และงานจักสาน หนึ่งในเอกลักษณ์ของจังหวัดที่อยู่ในคำขวัญที่ว่า "เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ"

สอบถามการท่องเที่ยวบ้านฟ้าหยาด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงฟ้าหยาด โทร. 09-3183-4693 สอบถามการเดินทางและการท่องเที่ยวใน จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ โทร. 045-243-770, 045-250-714