posttoday

รถไฟท่องเที่ยวเมืองรอง โมเดล ‘คิวชู’ สู่ ‘พระนครศรีอยุธยา’

17 กุมภาพันธ์ 2561

การท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เป็นนโยบายที่รัฐบาลพยายามเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น

โดย อนัญญา มูลเพ็ญ ภาพ  : cruisetrain-sevenstars.com / worldsurprise.com

 การท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เป็นนโยบายที่รัฐบาลพยายามเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น ทำให้การลงทุนเพื่อพัฒนาเส้นทางการคมนาคมเพื่อให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวชุมชนนั้นก็ถูกเร่งรัดให้ดำเนินการเช่นกัน 

 โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ซึ่งเป็นการเดินทางที่ประหยัด ราคาถูกที่สุด หลายเส้นทางรัฐบาลได้สั่งการให้ขยับแผนการลงทุนให้เร็วขึ้น เช่นเส้นทางที่เชื่อมต่อจาก จ.ระยอง ไปยัง จันทบุรีและตราด เมื่อครั้งประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร)

รถไฟท่องเที่ยวเมืองรอง โมเดล ‘คิวชู’ สู่ ‘พระนครศรีอยุธยา’

 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลก็มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมปรับแผนให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้น เพื่อให้รับกับนโยบายที่จะผลักดันให้ภาคตะวันออกโดยเฉพาะ จ.จันทบุรีนั้นเป็นมหานครผลไม้ของโลก 

 นอกจากรถไฟทางคู่ที่วิ่งเป็นรถไฟโดยสารเข้าไปถึงพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง ส่วนหนึ่งที่จะมีการพัฒนาให้เกิดขึ้นและขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำไปบ้างแล้ว นั่นคือ “รถไฟเพื่อการท่องเที่ยว”  ที่รถไฟจะไม่ได้เป็นเพียงพาหนะเพื่อการโดยสาร แต่จะได้รับการออกแบบให้ผู้ใช้บริการได้สัมผัสทั้งบรรยากาศทั้งในห้องโดยสารและเรื่องราวระหว่างทางไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

สำรวจรถไฟหรูเพื่อการท่องเที่ยวจากทั่วโลก

 ประเทศไทยร่วมกับมาเลเซียและสิงคโปร์ ได้ร่วมกันทำรถไฟหรูเพื่อการท่องเที่ยว เดอะ อีสเทิร์น แอนด์ โอเรียนทัล เอ็กซ์เพรส (The Eastern & Oriental Express) รถไฟขบวนนี้ ให้บริการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเคเรตาปิทะนาห์มลายู (เคทีเอ็ม) เป็นรถไฟที่หรูหราราวกับโรงแรม 5 ดาว วิ่งจากสิงคโปร์มายังมาเลเซียและกรุงเทพฯ

 ขบวนรถไฟนี้มีตู้อาหาร 2 คัน ตู้บาร์ 2 คัน ตู้ชมวิวท้ายขบวน 1 คัน ตู้ห้องหนังสือ 1 คัน ตู้จัดเฉพาะอีก 1 คัน ที่เหลือเป็นตู้นอน ทั้งขบวนเป็นรถปรับอากาศทั้งหมดให้บริการครั้งแรกในปี 2538 โดยตู้โดยสารได้สั่งซื้อมาจากประเทศนิวซีแลนด์ แล้วได้ทำการปรับความกว้างล้อให้เหลือเพียง 1 เมตรเพื่อให้ใช้ในไทยได้

 บนขบวนรถจะแบ่งห้องพักออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.เพรสซิเดนเทรียล สูท (Presidential Suite) จะเป็นห้องขนาดใหญ่ มีเพียง 2-3 ห้องต่อ 1 ตู้โดยสาร จะมีห้องแต่งตัว โต๊ะเครื่องแป้ง และห้องอาบน้ำขนาดใหญ่ด้วย ราคาค่าโดยสารอยู่ประมาณ 1 แสนกว่าบาท

 2.สเตท คอมพาร์ตเมนต์ (State Compartment) เป็นห้องขนาดเล็กลงมา จะเป็นห้องเตียงคู่ มีห้องอาบน้ำในตัว ราคาค่าโดยสารอยู่ราวๆ 7-8 หมื่นบาท 3.สุพีเรีย คอมพาร์ตเมนต์ (Superior Compartment) เป็นห้องขนาดเล็ก เป็นห้องเตียง 2 ชั้นคล้ายตู้นอนชั้น 1 ของ รฟท. เพียงแต่จะมีห้องน้ำในตัวด้วย ราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 5 หมื่นบาท

 รถไฟขบวนพิเศษ เดอะ อีสเทิร์น แอนด์ โอเรียนทัล เอ็กซ์เพรส มีเดินในเมืองไทยสองรูปแบบ คือ สิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์-บัตเตอร์เวิร์ธ-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ  และเที่ยวกลับ อีกรูปแบบ คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ

 รถไฟขบวนนี้ติดอันดับขบวนรถไฟที่ดีที่สุดในโลก 25 อันดับแรก วิ่งระหว่างจุดผ่านรถไฟวูดแลนด์ กับสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หยุดตามสถานีรายทางสำคัญ ได้แก่ สถานีรถไฟกัวลาลัมเปอร์ สถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ และสถานีรถไฟกาญจนบุรี ตั้งแต่ปี 2550 ได้เปิดเส้นทางใหม่ระหว่างกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์

 กว่า 20 ปีที่รถไฟหรูเพื่อการท่องเที่ยวสายนี้ประสบความสำเร็จ ทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการเดินรถ รฟท. เล่าว่าเส้นทางที่กำลังจะเปิดให้ได้ใช้บริการกันเร็วๆ นี้คือเส้นทางกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา และจะมีการพัฒนาเส้นทางอื่นๆ ตามมา

รถไฟท่องเที่ยวเมืองรอง โมเดล ‘คิวชู’ สู่ ‘พระนครศรีอยุธยา’

 "จริงๆ แล้วรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่หลายภูมิภาคทั่วโลกได้มีการพัฒนาบริการไปไกล ทั้งยุโรป อเมริกา เอเชีย และมีบริการหลายระดับตั้งแต่ธรรมดา ไปจนถึงระดับรถไฟหรู (Luxury Trains) สำหรับรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวระดับนี้ใครอยู่ที่อยู่กรุงเทพฯ อาจจะเคยเห็นวิ่งผ่านตาบ้างก็อย่างเช่นสายเดอะ อีสเทิร์น แอนด์ โอเรียนทัล เอ็กซ์เพรส ที่วิ่งจากหัวลำโพงที่กรุงเทพฯ ผ่านมาเลเซียเข้าไปถึงสิงคโปร์ แต่น้อยคนจะเคยเห็นว่าข้างในรถไฟนั้นให้บริการอะไรบ้าง”

 สำหรับรถไฟหรูเพื่อการท่องเที่ยวของโลกที่โด่งดังและนักท่องเที่ยวอยากสัมผัสสักครั้งในชีวิต ก็มีเดอะ โอเรียนต์ เอ็กซ์เพรส (The Orient Express) รถไฟขบวนแรกที่วิ่งระหว่างตะวันตกและตะวันออก ผู้คนส่วนมากรู้จักรถไฟขบวนนี้จากนิยายชื่อดัง “Murder on the Orient Express” ของ อกาธา คริสตี้ ราคาตั๋วขั้นต่ำ  1,160 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.06 หมื่นบาท

 มหาราชา’ส เอ็กซ์เพรส (Maharajas’ Express) รถไฟหรูที่มีราคาค่าตั๋วแพงที่สุดในเอเชีย โดยถูกสร้างเลียนแบบให้เหมือนกับพระราชวังในอินเดีย และถูกปรับให้เหมาะกับการเดินทางระยะไกลได้ ราคาตั๋วขั้นต่ำ 6,840 ดาลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 239,400 บาท

 เดอะ โรวอส เรลส์ เอ็กซ์เพรส (The Rovos Rails Express) รถไฟหรูขบวนนี้ มีห้องพักพร้อมหน้าต่างบานใหญ่ ที่จะทำให้ผู้โดยสารได้ชมวิวทิวทัศน์ในแบบพาโนรามาของทวีปแอฟริกา ราคาตั๋วขั้นต่ำ 1,200 ดาลลาร์ หรือประมาณ 4.2 หมื่นบาท

 เดอะ บลู เทรน (The Blue Train) พาคุณชมความงดงามตามชายฝั่งตอนใต้ของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผู้โดยสารจะได้ชมสัตว์ป่าอย่าง ยีราฟ ละมั่ง ควายป่า และฝูงสัตว์ต่างๆ ในทุ่งหญ้าสะวันนา ราคาตั๋วขั้นต่ำ  740 ดาลลาร์ หรือประมาณ 2.59 หมื่นบาท

 เดอะ โกลเด้น อีเกิล เอ็กซ์เพรส (The Golden Eagle Express) มีราคาแพงที่สุดในโลก ภายในรถไฟแห่งนี้มีทั้งบาร์ พร้อมเปียโนและห้องสมุด โดยผู้โดยสารอยู่ในรถไฟขบวนนี้ตลอด 14 วันเต็ม เพื่อชมความงดงามในประเทศรัสเซีย ราคาตั๋วขั้นต่ำ 15,495 ดาลลาร์ หรือประมาณ 542,325 บาท

 เดอะ รอยัล สกอตสแมน (The Royal Scotsman) รถไฟหรูบรรยากาศสบายๆ ที่เดินทางไปรอบๆ สกอตแลนด์ ผู้โดยสารจะมีห้องพักหรู อาหารระดับพรีเมียม ดนตรีขับกล่อม พร้อมมีศูนย์สปาในขบวนรถไฟ ราคาตั๋วขั้นต่ำ 2,935 ดาลลาร์หรือประมาณ 102,725 บาท

 เดอะ โกลเด้น ชารอต (The Golden Chariot) หนึ่งในรถไฟที่สวยงามหรูหราที่สุดในโลก ถูกออกแบบมาให้เหมือนกับรถไฟบลู เอ็กซ์เพรส ที่เก่าแก่ของราชินีอังกฤษ ราคาตั๋วขั้นต่ำ 5,730 ดาลลาร์หรือประมาณ 200,550 บาท

 เดอะ อิมพีเรียล รัสเซีย (The Imperial Russia) หนึ่งในรถไฟที่แพงที่สุดและหรูหราที่สุดในรัสเซีย โดยจะออกเดินทางปีละหนึ่งครั้งไปตาม 3 เส้นทางในประเทศรัสเซีย ราคาตั๋วขั้นต่ำ 5,274 ดาลลาร์หรือประมาณ 184,590 บาท

 "เซเว่น สตาร์ส อิน คิวชู" รถไฟหรูโมเดลญี่ปุ่น

 ในโอกาสที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะไปเยือนจังหวัดฟูกุโอกะ จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคคิวชู ของญี่ปุ่น ตามคำเชิญของผู้ว่าราชการจังหวัดฟูกุโอกะ

 สถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานงานให้ทางคณะของรองนายกรัฐมนตรีและผู้ติดตามได้ไปศึกษาดูงานการดำเนินงานและให้บริการของ "เซเว่น สตาร์ส อิน คิวชู" (Seven Stars in Kyushu) รถไฟเพื่อการท่องเที่ยวระดับหรูเพียงสายเดียวของญี่ปุ่น

 แม้การเยี่ยมชมจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ราว 30 นาที แต่การได้เห็นของจริงและการให้ข้อมูลของทางทีมงานก็แสดงให้เห็นรายละเอียดการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มในบริการ จนยอมมีคนยอมจ่ายค่าบริการคืนละเป็นแสนเพื่อให้มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ที่รถไฟหรูสายนี้จะมอบให้

 เซเว่น สตาร์ส อิน คิวชู จะนำผู้โดยสารไปสัมผัสกับประสบการณ์และเรื่องราวประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ในภูมิภาคคิวชู ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะคิวชูทางตอนใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบนเกาะคิวชูนี้มีบริการรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ถึง 12 สาย แยกตามเรื่องราวของแต่เส้นทาง

 ที่สามารถมีหลายเส้นทางขนาดนี้ เพราะคนญี่ปุ่นนิยมใช้รถไฟเป็นพาหนะในการเดินทางอย่างมากทำให้ทางรถไฟถูกพัฒนาให้วิ่งไปถึงทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะห่างไกลแค่ไหนรถไฟจะเป็นความภูมิใจของทุกๆ เมือง กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการจัดเส้นทางการท่องเที่ยว แต่จากทั้งหมดนี้มีเพียง Seven Star in Kyushu ที่เป็นรถไฟหรู

รถไฟท่องเที่ยวเมืองรอง โมเดล ‘คิวชู’ สู่ ‘พระนครศรีอยุธยา’

 ประสบการณ์ที่ลูกค้าของ Seven Star in Kyushu จะได้สัมผัสนั้นเริ่มตั้งแต่การออกแบบขบวนรถไฟและชื่อ รถไฟสายนี้ได้รับออกแบบโดย “มิโตโอกะ เอจิ” (Mitooka Eiji) นักออกแบบด้านอุตสาหกรรมชื่อดัง เขาคนนี้ออกแบบรถไฟเกือบจะทั่วประเทศญี่ปุ่นก็ว่าได้ โดยภายในของโบกี้รถไฟได้รับการออกแบบด้วยไม้ และชื่อของ เซเว่น สตาร์ส นี้ไม่ได้ตั้งจากชื่อของบริษัทเพราะบริษัทผู้ดำเนินการ คือบริษัทคิวชู เรลเวย์ คอมพานี หรือ เจอาร์คิวชู (Kyushu Railway Company:JR Kyushu)

 แต่ เซเว่น สตาร์ส อิน คิวชู นี้มาจากจำนวนจังหวัดในภูมิภาคคิวชู ที่มีอยู่ทั้งหมด 7 จังหวัด คือ ฟูกุโอกะ(Fukuoka) ซะกะ (Saga) นางาซากิ (Nagasaki) คุมะโมโตะ (Kumamoto) (ใช่แล้วจังหวัดนี้เองที่มีเจ้าหมีตัวดำแก้มแดง “คุมะมง” ที่คนไทยรู้จักดีเป็นสัญลักษณ์ของเมือง) โออิตะ (Oita) มิยะซะกิ (Miyazaki) และคะโงะชิมะ (Kagoshima)

 และเสน่ห์ 7 อย่างของคิวชู คือ ธรรมชาติ อาหาร อนเซ็น วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จุดรับพลังด้านบวก(Power Spot) จิตวิญญาณที่อบอุ่น และการมีขบวนรถไฟชื่อดัง และรถไฟขบวนนี้ถูกออกแบบให้มีทั้งหมด 7 โบกี้

 ฮิโรยูกิ ฟุกุนากะ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป เจอาร์ คิวชู  ให้ข้อมูลกับเราว่า จากทั้ง 7 โบกี้นี้ โบกี้ที่1และ 2 จะเป็นพื้นที่ส่วนกลาง โบกี้ที่ 1 “บลู มูน" (Blue Moon) จะเป็นเลานจ์ที่ผู้โดยสารมาพบปะพูดคุย มีกิจกรรมต่างๆ ทั้งการบรรยายให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ฟังดนตรี ดื่ม และกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายอื่นๆ 

 โบกี้ที่ 2  “จูปิเตอร์" (Jupiter) จะเป็นครัวและห้องรับประทานอาหาร ส่วนโบกี้ที่ 3-7 เป็นห้องพัก แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกโบกี้ที่ 3-6 เป็นห้องสูท โบกี้จะมี 3 ห้อง พักได้ห้องละ 2 คน ส่วนโบกี้ที่ 7 จะเป็นส่วนของห้องสูท เดอลุกซ์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามีอยู่ 2 ห้อง สามารถพักได้ห้องละ 3 คน

 ในส่วนของราคานั้นจะเสนอเป็นแพ็กเกจ 2 แบบ คือ แบบ 2 วัน 1 คืน คิดราคาต่อคนเริ่มที่ 380,000-710,000 เยน/คน (คิดเป็นเงินไทยที่อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อ 100 เยน จะอยู่ที่ 114,000-213,000 บาท/คน) ขึ้นอยู่กับประเภทห้องและจำนวนคนพักต่อห้อง และอีกแบบคือแบบ 4 วัน 3 คืน ราคาเริ่มต้นที่ 680,000-1,550,000 เยน/คน (คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 204,000-465,000 บาท/คน) ขึ้นอยู่กับประเภทห้องและจำนวนผู้พักในห้องโดยราคาทั้งหมดนี้รวมการเดินทางทั้งไปกลับที่พัก อาหาร การท่องเที่ยวในแต่ละจุดไว้หมดแล้ว โดยต่อเที่ยวจะมีผู้โดยสารอย่างมากที่สุดคือ 30 คน

 แม้ราคาจะสูงลิ่วขนาดนี้แต่ ฟูกุนากะ บอกว่าตอนนี้ทุกโบกี้ถูกจองเต็มไปจนถึงปลายปี และตั้งแต่ปี 2013 ที่เปิดให้บริการเป็นต้นมา ก็มีคนไทยมาท่องเที่ยวโดยรถไฟขบวนนี้ไม่น้อยรวบรวมข้อมูลได้ 230 คน และมีบางครั้งที่เป็นการเหมาทั้งขบวนเลยทีเดียว (ผู้อ่านคงอยากรู้ว่าเศรษฐีผู้นั้นคือใครกัน ผู้เขียนก็อยากรู้ แต่น่าเสียดายค่ะเขาไม่เปิดเผยข้อมูลลูกค้า)

รถไฟท่องเที่ยวเมืองรอง โมเดล ‘คิวชู’ สู่ ‘พระนครศรีอยุธยา’

 ตลอดเส้นทางที่ออกจากสถานีฮากาตะ (Hakata Station) ในฟูกุโอกะ ผ่านไปยังเมืองต่างๆ นอกจากการได้ชมวิวทิวทัศน์ 2 ข้างทางที่รถไฟวิ่งผ่าน ตลอดระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร จะมีการบรรยายให้ผู้โดยสารรู้จักกับรายละเอียดการออกแบบตัวรถไฟโดยเฉพาะงานศิลปะ ที่ตกแต่งบนรถทุกชิ้นล้วนออกแบบและวาดโดยศิลปินแห่งชาติของญี่ปุน โดยบางทริปจะมีการจัดศิลปินขึ้นมาสอนให้ผู้โดยสารปั้น แกะสลัก หรือวาดภาพขึ้นอยู่กับการออกแบบแต่ละทริป และจะมีการแวะจอดในสถานีที่เป็นจุดท่องเที่ยว มีรถโค้ชรับผู้โดยสารไปยังจุดท่องเที่ยวสำคัญมีการบรรยายให้รู้จักประวัติศาสตร์ความเป็นมา

 ความพิเศษของสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง บางแห่งเป็นชุมชนเก่าแก่ ศาลเจ้า แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และบางจุดมีการลงไปซื้อสินค้าที่ระลึก รวมถึงวัตถุดิบเพื่อการประกอบอาหารจากชุมชนเป็นการกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง

 ฟุกุนากะ อธิบายให้ฟังว่า กุญแจสำคัญที่ทำให้ เซเว่น สตาร์ส อิน คิวชู ประสบความสำเร็จ คือการสนับสนุนของชุมชนที่รถไฟวิ่งผ่านและจอดแวะทำกิจกรรม เพราะทุกจุดที่ลงไปนั้น หาได้ใช่สิ่งที่ทำขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการเข้าไปสัมผัสกับวิถีชุมชนและผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น และเป้าหมายของการเดินรถสายนี้ไม่ได้อยู่ที่กำไรสูงสุด เพราะในปัจจุบันไม่ได้ทำกำไรมาก แต่สามารถหล่อเลี้ยงการดำเนินงานไม่ให้ขาดทุน แต่เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การแนะนำให้นักท่องเที่ยวรู้จักภูมิภาคคิวชูที่เขาภูมิใจ

 ได้เห็น ได้ยินเรื่องราวรถไฟท่องเที่ยวของญี่ปุ่นแล้ว หลายคนคงอยากเห็นรถไฟท่องเที่ยวเกิดขึ้นในเมืองไทยหลายๆ เส้นทาง เพราะแม้เมืองไทยเราไม่ใช่ประเทศใหญ่โตแต่ก็มีเรื่องราวมากมายให้ไปค้นหา ไม่ต้องขนาดรถไฟหรูแบบ เซเว่น สตาร์ส อิน คิวชู แต่ขอแบบธรรมดา ได้ความรู้ ปลอดภัย สบายใจไทยแลนด์ก็เพียงพอแล้ว