posttoday

หัวใจแห่งทะเล

04 กุมภาพันธ์ 2561

ร้านอาหารอร่อยในเชจูมีอยู่มากมาย แต่ในเมื่อเราเป็นนักชิมต่างถิ่น

โดย ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย [email protected]

ร้านอาหารอร่อยในเชจูมีอยู่มากมาย แต่ในเมื่อเราเป็นนักชิมต่างถิ่น ก็ควรจะลองสัมผัสกับร้านที่คนท้องถิ่นนิยมไปรับประทาน แม้ว่าความอร่อยของเขากับของเรานั้นอาจจะแตกต่างกัน ร้านหนึ่งที่ได้คนท้องถิ่นแนะนำมา และทำให้พวกเราขวนขวายไปหาหลังจากที่เที่ยวชมตลาดแล้ว เป็นร้านเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ตลาด “ซอ-ควีโพ” ซึ่งมีชื่อที่เก๋ไก๋ทีเดียวว่า “พาดา-อึย-มาอึม” &*8148;&*5796;&o1032;&*7560;&o1020; หรือ “หัวใจแห่งทะเล”

อยู่มาจนถึงวันนี้แล้ว รสชาติของอาหารอร่อยกลายเป็นกิเลสที่ตัดได้ยากยิ่ง เมื่อได้ยินชื่อที่มีความหมายเพราะพริ้ง เช่น “หัวใจแห่งทะเล” จึงทำให้เกิดความใคร่รู้ เมื่อเราไปถึงก็พบว่าสถานที่ไม่ได้หรูหรา ไม่ได้มีทิวทัศน์สวยงาม แถมยังอยู่ในตึกแถว ทว่ามีคนท้องถิ่นนั่งอยู่หลายโต๊ะจึงค่อยเชื่อมั่นขึ้นมา อีกครั้งหนึ่งที่ต้องเลือกระหว่างปลาย่างกับอาหารชุดปลาดิบ เพื่อนๆ นักข่าวชาวมุสลิม เช่น มาเลเซีย อียิปต์ อินโดนีเซีย ที่มีความเจาะจงต้องทานอาหารที่ปรุงแบบฮาลาล จึงสั่งปลาย่าง ถึงแม้ว่าร้านยังไม่มีตรารับรองฮาลาล แต่ก็คิดว่าน่าจะใกล้เคียงที่สุด ส่วนคนที่ไม่ได้มีข้อบังคับทางศาสนาจึงเลือกชุดปลาดิบ

หัวใจแห่งทะเล

เรื่องร้านอาหารฮาลาลกับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมนี้ เมืองท่องเที่ยวทั้งหลายควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว เคยเจอชาวมุสลิมที่มีความเคร่งครัดมาก เมื่อเดินทางพวกเขารับประทานได้แต่ผลไม้แทนอาหาร น่าสงสารมาก ปัจจุบันนี้ ร้านอาหารที่มีตรารับรองฮาลาลในเกาะเชจูมีไม่กี่ร้าน ทางผู้บริหารเมืองจึงวางแผนส่งเสริมพัฒนาร้านอาหารฮาลาล เพราะกำลังมุ่งเป้านักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มมีกำลังซื้อสูงและเป็นตลาดใหญ่มาก แต่สิ่งที่ขาดคือสถาบันฝึกอบรมและผู้ให้การรับรองฮาลาล ซึ่งอาจต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามา หากใครอยู่ในวงการนี้และมีความสามารถในการส่งเสริมพัฒนามาตรฐานฮาลาล ก็ส่งโครงการเสนอไปให้ฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวของศาลาว่าการเมืองเชจูได้ค่ะ 

หัวใจแห่งทะเล

วันนี้เราจะไม่พูดถึงชุดปลาย่างนะคะ เพราะได้เล่าความดีงามของปลาย่างแห่งเกาะเชจูไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน ชุดปลาดิบของเกาหลีกับญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันเล็กน้อยที่ซอสจิ้ม ปลาดิบรับประทานแบบเกาหลีแท้ๆ จะจิ้มซอสพริกแดง แต่ก็มีวาซาบิและโชยุให้บริการด้วย อาหารมีความสดอยู่ในระดับต้นๆ ไม่ผิดหวังเลยค่ะ เราสั่งชุด 4 คน จึงได้ชุดใหญ่โดยมีจานเริ่มต้นเป็นของสุก ได้แก่ ล็อบสเตอร์อบเนย ซุปข้าวโพด ตามมาด้วย “พันชัน” จานเล็กจานน้อยต่างๆ เช่น ปูดองซีอิ๊วที่กำลังฮิตฮอตในเมืองไทย เห็นว่ามีคนทำปูดองสไตล์เกาหลีแบบนี้ขายออนไลน์ในกรุงเทพฯ เป็นล่ำเป็นสัน ขายดีจนนับเงินไม่ทันเลยทีเดียว หากต้องการสูตรส่งอีเมลมาขอได้ค่ะ

อาหารเริ่มทยอยมาเรื่อยๆ มีทั้งหอยเป๋าฮื้อย่างบนเตาเล็กๆ ซึ่งผู้ร่วมวงสำรับได้แก่เกาหลี 2 ไทย 1 ได้ยกให้เพื่อนชาวอินเดียรับประทานคนเดียว เนื่องจากที่อินเดียหารับประทานยากมาก เพื่อนคนนี้เป็นนักข่าวสายการเมืองและเป็นชาวฮินดู อาหารการกินที่บ้านตามความเชื่อในศาสนาของเขาจึงเป็นมังสวิรัติ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงเกาหลีก็รับประทานทุกอย่างอย่างเอร็ดอร่อย เขาบอกว่าที่จริงเขาอยากมีอิสระในการตัดสินใจนับถือศาสนาหรือปฏิบัติตัวอย่างไร อยากทดลองสิ่งใหม่ๆ ทว่าเขาเลือกไม่ได้ เพราะเป็นจารีตในสังคมทั่วอินเดีย และการปฏิบัติของครอบครัวที่ต้องเดินตามทางที่พ่อแม่กำหนด หากเลือกได้และมีโอกาสจะขอทำงานอยู่ในเกาหลีซะเลย! นับว่าเราโชคดีมากที่จารีตของสังคมเมืองไทยปัจจุบันให้อิสระแก่พวกเราในการตัดสินใจเองว่าเราจะเป็นใคร นับถือศาสนาอะไร

หัวใจแห่งทะเล

และแล้วอาหารจานหลักก็มา เป็นปลากะพงดิบเนื้อขาวจานใหญ่มาก และจานทะเลรวมที่มีปลาดิบชนิดอื่นๆ และหอยหลากหลาย เช่น หอยนางรม หอยสังข์ หอยโซร่า กุ้ง และ “มองเก้” บางอย่างต้องจิ้มโชยุวาซาบิ แต่บางอย่างต้องจิ้มซอสพริกแดง ปลาดิบต่างๆ ทุกคนรับประทานอย่างอร่อยมาก แต่ “มองเก้” ในชุดนี้นายอินเดียขอผ่าน “มองเก้” เป็นอาหารจานแปลกที่อยากชวนให้ชิม แต่เกรงว่าแทนที่จะได้ดอกไม้จากผู้อ่านอาจได้ก้อนหินปาใส่แทน เพราะมันมีรสชาติที่แปลกประหลาดขมขื่น อีกทั้งกลิ่นก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนอะไรที่เราเคยรับประทานมาก่อน หลายสิบปีก่อนมองเก้มีขายดาษดื่นในตลาด แม้ในกรุงโซลก็หาทานได้ไม่ยาก ทว่าปัจจุบันนี้ต้องมาถึงแหล่งจึงจะพอหาได้    

“มองเก้” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Sea Pineapple (สับปะรดทะเล) ที่จริงเป็นสัตว์ทะเลที่รับประทานได้ อยู่ในตระกูลเดียวกับ “เพรียงหัวหอม” (Sea Squirts) รูปร่างกลมคล้ายสับปะรด เมื่อถูกสัมผัสจะปล่อยน้ำออกจากตัว มีกลิ่นฉุน มีขนาดตั้งแต่เล็กไม่กี่เซนติเมตรจนถึงใหญ่ราวผลส้ม อาศัยเกาะกับวัตถุใต้น้ำ อยู่แบบเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มก็ได้ พบตามเขตน้ำตื้น แนวปะการัง โขดหิน ทราย ซึ่งเป็นสภาพภูมิประเทศใต้น้ำของเกาะเชจู การสืบพันธุ์มีทั้งแบบอาศัยเพศที่ปฏิสนธิภายนอก และแบบไม่อาศัยเพศโดยการแตกหน่อ ชาวเกาหลีนิยมเอามาใส่ซุปเผ็ดร้อน หรือทานเนื้อในแบบสดๆ ครั้งแรกที่ลองชิมแทบจะทนไม่ไหว แต่เมื่อชินแล้วก็เริ่มอร่อย คงเหมือนฝรั่งที่ได้รับประทานทุเรียนเป็นครั้งแรกละค่ะ

(อ่านต่อฉบับหน้า)