posttoday

ล่า 'นางพญาเสือโคร่ง'

03 กุมภาพันธ์ 2561

เชียงใหม่กำลังกลายเป็นสีชมพู เป็นที่รู้กันว่าถึงฤดูล่า “พญาเสือโคร่ง”

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

 เชียงใหม่กำลังกลายเป็นสีชมพู เป็นที่รู้กันว่าถึงฤดูล่า “พญาเสือโคร่ง” พืชดอกในสกุลพรูนัสที่ชูช่อออกดอกเดือน ม.ค.-ก.พ.สะพรั่งบนภูเขาสูง 1,200-2,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบหลายแห่งในไทย อย่าง ภูลมโล จ.เลย ขุนสถาน จ.น่าน แม่สลอง จ.เชียงราย ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก และอีกหลายดอยใน จ.เชียงใหม่

 กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักล่า ที่พร้อมลั่นชัตเตอร์ก่อนถึงเวลาร่วงโรย ซึ่งอีกไม่นาน

ล่า 'นางพญาเสือโคร่ง' 04 ศาลาชมวิวเป็นสัญลักษณ์ของขุนวาง

วางใจที่ขุนวาง

 แหล่งปลูกนางพญาเสือโคร่งจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยอยู่ที่ “ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)” อยู่ในวงล้อมของแนวเทือกเขาอินทนนท์ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,300-1,400 เมตร ทำให้มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี

 ที่นี่จึงเป็นสถานที่ศึกษาและวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเมืองหนาว ได้แก่ แมกคาเดเมีย ชา กาแฟอราบิกา เกาลัดจีน บ๊วย ท้อ เนคทารีน สตรอเบอร์รี่ แพสชั่นฟรุต พลัม พลับ สาลี่ มันฝรั่ง พืชผัก และไม้ดอกเมืองหนาวหลายชนิด เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป

 นางเอกในเดือน ม.ค.คงหนีไม่พ้น “อุโมงค์นางพญาเสือโคร่ง” ที่เรียงรายหลายสิบต้นขนานไปกับทิวสนที่ยิ่งขับให้สีชมพูนั้นโดดเด่นเมื่ออยู่เคียงกัน

ล่า 'นางพญาเสือโคร่ง' 01 นางพญาฯ บนหน่วยพิทักษ์ดอยผาตั้ง

 ความสวยงามของซุ้มดอกไม้ตามธรรมชาติดึงดูดให้หนุ่มสาว เจ้าบ่าวเจ้าสาว บัณฑิตจบใหม่ ช่างภาพ และคนทุกรุ่นทุกวัยเดินทางมาพบกันโดยไม่ได้นัดหมาย

 เรียกได้ว่าเจ้าดอกสีชมพูกระจิริดสามารถสร้างความคึกคักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี และถือเป็นโอกาสอันดีที่คนต่างถิ่นจะได้ศึกษาธรรมชาติของไม้เมืองหนาวชนิดอื่นๆ คู่กันไป

 ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านขุนวางในปี 2523 ทรงทอดพระเนตรเห็นท้องทุ่งว่ามีการปลูกฝิ่นจำนวนมาก พระองค์จึงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้ท้องทุ่งแห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อปลูกทดแทนฝิ่นและส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกร

 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ขุนวางก็กลายเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผลทางการเกษตร และเป็นโรงเรียนสอนวิชาเกษตรแก่ประชาชนทั่วภาคเหนือ

 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)” โพสต์อัพเดทว่า “ดอกนางพญาเสือโคร่งร่วงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าไม่เกิน 7 วัน ใบจะเต็มต้น” นั่นหมายความว่า ชั่วโมงสีชมพูจะจากไปอีกวันสองวันนี้ หลังชูช่อเผยโฉมงามที่สุดไปเมื่อสัปดาห์ที่สองของเดือน ม.ค.

 นอกจากนี้ ดอกพญาเสือโคร่งบนขุนวาง ยังมีให้ชมที่โรงเรียนบ้านขุนกลาง ตีนดอยก่อนขึ้นศูนย์วิจัยฯ โดยจุดนี้อาจต้องระวังรถรา เพราะมันเรียงรายอยู่ริมถนนข้างรั้วโรงเรียน ซึ่งจะให้อารมณ์ต่างออกไปด้วยภาพเด็กนักเรียนวิ่งไล่จับเป็นฉากหลังแทนทิวสน

 ศูนย์วิจัยฯ ใช้สโลแกนว่า “วางใจ...ที่ขุนวาง” คำแรกนั้นไม่ได้สื่อความหมายถึงความไว้วางใจ แต่เป็นการวางหัวใจปล่อยไว้กับธรรมชาติ และไม่ใช่แค่เดือน ม.ค.ที่ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบาน เพราะทุกคนสามารถหิ้วใจมาวางได้ตลอดปี

ม่อนน้องแกะ จอมแทะเล็ม

ล่า 'นางพญาเสือโคร่ง' 02 ชมความงามของนางพญาเสือโคร่ง

 อย่าให้น้องแกะเห็นหญ้าในมือคุณ เพราะคุณจะถูกรุมแทะเล็มอย่างรวดเร็ว กลายเป็นภาพสุดน่ารักเรียกเสียงฮาได้ทุกครั้งที่เห็น ถึงแม้มันจะไม่มีขนสีขาวฟูฟ่องเหมือนในการ์ตูน แต่ก็แสนรู้และซุกซนเหมือนสัตว์เลี้ยง

 ฟาร์มแกะนี้เป็นของโครงการหลวงสถานีหน่วยย่อยผาตั้ง หน่วยพิทักษ์ดอยผาตั้ง ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีชื่อเล่นว่า ม่อนน้องแกะ ตั้งอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,480 เมตร เป็นฟาร์มที่ปล่อยให้แกะกว่าร้อยตัวเดินแทะเล็มหญ้าอย่างอิสระ ท่ามกลางธรรมชาติบนขุนเขาที่ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ต่างประเทศ

 บริเวณใกล้กับม่อนน้องแกะ ณ พระตำหนักดอยผาตั้ง ยังเป็นจุดชมนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งที่คนยังไม่รู้จักมากนัก จึงลั่นชัตเตอร์ได้แบบไม่ต้องรอจังหวะ และสามารถใช้เวลาส่องเลนส์มาโครเก็บหยาดน้ำค้างบนกลีบดอกทั้งห้านานเท่าไรก็ได้

 พระตำหนักดอยผาตั้ง เป็นบ้านไม้หลังใหญ่หนึ่งชั้น รูปทรงชาเลต์ มีสวนดอกไม้ที่ถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย สร้างเพื่อเป็นเรือนประทับของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งมีการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานพัฒนาบนดอยอินทนนท์และพื้นที่ใกล้เคียง

 แม้หน่วยพิทักษ์ดอยผาตั้งจะมีนางพญาเสือโคร่งไม่แน่นเหมือนขุนวาง แต่จำนวนคนน้อยกว่าและมีน้องแกะเป็นสีสันเพิ่มเข้ามา จึงคาดว่าน่าจะเป็นหมุดหมายใหม่ของนักล่านางพญาฯ ในปีหน้าแน่นอน

ขุนเขาสีชมพู ขุนช่างเคี่ยน

 ประชากรนักท่องเที่ยวบนขุนช่างเคี่ยนหนาแน่นจนน่าตกใจ เพราะถนนหนทางและคดโค้งที่ต้องฝ่าขึ้นไปไม่ง่ายเลย พ่อค้าขายไอศกรีมที่ขึ้นไปขายความเย็นบนขุนช่างเคี่ยนตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.รายงานว่า ขณะนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งบนขุนช่างเคี่ยนไม่สวยเท่าที่ผ่านมา กิ่งก้านเริ่มมีใบแซมดอกทำให้มองเป็นพุ่มสีเหลืองผสมเขียวอ่อนมากกว่าสีชมพูบานเย็น

 ขุนช่างเคี่ยนมีชื่อเต็มว่า “สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน” ตั้งอยู่เหนือดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และหมู่บ้านม้งดอยปุย เป็นสถานีวิจัยเกษตรที่สูงของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์กาแฟ ท้อ พลับ บ๊วย พลัม อโวคาโด แมกคาเดเมีย และไม้ผลกึ่งร้อนอย่างลิ้นจี่

ล่า 'นางพญาเสือโคร่ง' 03 ใบอ่อนแซมดอกชมพูกลายเป็นอุโมงค์สีผสมสวยงาม

 รวมถึงไม้ดอกนางพญาเสือโคร่ง ทั้งที่ปลูกเพื่อวิจัยและที่เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงทำให้ขุนช่างเคี่ยนอาบสีชมพูทั้งขุนเขา ประกอบกับไม้ดอกเมืองหนาวชนิดอื่นที่ผลิดอกเวลาเดียวกัน ช่วยเพิ่มสีสันให้ธรรมชาติมีชีวิตชีวาน่าชื่นใจ

 เส้นทางไปยังขุนช่างเคี่ยนใช้เส้นทางเดียวกับดอยสุเทพและดอยปุย โดยถนนจะแปรสภาพเป็นทางดิน ขนาดแคบลง และค่อยๆ ชันขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความสูง ดังนั้นผู้ที่ไม่ชำนาญทางหรือขับรถเก๋งมา แนะนำให้จอดรถไว้ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ แล้วเหมาสองแถวแดงขึ้นไปจะสะดวกและปลอดภัยกว่า หรือจะโบกรถแดงตั้งแต่ในตัวเมืองก็เป็นอีกทางเลือก สนนราคาไป-กลับคนละ 400 บาทถ้วน

 เข้าสู่สัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.เป็นสัญญาณว่าฤดูกาลล่านางพญาเสือโคร่งใกล้หมดลง แต่ใช่ว่าฤดูกาลท่องเที่ยวภาคเหนือจะจบลง เพราะบนยอดดอยยังมีความหนาวเย็นและดอกไม้อีกหลายชนิดให้ไปชม

 ไม่ว่าจะไปซ้ำกี่ครั้งกี่หน รับรองได้ว่าธรรมชาติไม่เคยเหมือนเดิมสักครั้งเดียว

............ล้อมกรอบ............

 ติดต่อสอบถามศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) โทร 053-114-133-6 และเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

 สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวและเส้นทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ โทร.053-248-604, 053-248-607, 053-248-605 และติดตามข่าวสารการท่องเที่ยวในภาคเหนือได้ที่เว็บไซต์ www.gonorththailand.com

...........ใต้ภาพ..........

00 (รูปเปิด) อุโมงค์นางพญาเสือโคร่งที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

01 นางพญาฯ บนหน่วยพิทักษ์ดอยผาตั้ง

02 ชมความงามของนางพญาเสือโคร่ง

03 ใบอ่อนแซมดอกชมพูกลายเป็นอุโมงค์สีผสมสวยงาม

04 ศาลาชมวิวเป็นสัญลักษณ์ของขุนวาง

05 นักท่องเที่ยวรุมถ่ายภาพนางพญาเสือโคร่งหน้าโรงเรียนบ้านขุนกลาง

06 ทุ่งดอกไม้บริเวณทางเข้าศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

07 สมฤดี จิตรจง ผู้อำนวยการ ททท. ภูมิภาคภาคเหนือ ให้อาหารน้องแกะ

08 นักท่องเที่ยวยกมือถือถ่ายภาพนางพญาเสือโคร่งบนขุนช่างเคี่ยน

09 ซากุระบนสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

10 ม่อนน้องแกะ

11 นางพญาเสือโคร่งเริ่มร่วงโรยบนขุนช่างเคี่ยน

12 ชาวม้งลงมาขายสตรอเบอร์รี่ให้นักท่องเที่ยวถังละ 300 บาท

13 ช่วงเวลาสุดท้ายของฤดูกาลล่า

14 ทิวแถวนางพญาเสือโคร่งริมรั้วโรงเรียนบ้านขุนกลาง

15 สีชมพูที่หลงเหลืออยู่บนขุนช่างเคี่ยน

16 ผืนนางพญาเสือโคร่งที่ขึ้นตามธรรมชาติ

17 ดอกบ๊วยบนกิ่งไร้ใบ

18 นักท่องเที่ยวหนาแน่นบนขุนช่างเคี่ยน