posttoday

‘เพชรบูรณ์’ ไม่เหมือนเดิม

20 มกราคม 2561

เวลาขับรถผ่านเพชรบูรณ์จะคิดถึงสองอย่าง อย่างแรกคือ ไก่ย่างวิเชียรบุรี ที่มีมากมายหลายเจ้าให้แวะรับประทานก่อนขับรถขึ้นเหนือ

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

 เวลาขับรถผ่านเพชรบูรณ์จะคิดถึงสองอย่าง อย่างแรกคือ ไก่ย่างวิเชียรบุรี ที่มีมากมายหลายเจ้าให้แวะรับประทานก่อนขับรถขึ้นเหนือ

 อย่างสองคือ มะขามหวาน ที่โด่งดังจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ถึงขนาดสร้างประติมากรรมมะขามหวานพันธุ์หมื่นจง ฝักโค้งผอมสีทองอร่ามเป็นจุดถ่ายรูปของนักท่องเที่ยว

 มันเป็นสองอย่างที่คุณจะเจอถ้าเพียงขับรถผ่าน แต่ถ้าตัดสินใจเลี้ยวเข้าตัวเมือง และตั้งใจมาเที่ยวเพชรบูรณ์สัก 3 วัน 2 คืน คุณจะแทบลืมสองอย่างที่คิดว่าเป็นทั้งหมดของจังหวัดนี้ไปเลย

 ความพยายามที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในตัวเมือง ก่อนหรือหลังไปเยือนเขาค้อ หรืออุทยานแห่งชาติน้ำหนาว หรือเตลิดขึ้นเหนือ เป็นภาระหนักอึ้งของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์

 การผุดไอเดีย “14 จุดสุดประทับใจ เที่ยวในเพชรบูรณ์” หวังให้ใครก็ตามที่ผ่านตัวเมืองได้แวะเวียนเข้าไปสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยได้กำหนดเส้นทาง 14 จุดที่สามารถขับรถเที่ยวเองหรือจะเลือกใช้บริการนั่งรถรางก็สามารถเช่นกัน พร้อมแผ่นพับเล่ารายละเอียดของแต่ละสถานที่โดยสังเขป

‘เพชรบูรณ์’ ไม่เหมือนเดิม 01 ปูนปั้นรูปคนแคระประดับโบราณสถานเขาคลังใน

 

 แต่เมื่อกางออกมาอ่านชื่อสถานที่ทั้งหมดครบถ้วน มีโอกาสสูง (มาก) ที่คุณจะพับแผ่นกลับแล้ววางไว้ที่เดิม ขอยกตัวอย่าง หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ หรือหอภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านเพชรบูรณ์ ประกอบกับภาพอาคารคล้ายสถานที่ราชการ

 มันเกินกว่าใครจะคิดถึงว่า “มีสิ่งเจ๋งๆ อยู่จริง”

 ปัญหาจึงอยู่ที่ความประทับใจแรก ซึ่งยากแท้ที่จะทำให้เกิดขึ้นฉับพลันบนหน้าแผ่นพับ การท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่รู้จักจึงต้องอาศัยการบอกปากต่อปากเหมือนที่กำลังทำอยู่นี้

ไม่แพ้มิวเซียมเมืองกรุง

 ของดีและฟรีมีอยู่จริง ไม่ใช่คำโฆษณาเกินจริงสำหรับ “หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย” ที่ได้ปรับปรุงศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์หลังเก่าให้เป็นสถานที่ที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ พิพิธภัณฑ์

 ความเจ๋งของที่นี่คือ ห้องนิทรรศการถาวรที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ไม่น่าเบื่อ มีสื่อโต้ตอบกับผู้ชม และมีการดีไซน์แต่ละห้องอย่างน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เจ๋งจริง แต่น่าเสียดายเพราะแม้คนเมืองเพชรฯ เองก็ยังไม่ทราบว่ามีของดีและฟรีอยู่ใกล้ตัว

 การจัดแสดงเริ่มตั้งแต่เรื่องราวของเมืองเพชรบูรณ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไปจนถึงยุคศรีเทพ สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ และยุคร่วมสมัย แต่ละยุคมีลูกเล่นให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและมีมุมให้ถ่ายรูปเสมอ

 รวมถึงเรื่องราวประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่หยิบยกไฮไลต์ออกมาและถอดความหมายให้กลายเป็นเรื่องสนุกจนเผลอตัวอ่านข้อมูลอยู่นาน

 สำหรับชื่อเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย เป็นพระนามของเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสอันดับที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

‘เพชรบูรณ์’ ไม่เหมือนเดิม 02 เขาคลังนอก

 

 นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ หมายความว่า ถูกต้องแล้วที่จะเริ่มจุดแรกที่หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยเพื่อขอรับข้อมูลเส้นทางไปยังอีก 13 จุดที่เหลือ รวมทั้งยังเป็นจุดสตาร์ทรถรางชมเมืองที่ให้บริการฟรีด้วย

 การอนุรักษ์อาคารเก่าโดยเปลี่ยนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ยังเกิดขึ้นอีกหลายแห่งทั้ง “หอภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านเพชรบูรณ์” อดีตอาคารสำนักงานกาชาดในสวนสาธารณะเพชรบุระ (อ่านว่า เพ-ชะ-บุ-ระ) ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของเพชรบูรณ์ ตามที่ปรากฏในจารึกบนใบลานทองคำที่ค้นพบในกรุเจดีย์

 ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการทำมาหากิน และอาชีพดั้งเดิมของคนเพชรบูรณ์จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มะขามหวาน ใบยาสูบ หาของป่า และวิถีชีวิตริมแม่น้ำป่าสัก เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กแต่น่ารักและทำให้เข้าใจวิถีชีวิตชาวเพชรบูรณ์ว่ามีมากกว่ามะขามหวาน

 “หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์” อีกหนึ่งสถานที่ที่ได้ปรับปรุงศาลาประชาคมจังหวัดเดิมให้เป็นอาคารรวบรวมจัดแสดงเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และคิดค้นองค์ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนาด้านวัฒนธรรม โดยอาคารแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ห้องประชุมสำหรับจัดกิจกรรมการแสดง ห้องโถงสำหรับจัดนิทรรศการ และลานกิจกรรมกลางแจ้ง

 “หอเกียรติยศเพชรบุระ” เดิมเป็นที่ตั้งของจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นหอเกียรติยศรวบรวมประวัติบุคคลสำคัญของเพชรบูรณ์ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การพัฒนาสังคม และผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัด โดยตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเพชรบุระ

 รวมถึงสถานที่เก่าแก่อย่าง “หอนิทรรศน์กำแพงเมืองเพชรบูรณ์และกำแพงเมือง” โดยได้สร้างพิพิธภัณฑ์ไว้ในป้อมปราการเก่า ซึ่งเชื่อมต่อกับกำแพงเมืองก่ออิฐถือปูน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยกลางกรุงศรีอยุธยา มีรูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 500 เมตร มีป้อมปราการ 4 ป้อม ได้แก่ ป้อมศาลเจ้าพ่อ ป้อมศาลเจ้าแม่ ป้อมหลักเมือง และป้อมสนามชัย

 ที่ตั้งของหอนิทรรศน์กำแพงเมืองเพชรบูรณ์ พิพิธภัณฑ์ที่แสดงรายละเอียดการสร้างกำแพงเมืองโบราณของเพชรบูรณ์ 2 ยุคสมัย คือ สุโขทัย และพระนครศรีอยุธยา ข้อมูลเกี่ยวกับวัดโบราณ ตำนานพื้นบ้าน และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกำแพงเมือง ส่วนอาคารด้านนอกสร้างโดยใช้ลักษณะแบบป้อมกำแพงเมืองที่มีใบบังและใบเสมาตามหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งสามารถเดินขึ้นไปดูทิวทัศน์เสมือนป้อมกำแพงเมืองจริงๆ ได้

‘เพชรบูรณ์’ ไม่เหมือนเดิม 03 โครงกระดูกมนุษย์โบราณภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

 

 นอกจากนี้ กำแพงเมืองเพชรบูรณ์ ยังมีลักษณะพิเศษตรงที่ตัวป้อมแต่ละมุมจะยื่นออกไปนอกแนวกำแพง เรียกว่า การสร้างป้อมแบบหัวธนู

 แค่ในเมืองก็มีพิพิธภัณฑ์ถึง 5 แห่ง แต่เส้นทาง 14 จุดสุดประทับใจยังได้รวบรวมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในตัวเมืองไว้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธอุทยานเพชรบุระ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติฯ สร้างจำลองมาจากพระพุทธมหาธรรมราชาที่วัดไตรภูมิ โดยบนปลายยอดจุลมงกุฎได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจาก 9 ประเทศ และหล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 126 บาท

 ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นที่ตั้งเสาหลักเมืองแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำด้วยหินศิลาจารึกอักษรขอม และเป็นเสาหลักเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

 วัดมหาธาตุ พระอารามหลวง วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีการขุดค้นเจดีย์พบจารึกลานทองในท้องหมู จารึกว่า พระเจ้าเพชบุรเป็นผู้สร้าง และเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชรมีชัยที่พระยาจักรีได้เคยมานมัสการในขณะเดินทัพมาพักที่เพชรบูรณ์

 วัดไตรภูมิ อยู่ริมแม่น้ำป่าสักอายุกว่า 400 ปี เป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธมหาธรรมราชาที่อัญเชิญมาประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ และวัดเพชรวราราม พระอารามหลวง วัดที่สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จฯ มาเยี่ยมและเผยแผ่ธรรม 3 พระองค์

 นับแล้วเส้นทางนี้จะขาดอีก 4 แห่ง คือ ประติมากรรมมะขามหวาน วงเวียนอนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์ หอนาฬิกาแชมป์โลกคู่แฝด และสวนสาธารณะหนองนารี

 รวมเป็น 14 จุดสุดประทับใจที่ใช้เวลาเที่ยวได้หนึ่งวันเต็มแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมได้ความรู้ความสนุกเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไปโม้ต่อได้เลยว่า เพชรบูรณ์มีดีกว่าไก่ย่างและมะขามหวาน

เพชรบูรณ์อาจเป็นมรดกโลก

ความยิ่งใหญ่แห่ง “เมืองโบราณศรีเทพ” ยังเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่ทำให้ทราบว่าเพชรบูรณ์เคยเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากร มีนโยบายนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าบัญชีมรดกโลก ปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำข้อมูลเอกสารนำเสนอสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list) ให้กับทางยูเนสโกในช่วงต้นปี 2561

 เดชา สุดสวาท หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เล่าว่า เมืองโบราณศรีเทพเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี

 ตั้งอยู่ในบริเวณเขตที่สูงภาคกลาง หรือขอบด้านตะวันตกของที่ราบสูงโคราช อันเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนสินค้าและเส้นทางการค้าระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18

 ผังของเมืองโบราณศรีเทพมีลักษณะเป็นเมืองแฝด แบ่งพื้นที่สำคัญออกเป็น 3 ส่วนคือ เขตเมืองใน จัดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางมรดกศิลปวัฒนธรรม มีโบราณสถาน 48 แห่ง กลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ เช่น เขาคลังใน บริเวณส่วนฐานของโบราณสถานมีการประดับปูนปั้นรูปคนแคระ และลวดลายพันธุ์พฤกษาศิลปะทวารวดีที่ยังคงสมบูรณ์

 ปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบปราสาทเขมรโบราณ ที่ปรางค์องค์เล็กของปรางค์สองพี่น้องมีทับหลังรูปอุมามเหศวร์แบบศิลปะบาปวน-นครวัด ที่มีรูปแบบเฉพาะแสดงภูมิปัญญาของช่างชาวเมืองโบราณศรีเทพ

‘เพชรบูรณ์’ ไม่เหมือนเดิม 04 รถรางชมโบราณสถานในอุทยานฯ ศรีเทพ

 

 ส่วนถัดมาคือ เขตเมืองนอก สำรวจพบโบราณสถาน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณขนาดใหญ่ชื่อ สระขวัญ และส่วนสุดท้ายคือ เขตนอกคูเมืองกำแพงเมือง พบโบราณสถาน 50 แห่ง มีสถานที่สำคัญ เช่น เขาคลังนอก เป็นสถูปเจดีย์สมัยทวารวดีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดที่พบในปัจจุบัน และปรางค์ฤาษี เทวาลัยในศาสนาฮินดูมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณอายุร่วมสมัยกับปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง

 เมืองโบราณศรีเทพ เป็นที่ตั้งของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในลุ่มแม่น้ำป่าสักเมื่อประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว กล่าวได้ว่า กลุ่มคนโบราณมีความชาญฉลาดในการเลือกสรรที่ตั้งในพื้นที่ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างดินแดนด้านตะวันออกของที่ราบลุ่มภาคกลาง กับดินแดนที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ควบคุมและเชื่อมโยงเครือข่ายการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรม

 นำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเป็นเมืองที่สำคัญในวัฒนธรรมทวารวดี ในฐานะศูนย์กลางทางพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายาน ซึ่งชาวเมืองศรีเทพมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาและสร้างสรรค์งานศิลปกรรมให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตน จึงเป็นเหตุผลให้กรมศิลปากรเสนอชื่อเป็นมรดกโลก

 แน่นอนว่าในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีรถรางพาเที่ยวและเลนจักรยานให้ปั่นชม โดยปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมจำนวน 9.9 หมื่นคน และคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 แสนคน

 หัวหน้าอุทยานฯ ยังเผยด้วยว่า นอกจากศูนย์บริการข้อมูลที่ให้ความสำคัญ ยังเตรียมพร้อมช่วยเหลือปฐมพยาบาลในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยของนักท่องเที่ยว จึงได้จัดจุดบริการและชุดปฐมพยาบาลไว้ในอุทยานฯ ซึ่งไม่นานมานี้ บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ ได้ติดตั้งตู้ยาชุมชนในบริเวณอุทยานฯ จำนวน 4 จุดสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และปล่อยขบวนรถคาราวานตู้ยาไปยัง 11 อำเภอทั่วเพชรบูรณ์

 14 จุดบวกอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่ให้คุณไม่ขับผ่านตัวเมืองเพชรบูรณ์ไปเฉยๆ แต่อยากเลี้ยวเข้ามาทำความรู้จักเมืองมะขามหวานที่มีมากกว่าประติมากรรมมะขามหวาน กินอาหารท้องถิ่นที่มีมากกว่าไก่ย่าง และปักหมุดแหล่งท่องเที่ยวสวยๆ งามๆ ที่มีมากกว่าเขาค้อ

...........ใต้ภาพ............

00(รูปเปิด) เขาคลังนอกจำลองเทียบสเกลกับคน

01 ปูนปั้นรูปคนแคระประดับโบราณสถานเขาคลังใน

02 เขาคลังนอก

03 โครงกระดูกมนุษย์โบราณภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

04 รถรางชมโบราณสถานในอุทยานฯ ศรีเทพ

05 มุมมองจากด้านบนเขาคลังนอก

06 หลังคาปกป้องลายปูนปั้นประดับฐานโบราณสถานเขาคลังใน

07 ปูนปั้นประดับรูปคนแคระ

08 ดวงอาทิตย์ลอดช่องระหว่างต้นไม้บริเวณเขาคลังนอก

09 บริเวณจุดขุดค้นโบราณสถาน

10 ปรางค์ศรีเทพ สถาปัตยกรรมแบบปราสาทเขมรโบราณ

11 เขาคลังนอกหลังขุดค้นพบและบูรณะจากกรมศิลปากร

12 ร่องรอยเสา 8 เหลี่ยมบนยอดเขาคลังนอก

13 ห้องนิทรรศการบ้านเรือนเมืองเพชรบูรณ์ในอดีต

14 ห้องนิทรรศการเทศกาลอุ้มพระดำน้ำ

15 นักท่องเที่ยวถ่ายภาพโบราณวัตถุที่จัดแสดงในหอโบราณคดีฯ

16 ห้องนิทรรศการประเพณีจัดแสดงอย่างมีสีสัน