posttoday

ติดปีกให้หัวใจ ไปเสพศิลป์ ที่อินเดีย

23 กันยายน 2560

ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศใหญ่ก็ตามแต่ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะไม่กล้า หรือไม่อยากเดินทางไปประเทศนี้กันสักเท่าไรนัก

ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศใหญ่ก็ตามแต่ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะไม่กล้า หรือไม่อยากเดินทางไปประเทศนี้กันสักเท่าไรนัก เพราะว่าติดภาพเก่าๆ ของบ้านเมืองที่ไม่ได้สะอาด ผู้คนหน้าตาขึงขัง เดินชนกันไปมา เสียงคน เสียงรถเต็มไปหมด มีแต่ความวุ่นวาย แต่กระนั้นทีมงานโลก 360 องศา เชื่อว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งอยากไปประเทศที่คนส่วนใหญ่ขนานนามว่า ดินแดนภารต ใช่แล้ว เราหมายถึงประเทศอินเดีย แต่เป็นอินเดียมุมใหม่และแตกต่างไปจากที่เคยรู้จัก เพราะเราจะพาไปยัง Land of Kings ดินแดนแห่งราชา ไปยังรัฐที่ชื่อว่า ราชสถาน ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย!!!

ติดปีกให้หัวใจ ไปเสพศิลป์ ที่อินเดีย

 

คนอินเดียเรียกรัฐนี้ว่า รัจ-ส่ะ-ถ่าน (Rajasthan) เป็นการออกเสียง รวบๆ ซึ่งค่อนข้างยากสำหรับคนไทยเรา ดังนั้น เราจึงเรียกง่ายๆ ว่า ราชสถาน เป็นรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่สุดของประเทศ ถ้าพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่นี่อาจจะตามหลังรัฐอื่นๆ อยู่มาก แต่ถ้าเป็นเรื่องของศิลปวัฒนธรรมแล้ว นี่คือรัฐที่รุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่สุด เพราะเต็มไปด้วยป้อมปราการ ปราสาทราชวัง และศิลปะหลากแขนง มีทั้ง เจปูร, ไปเปอ หรือชัยปุระ เป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐนี้ ภายในมีเขตของเมืองเก่า ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผังเมืองโบราณที่เป็นระบบมาก คือ ผังเมืองจะวางเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยมตัดกัน แต่ละช่องห่างกันประมาณ 7 ช่วงตึก และคั่นด้วยถนน

ชัยปุระ มีใจกลางเมือง คือ ซิตี้ พาเลส เป็นพระราชวังซึ่งเคยเป็น ที่ประทับของมหาราชาแห่งชัยปุระ มุมหนึ่งของกำแพง จะมีสถาปัตยกรรม ที่ดูเผินๆ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกำแพง แต่จริงๆ แล้วคือพระราชวังอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า ฮาวามาฮาล (Palace of Wind) หรือพระราชวังแห่งสายลม แม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง แต่คนส่วนใหญ่มักจะจดจำภาพของฮาวามาฮาล ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองชัยปุระ อาจจะเป็นเพราะว่ารูปทรงแปลกตาและสีของอาคารที่สวยงามทุกรายละเอียด ไม่แปลกใจเลยที่เขาบอกว่า คนมาที่นี่จะใช้เวลาอยู่เป็นวันๆ ไม่ว่าอากาศจะร้อนขนาดไหนก็ตาม เมื่อได้เดินอยู่ข้างในจะสัมผัสได้ถึงสายลมเย็นที่พัดผ่านช่องลมจากหน้าต่างกว่า 360 บาน แต่ถ้าออกไปมองมาจากด้านนอกตรงร้านกาแฟที่อยู่ตรงข้ามกับพระราชวังพอดี เป็นคาเฟ่ หลังคาเปิดชื่อร้าน Wind view caf'e จะเห็นภาพรวมได้สวยสุด

ติดปีกให้หัวใจ ไปเสพศิลป์ ที่อินเดีย

 

แม้อาคารในเมืองนี้ส่วนใหญ่จะมีสีคล้ายๆ กับสีของดินเผา แต่เมืองนี้กลับมีฉายาว่า Pink City ซึ่งย้อนไปยังปี ค.ศ. 1876 เมื่อครั้งที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มหาราชาราม สิงห์ ผู้ปกครองเมืองได้รับคำสั่งให้ราษฎรทาเมืองทั้งหมดเป็นสีชมพู เพื่อต้อนรับการมาเยือนของเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) มกุฎราชกุมารของอังกฤษ ด้วยไมตรีจิตที่หยิบยื่นให้แก่พระราชอาคันตุกะ ถึงวันนี้สีชมพูนั้นกลับกลายเป็นแรงดึงดูดใจสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก คนที่ชอบงานสถาปัตยกรรม ชอบประวัติศาสตร์ ถ้ามาที่ชัยปุระจะต้องรู้สึกอิ่มเอม และสนุกสนานแน่ๆ เพราะว่ามีแต่ความวิจิตรพิสดาร ความพิเศษของสถาปัตยกรรมที่มีความผสมผสานระหว่างอินเดียกับอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นปราสาท ป้อมปราการที่อยู่บนเขาสูงๆ สร้างกำแพงยาวๆ ไปตามแนวทิวเขา เมื่อลองนึกถึงสมัยก่อนที่ไม่มีเครื่องมือก่อสร้างที่ทันสมัย ก็สงสัยว่าเขาขึ้นไปสร้างได้อย่างไร แล้วก็จะรู้สึกทึ่ง และอัศจรรย์กับความสามารถของบรรดาช่างเหล่านั้นยิ่งนัก

จากสายลมพัดสู่สายน้ำ ในทะเลสาบมานซาการ์ มีพระราชวังที่ชื่อว่า จาลมาฮาล หรือว่า Water Palace เป็นพระราชวังกลางน้ำ สร้างด้วยหินทรายสีแดง มี 5 ชั้น ถ้าช่วงน้ำขึ้นสูงสุด ก็อาจจะเห็นพระราชวังโผล่พ้นน้ำมาแค่ชั้นเดียวเท่านั้น ปัจจุบันก็ยังตั้งตระหง่านอยู่แบบนี้ แต่การบูรณะให้พระราชวังแห่งนี้คงสภาพอยู่อย่างที่เห็น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะตัวอาคารแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา วัสดุและเทคนิคที่ใช้ก่อสร้างในสมัยก่อน ก็หาช่างทำยาก และลงทุนสูง ดังนั้น จึงมีการร่วมทุนกับเอกชน เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาให้กลายเป็นโรงแรมหรูกลางน้ำ ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

หากเดินทางจากชัยปุระไปยังใจกลางเมืองรัฐราชสถานประมาณ 340 กม. ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 5-6 ชม. ก็จะถึงเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคม นั่นก็คือเมืองที่ชื่อว่า จ๊อดปูร เพื่อการออกเสียงง่ายๆ สำหรับคนไทยเรา จึงเรียกชื่อเป็นไทยๆ ว่า เมืองโยธาปุระ เป็นเมืองที่ได้รับฉายาว่า Blue City ด้วยชื่อนี้เอง ที่ทำให้เราอยากมาเห็น และอยากมาหาคำตอบว่าทำไมเขาถึงเรียกอย่างนี้

ติดปีกให้หัวใจ ไปเสพศิลป์ ที่อินเดีย

 

เพื่อให้สัมผัสเสน่ห์ของ Blue City แบบใกล้ชิดได้อารมณ์ ได้ความรู้สึก ก็ต้องมาพักในเขตเมืองเก่า ความพิเศษของการมาพักบ้านแบบนี้ ก็คือ ข้างบนจะเป็นดาดฟ้า สามารถขึ้นไปดูวิวของหมู่บ้าน Blue City ได้สวยงามมาก นี่คือ คำตอบว่าทำไม เขาถึงเรียกเมืองนี้ว่า Blue City แห่งจ๊อดปูร ก็เพราะว่าในเขตเมืองเก่าอาคารส่วนใหญ่จะทาสีฟ้า มาจากเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนนักบวชให้คำแนะนำว่า ถ้าอยากโชคดีมีความสุขก็ให้ทาอาคารเป็นสีฟ้าซะ ดังนั้น ชาวบ้านที่นี่ก็เลยทาสีอาคารเป็นสีฟ้า นอกจากฉายา Blue City แล้ว ที่นี่ก็ยังมีอีกหนึ่งฉายา คือ Sun City นั่นก็เพราะว่าที่นี่มีแดดจ้าตลอดทั้งปี ดังนั้น ถ้ามาเที่ยวที่นี่ก็ต้องระวังดูแลเรื่องสุขภาพ คอยดื่มน้ำเยอะๆ จะไปไหนก็ต้องเตรียมน้ำติดตัวไปด้วยตลอดเวลา

คนในย่านนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นวรรณะพราหมณ์ เพราะว่าสมัยก่อนย่านนี้เป็นที่พำนักของเหล่าพราหมณ์ ประจำราชสำนัก ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มทาสีบ้านเรือนให้เป็นสีฟ้า และต่อมาก็ขยายจนเป็นเมืองสีฟ้า ถ้าเรามองจากบนดาดฟ้าจะเห็นว่าบ้านเรือนไม่ได้ทาสีฟ้าทั้งหลัง แต่ส่วนใหญ่จะทาสีฟ้าด้านที่หันหน้าเข้าหาป้อมเมห์รังการห์ที่อยู่บนเขาหินด้านบนโน้นเท่านั้น เป็นป้อมที่สร้างขึ้นบนเขาหินสูงกว่า 100 เมตร ซึ่งเป็นชัยภูมิที่สามารถมองเห็นได้รอบทิศทาง หากมีข้าศึกมารุกราน และเขาบอกว่านี่คือป้อมปราการที่สวยงาม และยิ่งใหญ่ที่สุดในอินเดีย ป้อมแห่งนี้สร้างด้วยหินแทบทั้งหมด แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นหิน เมื่อได้สัมผัสใกล้ชิดกลับรู้สึกถึงความอ่อนช้อยของงานสถาปัตยกรรม และความประณีตของช่างในสมัยนั้น ที่สามารถแกะสลักหินที่แข็งแกร่งให้มีความละเอียดสุดยอด ยิ่งได้เห็นในส่วนของพระราชฐาน ก็จะยิ่งเห็นถึงความงดงามที่สะท้อนถึงอำนาจและบารมีของมหาราชาในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

สถานที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์กษัตริย์ในชัยปุระอีกแห่งหนึ่ง คือ Umaid Brawan Palace เป็นพระราชวังสุดท้ายที่สร้างในประเทศอินเดีย แล้วก็เป็นหนึ่งในพระราชวังที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในสมัยของมหาราชาราม สิงห์ ระยะเวลาการก่อสร้างกว่า 15 ปี พระราชวังแห่งนี้สร้างงานให้คนท้องที่กว่า 3,000 คน ด้วยงบประมาณ 11 ล้านรูปี ซึ่งเป็นค่าเงินในปี ค.ศ. 1943 ปัจจุบันเป็นมรดกตกทอดมาถึงรุ่นที่ 3 แล้ว ภายในมีห้องเล็กใหญ่รวมกัน 347 ห้อง ปัจจุบันแบ่งส่วนหนึ่งเป็น Art Gallery และ Museum อีกส่วนหนึ่งเปิดเป็นโรงแรมหรูไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวที่สนใจ

ติดปีกให้หัวใจ ไปเสพศิลป์ ที่อินเดีย

 

แลนด์มาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้ถ้ามาที่ชัยปุระ ก็คือ หอนาฬิกา (Clock Tower) แต่ว่าไม่ได้มาเพื่อดูเวลาเท่านั้น เพราะที่นี่มีสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า ก็คือ วิถีชีวิต สไตล์ อินเดี๊ย อินเดีย สไตล์ที่ว่าด้วยความมีสีสัน และความแปลกใหม่ ชวนให้เราอยากเข้าไปดูใกล้ๆ ชวนให้ลองเปิดใจ ลองมาทำความรู้จัก แล้วคุณจะรู้ว่า อินเดียไม่ใช่แค่ที่ที่คุณเคยรู้จักแน่นอน

เชิญติดตามเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ในรายการโลก 360 องศา วันเสาร์นี้ เวลา 20.55 น. ทาง ททบ.5