posttoday

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

25 มีนาคม 2560

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 15 จะจัดขึ้นระหว่างวันพุธที่ 29 มี.ค.- วันอาทิตย์ที่ 9 เม.ย. 2560

โดย...ทีม@weekly

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 15 จะจัดขึ้นระหว่างวันพุธที่ 29 มี.ค.- วันอาทิตย์ที่ 9 เม.ย. 2560 รวมทั้งสิ้น 12 วัน โดยวันพุธที่ 29 มี.ค. เปิดเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 10.00-13.00 น. และ19.00-21.00 น. และวันพฤหัสที่ 30 มี.ค.-วันอาทิตย์ที่ 9 เม.ย. เปิดเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

ในห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางสื่อ และเป็นข้อต่อที่สำคัญของการผสมผสานระหว่างการอ่านหนังสือเล่มและการอ่านผ่านจอผ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บุ๊กและออนไลน์ วงการหนังสือในเมืองไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

 

โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่กำลังเข้าสู่โหมดปรับตัวเพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะสมและได้สมดุลที่สุด

 

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 จึงเป็นมาตรวัดอีกหน้าหนึ่งของอุตสาหกรรมหนังสือเมืองไทยว่าจะเดินไปข้างหน้าแบบใด ในภาวะเศรษฐกิจทรงตัวและถดถอยเช่นทุกวันนี้

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

‘อ่าน อ่าน และอ่าน’

 

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ประกาศความพร้อมจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่45 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15(45th Nation Book Fair and 15th BangkokInternational Book Fair 2017) ภายใต้แนวคิด “อ่าน อ่าน และอ่าน”

 

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)จรัญ หอมเทียนทอง เปิดเผยว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 เป็นงานแสดงหนังสือที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด โดยในปีนี้ยังคงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สวนกระแสเศรษฐกิจ

 

เพราะนอกจากจะมีสำนักพิมพ์ไทยตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 430 แห่ง รวมทั้งสิ้น947 บูธ บนพื้นที่ประมาณ 2.1 หมื่นตารางเมตรแล้วนั้น ยังได้รับเกียรติจากประเทศฟินแลนด์ เข้าร่วมงานในฐานะ ประเทศรับเชิญเกียรติยศ (Guest of Honor)เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งประเทศฟินแลนด์

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

ด้วยกิจกรรม “The Joy of Reading-Key to Lifelong Learning” โดยนำเสนอหนังสือหลากหลายประเภทส่งตรงจากฟินแลนด์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวรรณกรรมและงานออกแบบต่างๆ พร้อมส่งเสริมการอ่านด้วยมุมอ่านหนังสือ ซึ่งถือเป็นการเปิดโลกการอ่านให้คนไทยได้เห็นถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายของหนังสือ และวัฒนธรรมการอ่านซึ่งนำไปสู่การศึกษาที่เข้มแข็งในอีกซีกโลก

 

“ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการอ่านนั้น เล็งเห็นว่าหนังสือและการอ่านถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างประเทศอย่างมั่นคง และนำไปสู่การพัฒนาในทิศทาง “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ เพราะการอ่านสามารถสร้างคนที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นได้เพราะคนถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการที่จะพัฒนาประเทศในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งถ้าคนในชาติอ่านมากขึ้นก็จะมีความรู้ ความคิด สมาธิ วิสัยทัศน์ การขบคิดและวิจารณญาณในการพิจารณาประเด็นต่างๆ เพิ่มขึ้นจากความรู้ที่ได้รับ”จรัญ กล่าว

 

สำหรับปีนี้ได้จัดงานภายใต้แนวคิด“อ่าน อ่าน และอ่าน” ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564 โดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีเป้าหมายให้คนทุกวัยในสังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง และภายในระยะเวลา 5 ปี ต้องผลักดันให้คนไทยใช้เวลากับการอ่านที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

จรัญ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการจัดงานยังได้วางยุทธศาสตร์และตั้งเป้าไว้ว่าคนไทยจะต้องอ่านหนังสือ 90 นาที/วันหรือประมาณปีละ 10 เล่ม ต้องมีการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้และห้องสมุดซึ่งเป็นแผนระยะยาวในอีก 20 ปี

 

“โดยใช้หนังสือสร้างคนสร้างชาติให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐและรัฐเองต้องผลักดันนักอ่านอย่างจริงจังต้องมีการอนุมัติงบประจำปีสำหรับการจัดซื้อหนังสือ ตึกสูงต้องมีห้องสมุด ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีแนวทางการพัฒนาการอ่านอย่างจริงจังอุตสาหกรรมหนังสือเองก็ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุน ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือในประเทศอยู่ในภาวะซบเซา

 

“เห็นได้ชัดว่ายอดขายหนังสือในปี 2558 จนถึงปี 2559 ลดลงอยู่ที่ 10%มีมูลค่ารวมในตลาดแค่หมื่นกว่าล้านบาท ทำให้สำนักพิมพ์ลดลงตามไปด้วยในขณะที่เทรนด์การขายออนไลน์เริ่มโตขึ้น 1-2% ตลาดอี-บุ๊กมีสัดส่วนอยู่แค่2-3% คาดว่างานหนังสือ ในปี 2560 นี้จะช่วยกระตุ้นตลาดหนังสือให้มียอดเงินสะพัดในงานอยู่ที่ 300-400 ล้านบาทเพราะกลุ่มคนที่ซื้อหนังสือเป็นคนที่อ่านหนังสือจริงๆ เพราะแม้แต่ปัจจุบันรางวัลซีไรต์หรือรางวัลหนังสือทรงคุณค่าต่างๆ ก็ไม่ได้ช่วยในการกระตุ้นจากผู้ซื้อได้มากนัก”

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

จรัญ บอกว่า แม้ว่าขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัว แต่ก็มีหนังสือออกใหม่ในงานนี้กว่า 350 ปกและเชื่อมั่นว่าจะมีผู้ร่วมชมงานสัปดาห์หนังสือฯ ไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านคน ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนทำหนังสือด้วยใจรัก

 

“จากสภาวะปัจจุบันคาดว่า ต่อไปการทำหนังสือจะเป็นธุรกิจที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยหนังสือที่เป็นกระดาษยังอยู่ได้โดยมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปริมาณหนังสือลดลง และราคาไม่ได้เป็นปัจจัยตัดสินใจหลักในการตัดสินใจซื้ออีกต่อไปซึ่งขณะนี้หนังสือที่ขายดีในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นแนวนวนิยายประเภทต่างๆ แนววัยรุ่น แนวพัฒนาความรู้ และมีอีกประเภทที่เติบโตอย่างน่าสนใจคือหนังสือคู่มือแบบเรียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการศึกษาไทยเพราะฉะนั้นอยากเชิญมาฟังเสวนาของประเทศฟินแลนด์กัน ซึ่งจะมาเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) การศึกษา 1 วันโดยจะมาถอดบทเรียนความสำเร็จให้เราได้ดูว่าการอ่านนำไปสู่การศึกษาที่เข้มแข็งได้อย่างไร?”

 

มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในวงการหนังสือเมืองไทย

 

เมื่อเอ่ยชื่อของ จรูญพร ปรปักษ์ประลัยผู้คนในวงการหนังสือย่อมรู้จักเขาเป็นอย่างดีในฐานะของนักวิจารณ์หนังสือที่เข้มข้นและรอบด้าน กรรมการรางวัลต่างๆ ทางวรรณกรรมอีกมากมาย กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และทำงานด้านวิชาการอย่างต่อเนื่องที่เกี่ยวกับวงการวรรณกรรมไทยล่าสุดจะมีผลงาน “คู่มือนักเขียน” ซึ่งจะเป็นหนังสือในการสร้างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ อาชีพนักเขียน

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

จรูญพร มองวงการหนังสือและธุรกิจหนังสือในภาพรวม 1-2 ปีหลังอย่างพินิจพิจารณาและไตร่ตรองถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่

 

“เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นิตยสารหนังสือพิมพ์ ร้านหนังสือปิดตัวไป มีนิตยสารแบบฟรีก๊อบปี้ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ก็มาเร็วไปเร็ว ทุกวันนี้ แม้แต่ฟรีก๊อบปี้ แจกกันฟรีๆ คนก็ไม่สนใจไยดี มีเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่อยู่รอด แต่ในสถานการณ์แบบนี้ผมกลับเห็นว่า นี่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของหนังสือและธุรกิจหนังสือ คำตอบอยู่ที่ตรง ทำอย่างไรหนังสือของเราจะพิเศษ จนคนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องซื้อหนังสือของเราเท่านั้น เนื้อหาคืออาวุธของคนทำหนังสือ

 

“แต่เนื้อหาอย่างไรล่ะ ต้องเป็นเนื้อหาเฉพาะทาง เพราะเหตุนี้เอง นิตยสารเฉพาะทางต่างๆ จึงยังอยู่ได้ นิตยสารปืน ไก่ชนพระเครื่อง หรือแม้แต่นิตยสารตำรวจ เคยได้ยินนิตยสารชื่อ COP’S ไหม คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักCOP’S หรอกครับ แต่ตำรวจไทยส่วนใหญ่รู้จักเพราะเนื้อหาว่าด้วยตำรวจ ภารกิจของตำรวจคดีสำคัญ ฯลฯ ตำรวจทั้งประเทศมี 2 แสนกว่าคนแค่นี้ก็เพียงพอเหลือที่จะพอแล้วครับไม่จำเป็นต้องคิดไปถึงขนาดคน 60 ล้านคนจะอ่านแค่ 2 แสนก็เหลือแหล่แล้ว”

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

เขาพยากรณ์ว่า ในอนาคตหนังสือและนิตยสารที่นำเสนอเนื้อหาทั่วๆ ไป แฟชั่น สังคมข่าว สัมภาษณ์คนดัง ฯลฯ จะหมดไป เพราะของแบบนี้หาอ่านที่ไหนก็ได้ แต่หนังสือและนิตยสารที่มีจุดเด่น มีความพิเศษ และเป็นเรื่องเฉพาะทาง ที่หาอ่านที่อื่นไม่ได้ หาดูที่ไหนก็ไม่ได้ จะยังคงอยู่

 

เมื่อถามถึงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรือธงของการขายหนังสือในแต่ละปีของสำนักพิมพ์ต่างๆ ไม่ว่าเล็กกลาง ใหญ่ จรูญพร มองถึงสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป

 

“งานสัปดาห์หนังสือฯ และมหกรรมหนังสือฯ เป็นพื้นที่การขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุด แต่ถ้าผู้บริโภคสามารถหาซื้อหนังสือได้จากทางอื่น เขาก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อในงานอีกต่อไป จำนวนคนร่วมงาน จำนวนคนซื้อหนังสือ สัมพันธ์กับช่องทางที่เพิ่มขึ้นไม่ต่างจากสินค้าอื่นๆ ลองไปดูตามห้างสรรพสินค้า จะพบว่าหลายธุรกิจมียอดขายลดลงเช่นกัน เพราะคนซื้อของผ่านเว็บไซต์มากขึ้น สะดวกกว่าเพราะคนไม่ต้องไปหาสินค้า แต่สินค้าเข้ามาหาถึงในบ้าน ยิ่งกว่านั้น สินค้าหลายอย่างยังถูกกว่า ทั้งนี้ก็เพราะไม่ต้องมีค่าเช่าร้าน ค่าตกแต่งร้าน ค่าพนักงาน ฯลฯคนคนเดียวสามารถทำธุรกิจได้ตั้งแต่ต้นจนจบ”

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

เขาเสนอว่า งานสัปดาห์หนังสือฯจะกลับเป็นที่นิยมอีกครั้งได้ ต้องสร้างแรงจูงใจให้คนมาร่วม มากกว่าให้ส่วนลดเพราะส่วนลด คนได้อยู่แล้ว จากการสั่งซื้อหนังสือ ส่วนลายเซ็นนักเขียน ก็ไม่ต้องดิ้นรนต่อแถวยาวๆ เพราะนักเขียนเซ็นให้เลย ถ้าสั่งซื้อหนังสือจากเขา

 

“ทุกคนต้องช่วยกันสร้างแรงจูงใจด้วยการเปิดตัวหนังสือในงาน แบบไม่มีการขายล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าอยากได้หนังสือของนักเขียนคนโปรด หรือหนังสือที่เฝ้ารอคอย ที่แรกที่จะได้คือในงานนี้เท่านั้น ถ้าจูงใจเขามาได้แล้ว เขาคงไม่ซื้อแค่เล่มนั้นเล่มเดียวแน่ แต่อดไม่ได้หรอครับที่จะซื้อเล่มอื่นไปด้วย แต่ถ้าทุกคนขายหนังสือเอง แบบขายตรงกันตลอดเวลาแบบที่ทำกันอยู่ คนอ่านได้หนังสือที่ต้องการแล้ว เขาก็ไม่มีแรงจูงใจจะมาร่วมงาน แน่นอน งานก็จะหงอยไปเรื่อยๆ

 

“แต่นี่เป็นเรื่องที่ต้องขอร้องกันครับเพราะทุกคนก็อยากขายหนังสือให้ได้เร็วๆ โดยไม่สนหรอกว่า คนจะมาซื้อในงาน หรือซื้อด้วยวิธีไหนก็ตาม”

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การจัดระเบียบอุตสาหกรรมหนังสือสู่ยุคใหม่ ที่ต้องให้ได้สมดุลกับการอ่านออนไลน์ จะส่งผลกระทบและมีการปรับตัวสำหรับวงการหนังสือในเมืองไทย จุดนี้ จรูญพร มองว่าการอ่านออนไลน์กับอ่านหนังสือเล่มแตกต่างกัน

 

“อะไรที่เป็นข่าวสารรายวัน ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ หรือเรื่องอะไรที่ไม่สลักสำคัญ คนจะอ่านออนไลน์ อ่านแล้วก็ลืม อ่านแล้วก็หันไปสนใจเรื่องอื่นแต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ ข้อมูลเชิงลึก หรือเรื่องที่คนสนใจจริงๆ เขาจะเลือกอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นในส่วนของคนเขียนและคนทำหนังสือ ต้องเลือกเนื้อหาที่เหมาะกับสื่อ ถ้าเอาเนื้อหาที่จริงจังละเอียด ลงลึกมาก มาใส่ในออนไลน์คนมักจะไม่อ่าน เพราะรู้สึกว่าหนักเกินไปขณะเดียวกัน ถ้าเอาเนื้อหาที่เบาหวิวหรือเอาข่าวสาร ความรู้ทั่วไปมาใส่ในหนังสือเล่ม คนก็จะมองข้ามและไม่ให้ค่า”

 

การปรับตัวสำหรับวงการหนังสือบ้านเรา จรูญพร ชี้ว่า ต้องจับหัวใจของผู้อ่านให้ได้

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

“ผู้อ่านในที่นี่หมายถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก พุ่งตรงไปที่เนื้อหาเฉพาะทางซึ่งทั้งกว้างและลึก แบบที่จะหาที่อื่นไม่ได้อาจเพิ่มช่องทางให้เขาเลือกอ่านได้ทั้งหนังสือเล่มและออนไลน์ แต่ให้ออนไลน์มีไว้สำหรับผู้อ่านหน้าใหม่ที่อยากลิ้มลองเท่านั้น ถ้าแฟนหนังสือตัวจริง เขาต้องรู้สึกว่าหนังสือของเรามีค่าจนต้องซื้อเก็บทั้งด้วยเนื้อหา ภาพ การพิมพ์

 

“สุดท้ายผมเชื่อว่า ถ้าเราสร้างจุดเด่นให้กับหนังสือได้ หนังสือก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะอย่างที่บอก อ่านออนไลน์กับอ่านหนังสือเล่ม มีเป้าหมายในการอ่านที่ต่างกัน การอ่านทั้งสองแบบต้องอยู่คู่กันครับ ไม่ใช่อย่างหนึ่งจะเข้ามาแทนที่อีกอย่าง โลกหนังสือไม่มีวันตายหรอกครับผมเชื่ออย่างนั้น”

 

จากใจเจ้าของสำนักพิมพ์ดาวรุ่ง

 

คธาวุฒิ เกนุ้ย กรรมการผู้จัดการบริษัท ยิปซี กรุ๊ป ซึ่งมีการผลิตหนังสือที่หลากหลายและมีบุคลิกเฉพาะที่สร้างฐานคนอ่านได้อย่างน่าสนใจในรอบ 4-5 ปีหลังมานี้ บอกว่าสำหรับเขาแล้ว งานสัปดาห์หนังสือฯ คือ มีตติ้งประจำปีของคนอ่านกับสำนักพิมพ์

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

“ปีหนึ่งเรามีมีตติ้งพบปะกับคนอ่านของเราปีละสองครั้ง พบปะเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน มีหนังสือใหม่มานำเสนอมีหนังสือเก่ามาจัดโปรโมชั่นลดราคา มาเจอนักเขียนนักแปล มาพบปะพูดคุยกันถ้าถามว่างานสัปดาห์หนังสือจะมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและขาลงของวงการหนังสืออย่างไร? โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ามีผลกระทบบ้าง แต่ไม่ได้มีผลมากมายอะไรนัก เพราะผมเชื่อว่าคนอ่านยังอ่านหนังสือ คนอ่านยังมีจำนวนเท่าเดิม แต่เขาเลือกอ่านเยอะขึ้น

 

“ยิ่งทุกวันนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯ ได้สร้างมิติใหม่ของงานหนังสือที่มีมากกว่าการขายหนังสืออย่างเช่นนิทรรศการที่น่าสนใจต่างๆผมว่ามีแต่คนอยากเข้ามาชมงาน ที่เหลือเป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์ที่จะต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น ทำงานหนักขึ้น สร้างแฟนของตัวเองให้ได้ สร้างคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่นและแข็งแรงให้ได้ ดูอย่างหลายๆสำนักพิมพ์ ทุกครั้งที่มีงานหนังสือฯแฟนคลับของพวกเขาจะมารอติดตามหนังสือออกใหม่กันเยอะแยะ”

 

ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านและการปรับตัวของสำนักพิมพ์และ9สายส่งที่จะอยู่ร่วมกับร้านหนังสือและธุรกิจออนไลน์ให้ได้ คธาวุฒิ มองว่าในส่วนของสำนักพิมพ์ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องสร้างคอมมูนิตี้หรือชุมชนนักอ่านของตัวเองให้ได้

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับการเปลี่ยนผ่านรับยุคดิจิทัล

 

“สร้างกลุ่มแฟนของคุณให้ได้ รู้ให้ได้ว่าแฟนหนังสือของคุณชอบอะไร ตลาดตรงไหนคือตลาดของคุณ เลือกที่จะไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ทำให้เล็กลงแต่ดีขึ้น มีคุณภาพขึ้นสื่อสารกับลูกค้าของคุณให้บ่อยที่สุด อนาคตผมมองว่าตลาดต้องการนิช (Niche Market)มากกว่าแมส (Mass Market)”

 

สำหรับความคาดหวังกับงานสัปดาห์หนังสือหรือบุ๊กแฟร์มากน้อยแค่ไหน และการตระเวนขายหนังสือตามที่ต่างๆ ส่งตรงถึงผู้บริโภค เขาบอกว่าการขายแบบนี้เขาคาดหวังและคาดหวังเยอะด้วย

 

“งานสัปดาห์หนังสือเป็นงานใหญ่ของวงการหนังสือที่มีโอกาสได้เจอคนอ่านจำนวนมาก เป็นความหวังของคนทำหนังสือที่จะได้เติมต่อลมหายใจ ได้ขายหนังสือใหม่ ปีนี้มีหนังสือใหม่สิบกว่าปก ทั้งไทยและเทศ ส่วนการออกบูธตระเวนขายตามที่ต่างๆ เป็นนโยบายหลักของเราตั้งแต่ต้น เราเชื่อว่าการเดินลงไปหาลูกค้าดีกว่ารอให้ลูกค้ามาหาเรา วันนี้ยังออกบูธตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อพบลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างฐานสมาชิกจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ไปพร้อมๆกัน พนักงานขายของเราพร้อมจะแนะนำแอพพลิเคชั่นเพื่อสั่งซื้อหนังสือโดยตรงจากอีกที่หนึ่ง”