posttoday

หนาวนี้ที่ สังขละบุรี

06 พฤศจิกายน 2559

เมื่อคราวที่แล้ว ผมและเพื่อนพ้องหลบเหนือไปเที่ยวหนาวถึง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ฟังดูหลายคนอาจจะแปลกใจว่า

โดย...สืบสิน ภาพ : คลังภาพโพสต์ทูเดย์

เมื่อคราวที่แล้ว ผมและเพื่อนพ้องหลบเหนือไปเที่ยวหนาวถึง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ฟังดูหลายคนอาจจะแปลกใจว่า ทำไมถึงต้องหลบปีนเขาสัมผัสดอยหนาวทางภาคเหนือ ง่ายๆ เลยครับ เพียงแค่อยากเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ และที่นี่ก็ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ เลยละครับ

อันว่า อ.สังขละบุรี นั้น เป็นอำเภอที่ติดต่อกับชายแดนเมียนมา ห่างจากตัวเมือง จ.กาญจนบุรี ไปประมาณ 215 กิโลเมตร เมืองชายแดนแห่งนี้รายล้อมด้วยธรรมชาติและขุนเขาอันสวยงามไม่แพ้ภาคเหนือ มีแม่น้ำซองกาเลียไหลจากต้นกำเนิดในประเทศเมียนมา พาดผ่านตัว อ.สังขละบุรี หล่อเลี้ยงผู้คนสองฟากฝั่งแม่น้ำ และเชื่อมสัมพันธ์ชนชาติมอญและกะเหรี่ยงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แม่น้ำซองกาเลียในภาษามอญแปลเป็นไทยว่า “ฝั่งโน้น” แม่น้ำซองกาเลียแบ่งแผ่นดิน อ.สังขละบุรี ออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือตัวอำเภอ ซึ่งรวมสถานที่ราชการและสถานที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว คนส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่พูดภาษาไทย

หนาวนี้ที่ สังขละบุรี

 

อีกฝั่งหนึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวมอญทั้งที่ตั้งรกรากมานานนับร้อยปี และเพิ่งอพยพเข้ามาใหม่ จึงทำให้ อ.สังขละบุรี มีความงามหลากหลาย ทั้งทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของพี่น้องต่างเผ่าพันธุ์ ทั้งมอญ กะเหรี่ยง ไทย ลาว เมียนมา ฯลฯ

ตัว อ.สังขละบุรี ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “สามประสบ” คือบริเวณพื้นที่ลำน้ำ 3 สาย อันได้แก่ ห้วยซองกาเลีย ห้วยบีคลี่ และห้วยรันตี ไหลมาบรรจบกันกับแม่น้ำแคว ที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์ของไทยกับมอญอย่างแนบแน่นมาช้านานแล้วครับ

มาถึง อ.สังขละบุรี จุดที่ถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ ก็คือ สะพานมอญ หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์” เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศ มีความยาวประมาณ 1 กม. หลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ดำเนินการสร้าง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนไทย กะเหรี่ยง และมอญ ได้สัญจรไปมาหาสู่กันได้โดยง่าย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนทั้ง 3 กลุ่ม สะพานมอญเป็นจุดท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะนิยมเดินชมสะพานเพื่อชมแสงสีพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า รวมถึงชมวิถีชีวิตของชาวไทยและมอญที่เดินข้ามไปมาหาสู่กันบนสะพาน

หนาวนี้ที่ สังขละบุรี

 

เมื่อครั้งหนึ่งสะพานได้ชำรุดและพังลงไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ จึงมีการสร้างสะพานจำลองขึ้นมาแทน โดยรู้จักกันดีว่า สะพานลูกบวบ ที่ชาวมอญรวมพลังกันสร้างขึ้นมาทดแทน ซึ่งจะใช้วิธีการสร้างโดยใช้ไม้ไผ่มัดรวมกันแน่นๆ เป็นทุ่น แล้วตีไม้ไผ่ให้แบไว้เป็นทางเดิน นับเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่งของชาวมอญ ถึงวันนี้แม้สะพานมอญจะบูรณะเสร็จแล้ว แต่สะพานลูกบวบก็ยังมีนักท่องเที่ยวและชาวมอญนิยมใช้กันอยู่

อีกหนึ่งสิ่งเป็นที่กล่าวขาน คือ เมืองแห่งนี้ได้ฉายาว่าเป็นเมืองบาดาล แต่ก่อนนั้นเมืองบาดาล ก็คือ วัดวังก์วิเวการามเดิม ที่หลวงพ่ออุตตมะและชาวบ้านอพยพชาวกะเหรี่ยงและมอญได้ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อปี 2496 ในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำ 3 สาย ไหลมาบรรจบกัน เป็นวัดที่ชาวมอญให้ความเคารพและศรัทธา เป็นจุดเชื่อมโยงทางจิตใจของชาวมอญมาช้านาน

ต่อมาในปี 2527 มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลมขึ้นมา จึงทำให้น้ำท่วมตัว อ.สังขละบุรีเก่า รวมทั้งวัดนี้ด้วย หลวงพ่ออุตตมะรวมทั้งผู้คนชาวมอญจึงได้ย้ายขึ้นมาสร้างวัดแห่งใหม่ที่อยู่บนเนินเขา โดยใช้ชื่อวัดเหมือนเดิมว่า วัดวังก์วิเวการาม ส่วนวัดเดิมก็จมอยู่ใต้น้ำมานานนับสิบปี

หนาวนี้ที่ สังขละบุรี

 

พอครั้งถึงช่วงฤดูแล้งราวเดือน มี.ค.-เม.ย. น้ำลดลงจะทำให้เห็นตัวโบสถ์โผล่พ้นน้ำทั้งหมด สามารถนั่งเรือและขึ้นไปเดินเที่ยวชมโบสถ์ได้ ส่วนในช่วงน้ำหลากน้ำจะก็ท่วมสูงเกือบทั้งหมด เหลือเพียงยอดของโบสถ์เท่านั้นที่โผล่ให้เห็น ทำให้ที่นี่มีเสน่ห์จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen Thailand ไปในที่สุด

นอกจากนี้ หลวงพ่ออุตตมะและชาวมอญยังร่วมกันสร้างเจดีย์พุทธคยา ซึ่งเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นมา โดยบนยอดเจดีย์ซึ่งประดับด้วยฉัตรทองคำหนัก 400 บาท เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่หลวงพ่ออุตตมะอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา โดยหลวงพ่ออุตตมะให้สร้างจำลองขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวาของพระพุทธเจ้าที่มีขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารไว้เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชน ยามที่พุทธคยาโดนแสงจากพระอาทิตย์อาบห่มจะสะท้อนสีทองอันเรืองรองงดงามมากทีเดียวครับ

ส่วนวัดวังก์วิเวการามที่ย้ายมาใหม่ ตั้งอยู่ห่างจากเจดีย์พุทธคยาไม่มากนัก มีวิหารริมแม่น้ำ ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงามและเป็นที่จำพรรษาของหลวงพ่ออุตตมะ ซึ่งประชาชนชาวไทย ชาวมอญ รวมทั้งกะเหรี่ยงและเมียนมาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเคารพนับถือ

หนาวนี้ที่ สังขละบุรี

 

ประวัติการสร้างวัดวังก์วิเวการามนั้น บอกไว้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 2499 หลวงพ่ออุตตมะร่วมกับชาวบ้านที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญได้พร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้นมา โดยใช้เวลาสร้างเสร็จในเดือน 6 ของปีนั้นนั่นเอง

แต่เนื่องจากยังมิได้มีการขออนุญาตจากกรมการศาสนา วัดที่สร้างเสร็จจึงมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า “วัดหลวงพ่ออุตตมะ”

มาถึงที่ อ.สังขละบุรี นอกจากจะได้ชื่นชมพลังศรัทธาของชาวมอญและกะเหรี่ยงแล้ว เรายังได้ชื่นชมวิถีชีวิตของชาวมอญ ซึ่งนับย้อนกันไปไกลทีเดียว เพราะหมู่บ้านชาวมอญที่อยู่อีกฟากฝั่งนั้นเริ่มต้นอพยพมาจากอำเภอเย จังหวัดมะละแหมง ในรัฐมอญ ประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปี 2494

หนาวนี้ที่ สังขละบุรี

 

ปัจจุบันชาวบ้านส่วนมากมีสถานะเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติเมียนมา ซึ่งไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนไทย ชาวมอญที่นี่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ยิ้มแย้มแจ่มใส ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนอย่างเป็นกันเอง

สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของหมู่บ้านมอญอีกอย่าง คือ ยังคงหลงเหลือวัฒนธรรมแบบมอญที่ค่อนข้างชัดเจน และคนที่นี่ยังคงพูดภาษามอญ แต่งกายแบบชาวมอญ และที่เห็นปุ๊บก็รู้เลยว่าเป็นสาวมอญ ก็คือ การเทินสิ่งของไว้บนศีรษะอย่างชำนิชำนาญ แถมยังฉาบใบหน้าด้วยแป้งทานาคา เครื่องสำอางจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ไปในที่สุด

หนาวนี้ที่ สังขละบุรี

 

หนาวนี้ที่ สังขละบุรี