posttoday

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว

06 สิงหาคม 2559

ธรณีวิทยา แค่ได้ยินชื่อก็ไม่อยากอ่าน นักธรณีวิทยาจึงเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ให้เป็น สปช.

โดย...กาญจน์ อายุ

ธรณีวิทยา แค่ได้ยินชื่อก็ไม่อยากอ่าน นักธรณีวิทยาจึงเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ให้เป็น สปช. คือทำให้มันกลายเป็นเรื่องสนุกผ่านการท่องเที่ยว

อย่างนักท่องเที่ยวไปเดินถ้ำ รู้หรือไม่ว่ากำลังเดินอยู่บนธรณีอายุ 4,000 ล้านปี หรือชาวบ้านกำลังขอเลขเรือไม้โบราณ รู้หรือเปล่าว่ากำลังขูดไม้สมัยทวารวดี คำตอบเหล่านี้ตอบได้ด้วยความรู้ทางธรณีวิทยา ซึ่งเชื่อว่าคุณจะไม่อ่านตำราจึงจะพาไปเที่ยว

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว ลายเซ็นปากถ้ำธารลอดใหญ่

 

ซากเรือโบราณกับซากธรณี

ไซต์แหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเรือโบราณวัดกลางคลอง (อยู่ด้านหลังวัด) จ.สมุทรสาคร เจ้าของที่ดินเป็นคนค้นพบเมื่อ 3 ปีก่อน หลังขุดดินขึ้นมาทำบ่อกุ้งได้พบชิ้นส่วนไม้ขนาดใหญ่เรียกว่าไม้ทับกระดูกงู ซึ่งแน่นอนว่าก่อนจะแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้านละแวกนั้นน่าจะได้หลายเลขเลยทีเดียว

กรรณิการ์ เปรมใจ นักโบราณคดีชำนาญการ กรมศิลปากร กล่าวว่า สมุทรสาครพบเรือจมสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์จำนวนมาก แต่เรือลำนี้มีความพิเศษตรงที่มีการใช้เชือกถักกาบเรือและพบภาชนะดินเผาที่ไม่เคยพบในประเทศไทย เช่น ตอบิโดจาร์ (Amphorae) ภาชนะของชาวอาหรับเปอร์เซียเพื่อใช้ในการขนส่งทางทะเล ภาชนะดินเผาเคลือบสมัยราชวงศ์ถัง และหม้อมีสัน ภาชนะสำหรับทำอาหารซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยทวารวดี

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว นักท่องเที่ยวถ่ายภาพต้นไม้ใหญ่ ในป่าโบราณ

 

กรมศิลปากรจึงให้ความสนใจและขอใช้ที่ดินให้เป็นแหล่งศึกษาทางโบราณคดี จากการพิสูจน์ซากพบว่า เรือมีความยาวประมาณ 22-25 ม. และกว้างประมาณ 8-10 ม. มีเทคนิคการต่อแบบอาหรับโบราณ มีอายุร่วมสมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือเมื่อ 1,200 ปีที่แล้ว สันนิษฐานว่าเป็นเรือสินค้าอาหรับที่เข้ามาค้าขาย สัญจรผ่านคลองโบราณแต่ติดสันดอนทรายจึงต้องขนถ่ายสินค้าและสละเรือ โดยหัวเรือหันไปทางทิศใต้มุ่งหน้าสู่ทะเลที่อยู่ห่างออกไป 8 กม. แต่ที่น่าสนใจคือ ไม่มีการค้นพบหมู่บ้านร่วมสมัยทวารวดีในแถบสมุทรสาคร ชุมชนทวารวดี
ที่ใกล้ที่สุดคือ นครปฐม ดังนั้นพื้นที่ที่พบเรืออาจเป็นปากแม่น้ำท่าจีนโบราณ และเคยมีเส้นทางน้ำจากทะเลอ่าวไทยไปสู่นครปฐมยาวไปถึงอยุธยา

นิรันดร์ ชัยมณี ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ 5,000 ปีก่อน มีหลักฐานทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่าชายฝั่งทะเลอ่าวไทยอยู่เกือบถึง จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นน้ำทะเลค่อยๆ ถดถอยลงไปจนอยู่ในระดับปัจจุบัน ทำให้ชั้นดินในสมุทรสาครพบตะกอนทะเลจำนวนมหาศาลทั้งเปลือกหอยและซากพืชซากสัตว์ อันเป็นหลักฐานยืนยันว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นทะเล และมีร่องน้ำให้เรือสินค้าสัญจร ซากเรือโบราณจึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์และทางธรณีให้แจ่มชัด ทว่ามีน้อยคนนักที่ทราบเบื้องหลังย้อนไปเป็นพันล้านปี

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว ปล่องถ้ำธารลอดใหญ่

 

ถ้ำธารลอดใหญ่-ถ้ำธารลอดน้อย

นักธรณีวิทยาเห็นพื้นดินที่ไหนก็มีเรื่องเล่าโดยเฉพาะกับถ้ำยิ่งเล่าสนุกและยิ่งเที่ยวสนุก พวกท่านได้พาไปยังเขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีถ้ำธารลอดใหญ่และถ้ำธารลอดน้อยอยู่คู่กัน

ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำ กรมทรัพยากรธรณี เล่าว่า ภูเขาหินปูนในเขตอุทยานฯ มีอายุ 438-505 ล้านปี เคยเป็นภูเขาในทะเลโบราณ ต่อมาเมื่อแผ่นเปลือกโลกอินเดียชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ทำให้เปลือกโลกในประเทศไทยยกตัวขึ้นเป็นภูเขาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว พระภิกษุเดินมาจากถ้ำธารลอดน้อย สู่ถ้ำธารลอดใหญ่

 

บริเวณปากน้ำธารลอดน้อยมีลำธารสายหนึ่งเรียกว่า ห้วยกระพร้อย ไหลจากภูเขาผ่านถ้ำธารลอดใหญ่ลงไปยัง อ.หนองปรือ การเกิดถ้ำก็มาจากน้ำและกาลเวลา โดยน้ำได้ละลายหินปูนทำให้เกิดเป็นโพรงและกลายเป็นถ้ำน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปน้ำในถ้ำได้ซึมไปตามรอยแตกของชั้นหิน ก่อให้เกิดเป็นถ้ำน้ำอีกชั้นด้านล่าง (แหล่งน้ำบาดาล) ส่วนด้านบนจะกลายเป็นถ้ำแห้งที่มีหินงอกหินย้อยจากการที่น้ำละลายหินปูนบนผนังถ้ำต่อไป

ถ้ำธารลอดน้อยก็เป็นลักษณะนั้น เป็นถ้ำหินปูนยาว 300 ม. มีหินงอกหินย้อยจำนวนมาก ซึ่งในอดีตถ้ำธารลอดน้อยจะเชื่อมกับถ้ำธารลอดใหญ่ แต่เพราะเพดานถ้ำธารลอดใหญ่ถล่มลงมาทำให้เส้นถูกตัดแต่ไม่ขาดเสียทีเดียว วันนั้นยังเห็นพระสงฆ์เดินจากถ้ำธารลอดน้อยมายังถ้ำธารลอดใหญ่ได้อยู่ ส่วนอีกทางต้องนั่งรถอ้อมเขามาทางปากถ้ำธารลอดใหญ่ใช้เวลาประมาณ 45 นาที

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว ผนังถ้ำถล่มลงมาเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่

 

หน้าตาถ้ำธารลอดใหญ่ไม่เหมือนถ้ำ เพราะเพดานถล่มลงมาเกือบหมดจนดูเหมือนหุบเขามากกว่า แต่สิ่งที่ทำให้จินตนาการได้คือ หินย้อย ลักษณะเหมือนกับหินย้อยที่เพิ่งเห็นจากถ้ำธารลอดน้อย เพียงแค่เปลี่ยนมาอยู่กลางที่โล่งแจ้งเท่านั้นเอง นอกจากนี้ยังพบภาพเขียนสีรูปมังกรจากฝีมือมนุษย์ถ้ำโบราณที่แม้เวลาล่วงเลยมาจนถึงป่านนี้สีก็ยังมองเห็นอยู่ และพบโลงศพมนุษย์ถ้ำที่ตอนนี้มองแทบไม่ออก

อุทยานฯ ได้ทำทางเดินไม้บางช่วงจากถ้ำธารลอดใหญ่ไปยังถ้ำธารลอดน้อยลัดเลาะไปตามหินก้อนใหญ่ที่วางระเกะระกะไม่เป็นทาง อาจารย์ชัยพร กล่าวว่า นั่นคือ เพดานถ้ำที่ถล่มลงมา พอแหงนหน้ามองท้องฟ้าที่ว่างเปล่าก็เกิดอาการเปล่าว่างและเกิดปลงตกขึ้นมาได้ ขนาดหินก้อนเบอเริ่มเทิ่มอายุเป็นพันล้านปียังมีวันแตกสลาย แล้วนับประสาอะไรกับมนุษย์อันเปราะบางที่มีอายุขัยเพียงกะจิริด

วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ตอน ธรณีวิทยา สนุกกว่าเรียนในห้องเรียนแยะ นักธรณีวิทยายังบอกเองว่า ถ้าอยากเข้าใจต้องไปเห็นของจริง ต้องกลายไปเป็นมนุษย์หินที่ศึกษาธรณีวิทยาจากหินดินทราย ซึ่งนอกจากจะประสบความสำเร็จด้านการเรียนการสอน มันยังลุล่วงด้านการท่องเที่ยว เพราะความรู้ทำให้เที่ยวสนุก ทำให้อยากเล่าให้เพื่อนฟัง และทำให้อินไปกับมันแบบไม่ต้องบังคับกรอกหู ถ้าใช้คำสวยๆ คงเรียกว่า “อรรถรส” ของการเดินทาง ที่ทำให้นักเดินทางไม่สักแต่เที่ยวแต่ยังเข้าใจ

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว หลวงพ่อนิลประทานพร วัดเขาวงจินดาราม มีนิลเป็นส่วนประกอบ

 

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว ชาวบ้านวางเหรียญบาท บูชาซากเรือโบราณ

 

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว ซากเรือโบราณพนมสุรินทร์

 

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว นิลในเนื้อหินบริเวณ อ.บ่อพลอย

 

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว ภาพเขียนสีลวดลายมังกรบนผนังถ้ำธารลอดใหญ่

 

ธรณีสไตล์ เที่ยวอย่างไรให้มากกว่าเที่ยว หินย้อยตามแสง