posttoday

โรงถลุงแร่ทองคำเมืองปราจีน สมัยรัชกาลที่ 5

15 พฤษภาคม 2559

ข่าวรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ-ประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ

โดย...ส.สต

ข่าวรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ-ประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ รวมทั้งคำขอต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทั่วประเทศ จนเป็นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 ผู้เขียนอ่านข้อความโรงถลุงแร่ทองคำที่ปราจีนบุรี สมัยรัชกาลที่ 5 พบว่าเป็นข่าวดังในสมัยนั้นเช่นกัน จึงนำมาเสนอวันนี้

จิราพร กิ่งทัพหลวง นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 5 เล่าเรื่องเมืองปราจีนบุรีในสมัยรัชกาลที่ 4-6 ในงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ดงศรีมหาโพธิในอดีต ปราจีนบุรีในปัจจุบัน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี นำมาตีพิมพ์ เมื่อ พ.ค. 2558 เล่าเรื่องการตั้งโรงถลุงแร่ทองคำที่ปราจีนไว้ค่อนข้างละเอียด

พ.ศ. 2416 เป็นช่วงที่ราชการไทยได้มีความรู้จากต่างประเทศและต้องหาทรัพย์ไว้ในท้องพระคลัง รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งต่อไปจะได้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี ให้มาทำเหมืองทองที่กบินทร์บุรี และสร้างโรงเครื่องจักรเพื่อถลุงแร่ทองขึ้นที่เมืองปราจีนบุรีด้วย โดยใช้ที่ดินของราษฎรตั้งแต่คลองดักลอบ ฝั่งตะวันตกจนถึงวัดหลวงปรีชากูล เป็นที่ตั้งโรงจักรในการถลุงแร่ทอง

โรงถลุงแร่ทองคำเมืองปราจีน สมัยรัชกาลที่ 5

 

ทำไมต้องเป็นพระปรีชากลการ คำตอบ คือ บุคคลผู้นี้เรียนจบวิชาวิศวกรรมศาสตร์ จากสกอตแลนด์ มีความรู้ทางด้านเครื่องยนต์กลไก มีความรู้เรื่องการทำเหมืองทองคำ

แต่การดำเนินการนั้นมิได้ทำเพียงลำพัง ได้เชิญวิศวกรต่างชาติมาช่วยสร้างอาคาร สร้างโรงถลุงทอง และโรงจักรต่างๆ ด้วย

พระปรีชากลการ ได้ดำเนินการถลุงแร่ทองตรงบริเวณสถานที่ใกล้เรือนจำปัจจุบัน จะเห็นว่ามีปล่องไฟ เครื่องจักรอยู่ริมกำแพงเรือนจำ สร้างตึกยาวลักษณะขวางตะวัน 1 หลัง เป็นตึก 2 ชั้น สำหรับรับแขก ทางด้านทิศตะวันตกของโรงจักรมีการสร้างตึก 4 ชั้น ให้ชาวต่างชาติอยู่อาศัย

โรงถลุงแร่ทองคำเมืองปราจีน สมัยรัชกาลที่ 5

 

การถลุงแร่ทองคำเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2418 โดยขนแร่จากบ่อทองเมืองกบินทร์บุรี แต่การขนส่งมีปัญหาเพราะแม่น้ำตื้นเขินเป็นช่วงๆ จึงต้องไปเกณฑ์แรงงานมาขนแร่ ส่วนแรงงานก็ทำได้ไม่เต็มที่ บางคนล้มป่วย หรือหนี พระปรีชากลการ จึงลงโทษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ท่านทำเด็ดขาดเพราะเหตุว่าเป็นเงินของหลวงที่นำมาลงทุน แต่กลับเป็นปัญหาต่อ
พระปรีชากลการในเวลาต่อมา และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ พระปรีชากลการ เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี (พ.ศ. 2419) แต่เป็นเจ้าเมือง 2 ปี ก็เกิดเหตุฟ้องร้อง กล่าวโทษเจ้าเมืองนี้ ที่ข้าราชการสายวังหลวง ชาติตระกูลสูง บุตรพระยากระสาปน์กิจโกศล ผู้ผลิตเหรียญกษาปน์ในไทย ฐานะร่ำรวยมาก

เรื่องที่ถูกฟ้องร้อง จิราพร กิ่งทัพหลวง สรุปว่ามี 4 ประเด็น 1.ได้ลงโทษคนที่มาทำงาน (ขนแร่) ถึงขั้นเสียชีวิต 2.มีเมียต่างชาติโดยไม่ได้ขอพระบรมราชานุญาต 3.หนีภารกิจรับเสด็จที่พระราชวังบางปะอิน โดยลงเรือไปกับ แฟนนี่ น็อกซ์ ลูกสาวกงสุลอังกฤษ ประจำประเทศไทย ต่อมาทั้งคู่ได้แต่งงานกัน โดยผู้ฟ้องว่าพระปรีชากลการหนีไปพลอดรักในเรือที่แม่น้ำเจ้าพระยา 4.ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ที่ส่งเงินเข้าพระคลังไม่ถึง 100 ชั่ง จากการที่ลงทุนไปหมื่นชั่ง

คดีนี้ครึกโครมมาก โดยที่ศาลสมัยนั้นลงโทษประหารชีวิต ริบราชบาตร แม้บางคนมีความเห็นว่าไม่น่าจะมีโทษถึงประหาร แต่เหตุที่ทำให้ถูกประหาร กล่าวว่า เพราะเป็นบุคคลสายวังหลวง มาจากตระกูลอมาตยกุล ซึ่งเป็นตระกูลที่เข้มแข็งคู่กับตระกูลบุนนาค ที่มีอำนาจในขณะนั้น ไม่อยากเห็นพระปรีชากลการแต่งงานกับลูกสาวกงสุลอังกฤษ จะทำให้อมาตยกุลแข็งขึ้น เพราะมีอังกฤษหนุน การตัดสินลงโทษจึงเกิดขึ้นรวดเร็ว แม้ว่ากงสุล น็อกซ์ ขอให้ปล่อยลูกเขย มิเช่นนั้นจะเอาเรือรบอังกฤษมาขู่ก็ตาม

พระปรีชากลการ ถูกประหารชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2422 ที่ จ.ปราจีนบุรี จิราพร อ้างบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และความทรงจำของรองอำมาตย์โทหลวงบำรุงรักษ์นิกร หรือ บุตร อเนกบุณย์ ว่าได้มีเรือมาจอดที่ทำเนียบหน้ากำแพงเมืองฝั่งตลาด แล้วได้นำตัวพระปรีชากลการขึ้นมาประหารชีวิต ที่ประหารนั้นอยู่บริเวณป้อมกำแพงเมือง ด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับโบสถ์วัดหลวงปรีชากูล

โรงถลุงแร่ทองคำเมืองปราจีน สมัยรัชกาลที่ 5

 

เมื่อพระปรีชากลการ ถูกประหารชีวิตแล้ว การทำเหมืองทองที่กบินทร์บุรียังคงดำเนินต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นบริษัทต่างชาติ 2 บริษัท มาดำเนินการ คือ บริษัท  The Kabin Syndicate of Sime  และ Societedes Mine de Kabin แต่ภายหลังก็หยุดดำเนินการโดยไม่ทราบสาเหตุ

บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ นักโบราณคดี ได้ติดตามเรื่องเหมืองทองกบินทร์บุรี พบเอกสารที่กล่าวถึงสายแร่ทองคำที่กบินทร์บุรีว่ามีอยู่จริง แต่ไม่มีปริมาณมากพอกับการลงทุน ภายหลังกรมทรัพยากรธรณี ก็ไม่ได้ดำเนินการค้นหาสายแร่ทองต่อ สรุปว่าปราจีนบุรีมีสายแร่ทองแต่มีปริมาณไม่มาก ถึงกระนั้นก็เป็นจังหวัดที่มีโรงถลุงแร่ทองคำขึ้นครั้งแรก

อนึ่ง เรื่องราวของพระปรีชากลการ ถูกแต่งเป็นนิยายเรื่อง Fanny & Regent of Siam (“แฟนนี่และผู้สำเร็จราชการแห่งสยาม”) โดย อาร์.เจ.มินนี่ ได้กลายเป็นหนังสืออิงประวัติศาสตร์ที่ขายดีในอังกฤษ ในไทยได้มีการแปลและตีพิมพ์หนังสือดังกล่าวใช้ชื่อว่า “ตัวจึงตาย เพราะได้เมียฝรั่ง”

พระปรีชากลการ มีชื่อเดิมว่า สำอาง อมาตยกุล เกิด 15 ส.ค. 2384 ถึงแก่กรรม โดยประหารชีวิต เมื่อ 24 พ.ย. 2422  เป็นบุตรคนที่ 2 ของ พระยากระสาปน์กิจโกศลกับคุณหญิงพลอย ปัจจุบันมีศาลเจ้าพ่อสำอางในตัว จ.ปราจีนบุรี คือ ศาลของ พระปรีชากลการ นั่นเอง