posttoday

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

11 ตุลาคม 2558

เมื่อเรื่องราวของสิ่งที่อยู่บนท้องฟ้ากลายเป็นความสุขและความฝัน สิ่งนั้นได้นำพาให้ช่างภาพอิสระคนหนึ่ง

โดย...พงศ์ พริบไหว ภาพ พงศ์ ศกุนตนาค

เมื่อเรื่องราวของสิ่งที่อยู่บนท้องฟ้ากลายเป็นความสุขและความฝัน สิ่งนั้นได้นำพาให้ช่างภาพอิสระคนหนึ่ง ศึกษาและมุ่งมั่นออกเดินทางเก็บภาพของดวงอาทิตย์ใต้เงามืดที่เรียกว่า “สุริยุปราคา” ใต้สมญานักล่าตะวันดับมากว่า 20 ปี...

พงศ์ ศกุนตนาค รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท คือชายคนดังกล่าว นอกจากนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ เขาเองถือเป็นช่างภาพชาวไทยคนแรกที่เดินทางตามเก็บภาพของการเกิดสุริยุปราคา หรือสุริยคราส ไปทั่วโลกมากมายกว่า 10 ประเทศ ซึ่งวัตถุประสงค์ที่สำคัญสำหรับเขา คือ เพื่อท้าทายความสามารถของตัวเองเพื่อเติมเต็มความสุข และอีกนัยหนึ่งคือการบันทึกเรื่องราวสำคัญของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่จะมีคุณค่ากับผู้คน

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

 

อย่างที่ทราบกันดีในทางวิทยาศาสตร์ การมีขึ้นของสุริยุปราคาเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน อันเป็นปรากฏการณ์ที่มีขึ้นเพียงเสี้ยววินาที และในแต่ละครั้งสามารถมองเห็นได้แค่เพียงบางจุด ทั้งยังแบ่งเป็นสุริยุปราคาบางส่วนและสุริยุปราคาเต็มดวง อย่างหลังถือเป็นสิ่งที่ช่างภาพคนนี้ตามเก็บภาพมาโดยตลอด ความยากของการถ่ายภาพเช่นนี้นอกจากเรื่องของเวลาที่น้อยนิด และสถานที่ที่เหมาะสม ท้องฟ้าที่สดใส และแม้การเตรียมตัวจะดีเท่าไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือโชคและความมุ่งมั่น

หลังจากเสร็จจากงานใหญ่ที่ชื่อว่า “Pray For Nepal” งานนิทรรศการรวมภาพถ่ายเพื่อหาเงินช่วยเหลือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล หัวเรือใหญ่ของงานอย่างพงศ์ ศกุนตนาค แบ่งเวลาก่อนถอดหมวกของผู้บริหารใหญ่มานั่งบอกเล่าเรื่องราวของการตามล่าสุริยุปราคาที่ฟังแล้วน่าทึ่งเสียเหลือเกิน โดยเจ้าตัวเล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานอดิเรกนี้ให้ฟังว่า

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

“คือผมสนใจเรื่องของศิลปะมาตั้งแต่เด็กแล้วนะ มันทำให้ตอนเข้าเรียนวิศวะ ผมได้เข้าไปอยู่ในชมรมถ่ายภาพ ตอนเรียนเด็กวิศวะก็จะไม่ค่อยมาด้านนี้กันเน้อ พอเข้าไปในชมรมผมก็ได้เจอกับพวกเด็กนิเทศ เด็กสถาปัตย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ผมได้มุมมองใหม่ๆ เยอะมาก แล้วก็สามารถนำไปใช้ในการถ่ายรูปด้านวิศวะได้อีก คือการถ่ายภาพมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ บางทีเรารู้แต่ศาสตร์ไม่รู้มุมกล้อง มันก็ไม่ได้ หรือบางทีเรารู้แต่ศิลป์ ไม่รู้เอนจิเนียร์ก็ไม่ได้ พอดีเรามันค่อนข้างอยู่ตรงกลาง ก็เลยชอบทั้งคู่ กลายเป็นสิ่งที่ลงตัวกันอีก

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

“ก็ถ่ายภาพมาเรื่อยๆ ยุคนั้นยังเป็นกล้องฟิล์มอยู่เลย เราก็ถ่ายภาพตกอยู่อาทิตย์ละม้วนสองม้วนนะ ก็ถือว่าเยอะ ก็ฝึกฝีมือมาเรื่อยๆ แล้วตอนเราเรียนอีก ความชอบของเราคือเรื่องวิทยาศาสตร์ คือชอบศึกษาถึงเรื่องราวของปรากฏการณ์ต่างๆ และเมื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์มันเข้ามาอยู่ในความสนใจของเรา มันเลยทำให้เราสนใจเรื่องของการถ่ายภาพบนฟ้าล่ะ แล้วตอนปี 1995 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย เราก็เลยลองถ่ายภาพสุริยุปราคาดู ปรากฏว่าครั้งนั้นสามารถถ่ายมาได้ด้วยนะ ตอนเอามาล้างก็ลุ้นมากเลยสำหรับเราครั้งแรกภาพก็ออกมาดีนะ ถ่ายมาได้ครบเลย ตั้งแต่คราสเข้าและคราสออกเขาเรียกว่า ภาพเส้นทางของดวงอาทิตย์ จนอาจารย์เอาภาพที่เราถ่ายไปติดเรียงไว้ในชมรมเลยนะ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังจะครบ 20 ปี พอดีจะเกิดขึ้นในเมืองไทยอีกทีก็วันที่ 11 เม.ย. 2070”

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

 

นั่นเองเป็นเหมือนแรงบันดาลใจที่ทำให้ช่างภาพหนุ่มตั้งความหวังไว้ว่า เขาจะต้องตามเก็บภาพสุริยุปราคาให้ได้อีกครั้งในชีวิต เหมือนเป็นเช่นดังความฝันที่ติดตัวมาเสมอ ตลอดมาเขาเองไม่เคยทิ้งการถ่ายภาพ แม้จะเรียนจบและมีหน้าที่การงานที่มั่นคง เมื่อมีโอกาสเขามักจะถือกล้องออกไปเก็บภาพผู้คน วิวทิวทัศน์ และเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์อื่นๆ เช่น จันทรุปราคา ฝนดาวตก กระทั่ง 14 ปีต่อมาเจ้าตัวจึงทำฝันนั้นสำเร็จกับการตามล่าสุริยุปราคาได้อีกหนในชีวิต ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน

“คือสุริยุปราคาเต็มดวงเป็นเหตุการณ์ที่ถ้าใครไม่ได้สัมผัสก็จะไม่รู้ว่างดงาม อย่างเมืองไทยเกิดไปแล้ว ก็จะไม่มีอีก เพราะฉะนั้นถ้าเรามานั่งรอให้มันเกิดในเมืองไทยก็ไม่มีโอกาสคงมีอายุอยู่ไม่ถึง ก็เลยเลือกที่จะตามล่าไปทั่วโลก ก็เกือบ 14 ปีเลยนะหลังจากประสบการณ์ครั้งแรก คือเมื่อมีหน้าที่การงานที่ดีพอมีเวลาบ้าง เราก็เลยอยากกลับมาตามฝันอีกครั้ง เราก็เลยวางแผนเพื่อตามถ่ายภาพสุริยุปราคาอีกครั้ง

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

 

“การตามถ่ายสุริยุปราคามันต้องเตรียมตัวอย่างน้อย 2 ปีนะ เพราะโอกาสที่จะไปเกิดในเมืองเล็กๆ ที่ไม่สะดวกในการเดินทางและการหาที่พักเป็นไปได้เสมอ แล้วตอนนั้นเรามีเพื่อนอาศัยอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะมีโอกาสได้เห็นสุริยุปราคาในปี 2009 เลยวางแผนที่จะไปเก็บภาพสุริยุปราคาเต็มดวงด้วยกัน ทริปนั้นเราเตรียมตัวไม่ดีเท่าไร แล้วสภาพอากาศก็ไม่อำนวย ทำให้ทริปนั้นไม่ประสบความสำเร็จ (ยิ้ม) แต่ก็ได้สัมผัสกับบรรยากาศของการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในอีกรูปแบบหนึ่งนะ”

แม้จะเป็นทริปที่ทำให้เรียนรู้ถึงความผิดหวัง แต่การเดินทางในครั้งนั้น ผมเองก็เกิดความประทับใจและความตั้งใจใหม่ในชีวิตที่จะพยายามเดินทางไปสัมผัสกับบรรยากาศของการเกิดสุริยุปราคาให้ได้ทั่วโลก จึงจัดตั้งกลุ่ม “Thai Eclipse Chaser” ขึ้นมาเป็นการส่วนตัว ถือเป็นเหมือนจุดกำเนิดของการเริ่มความฝันครั้งใหม่ และเป็นการรวมตัวของผู้คนที่มีความสนใจเช่นเดียวกัน ถึงตรงนี้ทำให้เห็นความยากลำบากในการตามล่าสุริยุปราคาได้พอสมควร เพราะนอกจากความพร้อมที่ถึงแม้จะเตรียมตัวกันข้ามปี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือช่วงจังหวะของท้องฟ้าที่สดใส โดยสิ่งที่ยากยิ่งกว่านั่นคือการซ้อมและการเตรียมตัวเลือกโลเกชั่นที่จะปักหลักเก็บภาพถือเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งนักล่าเช่นพงศ์เล่าให้ฟังว่า

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

“ต้องเริ่มกันตั้งแต่การเตรียมเรื่องอุปกรณ์แล้วการถ่ายภาพสุริยุปราคาเต็มดวงสามารถถ่ายได้ 2 รูปแบบ คือ 1.ก่อนและหลังเกิดสุริยุปราคา มีเวลาราวๆ 1 ชม.ก่อนและหลังช่วงที่บังมิด และ 2.ช่วงที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง จะมีเวลาแค่ราวๆ 2 นาที จะเป็นช่วงนาทีทองของทุกๆ คน ตรงนี้จะต้องวางแผนการถ่ายให้เป็นอย่างดี ต้องมีการซ้อมเพื่อวางมุมกล้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนเกิดมีสุริยุปราคา 1 วัน โดยเราสามารถรู้เรื่องของเวลาเกิดปรากฏการณ์ได้ เพราะมีตารางทางดาราศาสตร์ของการเกิดสุริยุปราคาที่แม่นยำและแน่นอน ในยุคนี้มีเป็นแอพพลิเคชั่นเลยทำให้ง่ายต่อการวางแผนถ่ายภาพดวงอาทิตย์ในแบบต่างๆ ได้”

การวางแผนถ่ายภาพดวงอาทิตย์ที่พงศ์หมายถึงทางเทคนิคแบ่งเป็น 3 รูป แบบ คือ ภาพดวงอาทิตย์อย่างเดียว และภาพเส้นทางของดวงอาทิตย์ ตรงนี้เจ้าตัวเล่าว่าต้องคำนวณการถ่ายภาพรอยต่อระหว่างก่อนและช่วงดวงอาทิตย์ถูกบังมิดให้แม่นยำ ส่วนแบบสุดท้ายคือภาพที่มีสภาพแสงเหมาะสมไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเข้ามาช่วย ซึ่งโอกาสจะหาได้ยากที่จะสามารถได้ภาพที่มีบรรยากาศของทัศนียภาพของสถานที่นั้นๆ แต่สุดท้ายการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางทีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการคำนวณหรืออุปกรณ์ต่างๆ และการซ้อมเสมอไป โชคชะตาและการพยากรณ์อากาศถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

 

ฟังดูจากที่กล่าวมา การถ่ายภาพสุริยุปราคาดูเป็นเรื่องยากชะมัด แต่ชายคนนี้ก็ไม่เคยถอดใจ เขาวัดดวงครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อจะล่าสุริยุปราคาแบบเต็มดวงที่ว่ากันว่าสวยงามเป็นอย่างมาก

“หนึ่งปีถัดมาก็วางแผนไปถ่ายภาพสุริยุปราคาแบบวงแหวนที่ประเทศเมียนมา เนื่องจากเป็นประเทศที่ชื่นชอบไปเยือนและถ่ายภาพเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เลยเลือกเมืองที่ลึกลับและสวยงามที่สุดเมืองหนึ่งของเมียนมา นั่นก็คือเมืองมรัคอู การถ่ายภาพสุริยุปราคาครั้งนี้ก็ยังไม่ใช่แบบเต็มดวง แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ปี 2012 เกิดสุริยุปราคาแบบวงแหวนในทวีปเอเชียอีกครั้ง เลือกไปที่เมืองกว่างโจว ครั้งนี้แปลกไปกว่าหลายๆ ครั้งเพราะเป็นการถ่ายภาพพระอาทิตย์โดยที่ไม่ได้ใช้ฟิลเตอร์กรองแสงเพราะสภาพอากาศและเมฆ แต่ก็สามารถเก็บภาพที่แตกต่างจากที่อื่นๆ”

แม้จะยังไม่ได้ภาพที่อยากได้ดังใจเสียที แต่เขาเองก็ไม่เคยลดละ และนั่นเองทำให้เทพีแห่งโชคชะตาเข้าข้างผู้ไล่ล่า

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

 

“ถัดมาไม่กี่เดือนโชคดีที่มีการเกิดสุริยุปราคาแบบเต็มดวง แต่เกิดที่เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของออสเตรเลียที่ชื่อว่าแคนส์ เป็นเมืองตากอากาศทางตอนเหนือ แล้วการเดินทางจากประเทศไทยไม่ง่าย ต้องจองที่พักล่วงหน้าเป็นปี คือเป็นการเดินทางไปถ่ายภาพสุริยุปราคาเต็มดวงที่ไกลที่สุดทริปแรกของผม พอไปถึงก็พยายามหาสถานที่ที่เหมาะ ด้วยโชคที่ยังพอมี ก่อนเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงไม่กี่นาทีท้องฟ้าก็เปิด ทำให้มีโอกาสได้เก็บภาพสุริยุปราคาแบบเต็มดวงได้อีกครั้ง”

พอถึงตรงนี้เจ้าตัวเล่าด้วยใบหน้าที่เต็มสุข แต่ก็ดูเหมือนภาพที่ได้ยังไม่งามเท่าที่ใจหวังเขาเดินทางต่ออีกครั้งใน ปี 2015 เป็นการเดินทางกว่า 40 ชม. ข้ามทวีปเพื่อเก็บภาพสุริยุปราคาแบบเต็มดวงที่ไกลกว่าครั้งไหนๆ บนดินแดนที่แปลกตาและมีสภาวะอากาศที่แปรปรวน

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

 

“เหมือนเดิมผมวางแผนก่อนล่วงหน้ามา 2 ปี บังเอิญได้เพื่อนร่วมทริปเป็นเพื่อนสนิทที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศนอร์เวย์ เลยผนวกทริปท่องเที่ยวประเทศนอร์เวย์เข้ากันไว้ด้วยเลย (หัวเราะ) ส่วนการเดินทางไปยังเกาะสวาลบาร์ด (Svalbard) ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์ห่างจากขั้วโลกเหนือแค่ 1,000 กว่าๆ กม. ไม่ง่ายเลย ต้องไปกับทัวร์ชมสุริยุปราคา ก็คุ้มค่ามากกับการถ่ายภาพสุริยุปราคาที่สวาลบาร์ด ครั้งนี้ถือว่าเป็นการถ่ายภาพที่สมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ แต่บอกเลยว่าหนักมากคือผมต้องอยู่ในสภาพอากาศที่อุณหภูมิก่อนเกิดสุริยุปราคาซึ่งเป็นเวลากลางวันอยู่ที่ -10c แต่พอเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงอุณหภูมิได้ตกลงไปอยู่ที่ราวๆ -25c ตอนนั้นมือแข็งหมด สุดๆ มากทริปนี้ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่งดงามมาก”

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

 

ถึงจะต้องทนกับความหนาวระดับนั้น แต่ทริปนี้ถือว่าเขาเองได้ภาพที่สมบูรณ์แบบ ทั้งยังใช้เวลาทั้งหมดในสนาม 3 นาที ได้อย่างคุ้มค่า สำหรับเขาเองครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายที่สุดแล้วในการทำความฝัน อันเป็นความสุขที่ใครต่อใครอาจไม่เข้าใจ แต่เขาเองก็มีความสุขกับการที่ได้ลงมือถ่ายรูปดาราศาสตร์จนสำเร็จ ถึงวันนี้เจ้าตัวก็วางหมุดหมายและเตรียมการไว้แล้วว่าจะออกไปล่าตะวันดับอีกหนในปี 2016

“สำหรับเราที่ตามถ่ายรูปมันเป็นเหมือนการเก็บโมเมนต์ที่เราคิดว่าดีที่สุดของเราตอนนั้น เรารู้สึกว่าเราชอบที่จะเก็บภาพประทับใจเป็นภาพถ่าย แม้เดี๋ยวนี้อาจจะมีวิดีโอภาพเคลื่อนไหวแต่ก็ไม่ชอบ รู้สึกเสน่ห์มันไม่มี ไม่เหมือนการถ่ายรูปที่มันจะจับจุดตรงนั้น และดึงอารมณ์ทุกอย่าง อีกอย่างเราก็ได้ท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ด้วย นอกจากตามเก็บภาพของสุริยุปราคา อีกสิ่งหนึ่งที่ พงศ์ ศกุนตนาค มักทำเสมอคือการเก็บภาพสภาพของผู้คนโดยรอบสถานที่ที่เขาไปในแต่ละประเทศว่ามีปฏิกิริยาเช่นไรกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งเจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ

“ความสนุกของการถ่ายภาพดาราศาสตร์ ก็คือการได้เก็บภาพเหตุการณ์สำคัญให้ได้ และยิ่งถ้าได้เรื่องราวประกอบเข้าไปในภาพหรือเหตุการณ์นั้นๆ ยิ่งเติมเต็มและสร้างระดับความยากขึ้นทวีคูณ คือภาพมันเห็นเหมือนกันนะ แต่บรรยากาศต่างกันออกไป อย่างตอนที่ไปถ่ายที่เมียนมา คืออันนั้นไม่เต็มดวง เราก็เอาสไลด์ที่มันกันแดดไปให้คนที่นั่นใช้ดูสุริยุปราคา ก็ดูสนุกดี ผมก็ได้รูปคนเมียนมาใส่แว่นกันแดดดูสุริยุปราคา ซึ่งมันหาไม่ได้ อีกอย่างเราก็ได้รู้ด้วยว่าคนที่นี่เขามีวิธีการดูกันยังไง เอาถุงพลาสติกมาดูก็มี มันก็ได้ภาพที่ต่างไป”

ฟังดูแล้วสำหรับเขาเอง การไปเยือนแต่ละประเทศต่างให้ความประทับใจต่างกันไป ไม่มีที่ไหนยอดเยี่ยมที่สุด ฉะนั้นเขาเองจึงไม่หยุดตามล่าความฝันของการได้ภาพที่งดงามที่สุด แต่ดูเหมือนว่าเมื่อกลับมาย้อนมองภาพที่เจ้าตัวถ่ายไว้ แท้จริงแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่มุ่งมั่น คือ การที่ได้พาชีวิตออกไปพบไปเห็นความสุขของผู้คนที่เฝ้ามองสุริยุปราคาดวงเดียวกันกับที่เขาจ้องมองอยู่

เสี้ยวนาทีแห่งความสุข ของนักล่าตะวันดับ