posttoday

วันนี้

12 กันยายน 2558

ไม่ต้องจ่ายเงินไปดูวาฬ (Whale Watching) ที่ไหนไกล อ่าวไทยบ้านเราก็มีวาฬบรูด้าให้ชม

โดย...กาญจน์ อายุ ภาพ... กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

ไม่ต้องจ่ายเงินไปดูวาฬ (Whale Watching) ที่ไหนไกล อ่าวไทยบ้านเราก็มีวาฬบรูด้าให้ชม โดยเฉพาะช่วงนี้ตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย. เป็นเวลาดีที่จะมีโอกาสเห็นวาฬบรูด้าโผล่พ้นน้ำ นักท่องเที่ยวต้องไปขึ้นเรือที่ท่าเรือปากน้ำบางตะบูน จ.เพชรบุรี ซึ่งใครคิดจะไปรีบจองเรือตั้งแต่วันนี้ ไม่เช่นนั้นที่นั่งบนเรืออาจหายากยิ่งกว่าวาฬบรูด้า

ท่าเรือปากน้ำบางตะบูนเป็นทางออกไปยังทะเลอ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวตัว ก. จุดพบวาฬบรูด้าจำนวน 50 ตัว (สำรวจโดยเรือปี 2553-2558) ทุกตัวถูกบันทึกลักษณะ จุดสังเกต และมีชื่อ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศึกษามาตลอด 15 ปีผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ผลักดันให้วาฬบรูด้าและสัตว์ทะเลหายากเป็นสัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยพบวาฬ 2 ชนิด ได้แก่ วาฬบรูด้า และวาฬโอมูระโดยมีวาฬบรูด้าทั้งสิ้น 65 ตัว อาศัยอยู่ในอ่าวไทยตอนบน 50 ตัว และทะเลอันดามันอีก 15 ตัว ซึ่งในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีวาฬบรูด้าตายไปแล้ว 15 ตัว จากภัยคุกคามทั้งการประมง การสัญจรทางน้ำ การท่องเที่ยว และปัญหาแฝงอย่างขยะ

วันนี้

ระหว่างที่รอเรือมารับ ดร.ธรณ์ กางแผนที่อ่าวตัว ก. ให้ดู พร้อมแจกคู่มือดูวาฬบรูด้าที่บริษัท สิงห์ เอสเตท  เข้ามาสนับสนุนตีพิมพ์แจกให้นักท่องเที่ยว ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า วาฬบรูด้าตัวโตเต็มที่มีความยาว 15-16.5 เมตร น้ำหนัก 20 ตัน ไม่มีฟันแต่มีซี่กรองอาหาร มีรูหายใจ 2 รู มีร่องใต้คางเป็นแนวยาว 40-70 ร่อง มีแนวสันนูน 3 สันบริเวณหัว ตัวสีดำแต่ใต้คางเป็นสีชมพูเรื่อ แค่พลันคิดว่าจะได้ไปอยู่ทะเลเดียวกับพี่เบิ้มจำนวนครึ่งร้อยใจก็เต้นรัวแล้ว

วันนั้นเราเดินทางโดยเรือของ พี่จำรูญ พงษ์พิทักษ์ พี่เขาเห็นวาฬบรูด้ามาตลอดชีวิตจนจำได้ว่าตัวไหนชื่ออะไรและมีจุดไหนบ้างที่พบบ่อย เรือของพี่จำรูญเป็นเรือประมงไม้สองชั้น ด้านบนทำเป็นดาดฟ้าไม่มีหลังคา ด้านหน้าและหลังมีที่ว่างให้นั่งให้ยืน ฤกษ์งามยามดีคือ ออกเรือตั้งแต่ 7 โมงเช้า และกลับฝั่งประมาณ 5 โมงเย็น โดยเรือจะแล่นผ่านฟาร์มหอยแครง ผ่านกระเตง (บ้าน) ของชาวประมง เรื่อยไปจนออกไปสู่ทะเลใหญ่ และค่อยๆ แล่นไปตามจุดที่วาฬเคยขึ้น

วันนี้

 

“พวกมันอยู่รอบๆ เรานี่แหละ แต่จะโผล่ให้เห็นมั้ยก็ขึ้นอยู่กับจังหวะ ถ้ามันเจอง่ายๆ ก็ไม่เรียกว่าสัตว์หายากหรอกใช่มั้ย” พี่จำรูญสร้างเสียงหัวเราะให้คนบนเรือ ขณะที่สายตาก็สอดส่ายหาฝูงนกนางนวลแกลบ สัญญาณที่ชี้ว่าวาฬอาจอยู่ตรงนั้น เพราะพวกมันก็ติดตามฝูงปลากะตักเหมือนกับวาฬ

จุดที่พบบ่อยคือ บริเวณปากแม่น้ำท่าจีนหน้าโบสถ์วัดกะซ้าขาว และบริเวณที่เรียกว่าปะการัง โดยในช่วงหน้าฝนประมาณเดือน ส.ค.เป็นต้นไป น้ำจืดจากแม่น้ำต่างๆ ทั้งแม่น้ำบางตะบูน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง จะนำพาธาตุอาหารไหลลงทะเลและตกตะกอนเป็นเลน ล่อให้ฝูงปลากะตักเข้ามากินแพลงก์ตอนใกล้ชายฝั่งตั้งแต่เดือน ส.ค.-พ.ย. วาฬบรูด้าจึงว่ายใกล้ชายฝั่งเข้ามากินฝูงปลาเล็กปลาน้อย บางครั้งห่างจากฝั่งไปเพียง 1-2 กม.สัตว์ทะเลหายากที่พี่จำรูญพูดถึง นอกจากวาฬแล้วยังมีเต่าและโลมาอยู่ในรายชื่อ ซึ่งขณะนี้ ดร.ธรณ์ กำลังผลักดันให้วาฬบลูด้า วาฬโอมูระ และเต่ามะเฟือง ได้ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

วันนี้

“สัตว์สงวนมี 15 ตัว ตัวสุดท้ายคือพะยูน ซึ่งผ่านมาแล้ว 55 ปี ก็ยังไม่มีสัตว์ชนิดไหนเพิ่มอีกเลย ถ้าวาฬบรูด้าถูกขึ้นเป็นสัตว์สงวนจริงจะสามารถประกาศให้เป็นสัตว์วิกฤตตามมาตราที่ 22 และออกมาตรการอนุรักษ์ตามกฎหมายได้ตามมาตราที่ 23 ดังนั้นการเป็นสัตว์สงวนได้เร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยคุ้มครองชีวิตวาฬบรูด้าได้เร็วเท่านั้น” นอกจากนี้ยังมีคนกว่า 2.7 หมื่นคน ลงรายชื่อในเว็บไซต์ change.org สนับสนุนให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน รวมถึงสัตว์อีก 6 ชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง ได้แก่ กระเบนปีศาจครีบสั้น กระเบนปีศาจหางหนาม กระเบนปีศาจครีบโค้ง กระเบนปีศาจแคระ กระเบนแมนด้ายักษ์ และกระเบนแมนด้าปะการัง

ระหว่างที่ฟังไปนั้น ใจก็ภาวนาให้พบตัวจริง พี่จำรูญให้ข้อมูลว่า เขาจะบังคับเรือให้เข้าทางด้านข้างของวาฬเท่านั้น ไม่เข้าทางด้านหัวหรือหาง และเข้าใกล้วาฬในรัศมีระหว่าง 100-300 เมตร จากนั้นดับเครื่องยนต์หรือชะลอความเร็วไม่เกิน 4 นอต (7 กม./ชม.) ไม่เปลี่ยนทิศทาง และหากวาฬมีลูกควรอยู่ห่างมากขึ้นในรัศมี 300 เมตรเป็นอย่างน้อย แต่หากวาฬว่ายน้ำออกจากจุดที่เห็นนั้นอย่างรวดเร็ว พี่จำรูญจะไม่เร่งเครื่องยนต์ตามทันทีเพราะวาฬสื่อสารกันด้วยคลื่นเสียง เสียงเครื่องยนต์อาจทำให้พวกมันตื่นตกใจได้ นอกจากนี้ถ้าเห็นตัวมันแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่มันจะโผล่หัวกินปลา ซึ่งเป็นพฤติกรรมเฉพาะของวาฬบรูด้าที่นี่

วันนี้

ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการท่องเที่ยว Whale Watching แต่ถ้าเทียบกับทั่วโลกแล้วยังไม่ใช่เดสทิเนชั่นในฝันเหมือนไอซ์แลนด์ และซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้เมื่อวาฬบรูด้าถูกขึ้นเป็นสัตว์สงวนจริง การดูวาฬเพื่อการท่องเที่ยวต้องมีกรอบให้เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน รวมถึงควบคุมการประมง เช่น การกำหนดเครื่องมือในการจับปลา เขตพื้นที่ และเวลาในการทำประมง เพื่ออนุรักษ์วาฬบรูด้า เพิ่มปริมาณปลาในทะเล และทำให้การท่องเที่ยวถูกจัดการอย่างจริงจัง

ดร.ธรณ์ ตั้งเป้าหมายให้วาฬบรูด้าเป็น “ฮีโร่” ของทะเลไทย ให้เป็นตัวอย่างของการต่อสู้ของคนรักท้องทะเลไทยและต่อยอดสู่การอนุรักษ์อื่นๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่วาฬบรูด้าจะถูกขึ้นเป็นสัตว์สงวนภายในปี 2558