posttoday

รู้จักเยาวราชมากขึ้น ที่วัดไตรมิตร

31 สิงหาคม 2558

การได้ไปไหว้หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรวิทยาราม ย่านเยาวราชจึงทำให้แมงโก้หวานได้รู้ว่า มีพ่อค้าจีนคนหนึ่งวาสนาสูงส่งได้ขึ้นเป็น “องคมนตรี”

โดย...แมงโก้หวาน ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

การได้ไปไหว้หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรวิทยาราม ย่านเยาวราชจึงทำให้แมงโก้หวานได้รู้ว่า มีพ่อค้าจีนคนหนึ่งวาสนาสูงส่งได้ขึ้นเป็น “องคมนตรี” ที่ปรึกษาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2369-2437 ซึ่งถ้าไม่ไปไม่รู้แน่นอน เพราะไม่ค่อยได้อ่านประวัติศาสตร์

คุณผู้อ่านรู้ไหมว่าพ่อค้าสำเภาที่ไต่เต้าสู่ขุนนางตำแหน่งสูงสุดในกรมซ้ายคือใคร บุคคลผู้นั้นคือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน) พระยาผู้นี้ยังเป็นผู้สร้างวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนนิกายแห่งแรกในเมืองไทย และพระที่นั่งเวหาศจำรูญ ที่พระราชวงบางปะอิน อีกด้วย

ซึ่งพระที่นั่งเวหาศจำรูญนั้นเป็นพระที่นั่งสองชั้น สถาปัตยกรรมแบบจีน สร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2432 เป็นพระที่นั่งองค์สุดท้ายที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5

รู้จักเยาวราชมากขึ้น ที่วัดไตรมิตร

 

้ไปวัดไตรมิตรฯ ยังรู้อีกว่า เจ้าสัวเจ้าของตลาดใหญ่สำเพ็งคือใคร เขาเป็นคนจีนมีอาชีพปลูกผักมาก่อน ทำมาค้าขายสะสมทุนร่ำรวยจนกลายมาเป็นเจ้าของตลาดสำเพ็ง ทั้งยังเป็นคนจีนที่มีจิตใจงดงาม โดยได้ให้เงินทุนตั้งต้นชีวิตใหม่ในเมืองไทยแก่ชาวจีนจำนวนมาก บุคคลผู้นี้คือ “พระศรีทรงยศ” หรือเจ้าสัวเนียม มีชีวิตอยู่ในช่วง 80 ปีแรกแห่งยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4

ถามว่ามาวัดไตรมิตรฯ ทำไมรู้เกี่ยวกับชาวจีน คำตอบอยู่ที่ชั้นที่ 2 ของมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ จะมีศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช หรือพิพิธภัณฑ์เยาวราช ให้ผู้ที่มาวัดนอกจากไหว้หลวงพ่อทองคำแล้วยังได้ศึกษาความเป็นมาของชาวจีนในประเทศไทยในหลายแง่มุมอีกด้วย

มาที่นี่ทำให้รู้จุดกำเนิดชุมชนของชาวจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเดิมแหล่งที่ชาวจีนอาศัยอยู่มานานคือ เมืองบางกอก หรือธนบุรี ซึ่งมีชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งมีพระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วผู้สถาปนากรุงธนบุรีก็มีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพมาจำนวนมากและเกิดชุมชนชาวจีนขึ้นอีกแห่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

รู้จักเยาวราชมากขึ้น ที่วัดไตรมิตร

 

จวบปี 2325 รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และย้ายที่ตั้งราชธานีมาอยู่ฝั่งตะวันออกได้โปรดให้ชุมชนจีนบริเวณนั้นย้ายมาอยู่ริมแม่น้ำทางทิศใต้ของพระนคร โดยพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ระหว่างคลองวัดสามปลื้มกับคลองวัดสามเพ็งต่อมาเรียกย่านนี้ว่า “สำเพ็ง” ซึ่งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองหลวง โดยช่วง 3 รัชกาลแรกชุมชนจีนที่สำเพ็งเติบโตรวดเร็ว เนื่องจากการค้าสำเภาระหว่างไทยจีนขยายตัวและไทยเปิดรับคนจีนเข้ามาเป็นแรงงานในกิจการต่างๆ ส่วนจีนใหม่ที่เพิ่งมาจากเมืองจีนจะมาตั้งหลักที่สำเพ็งแล้วหาทางขยับขยายต่อไปที่อื่น   

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนเยาวราชเป็นหนึ่งในถนนที่สร้างขึ้นในโครงการตัดถนน 18 สาย เพื่อส่งเสริมการค้าในอ.สำเพ็ง เริ่มสร้างในปี 2435 ความยาวเพียง 1,532 เมตร กว้าง 20 เมตร ใช้เวลา 8 ปี เมื่อสร้างเสร็จทรงให้ปลูกตึกแถวใหม่สองข้างถนนเพื่อเช่าทำการค้าขาย เปิดโอกาสให้ชาวจีนเริ่มกิจการของตัวเอง โดยมีห้างร้านถาวรทันสมัยเกิดเป็นย่านการค้าใหม่ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของ อ.สำเพ็ง จนกลายมาเป็นอำเภอที่เก็บภาษีอากรโรงร้านได้มากที่สุด

อีกเรื่องน่ารู้หนึ่งของคนจีนคือจะมีค่านิยมในการสะสมทรัพย์สิน คือเมื่อเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยมีรายได้นอกจากจะส่งให้ครอบครัวที่เมืองจีนแล้วก็จะเก็บเงินส่วนหนึ่งซื้อทรัพย์สินสะสมไว้เป็นการสร้างฐานะ โดยยุคที่คนจีนยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ก็นิยมซื้อทองรูปพรรณเก็บไว้ ทำให้มีร้านทองหลายร้านเกิดขึ้นในย่านของคนจีนที่เยาวราช ซึ่งพัฒนาเป็นร้านใหญ่โตตามเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูในย่านนี้และกลายเป็นร้านทองชั้นแนวหน้าที่ถือเป็นแหล่งจำหน่ายทองคุณภาพสูงสุดของประเทศ

รู้จักเยาวราชมากขึ้น ที่วัดไตรมิตร

ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจากร้านทองคำต้นแบบ 4 ร้านในช่วงร้อยปีกว่ามาวันนี้สองฝั่งถนนเยาวราชและบริเวณใกล้เคียงมีร้านทองมากกว่า 130 ร้าน ถือเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำของประเทศ อีกทั้งเป็นตลาดทองรูปพรรณทำด้วยมือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งเป็นแหล่งผลิตทองรูปพรรณป้อนสู่ตลาดโลก ทั้งตลาดดูไบ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐ และยุโรป แต่ละวันมีกระแสเงินหมุนเวียนในการค้าทองคำบนถนนสายนี้หลายสิบล้านบาท

เยาวราชในวันนี้เป็นเสมือนเมืองเล็กของชาวไทยเชื้อสายจีนซ้อนอยูในนครหลวงของไทยจึงได้รับการขนานนามว่า ไชน่าทาวน์ของกรุงเทพฯ และนับเป็นไชน่าทาวน์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเต็มไปด้วยมรดกแห่งประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 200 ปี

ปัจจุบันพื้นที่ 1.5 ตารางกิโลเมตร ของย่านนี้ยังคงมีเสน่ห์ความเป็นจีนปรากฏให้เห็นในทุกซอกมุม สีสันอันหลากหลายของวัฒนธรรมจีนมีให้สัมผัสได้ทั้งในวิถีชีวิตของผู้คน สถาปัตยกรรม เทศกาลประเพณีไปจนถึงอาหารจีนเลิศรส ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการค้าที่คึกคัก เป็นศูนย์กลางการค้าทองคำระดับโลก ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชีวิตชีวาที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

รู้จักเยาวราชมากขึ้น ที่วัดไตรมิตร

 

มีความรู้ที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมายในศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชที่ทุกคนมาแล้วสามารถเก็บเกี่ยวเอากลับไปเล่าให้ลูกหลานฟัง เช่น เรื่องโพยก๊วน (การส่งจดหมายพร้อมเงินกลับบ้านที่เมืองจีน) ซึ่งสมัยก่อนที่เยาวราชมีร้านโพยก๊วนจำนวนมาก แต่ละร้านจะให้บริการเฉพาะถิ่นและมีตู้แยกโพยก๊วนตามแซ่เพื่อนำส่งถึงบ้านผู้รับ โดยที่ร้านจะมีกระดาษใบเล็กให้ผู้ส่งเขียนข้อความถึงญาติพี่น้องและบอกจำนวนเงินที่ส่งไป อีกทั้งมีบริการเขียนตามคำบอกสำหรับลูกค้าที่เขียนหนังสือไม่เป็นด้วย

ใครยังไม่เคยไปก็ลองไปดูนะครับ รับรองว่าได้อะไรหลายอย่างที่เห็นๆ คือ จิตใจที่เบิกบานและความรู้ที่เอาไปเล่าให้คนอื่นฟังได้