posttoday

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

10 มกราคม 2558

ความเดิมตอนที่แล้วได้เปิดเผยความลับของสองดินแดน ปราจีนบุรี-พระตะบอง (ประเทศกัมพูชา) ที่ว่าเป็นเมืองแฝดคนละฝา

ความเดิมตอนที่แล้วได้เปิดเผยความลับของสองดินแดน ปราจีนบุรี-พระตะบอง (ประเทศกัมพูชา) ที่ว่าเป็นเมืองแฝดคนละฝา ด้วยท่านพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ต้องจากบ้านเกิดเมืองพระตะบองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในปราจีนบุรี ท่านจึงสร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่แทบไม่ต่างกัน อีกทั้งวัดแก้วพิจิตรที่มีลักษณะคล้ายวัดดำเร็ยซอในพระตะบอง

ทว่า ความลับของสองเมืีองไม่มีเพียงความเหมือน ยังมีอีกหลายอย่างที่เรียกว่า “รอยไทย” กล่าวคือ ร่องรอยความเป็นไทยเมื่อครั้งพระตะบองเคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศ และที่สำคัญ บางรอย พระตะบองมีแต่ไทยไม่มี

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

อักษรไทยในบ้าน 100 ปี

บ้านของนายยี สะฤทธิ์ (Yi Sarit) มีอักษรไทยเขียนว่า “พระตะบอง” บนฝาบ้าน ผู้ที่เขียนทิ้งไว้คือคุณตาของเขาเอง

หลวงเสน่หาพิมลเคยเป็นเสมียนของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ท่านสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นหลังจากท่านเจ้าพระยาฯ อพยพไปอยู่ปราจีนบุรี ปัจจุบันถูกสืบทอดมายังรุ่นที่ 2 ตกทอดมายังนายยี สะฤทธิ์ มีศักดิ์เป็นหลานหลวงเสน่หาพิมล เขายังรักษาสภาพตัวบ้าน โครงสร้าง และการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม (แต่นายยีพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ นักท่องเที่ยวควรมากับไกด์ท้องถิ่น)

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

นายยีอธิบายโครงสร้างบ้านจากภาพ เขาเล่าว่าบ้านสมัยก่อนต้องมีเสา 4 แถว ใต้ถุนสูงสำหรับจอดเกวียน ผนังบ้านทำจากไม้ไผ่ฉาบด้วยปูนปั้นโบราณหน้าต่างบานใหญ่ให้ลมพัดผ่านสะดวก หลังคา 2 ชั้นเรียกว่า บ้านแบบคอสอง เพื่อกั้นความร้อนจากแสงแดด จากนั้นชี้ไปที่ตู้กลางบ้าน ที่มันไปตั้งอยู่ตรงนั้นเพื่อใช้บังทางเข้าไปห้องถัดไป เขาเรียกว่าเป็นการใช้ตู้แทนผ้าม่าน และจุดที่น่าสนใจคือ ประตูไม้เสริมเหล็ก เป็นประตูธรรมดาแต่ติดเหล็กเส้นแบนตามแนวขวางไว้กันขโมย และ รูบนพื้นบ้าน นายยีชี้แจงว่ามันคือรูระบายน้ำ สำหรับคนแก่ที่เดินลงไปอาบน้ำข้างล่างไม่ไหว ก็จะอุ้มจากเตียงมาอาบบนพื้นตรงที่มีรูระบายน้ำนั่นแล

บ้านสร้างปี 2450 ถึงตอนนี้ก็อายุ 108 ปี เหตุที่ยังอยู่ครบสมบูรณ์เพราะช่วงเขมรแดงปกครอง บ้านนี้ถูกใช้เป็นที่พักของนายร้อยพรรคคอมมิวนิสต์ จึงมีโอกาสตกทอดมายังรุ่นหลาน ปัจจุบันบ้านยังคงใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตระกูลหลวงเสน่หาพิมล และได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวบ้างนานๆ ที

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

เจดีย์ทรงเครื่องแบบไทยวัดสำโรงคนง

วัดสำโรงคนงหรือวัดสำโรงในเป็นวัดรวมญาติของตระกูลท่านอภัยภูเบศร ทุกๆ วันสำคัญเช่นวันสงกรานต์ และงานบุญใหญ่ ขี้ไต้จะถูกจุดรอบกำแพงอุโบสถส่องแสงไสวสวยงาม ทว่าในช่วงเขมรแดงปกครอง ปี 2518-2522 ความโหดร้ายกลับเข้ามาแทนที่ อุโบสถถูกใช้เป็นที่กุมขังผู้หญิง ศาลาข้างๆ ใช้กุมขังผู้ชาย ชีวิตของผู้คนมีชะตากรรมอันโหดร้าย เช่น ถูกใช้แรงงานจนตาย ผู้หญิงถูกข่มขืนแล้วฆ่า และอาจถูกฆ่าโดยไม่มีเหตุผล

เขมรแดง คือ กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หลังได้อำนาจก็เริ่มกวาดต้อนผู้คนให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานอย่างหนัก ส่วนคนที่มีความรู้อย่างทหาร ข้าราชการ วิศวกร หมอ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ จะถูกนำไปฆ่าเพื่อขจัดศัตรูทางชนชั้น ทำให้ในระยะเวลาดังกล่าวมีชาวกัมพูชาเสียชีวิตถึง 3 ล้านคน

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

ไกด์ของเรา “คิมเส็ง” เคยมีประสบการณ์ในช่วงนั้นเขาเล่าให้ฟังว่า “ถ้าปวดท้องพวกเขมรจะไม่ให้กินยาแต่จะผ่าท้องดูว่าเป็นอะไร” เขายังพาไปดูศาลาเก็บโครงกระดูก ตั้งอยู่บนทุ่งสังหารที่เคยมีคนตายเรือนหมื่นรอบๆ ศาลามีภาพปูนปั้นกล่าวถึงชะตากรรมของชาวบ้านและวิธีสังหารอันป่าเถื่อน แม้กระทั่งตอนนี้แค่เพียงยืนอยู่บนลานสังหาร ความหดหู่ก็เข้าครอบงำใจจนไม่อยากอยู่ตรงนั้น ชาวกัมพูชาย่อมรู้สึกมากกว่าและไม่อาจลืมช่วงเวลานั้นได้แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใด

เปลี่ยนมาเรื่องรอยไทยในวัดสำโรงคนง รอยไทยมีให้เห็นที่เจดีย์ทรงเครื่องแบบไทยทางซ้ายและขวาด้านหน้าอุโบสถ องค์เรือนธาตุประดับซุ้มทิศ ย่อมุมละเอียด (ย่อมุมไม้ยี่สิบสี่) สัดส่วนเจดีย์เหมือนสถาปัตยกรรมไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย พอเทียบให้เห็นคือคล้ายกับเมรุรายยอดสูงที่ตั้งอยู่รอบพระปรางค์ วัดไชยวัฒนาราม พระนครอยุธยา อุโบสถที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทดแทนหลังเดิมที่สร้างจากไม้ เคยใช้เป็นสถานที่จัดงานบุญที่คึกคักที่สุดของเมืองพระตะบอง

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

จักรีเหนือเกล้า ร.5 เหนือหัว

ชาวพระตะบองเรียกวัดปราบปัจจามิตรว่า วัดกระโดน(Kdol) มีความเกี่ยวข้องกับท่านพระยาอภัยภูเบศรตรงที่ท่านเป็นผู้พัฒนาวัดให้ใหญ่โตและสวยงาม หลังจากที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้สร้างไว้อันมีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานำช้างเดินผ่านช้างทั้ง 4 เชือกหยุดพร้อมกันถือว่าเป็นลางดี ท่านจึงให้สร้างวัดขึ้นที่นี่ ด้านหน้าอุโบสถก็มีรูปปั้นช้าง 4 เชือกจำลองเหตุการณ์ในครั้งนั้น

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

รอยไทยในวัดปราบปัจจามิตรอยู่ที่หน้าบันอุโบสถทั้งด้านหน้าและหลัง ด้านหน้าเป็นตราจักรีวางบนพระแสงขรรค์ชัยศรี เปล่งแสงทองบนลวดลายชดช้อย นับว่าเป็นตราที่หาชมได้ยากแม้ในประเทศไทย ส่วนด้านหลังเป็นรูปพระตะบองบนพานแว่นฟ้า สัญลักษณ์ตำแหน่งเจ้าพระยาคฑาธรธรณินทร์ (คฑาธรก็คือตะบองหรือกระบอง) ตำแหน่งของท่านชุ่ม อภัยวงศ์ ก่อนได้รับตำแหน่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ภายในอุโบสถมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพระตะบองศรัทธามาก คือ เสาพระ 4 หน้า ที่เล่ากันว่าลอยมากับน้ำมีลักษณะเป็นท่อนไม้ แต่ด้านบนสลักเป็นรูปพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ส่วนพระประธานที่เห็นปัจจุบันเป็น
องค์ใหม่ สร้างขึ้นหลังจากเขมรแดงทำลายองค์เดิมแล้วนำไปทำถนน และยังมีเสาไม้ในอุโบสถประดับด้วยแผ่นทองเหลืองแกะสลักพันรอบเสาทุกต้นไว้ สนิมบนแผ่นทองเหลืองบ่งบอกอายุจริงของอุโบสถผิดกับด้านนอกที่เพิ่งทาสีใหม่อย่างกับเพิ่งสร้าง

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์ซึ่งตรงประตูทางเข้ามีปูนปั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศรยืนอยู่ตรงขอบประตู สิ่งที่ชี้ว่าใช่ท่านน่าจะเป็นใบหน้าและหนวดอันป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้งานปูนปั้นยังมีให้วินิจฉัยที่อาคารหลังเก่าใกล้กุฏิพระ เสาทุกต้นมีรูปปูนปั้นหน้าตาประหลาด เช่น ฝรั่งหัวล้านพุงโลใส่สูท คนมีหัวเป็นช้าง ไก่มีหัวเป็นคน ซึ่งไม่มีบันทึกว่าที่มามาจากอะไร

เจ้าพระยาอภัยภูเบศรแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีโดยการประทับตราจักรีไว้บนหน้าบันณ วัดปราบปัจจามิตรแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเปี่ยมล้น เจ้าพระยาฯ ได้สั่งทำปูนปั้นตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 แห่งราชอาณาจักรสยามอยู่เหนือกรอบประตูด้านหน้าและหลังอุโบสถวัดดำเร็ยซอ แต่เดิมทาสีสวยงามทั้งสองฝั่งแต่ไม่ทราบว่าอย่างไรตอนนี้ตราสยามด้านหน้าถูกทาด้วยสีเทา แต่ก็ยังคงความงามของลายปูนปั้นที่ละเอียดยิบ

วัดดำเร็ยซอมีตราสยาม วัดปราบปัจจามิตรมีตราราชวงศ์ไทย ซึ่งวัดในประเทศไทยไม่มีปรากฏบนหน้าบันที่ไหนเลย ถือว่าเป็นร่องรอยที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรทิ้งไว้ให้รุ่นหลังได้แกะรอยตาม และเป็นหลักฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพระตะบอง

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

แกะรอยไทย ในพระตะบอง

 

แกะรอยไทย ในพระตะบอง