posttoday

‘นางเลิ้ง’ ยังขลัง

14 กันยายน 2557

ไปกี่ครั้งก็ยังสนุก ไปกี่ครั้งก็ยังเปี่ยมด้วยเสน่ห์ “นางเลิ้ง” ย่านเก่าแก่ที่หลายคนหลงใหลใน “ความขลัง”

โดย...โจลิฟวิ่ง / ภาพ อัคร เกียรติอาจิณ, คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ไปกี่ครั้งก็ยังสนุก ไปกี่ครั้งก็ยังเปี่ยมด้วยเสน่ห์ “นางเลิ้ง” ย่านเก่าแก่ที่หลายคนหลงใหลใน “ความขลัง”

จาก “อีเลิ้ง” ถึง “นางเลิ้ง” อดีตที่นี่เรียกขาน “บ้านสนามควาย” ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าชื่อคือภาพสะท้อนวิถีควายที่มารวมกันอยู่หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ อีเลิ้งเป็นชื่อตุ่มชนิดหนึ่งที่สืบทอดมาจากชาวมอญ “ตุ่มอีเลิ้ง” ของดีที่มีเฉพาะย่านนี้เท่านั้น

ด้วยยุคสมัยเปลี่ยน แนวคิดปฏิวัติวัฒนธรรม เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” การจิกเรียกอีเลิ้งดูไม่สุภาพ ไม่เหมาะ ไม่น่าฟัง จึงเลิกใช้ไปโดยปริยาย พร้อมผุดนางเลิ้งขึ้นมาแทน ฟังดูสุภาพ ไม่แสลงหู ทั้งยังให้เกียรติสตรีเพศแม่

‘นางเลิ้ง’ ยังขลัง

 

นางเลิ้งมีอายุยาวนาน ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านสถานการณ์การเมืองมาก็ไม่น้อย เลี่ยงไม่ได้ที่ผลกระทบจะมีต่อนางเลิ้ง เปรียบก็เสมือนคุณยายสูงวัย มากด้วยประสบการณ์ชีวิต มากด้วยเรื่องราวและเรื่องเล่า ตึกรามบ้านช่องยังคงสภาพโครงสร้างเดิม แม้จะถูกทาทาบสีสันชมพูหวาน ทว่าก็มีกลิ่นอายชวนให้ย้อนนึกถึงวันวาน

ร้านเก่าที่เคยเปิดบริการตั้งแต่รุ่นบุกเบิกยังไม่ล้มหายตายจาก ตึกเก่าแต่คนไม่เก่า รุ่นลูกรุ่นหลานเข้ามาสืบสานธุรกิจ ต่อลมหายใจไม่ให้ตายไปกับกาลเวลา

มานางเลิ้งทุกคนมักมุ่งตรงไปที่ตลาด ก่อนอื่นสักการะศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ เหล่าเต๊งกลางตลาด ว่ากันตามประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ ตลาดแห่งนี้ถือเป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดอย่างเป็นทางการ วันที่ 29 มี.ค. 2443 บวกลบแล้ว ณ ปัจจุบันก็มีอายุ 115 ปี พอดิบพอดี

‘นางเลิ้ง’ ยังขลัง

 

เสน่ห์ของตลาดนางเลิ้ง เดินได้ไม่รู้เบื่อ ละลานตาด้วยร้านรวง เด่นชัดและเป็นไฮไลต์ หนีไม่พ้นของกิน อร่อยสมชื่อ สูตรดั้งเดิมรุ่นปู่ย่าตายายทำขาย จับจิตจับใจผู้คนเมื่อก่อน วันนี้ก็วางแผงขายภายในตลาด บ้างก็ขยับขยายไปตั้งร้านละแวกใกล้เคียง

ที่นี่จึงเปรียบเป็นสวรรค์ของนักกินโดยแท้ ถนนบันเทิงโอษฐ์ใครๆ ก็ยกให้ตลาดนางเลิ้ง มาแล้วไม่อิ่มแปล้กลับไป ไม่ถือว่ายังไม่ถึงนางเลิ้ง ตามตรอกซอกซอย ล้วนเห็นของอร่อยรอให้ลิ้มลองกัน เฉพาะในตลาดก็มากโข จะมาเดินนางเลิ้ง แนะนำว่าอย่ากินอะไรมาก่อน มิเช่นนั้นจะเสียดายแย่ หากไม่ได้กินของอร่อยตำรับดั้งเดิม

‘นางเลิ้ง’ ยังขลัง

 

ถามไถ่แม่ค้าพ่อค้าในวัยคุณป้าคุณลุง บอกตรงกัน ยุคแรกเปิดตลาด คักคึกมากๆ ถนนตัดผ่าน ผู้คนทั่วสารทิศมาจ่ายตลาด ร้านรวงเรียงกันริมถนนนครสวรรค์ เรื่อยมาถึงถนนพะเนียงและถนนหลานหลวง รอบนางเลิ้งเต็มไปด้วยการค้าขาย ไหนจะมีโรงภาพยนตร์เฉลิมธานีที่คอยมอบความบันเทิงเริงใจให้ชาวชุมชน พอโลกเปลี่ยนหมุนไวขึ้น ห้างสรรพสินค้าปรากฏตัว ซูเปอร์มาร์เก็ตแจ้งเกิด คนหนีไปเดินตลาดแอร์เย็นฉ่ำ นั่งกินของอร่อยโดยไม่ต้องเหงื่อไหล ปล่อยให้ตลาดบ้านๆ โรยราและเงียบหงอย

ถึงอย่างนั้น ด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานและเสน่ห์แห่งความขลัง ที่นี่จึงไม่ได้วายชนม์เช่นตลาดและย่านเก่าแก่อื่นๆ ที่เหลือเพียงตำนานเล่าขาน ถามใครก็ไม่รู้จัก สืบค้นก็ไม่มีในสารบบ นับเป็นโชคดีของนางเลิ้งจริงแท้ ล่าสุดข่าวดีก็มีให้ชาวนางเลิ้งได้ยิ้มปริ เมื่อโรงภาพยนตร์เฉลิมธานีผุพัง กำลังจะได้รับการบูรณะให้กลับมาอยู่คู่ชุมชนอีกครั้ง เสร็จเมื่อไหร่คงมีงานฉลองใหญ่แน่นอน

ใครที่อยากมาสัมผัสความขลังของนางเลิ้ง มาได้ทุกวัน ขับรถยนต์มาหาที่จอดยาก ใช้รถสาธารณะสะดวกกว่า เสาร์อาทิตย์คนค่อนข้างพลุกพล่าน โดยเฉพาะในตลาด ของกินขนมาขายเต็มแผง วันปกติต้องไปเช้าๆ สายก็เริ่มหมด ไม่ว่าจะของกิน หรือผู้คน หลังบ่ายสองอย่าเสียเวลามา ตลาดวายหมด เหลือก็แต่ความเงียบหงอย หากไม่รีบ จะเดินเท้ารอบถนนสายต่างๆ ก็จะเจอความขลังที่แอบซ่อนอยู่ ตลอดจนของอร่อยระดับเชลล์ชวนชิมยังเปิดขายอยู่หลายร้าน

‘นางเลิ้ง’ ยังขลัง

 

แวะสักนิดแล้วจะติดใจ (ในความขลัง)

หอสมุดดำรงราชานุภาพ

รวมไว้ซึ่งหนังสือทรงคุณค่า จากปลายปากกา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เปิดให้ชมฟรี หนังสือหายาก หนังสือประวัติศาสตร์ และอีกสารพัดมิติแห่งหนังสือ มีให้อ่านจุใจหยิบได้บนชั้นหนังสือสูงลิบหัว หนอนหนังสือตัวยงเข้าไปแล้วยากจะกลับง่ายๆ อาจจะหลงยุคสู่สมัยเก่าก่อนก็เป็นได้ (ตั้งอยู่ในบริเวณวังวรดิศ ถนนหลานหลวง)

‘นางเลิ้ง’ ยังขลัง

 

ย่าน สนพ.และสายส่งเก่า

อาจจะไม่คึกคึกเท่ายุครุ่งๆ แต่ที่นี่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานสำนักพิมพ์และสายส่งหนังสือให้รำลึกได้ทุกช่วงเวลา ร้านขายหนังสือการ์ตูน หนังสือแม่บ้านทำอาหาร หรืองานฝีมือประดิดประดอย รวมไปถึงหนังสือสำหรับเด็กน้อยในเวอร์ชั่นเก่าผสมใหม่ หนังสือมือสอง ลดกระหน่ำจนต้องควักเงินซื้ออย่างไม่ลังเล ยิ่งเฉพาะเมื่อเจอเล่มที่ถูกใจ (ตั้งอยู่ถนนจักรรดิพงษ์ เชื่อมกับถนนนครสวรรค์)

บ้านนราศิลป์ VS บ้านเรืองนนท์

บ้านนราศิลป์อดีตคือบ้านแห่งการละครและการแสดงโขน สืบสานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะการฟ้อนรำของลูกหลานในชุมชนและบุคคลทั่วไป ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตชุดเครื่องแต่งกายโขน ละคร ชุดรำไทย ใกล้ๆ กันบ้านเรืองนนท์ คณะละครชาตรีที่ยังรักษาแบบแผนโบราณอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงแขนงอื่นๆ เช่น โขน หนังตะลุง ลิเก ซึ่งถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น (ตั้งอยู่ถนนหลานหลวง)

‘นางเลิ้ง’ ยังขลัง