posttoday

พิกุลถึงซากุระ

28 มิถุนายน 2557

“กลัวดอกพิกุลจะร่วง” เคยได้ยินชื่อดอกพิกุลมานานก็เพราะสำนวนนี้ แต่เพิ่งเคยเห็นหน้าตาเป็นครั้งแรก

โดย...แรมสองค่ำ

“กลัวดอกพิกุลจะร่วง” เคยได้ยินชื่อดอกพิกุลมานานก็เพราะสำนวนนี้ แต่เพิ่งเคยเห็นหน้าตาเป็นครั้งแรกก็คราวไปพนัสนิคม แต่พิกุลที่นี่ไม่ได้อยู่บนต้น มันอยู่บน “กระเป๋า”

อ.พนัสนิคม เป็นดอกไม้ริมทางบนมอเตอร์เวย์ ซึ่งถ้าจะเลี้ยวเข้าไปดอมดมก็คงเป็นเพราะ “ดอกพิกุล” อยู่ในชุมชนจักสานไม้ไผ่ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ “บ้านปราณี บริบูรณ์” ผู้รวมกลุ่มชาวบ้านมือจักสานเพื่อหลายประสงค์ ทั้งสืบสานงาน “ฝีมือละเอียด” ให้อยู่คู่ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเข้ามาต่อยอด ในวันนี้มีคุณป้าคุณยายนั่งสานอยู่ในบ้านปรานี 12 ชีวิต และในบ้านตัวเองอีกประมาณ 60 คน ผลิตงานจักสานคุณภาพเยี่ยมส่งขายในประเทศและส่งออกไปญี่ปุ่น

พิกุลถึงซากุระ

 

“เราผลิตสินค้าให้เป็นงานศิลปะ” คมกฤช บริบูรณ์ ลูกชายแม่ปราณีกล่าวถึงงานที่กลุ่มทำ เขาย้ำเสมอว่างานจักสานที่ทำเป็นงานฝีมือละเอียด ทั้งลายละเอียด และทำด้วยใจละเอียด เขายกตัวอย่างงานชิ้นเอกที่ต้องใช้เวลาทำ 3 เดือนและผลิตได้ปีละ 100 ใบอย่าง “กระเป๋าลายดอกพิกุล” งานจักสานฝีมือละเอียดยิบที่มีคุณค่ายิ่งในด้านหัตถศิลป์ ซึ่งถ้าพูดเรื่องราคาเริ่มต้นที่ “1 หมื่น” บาทเป็นอย่างน้อย

งานฝีมือชั้นสูง (และราคาสูง) ชิ้นนี้ถูกส่งออกไปยังเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ราคาถูกดึงสูงขึ้นอีก 300% แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าโอ้อวดเท่ากับกระเป๋าไม้ไผ่ที่ผลิตโดยคนพนัสนิคมถูกนำไปใช้คู่กับชุดกิโมโน เรื่องเชื้อชาติไม่ได้หยิบยกมาถกให้เป็นประเด็น ประเด็นมันอยู่ที่งานฝีมือชั้นสูงของไทยมิควรหยุดอยู่แค่สินค้าโอท็อปอีกต่อไปแล้ว

พิกุลถึงซากุระ

 

นอกเสียจากความเป็นไทยแท้ ทางกลุ่มยังได้เพิ่มสีสันตามฤดูกาลของญี่ปุ่นเพื่อให้เข้ากับกลุ่มตลาด แต่ลวดลายยังยืนพื้นลายไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณ คุณคมกริช เล่าว่า ชาวบ้าน อ.พนัสนิคม ถนัดงานจักสานมาตั้งแต่อดีต เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวนาจะสานกระบุงกระจาดใช้กันเองโดยใช้ไม้ไผ่นวลเป็นวัตถุดิบ ไม้ไผ่นวลเป็นไม้ที่ขึ้นชื่อในภาคตะวันออกแถบชลบุรี จันทบุรี และตราด โดยส่วนที่นำมาใช้คือผิวไม้เพียงมิลลิเมตรเดียว

เขายังกล่าวด้วยว่า งานจักสานขึ้นชื่อในไทยยังมีอีกมาก เช่น ในอยุธยา อ่างทอง ซึ่งก็มีงานลายดอกพิกุลเช่นกัน แต่ทั้งนี้แต่ละที่ก็มีเอกลักษณ์ต่างกัน เช่น การวางดอกและรูปทรง อย่างฝาชี ถ้าเป็นฝาชีในพนัสนิคมจะเป็นทรงกรวย แต่ถ้าในอยุธยาจะเป็นทรงโค้ง เป็นต้น

พิกุลถึงซากุระ

 

บ้านปราณี บริบูรณ์ เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงาน และแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมทุกวันจันทร์ถึงเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์ยังเปิดขายสินค้าแต่ไม่มีใครจักสานให้ชมและให้ความรู้ ซึ่งหากมาวันหยุดสุดสัปดาห์แนะนำให้ไปเดินตลาดจักสานไม้ไผ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นชุมชนขายสินค้าจักสานราคาถูกตลอดสองฟากถนน อัตลักษณ์ของ อ.พนัสนิคม มานับร้อยปีและตอนนี้หอมไปไกลถึงแดนซากุระ

บ้านจักสาน ปราณี บริบูรณ์ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โทร. 038-461-313 สามารถเข้าชมการจักสานได้ทุกวันจันทร์เสาร์ เวลา 08.00-17.00 น. และเลือกซื้อสินค้าได้ทุกวันจันทร์อาทิตย์ เวลา 08.00-17.00 น.

กลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านปราณี บริบูรณ์ เข้าร่วมโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โครงการนี้จะให้ความรู้ เพิ่มมูลค่าสินค้า หาตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ และจดลิขสิทธิ์ให้สินค้าที่เข้าร่วมโครงการ

พิกุลถึงซากุระ