posttoday

ตามสายแร่ พลอยจันท์ถึงดีบุก

31 พฤษภาคม 2557

ความหมายของการเดินทางมิใช่จุดหมายแต่คือระหว่างทาง เคยได้ยินมานานแต่เพิ่งเก็บได้เป็นกอบเป็นกำคราวนี้

โดย...แรมสองค่ำ

ความหมายของการเดินทางมิใช่จุดหมายแต่คือระหว่างทาง เคยได้ยินมานานแต่เพิ่งเก็บได้เป็นกอบเป็นกำคราวนี้ เมื่อไปสวนผลไม้ที่จันทบุรีแล้วเจอเหมืองพลอย ต่อด้วยไปดำน้ำที่ภูเก็ตแล้วเจอเหมืองดีบุก เป็นเรื่องราวระหว่างทางของทั้งสองแห่งที่เมื่อนำมาปะติดปะต่อกันแล้วเกิดเป็นทางสายแร่ นอกจากในน้ำมีปลา ในนามีข้าวแล้ว ประเทศไทยยังมีทรัพยากรธรรมชาติใต้ดินอันสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสายแร่อัญมณีในจันทบุรี โดยเฉพาะบริเวณเขาพลอยแหวนทางทิศตะวันตกของจังหวัด เป็นปล่องภูเขาไฟโบราณที่เคยปะทุและนำเอาพลอยขึ้นมาสะสมตัวเมื่อกว่าล้านปีมาแล้ว ทำให้จันทบุรีเป็นดินแดนทำเหมือง เจียระไน และค้าพลอยที่สำคัญของไทย

ตามสายแร่ พลอยจันท์ถึงดีบุก

 

วิธีการทำเหมืองที่นิยมเป็นแบบเหมืองสูบคือ เริ่มจากการเปิดหน้าดิน แล้วใช้เครื่องสูบน้ำฉีดให้ดินและทรายที่มีพลอยสะสมอยู่ไหลไปรวมกันในแอ่ง จากนั้นใช้เครื่องแย็ก หรือจิ๊ก แยกพลอย พลอยที่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าหิน ดิน และทรายจะจมลงอยู่ในร่อง ส่วนประกอบอื่นที่มีน้ำหนักเบากว่าจะลอยตามน้ำไป และปิดท้ายด้วยการเก็บกู้แร่เพื่อคัดเลือกพลอยด้วยมือ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญคือการเจียระไน ทักษะการเจียระไนมีต้นกำเนิดมาจากชายไทยใหญ่ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวพม่าอีกทอดหนึ่ง เป็นการนำก้อนพลอยมาตัดแต่งให้เป็นรูปร่างที่ต้องการ โดยการตัดเหลี่ยมและขัดเงาทุกเหลี่ยมแต่ต้องรักษาเนื้อพลอยไว้ให้มากที่สุด ฝีมือช่างเจียระไนพลอยเมืองจันท์มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ปัจจุบันแหล่งค้าพลอยสำคัญอยู่บริเวณถนนศรีจันท์และตรอกกระจ่าง มีการซื้อขายพลอยดิบ พลอยเจียระไน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลอยเต็มสองฟากถนน

ตามสายแร่ พลอยจันท์ถึงดีบุก

 

นอกจากนี้ ในตัวจังหวัดมีการตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี” มีส่วนสำคัญคือพิพิธภัณฑ์อัญมณีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีทั้งห้องวีดิทัศน์ 3D ห้องจัดแสดงและสาธิตการผลิตและเจียระไนพลอยหรือไลฟ์มิวเซียม (Live Museum) และนิทรรศการแบบอินเทอร์แอ็กทีฟ (Interactive) บอกเล่าความเป็นมาของอัญมณีตั้งแต่การขุด การผลิต และแปรรูปจนได้เป็นอัญมณีล้ำค่า ภายในศูนย์ยังมีร้านค้าจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับที่มั่นใจได้ และศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี ทำให้สามารถตรวจสอบสินค้าได้ทันที หากอัญมณีที่ซื้อมามีข้อกังหาก็สามารถนำไปเปลี่ยนที่ร้านได้เดี๋ยวนั้น ติดตามสายแร่ลงใต้ไปยังภูเก็ตจะพบกับแร่ดีบุก ปัจจุบันถ้าขับรถผ่านบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่มีการทำเกษตรใดๆ บ่อนั้นอาจเป็นเหมืองเก่าในอดีต คนรุ่นปัจจุบันสามารถศึกษาได้ที่ “พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต” ตั้งอยู่ในหุบเขาบริเวณที่เคยเป็นเหมืองเก่า สร้างเป็นอาคารแบบอังมอเหลาหรือตึกนายหัวเหมืองสไตล์ชิโนโปรตุกีสสีชมพูอ่อน ภายในแบ่งเป็น 8 ห้องแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตของนายหัวเหมือง วิถีชีวิตชุมชน ชีวิตชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาทางเรือสำเภา ศิลปวัฒนธรรมไทยจีน และนิทรรศการการกำเนิดแร่ดีบุก ขั้นตอนการถลุงแร่ และการแปรรูป ในอดีตมีการทำเหมืองแร่ดีบุกทั่วตำบลกะทู้ ขุมเหมืองโบราณที่เหลืออยู่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาของบรรพชนที่แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทแทน แต่ก็ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ การเดินทางตามสายแร่จากตะวันออกมายังเกาะทางใต้เห็นได้ชัดเจนว่าเมืองไทยมีของดีอยู่ทุกหน ทั้งบนดินและใต้ชั้นหินล้วนมีทรัพยากรที่มีคุณค่า ลองเปรียบเทียบเล่นๆ ว่าถ้าตอนนี้สังคมเรากำลังอยู่ในช่วงคัดแยกพลอย เครื่องแย็กกำลังแยกแยะว่าก้อนไหนคือพลอยจริงหรือหิน ดิน ทราย เราเพียงต้องรอและนำมันมาเจียระไน

ตามสายแร่ พลอยจันท์ถึงดีบุก

 

ล้อมกรอบศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ถนนมหาราช ใกล้สวนสาธารณะสมเด็จพระเจ้าตากสิน เปิดทุกวันเวลา 09.00-17.00 น. โทร. 039-303-118พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ถนนกะทู้เกาะแก้ว อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. โทร. 076-510-115