posttoday

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

25 พฤษภาคม 2557

นอกจากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่หลงเหลือก็พอจะบ่งบอกได้ว่า พระนครศรีอยุธยา

โดย...สืบสิน / ภาพ คลังภาพ นสพ.โพสต์ทูเดย์

นอกจากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่หลงเหลือก็พอจะบ่งบอกได้ว่า พระนครศรีอยุธยา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นราชธานีนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด และอีกหนึ่งสถานที่ที่ถือว่าเป็นมงคลคู่บารมีและประดับยศศักดิ์ให้กับพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็คือ เพนียดคล้องช้าง

“ตอนเย็นนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม

เสด็จไปทอดพระเนตรช้างเถื่อนในเพนียด...

เมอซิเออร์ ก็องสตังซ์ (ฟอลคอน)

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

 

ได้บอกเราถึงเรื่องที่เหลือจะเชื่อได้ว่า

ในราชอาณาจักรสยามนี้มีช้างที่ได้รับการฝึก

ให้เชื่องแล้วถึง 2 หมื่นเชือก”

บาทหลวงเดอ ซัวซีย์/ พ.ศ. 2202

ด้วยถ้อยคำของบาทหลวงเดอ ซัวซีย์ ได้บอกเล่าว่า เมอซิเออร์ ก็องสตังซ์ (ฟอลคอน) เคยเล่าให้ท่านฟังว่าครั้งหนึ่งกษัตริย์แห่งกรุงสยามได้เสด็จทอดพระเนตรช้างเถื่อนในเพนียด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อว่าอาณาจักรสยามนั้นมีช้างที่ได้รับการฝึกให้เชื่องแล้วถึง 2 หมื่นเชือก ทำให้เรารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เลยตามรอยประวัติศาสตร์ด้วยการมาเยือนเพนียดคล้องช้างแห่งนี้

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

 

ยังจำได้ดีในสมัยยังเด็กแม่เคยพามาเดินเล่นที่เพนียดคล้องช้างแห่งนี้ ภาพที่แลเห็นเป็นเพียงโครงไม้ตั้งเรียงราย บ้างเอน บ้างหักล้ม และยังมีพลับพลาเก่าๆ ที่ครั้งหนึ่งน่าจะเป็นที่ประทับทอดพระเนตรในการชมการจับช้างป่าของพระมหากษัตริย์ ทว่าวันนี้ที่เพนียดคล้องช้างกลับพลิกฟื้นกลายมาเป็นศูนย์พิทักษ์ช้างไทยที่มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

ในประวัติกล่าวเอาไว้ว่า “เพนียด” หมายถึง กรงหรือคอกที่ทำไว้สำหรับดักจับสัตว์ ถ้าเป็นเพนียดจับนก ก็ทำเป็นกรงด้วยไม้ซี่เล็ก แต่ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่โดยเฉพาะช้าง ต้องทำคอกด้วยซุงทั้งต้น นำมาตอกฝังลงในดิน เหลือไว้สูงกว่าตัวช้างเล็กน้อย การจับช้าง คนไทยเราเรียกกันว่า คล้อง เพราะใช้เชือกเป็นอุปกรณ์สำคัญในการคล้องจับช้างที่แห่ต้อนเข้ามาในคอก

เพนียดคล้องช้างจึงเป็นสถานที่สำหรับใช้ในการจับช้างป่า เพื่อคัดเลือกช้างที่มีลักษณะงามต้องตามตำ

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

ราคชลักษณ์ ซึ่งจะนำมาใช้ในงานศึกสงคราม หรือค้นหาช้างมงคล อันจะเป็นการเสริมส่งบุญญาบารมีแห่งบุรพกษัตราธิราชเจ้า

ตามประวัติศาสตร์บอกว่าเพนียดคล้องช้างสร้างขึ้นสำหรับจับช้างป่ามาใช้งานในอดีต ซึ่งจะนำใช้งานได้ทั้งในยามปกติและยามมีศึกสงคราม เนื่องจากช้างมีความแข็งแรงทนทาน มีกำลังมาก และสามารถเดินทางบุกป่าฝ่าดงไปได้เกือบทุกแห่ง ช้างจึงเป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก และยังเป็นสินค้าส่งออกหรือนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นได้อีกด้วย นอกจากนี้ช้างยังถือเป็นของคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะช้างเผือกซึ่งหายาก เชื่อกันว่าพระเจ้าแผ่นดินใดมีบุญญาธิการมากจึงจะได้ช้างเผือกไว้ครอบครอง

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

 

เดิมทีเพนียดตั้งอยู่ที่วัดซอง ด้านทิศเหนือของพระราชวังจันทรเกษม ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2123 โปรดให้ขยายกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออกไปที่ริมฝั่งแม่น้ำ ฉะนั้นจึงทรงโปรดให้ย้ายเพนียดไปที่ ต.ทะเลหญ้า หรือ ต.สวนพริก ที่อยู่ปัจจุบันนี้ ตัวเพนียดที่เหลืออยู่ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ซ่อมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ซ่อมขึ้นอีกถึง 2 คราว

ด้วยลักษณะของ “เพนียดคล้องช้าง” นั้นเป็นคอกขนาดใหญ่สองชั้น ชั้นนอกก่ออิฐเป็นเชิงเทินสูง เชิงเทินทั้ง 4 ด้านไม่ติดกัน จะเว้นประตูของทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก บนเชิงเทินด้านทิศตะวันตกจะเป็นลานกว้างกว่าด้านอื่น ส่วนด้านทิศเหนือและทิศใต้จะมีบันไดขึ้นเชิงเทินด้านละ 2 บันได ชั้นในฝังเสาไม้เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีช่องให้ช้างเดินผ่านได้ทีละตัว รวมเสา 226 ต้น ตรงกลางเป็นเพนียดมีหอประดิษฐานพระพิฆเณศ เทพเจ้าแห่งช้าง ส่วนด้านนอกจะมีเสาปักเรียงกัน โดยจะปักเสาให้สอบจากกว้างสุดมาแคบสุดตรงทางเข้าเพนียด เรียกว่า “ปีกกา” บริเวณนี้ใช้เป็นที่พักช้างป่า ก่อนจะต้อนเข้าสู่เพนียด

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

 

ส่วนประตูช่องกุด เป็นช่องที่เจาะทะลุเชิงเทินสำหรับช้างเดินลอดเชิงเทินไปในเพนียด เดิมจะมีประตูช่องกุดทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ 2 ช่อง แต่เมื่อรัฐบาลซ่อมเพนียดครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2500 ได้อุดช่องกุด 2 ช่อง ด้านทิศเหนือเสีย ปัจจุบันจึงยังคงเหลือด้านทิศใต้เพียง 2 ช่อง

สำหรับการคล้องช้างตามตำราคชศาสตร์นั้น จะกระทำได้โดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยมีกรมคชบาลและพราหมณ์พฤฒิบาศเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ เริ่มจากการต้อนโขลงช้างป่ามาพักไว้ที่ปีกกา วันต่อมาจึงต้อนเข้าเพนียดครั้งละ 40-50 เชือก เพื่อคัดเลือกช้างที่ต้องลักษณะ ส่วนที่เหลือก็จะปล่อยเข้าป่าไป

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

 

ผู้ที่ทำหน้าที่คล้องช้างคือ “หมอช้าง” นั่งบนหลังช้างที่ฝึกมาดีแล้ว เรียกว่า “ช้างคล้อง” มือถือไม้คันจามยาวประมาณ 5 เมตร ตรงปลายมี “บ่วงบาศ” ขนาดกว้างกว่าเท้าช้างเล็กน้อย คล้องไปที่ขาหลังของช้างป่าที่ต้องการ ซึ่งการคล้องช้างต้องใช้ทั้งสมาธิ ประสบการณ์และพละกำลัง เนื่องจากช้างป่าจะตกใจตื่นและวิ่งเตลิดไปรอบเพนียดตลอดเวลา ต่อจากนั้นก็ใช้เชือกปะกำซึ่งทำจากหนังควายคล้องคอช้างป่าตัวนั้นไว้ ก่อนที่จะนำออกไปฝึกให้เป็นงานต่อไป

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นรัชกาลสุดท้ายที่พระราชาธิบดีแห่งประเทศไทยโปรดให้มีการจับช้างป่า ปรากฏว่าได้จัดพิธีการคล้องช้างป่า ณ ที่แห่งนี้ให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งในขณะนั้นเป็นมกุฎราชกุมารทอดพระเนตร และอีกครั้งหนึ่งให้กับแกรนด์ดุ๊กบอริสวลาดิมิโรวิตช์ แห่งรัสเซีย ทอดพระเนตร

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้จัดพิธีการคล้องช้างป่าถวายแก่พระราชาธิบดีแห่งเดนมาร์ก และตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ได้มีการรื้อฟื้นพิธีคล้องช้างตำราหลวงเป็นการสาธิต ณ เพนียดพระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ให้ประชาชนทั่วไปได้ชม

ในปัจจุบัน เพนียดคล้องช้างได้รับการสนับสนุนจากกรมศิลปากร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยช่วงก่อตั้งนั้นเป็นช่วงวิกฤตช้างภาคเหนือถูกบังคับให้กินยาบ้าเพื่อให้ลากซุง แล้วขายช้างลงมาภาคกลางและภาคอีสาน ช้างแก่จำนวนมากป่วยและตายลง จึงตั้งมั่นในการอนุรักษ์และสืบสานสายพันธุ์ช้างไทยให้ยั่งยืน มีการจัดระบบระเบียบการเลี้ยงช้างที่ได้มาตรฐาน และเริ่มโครงการสืบสานสายพันธุ์ช้าง (วิวาห์ช้าง) เป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันมีลูกช้างที่เกิดที่เพนียดหลวงเป็นจำนวนมาก

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

 

เพนียดคล้องช้างในทุกวันนี้ยังจัดเป็นศูนย์พิทักษ์ช้างไทยของเรา เอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้สัมผัสกับความน่ารักของช้างไทยเราอีกด้วย

เพนียดคล้องช้างเปิดให้ชมความน่ารักของช้างทุกวันตั้งแต่ 09.00-17.00 น.

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

 

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

เพนียดคล้องช้างคู่พระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา