posttoday

โลกของทอมมี่

05 เมษายน 2557

สีผิวหนังและกระดองของเต่าตนุจะเปลี่ยนไปตามสิ่งที่มันเห็น

โดย...แรมสองค่ำ

สีผิวหนังและกระดองของเต่าตนุจะเปลี่ยนไปตามสิ่งที่มันเห็น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผิวและกระดองของ “ทอมมี่” เป็นสีดำ

ทอมมี่เป็นเต่าตนุ โลกของทอมมี่เป็นสีดำ เพราะมันพิการทางสายตา ไม่มีดวงตาทั้งสองข้างตั้งแต่แรกเกิด แต่ในโชคร้ายก็มีโชคดีที่มันถูกส่งตัวมาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) ทำให้มันรอดตายจากความหิวและอันตรายจากผู้ล่า

ตามสถิติของธรรมชาติ ไข่เต่า 1,000 ฟอง มีโอกาสรอดชีวิตและสืบพันธุ์ต่อไปได้เพียง 0.1% หรือ 100 ตัว ธรรมชาติจึงวิวัฒนาการให้เต่าออกไข่ครั้งละปริมาณมากประมาณร้อยฟอง เพื่อให้มันมีโอกาสอยู่รอด แต่แม้ว่ามันจะออกไข่มากมาย ปัจจุบันเต่าก็ยังเป็นสัตว์ทะเล “หายาก” เพราะหลายสาเหตุ

โลกของทอมมี่

 

ทั้งชายหาดที่เป็นสถานที่วางไข่ถูกทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว เต่ามีศัตรูทางธรรมชาติมากมาย ตั้งแต่สัตว์กินไข่จนถึงปลาใหญ่ที่อ้าปากรอเมื่อมันเดินลงทะเล และตัวการสำคัญคือ มนุษย์ ที่ฆ่ามันเพื่อสนองความเชื่อและเงิน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากธรรมชาติของเต่าเอง ถ้าอุณหภูมิในรังใต้ทรายมากกว่า 30 องศาเซลเซียส ไข่จะฟักเป็นตัวเมีย ต่ำกว่า 29 องศาเซลเซียสเป็นตัวผู้ และถ้าอยู่ที่ 29.2 องศาเซลเซียส มีโอกาสเป็นเพศใดก็ได้ครึ่งๆ ซึ่งปัจจุบันโลกกำลังร้อนขึ้น ทำให้อุณหภูมิในรังสูงขึ้นด้วย ไข่จึงฟักเป็นตัวเมียเสียมาก และธรรมชาติก็ขาดแคลนตัวผู้ในการผสมพันธุ์

เหตุปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดหน่วยงาน มูลนิธิ และศูนย์วิจัยอย่างบ้านของทอมมี่ หิรัญ กังแฮ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ รองหัวหน้ากลุ่มสัตวทะเลหายากแห่งศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน อธิบายว่า ทางศูนย์จะรับลูกเต่าเกิดใหม่มาจากอุทยานแห่งชาติและกองทัพเรือ นำพวกมันมาเลี้ยงในบ่อ กึ่งหนึ่งเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์และวิจัย อีกกึ่งหนึ่งปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยเต่าที่ปล่อยต้องมีน้ำหนักอย่างน้อย 2 กก. มีกระดองยาว 20 ซม. มีค่าเลือดได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่แล้วจะไปปล่อยที่เกาะหยง (สิมิลันเกาะหนึ่ง) สถานที่ในความดูแลของฐานทัพเรือภาคที่ 3

โลกของทอมมี่

 

ศวทม.เป็นที่แรกที่อนุบาลเต่าแล้วรอดตายมากกว่าร้อยละ 90 และเป็นที่แรกที่ประสบความสำเร็จในการให้อาหารเม็ด คุณหิรัญได้ทำการทดลองให้อาหารเม็ดแก่เต่าเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ได้ผลว่า เต่าทุกตัวที่ได้รับอาหารเม็ดรอดชีวิต น้ำหนักเพิ่ม เจริญเติบโตดี และอาหารเม็ดมีต้นทุนต่ำกว่าปลาสดแช่เยือกแข็ง 1.75 เท่า โดยในอนาคตอีกไม่เกิน 3 ปี เขาจะสร้างศูนย์ผลิตอาหารเม็ดสำหรับเต่าที่แรกในโลกขึ้นที่ภูเก็ต

นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังมีบทบาทสำคัญอีกอย่าง คือ เป็นที่รักษาและพักพิงของเต่าบาดเจ็บ มีตัวเลขที่น่าตกใจว่า เมื่อปี 2555 มีเต่าเกยตื้นในภูเก็ตประมาณ 90 ตัว (ทั้งรอดและตาย) สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะคนทิ้งขยะลงทะเลและวางอวนดักปลา เมื่อมีคนพบเห็นจะส่งมารักษาตัวที่ศูนย์ ตัวใดที่รักษาหายแล้วจะปล่อยกลับทะเล แต่ถ้าตัวใดพิการและมีความเสี่ยงตายสูง ทางศูนย์จะดูแลพวกมันไว้ตลอดชีวิต

โลกของทอมมี่

 

ทอมมี่คือหนึ่งตัวที่ต้องดูแล ซึ่งเดือน เม.ย.ปีหน้า (2558) ทอมมี่จะถูกส่งตัวไปยังบ้านหลังใหม่พร้อมเพื่อนอีก 3 ตัว ไปยังศูนย์ศึกษาเรียนรู้และฟื้นฟูสุขภาพเต่าทะเล ที่ตั้งอยู่ในโรงแรมเจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ต แอนด์ สปา ภายใต้การดูแลของมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาวที่จัดตั้งโดยโรงแรมเช่นกัน

แขกโรงแรมและนักท่องเที่ยวทั่วไป สามารถเข้ามาทำกิจกรรมกับเต่าทั้ง 4 ตัวได้ เช่น เรียนรู้วิถีชีวิตเต่า ทำความสะอาดบ่อเต่า ให้อาหารเต่า หรือจะไปเยี่ยมชมเต่าพิการและบาดเจ็บ 2030 ตัว ได้ที่ ศวทม. จะได้ตระหนักถึงความมักง่ายของมนุษย์ว่าส่งผลเลวร้ายแก่สัตว์โลกอย่างไร

โลกของทอมมี่

 

ใครที่ดำน้ำแล้วเจอเต่าติดแท็กที่ขาขวา ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยกันติดตามเต่าที่ถูกปล่อยลงทะเลว่ามันมีชีวิตอย่างไร โดยการถ่ายภาพแล้วส่งอีเมลมาตามที่อยู่บนแท็ก หรือโทรกลับตามเบอร์นั้น ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาด้านชีววิทยาของเต่าได้ง่ายๆ เหมือนโพสต์รูปขึ้นเฟซบุ๊ก

ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ยินดีให้ข้อมูลและคำปรึกษาด้านการเลี้ยงดูเต่า คนทั่วไปหรือหน่วยงานใดที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่โทร. 076-391-128 (ศวทม.) 088-752-6008 (คุณหิรัญ) และอีเมล [email protected]