posttoday

ตามรอยอันธพาล

06 ตุลาคม 2556

ยังจำกันได้ไหมครับว่าครั้งหนึ่งที่เราเคยชมภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง

โดย...สืบสิน/ภาพ กีกี้

ยังจำกันได้ไหมครับว่าครั้งหนึ่งที่เราเคยชมภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ที่เล่าเนื้อหาเรื่องราวของกรุงเทพมหานครยุคก่อนพุทธศักราช 2500 สมัยที่เหล่านักเลงอันธพาลวัยรุ่นมีอิทธิพลและครองเมืองอย่างไม่หวั่นเกรงกฎหมาย โดยเล่าผ่านความทรงจำของ เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์ (สุริยัน ศักดิ์ไธสง) หนึ่งในแก๊งอันธพาลในยุคนั้น

ผมแอบรู้สึกอยากจะเกิดในช่วงนั้นและมีเพื่อนคู่หูที่ชื่อ แดงไบเล่ ที่เป็นหัวโจกเด็กวัยรุ่นในยุคนั้นกับเขาดูบ้าง อิอิ เพราะเขาคือฮีโร่ของคนรุ่นหลัง ซึ่งชื่อเสียงของแต่ละคนล้วนมีที่มา อย่างแดงอาศัยอยู่ในตรอกไบเล่ ข้างหัวลำโพง และมีคู่อริอย่าง ดำ เอสโซ่ ปุ๊ ระเบิดขวด ทั้งคู่ยกพวกตีกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ถนนสิบสามห้าง ย่านบางลำพู วังบูรพา เฉลิมกรุง ที่ปัจจุบันนี้เรารวมเรียกว่าเขตพระนคร

ตามรอยอันธพาล

 

เขตพระนครในอดีตนั้นเคยรุ่งเรืองและเป็นย่านที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็น 1 ใน 50 เขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร อยู่ในกลุ่มเขตกรุงเทพฯ กลาง ถือเป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่า แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมทางฝั่งพระนคร เนื่องจากมีสถานที่สำคัญทั้งทางด้านวัฒนธรรมและด้านการเมืองการปกครองตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเขตพระนครเป็นที่ตั้งของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบันนั่นเอง

เขตพระนครเดิมมีฐานะเป็น อ.ชนะสงคราม ขึ้นกับกรมนครบาล มีที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ถนนจักรพงษ์ ติดกับวัดชนะสงครามด้านเหนือ

ในวันที่ 15 ต.ค. 2458 ได้มีประกาศยกเลิกอำเภอชั้นในแต่เดิม และตั้งอำเภอชั้นในขึ้นใหม่ 25 อำเภอ ได้แก่ อ.พระราชวัง ชนะสงคราม สำราญราษฎร์ พาหุรัด จักรวรรดิ สัมพันธวงศ์ สามแยก ป้อมปราบศัตรูพ่าย สามยอด นางเลิ้ง บางขุนพรหม สามเสน ดุสิต พญาไท ประแจจีน ประทุมวัน บางรัก สาธร บ้านทะวาย บางพลัด อมรินทร์ หงสาราม ราชคฤห์ บุปผาราม และบุคคโล

ตามรอยอันธพาล

 

ต่อมาในวันที่ 12 มี.ค. 2471 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการรวมพื้นที่ อ.พาหุรัด สำราญราษฎร์ พระราชวัง และชนะสงคราม เป็นอำเภอเดียวกัน เรียกว่า อ.พระนคร ตามประกาศยุบรวมอำเภอและกิ่งอำเภอในจังหวัดพระนครและธนบุรี (ภายหลังได้ยุบ อ.สามยอด และ อ.บางขุนพรหม เข้ามารวมด้วย) และในปี พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติจัดระเบียบการปกครองในเขตนครหลวงใหม่ อ.พระนคร จึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในที่สุด

ถึงวันนี้เขตพระนครนับเป็นย่านเก่าแก่ที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าๆ เอาไว้หลายอย่าง ตึกรามบ้านช่องตัวอาคารหลายแห่งอย่างวังบูรพา โรงหนังเฉลิมกรุง ย่านบางลำพู พาหุรัด ตลาดมิ่งเมือง ยังมีร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองในอดีต บางแห่งกลายเป็นที่ขายอาหารการกิน บางแห่งกลายเป็นสถานที่ขายไม้เก่าสำหรับแกะสลัก

ตามรอยอันธพาล

 

อย่างโรงหนังเฉลิมกรุงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงมหรสพหลวงที่ใช้ชื่อว่า ศาลาเฉลิมกรุง หรือ “เฉลิมกรุง” ที่เปิดฉายภาพยนตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 (สมัยรัชกาลที่ 7) ซึ่งในยุคนั้นภาพยนตร์เป็นมหรสพและการสื่อสารมวลชนที่มีบทบาทสำคัญสามารถเทียบได้กับการโทรทัศน์ในปัจจุบันเชียวนะครับ

โรงภาพยนตร์ในสยามสมัยนั้นมีประมาณ 20 โรง กระจายอยู่ทั่วเขตพระนครและธนบุรี จัดฉายภาพยนตร์นำเข้าจากต่างประเทศ (มากกว่าครึ่งเป็นภาพยนตร์จากสหรัฐ หรือจากฮอลลีวูด)

พอมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2485-2488 (รัชกาลที่ 8) ก็ใช้เป็นที่แสดงละครและดนตรี เนื่องจากไม่มีภาพยนตร์ฉาย และช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาพอสงครามสงบ จึงกลับมาฉายภาพยนตร์อีกครั้ง เริ่มด้วย “สุภาพบุรุษเสือไทย” หนังไทย 16 มม. พากย์สด เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2492 ทำรายได้มากกว่า 3 แสนบาท สูงสุดกว่าเรื่องใดๆ ในเวลานั้น

ตามรอยอันธพาล

 

ในปัจจุบันยังคงเปิดดำเนินการในชื่อ “เฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์” ด้วยการบริหารของบริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ และยกระดับให้เป็นโรงมหรสพแห่งชาติ ระยะแรกจัดแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูง “โขน” ผสมผสานเทคนิคทันสมัย รายการอื่นๆ เช่น ละครเวทีเรื่องแรกคือ “ศรอนงค์” งานของมูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ งานรำลึกถึง มิตร ชัยบัญชา โดยชมรมคนรักมิตร ฯลฯ ตลอดจนฉายภาพยนตร์และการแสดงมหรสพสำคัญในบางโอกาส

ถ้าวันไหนว่างๆ ลองย่ำเดินตามรอยเหล่าอันธพาลเพื่อรำลึกถึงเกาะรัตนโกสินทร์ในยุคที่เป็นเขตพระนครดูกันบ้าง ไม่แน่นะคุณอาจจะเดินยิ้มอย่างมีความสุขโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว อิอิ

ตามรอยอันธพาล

ตามรอยอันธพาล

ตามรอยอันธพาล

ตามรอยอันธพาล

ตามรอยอันธพาล

ตามรอยอันธพาล