posttoday

เมืองเล็กที่ชื่อ...เชียงคาน

03 สิงหาคม 2556

ผมไปเที่ยวเมืองเชียงคานมาเมื่อหลายปีก่อน แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่เคยลบเลือนจากความทรงจำที่มีต่อเมืองเล็กๆ เมืองนี้เลย

โดย...นพพล ชูกลิ่น

ผมไปเที่ยวเมืองเชียงคานมาเมื่อหลายปีก่อน แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่เคยลบเลือนจากความทรงจำที่มีต่อเมืองเล็กๆ เมืองนี้เลย

เชียงคานเป็นเมืองที่มีความหลากหลายและดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่รับมาจากเพื่อนบ้านที่น่ารักของประเทศเราประเทศหนึ่งนั้นคือประเทศลาว อันมีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กันกับเมืองเล็กๆ แห่งนี้อย่างยาวนาน ประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงคานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองชะนะคาม ประเทศลาว ซึ่งสร้างโดยขุนคาน โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณ พ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2250 อาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็นสองอาณาจักร คือ อาณาจักรหลวงพระบาง ซึ่งมีพระเจ้ากีสราชเป็นกษัตริย์ และอาณาจักรเวียงจันทน์ ซึ่งมีพระเจ้าไชยองค์เว้เป็นกษัตริย์ โดยกำหนดอาณาเขตให้ดินแดนเหนือแม่น้ำเหืองขึ้นไปเป็นอาณาเขตหลวงพระบาง และใต้แม่น้ำเหืองลงมาเป็นอาณาเขตเวียงจันทน์ ต่อมาทางหลวงพระบางได้สร้างเมืองปากเหืองซึ่งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่านและทางเวียงจันทน์ได้ตั้งเมืองเชียงคาน

เดิมเป็นเมืองหน้าด่านเช่นกัน ต่อมา พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์ ตีเวียงจันทน์ได้จึงได้อันเชิญพระแก้วมรกตกลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกันและให้เป็นประเทศราชของไทย กวาดต้อนผู้คนพลเมืองมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองไปขึ้นกับเมืองพิชัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทย โดยยกกำลังจากเวียงจันทน์มายึดเมืองนครราชสีมา แต่ในที่สุดเจ้าอนุวงศ์ถูกจับขังจนสิ้นชีวิต กองทัพไทยที่ยกมาปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมาได้ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงมายังเมืองปากเหืองมากขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุพินาศ (กิ่ง ต้นสกุล เครือทองศรี) เป็นเจ้าเมืองปากเหืองคนแรก แล้วพระราชทานชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองเชียงคาน ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบาง และได้เข้าปล้นสะดมเมืองเชียงคานเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก

ครั้งต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของ อ.เชียงคาน ปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคาน หรือ อ.เชียงคาน ปัจจุบันโดยสิ้นเชิง แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองเชียงคานใหม่ ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้

เชียงคานมีพื้นที่ 867 ตร.กม. ประชากร 59,702 คน (พ.ศ. 2552) ความหนาแน่น 68.86 คน/ตร.กม.คำขวัญประจำเมืองเชียงคาน “เชียงคาน เมืองคนงาม ข้าวหลามยาว มะพร้าวแก้ว เพริศแพร้วเกาะแกง แหล่งวัฒนธรรม น้อมนำศูนย์ศิลปาชีพ” (ขอบคุณข้อมูลจากวิกีพีเดียนะครับ)

ผมใช้เวลาอยู่ที่นี่เพียงแค่คืนเดียว แต่เป็นวันและคืนที่ผมรู้สึกว่าที่นี่น่าจะเป็นนิยามความเป็นเมืองไทยที่ดำรงอยู่โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตอยู่รวมกันของผู้คนทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวรวมกันอย่างเป็นสุข ดูได้จากความร่วมมือในการดำรงรักษาสภาพเมืองให้คงอยู่แบบดั้งเดิม ถึงแม้จะมีความเจริญทางเศรษฐกิจที่มีนักท่องเที่ยวมากมายเข้าไปใช้บริการโรงแรมหรือธุรกิจให้บริการนักท่องเที่ยวอื่นๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ทั้งหมดก็ยังคงช่วยกันรักษาสภาวะแวดล้อมแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่ารักและลงตัวมากๆ

นักท่องเที่ยวหาจักรยานเช่าได้ง่ายๆ และเป็นที่นิยมของคนพื้นบ้านและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดคือการที่ผมได้ตื่นแต่เช้าเพื่อใส่บาตรข้าวเหนียวตามประเพณีที่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งลาว โรงแรมทุกแห่งมีบริการเตรียมของใส่บาตรเช้าให้กับนักท่องเที่ยวที่พักที่โรงแรมทุกแห่งในเมืองนี้ น่ารักจริงๆ ครับ

ผมขี่จักรยานไปทั่วในตอนเช้าวันนั้นด้วยความรู้สึกเคารพและศรัทธาผู้คนใน อ.เชียงคาน ที่ยังคงดำรงอยู่ในวิถีของความเป็นคนไทยที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและเชิญชวนให้ผู้มาเยือนมาร่วมกันทำบุญ แล้วท่านผู้อ่านจะไม่ลองไปใส่บาตรที่เชียงคานกันดูหรือครับ ความหมายแห่งการใส่บาตรที่มีบรรยากาศแห่งความสุขทางจิตใจจะทำให้คุณไม่รู้ลืมเมืองเล็กๆ แห่งนี้ที่ชื่อเชียงคาน