posttoday

ชีวิตของเฟินป่า-ชายผ้าสีดา

28 กรกฎาคม 2556

ช่วงฤดูฝนแบบนี้ หากเรามีโอกาสขับรถขึ้นไปเที่ยวป่าในพื้นที่ระดับต่ำ เรามักพบเฟินอิงอาศัยชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือมักเรียกมันว่า ห่อข้าวสีดา หรือห่อข้าวย่าบ่า

โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

ช่วงฤดูฝนแบบนี้ หากเรามีโอกาสขับรถขึ้นไปเที่ยวป่าในพื้นที่ระดับต่ำ เรามักพบเฟินอิงอาศัยชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือมักเรียกมันว่า ห่อข้าวสีดา หรือห่อข้าวย่าบ่า เฟินป่าดังกล่าวรวมอยู่ในกลุ่มของเฟินรังนก (Nestfern) ซึ่งรวมเอาเฟินข้าหลวง (Bird’s nest fern) เข้าไว้ด้วย ชายผ้าสีดา หรือห่อข้าวสีดา (Platycerium Wallichii) งอกขึ้นจากสปอร์ ซึ่งปลิวมาจากต้นแม่บนคาคบไม้ระดับสูง หากขับรถออกจาก จ.เชียงใหม่ ขึ้นไปทางดอยเชียงดาว ท่านจะพบเฟินห่อข้าวสีดาตามต้นฉำฉา หรือต้นก้ามปู หรือต้นจามจุรี ซึ่งคนภาคกลางรู้จักกันดี ต้นไม้ตระกูลถั่วดังกล่าวหลงเหลือจากการตัดโค่นเอาเนื้อไม้ใช้ในงานแกะสลัก เนื่องจากไม่ได้ขนาดและอาจอยู่ไกลหูไกลตาเจ้าหน้าที่นั่นเอง สปอร์ชายผ้าสีดาจะงอกและพัฒนาขึ้นทันทีที่ป่ามีความชุ่มชื้นจากฝนแรกที่ตกลงมา ลืมบอกไปว่าเฟินกลุ่มชายผ้าสีดา หรือห่อข้าวย่าบา นี้มีชื่อเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Stag’s horn ferns เพราะรูปร่างของใบที่สร้างสปอร์ของมัน สำหรับชายผ้าสีดาซึ่งพบเห็นทางภาคใต้และมาเลเซียนั้น ใบสร้างสปอร์จะห้อยลง ส่วนชายผ้าสีดาจากแอฟริกามีส่วนที่คล้ายเขากวางอยู่มาก ชายผ้าสีดาในเมืองไทยมีใบเป็นสองแบบ ใบชนิดหนึ่งแผ่ขึ้นเบื้องบนคล้ายโล่ แต่ใบอีกแบบจะห้อยย้อยลง ใบที่ตั้งตรงแผ่ขึ้นประกอบด้วยเส้นใบใหญ่ที่แตกสาขาหลายชั้น ใบที่ดูคล้ายโล่จะตั้งขึ้นดูคล้ายรังนก ทำหน้าที่เก็บใบไม้ที่แห้งและหลุดร่วงลงมาไว้ในพุ่มใบของมันเช่นเดียวกับเฟินข้าหลวง แต่เมื่อใบกาบของชายผ้าสีดาแก่ตัวขึ้น มันจะงอม้วนเข้าข้างใน ดังนั้น มันจะจับเอาใบไม้แห้งและสะสมไว้ภายในซอกใบโล่หรือกาบใบของมันเป็นเวลานาน เศษซากอินทรียวัตถุจะปกคลุมรากของเฟิน ซึ่งเติบโตอยู่ภายใน ดังนั้น ส่วนยอดของชายผ้าสีดาจึงประกอบด้วย ใบแห้งซึ่งจับเอาใบไม้ผุไว้ในระหว่างซอกกาบ ส่วนใบใหม่ที่เกิดขึ้นจะถูกสร้างในแถวนอกของใบเก่า โดยใบจะผลิออกมาจากส่วนลำต้นแท้จริงของชายผ้าสีดา ด้วยเหตุนี้ซากอินทรียวัตถุที่สะสมอยู่ภายในกาบของชายผ้าสีดา จึงเป็นเสมือนฟองน้ำที่ช่วยซับน้ำเอาไว้ เช่นเดียวกับเฟินข้าหลวง แต่ดูจะมีประสิทธิภาพกว่าเฟินข้าหลวง เพราะรากของชายผ้าจะถูกห่อหุ้มด้วยใบกาบหรือใบโล่ของมันนั่นเอง

ใบชายผ้าสีดาที่ห้อยลงมาของชายผ้าสีดาปักษ์ใต้ หรือสายผ้าม่าน (Platycerium Coronarium) อาจมีความยาวถึง 6 ฟุต และแตกกิ่งก้านสาขาแผ่กว้าง เมื่อใบแก่ตัวเข้าจะหลุดร่วงลงไป ในขณะที่ใบโล่หรือใบกาบยังคงอยู่ ใบชายผ้าจะสร้างอวัยวะรูปร่างครึ่งวงกลมมีก้านยึดติดกับส่วนโคน อวัยวะรูปร่างคล้ายใบหูนี้จะมีอับสปอร์เกิดอยู่หนาแน่นบนผิวด้านล่าง อับสปอร์จะฝังตัวอยู่ในขนที่เกิดอย่างหนาแน่น ทำหน้าที่ห่อหุ้มอับสปอร์ที่อายุน้อย แต่เมื่อมันแก่ขนนี้จะแยกตัวออก ปล่อยสปอร์ให้ปลิวกระจายไปในอากาศ

ต้นชายผ้าสีดาที่มีอายุมากอาจมีเฟินอีกชนิดโผล่ออกมาจากผิวด้านล่างของใบกาบชั้นนอก เฟินชนิดนี้เรียกกันว่าเฟินริบบิ้น (Ophioglossum Pendulum) เป็นเฟินอิงอาศัยที่ใบห้อยลงคล้ายริบบิ้นสีเขียว โดยส่วนลำต้นเป็นเหง้าที่ทอดนอนอยู่ภายในกาบใบชายผ้าสีดา ใบของเฟินชนิดนี้ยาวได้เกือบเมตร กว้าง 23 เซนติเมตร ใบแบนแคบ ผิวเป็นมัน โดยเกิดเป็นสายเดี่ยวหรือแตกแขนงเป็นคู่หรือซ้อนกันหลายคู่ ขอบใบเป็นคลื่น สปอร์รูปสามเหลี่ยม อยู่ภายในอับสปอร์ ซึ่งเมื่ออับสปอร์แตกออกจะปลิวเข้าไปตกภายในซอกใบกาบของชายผ้าสีดา มันจะงอกอยู่กับกลุ่มอินทรียวัตถุในใบโล่ สปอร์จะงอกขึ้นมาโดยความช่วยเหลือของเชื้อรา ซึ่งถ้าเป็นเชื้อราที่เหมาะสมมันจึงจะพัฒนาเป็นใบเทียม และสร้างอวัยวะเพศ หลังจากการปฏิสนธิแล้ว จึงจะเกิดเป็นเฟินริบบิ้นต้นอ่อนออกมาได้

ระหว่างการสำรวจพันธุ์ไม้ในป่าแม่ฮ่องสอนครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้พบดงเฟินริบบิ้นเข้าโดยบังเอิญ เมื่อเข้าไปในดงต้นค้อโบราณขนาดใหญ่ ค้อเป็นปาล์มที่มีชื่อว่า Livistona Speciosa พบทั้งภาคเหนือและภาคใต้ คนใต้เรียกค้อว่าสิเหรง นับเป็นปาล์มที่รู้จักกันดี เฟินริบบิ้นอาศัยอยู่ตามกาบต้นค้อ เช่นเดียวกับที่มันอาศัยอยู่ในกาบใบโล่ของเฟินชายผ้าสีดา

ประเทศไทยมีเฟินชายผ้าสีอยู่ในป่า 4 ชนิด นับว่ามากกว่าฟิลิปปินส์เสียอีก โดยส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่าชายผ้าสีดาที่สวยสง่าที่สุดของเมืองไทยน่าจะ ได้แก่ ชายผ้าสีดาปีกผีเสื้อ หรือชายผ้าสีดาฮอลตัม (Platycerium Holtumii) ซึ่งพบทั่วไปในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน เวียดนาม พม่า และมาเลเซีย

ชายผ้าสีดาอีกชนิดที่พบในป่าภาคใต้ ได้แก่ เขากวางใบตั้ง หรือชายผ้าริดเลย์ (Platycerium Ridleyii) เฟินอิงอาศัยชนิดนี้ขึ้นอยู่ตามคาคบต้นไม้จำพวกต้นยางยูง (Dipteroearpus Grandiflorus) ซึ่งเป็นต้นไม้ป่าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณป่าเทือกเขาตะนาวศรี ทั้งในเขตไทย พม่า ดังนั้น จึงพบเฟินชนิดนี้ในปริมาณมาก แม้ปัจจุบันจะถูกเก็บสอยลงมาวางจำหน่ายกันจนเหลืออยู่เฉพาะในเขตทวายประเทศพม่าและตามเกาะแก่งในทะเลอันดามัน

กล่าวโดยสรุป คาคบต้นไม้สูงใหญ่ในป่าดิบชื้นเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นไม้สกุลยางยูง (Dipterocarpus) เป็นที่อยู่อาศัยของเฟินสกุลชายผ้าสีดา เช่น Platycerium Ridleyii พวกนี้อยู่ในป่าดิบชื้นระดับต่ำเพียง 100200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ป่าดิบชื้นระดับนี้มีการเคลื่อนไหวถ่ายเทลมดีตลอดปี แม้บรรยากาศทั่วไปจะชื้นและแสงแดดสาดส่อง ได้แก่ ชายผ้าสีดาสายผ้าม่าน (P.coronarium) และห่อข้าวย่าบา หรือห่อข้าวสีดา (P.wallichii) ซึ่งเป็นชายผ้าสีดาที่มีการทิ้งใบพักตัวในช่วงฤดูหนาว (แล้ง) ความชื้นในอากาศต่ำ เรามักพบชายผ้าสีดาชนิดนี้เกาะติดตามต้นไม้ปลูกขนาดใหญ่ เช่น ต้นจามจุรี ต้นมะขาม ต้นยางพาราในเขตติดต่อสวนยางอายุมากชายป่าดิบชื้น ส่วนต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมาก มักพบเฟินอิงอาศัยสกุลใบมะขาม เช่น Nephrolepis ชนิดต่างๆ เฟินนาคราช (Davallia) และกระแตไต่ไม้ (Drynaria)