posttoday

ท่องไปในมอญ-พม่า

29 มิถุนายน 2556

ครั้งก่อนผมติดค้างที่จะพาท่านผู้อ่านไปท่องเที่ยวเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ เมืองท่าชายทะเลที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของพม่าเอาไว้

โดย...จำลอง บุญสอง ชมรมผู้สื่อข่าวท่องเที่ยวอาเซียน

ครั้งก่อนผมติดค้างที่จะพาท่านผู้อ่านไปท่องเที่ยวเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ เมืองท่าชายทะเลที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของพม่าเอาไว้ พอขยับจะเขียนต่อก็พอดีมีเรื่องผู้นำมอญคนสำคัญเสียชีวิต ผมก็เลยเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน ที่ต้องเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนก็เพื่อจะได้รายงานเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงภายในของพม่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ ที่ต้องเรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบก็เพื่อต่อจิ๊กซอว์ของความเข้าใจในถิ่นเพื่อที่เราจะได้เข้าใจในแหล่งที่เราจะไปเที่ยว ความเข้าใจในแหล่งที่เราจะไปเที่ยวก็จะทำให้การเที่ยวของเราเป็นไปเพื่อความรู้และความบันเทิงไปพร้อมๆ กันนั่นเอง

ผมจะพาท่านผู้อ่านไปอยู่ตามตะเข็บแนวชายแดนไทยพม่า ด้านชายแดนสังขละบุรีเพื่อไปงานพิธีศพของ รสซะ รองประธานพรรคมอญใหม่ ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ ที่ต้องพาไปงานนี้ก็เพื่อจะได้อธิบายความถึงเรื่องราวการต่อสู้ของชนชาติในพม่า การเข้าใจการต่อสู้ในพม่าจะทำให้เราเที่ยวในประเทศนี้อย่างลึกซึ้งนั่นเอง

การต่อสู้ของชนเผ่าในพม่าเกิดขึ้นหลังจากอังกฤษวางระเบิดเวลาสร้างความแตกแยกในหมู่ชนชาติก่อนจาก ด้วยการเรียกชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ มาให้ความหวังว่า หลังจากอังกฤษถอนตัวไปแล้วจะให้ชนชาติต่างๆ ในพม่า “ปกครองตนเอง” ระหว่างที่อังกฤษกำลังจะถอนตัวไป ชนเผ่าต่างๆ จึงมาประชุมร่วมที่ปางโหลง รัฐไทยใหญ่ และทำสนธิสัญญาปางโหลงขึ้นกับผู้แทนของพม่าในขณะนั้นคือ นายพลอองซาน แต่ทว่าหลังจากอังกฤษออกไป นายพลอองซานก็เสียชีวิตจากการถูกยิง รัฐบาลพม่าในขณะนั้นก็เบี้ยวไม่ยอมทำตามสัญญาจึงนำมาซึ่งการต่อสู้ของชนชาติ จนกระทั่งถึงวันนี้ และแม้ว่าการเรียกร้องเพื่อปกครองตนเองในวันนั้นจะลดลงมาเป็นการเข้าร่วมแบบสหพันธรัฐในวันนี้ แต่ความหมายของคำว่าสหพันธรัฐและประชาธิปไตยในวันนี้ของทั้งสองฝ่ายก็ยังหาคำจำกัดความร่วมกันไม่ได้ว่ากินความกันไปแค่ไหน โดยทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายชนชาติจะประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในต้นเดือนหน้านี้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การที่จีนแผ่อิทธิพลลงมาทางตอนใต้ทำให้ประธานาธิบดีเต็งเส่งต้องตัดสินใจอุ้มอองซาน ซูจี ที่มี “ยุโรปและอเมริกา” “แบ็กอัพ” เข้าสู่สภาผู้แทน เปิดให้ตะวันตกและพวกเข้ามาหาประโยชน์เพื่อบาลานซ์การแผ่อิทธิพลของ “จีน” ไปพร้อมกับการให้ชนชาติส่วนน้อยเลือกตั้งเข้าไปอยู่ในสภา ผลของนโยบายดังกล่าวทำให้ชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บแนวชายแดนหมดเงื่อนไขในการทำสงครามไปโดยปริยาย แต่ปัญหาใหม่อันเกิดจากความไม่เข้าใจในเรื่องการสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยกำลังจะ “ตามมา”

เพราะผู้นำอาจจะเข้าใจผิดๆ เหมือนผู้คนจำนวนมากในโลกว่า “หัวใจประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง” ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งเป็นเพียงแค่ “วิธีการประชาธิปไตย” (Mean) เท่านั้น ขืนพม่าเลือกตั้งไปโดยที่อำนาจอธิปไตยยังไม่ “เป็นของ” “ปวงชน” ผู้แทนที่ได้ก็จะเป็นผู้แทนนายทุนหมด ดังที่เกิดขึ้นในเมืองไทยและที่อื่นๆในโลก ผลของการได้ตัวแทนนายทุนก็คือได้อำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยหรือได้ระบอบเผด็จการแทนที่จะได้ระบอบและการปกครองแบบประชาธิปไตยเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในสังคมอย่างที่หวัง

ในโลกของทุนนิยม ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ลงทุนและผู้ลงแรงหรือนายทุนกับกรรมกรนั้น อำนาจอธิปไตยที่ถูกนำมาใช้ในการปกครองหมายถึงอำนาจอธิปไตยของคู่ขัดแย้งและคู่สร้างสรรค์คู่นี้เป็นหลัก ผู้แทนเขต (สส.ตามจังหวัดต่างๆ) เป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการสร้างประชาธิปไตยจึงไม่เพียงแต่จะว่าถึงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการได้มาซึ่งผู้แทนของกลุ่มผลประโยชน์ที่แท้จริงคู่นี้ด้วย แต่การจะได้มาซึ่งตัวแทนของกรรมกรที่สมดุลกับตัวแทนนายทุนนั้นจำเป็นต้องพึ่ง “รัฐบาลเฉพาะกาล” ทำให้หลังจากรัฐบาลเฉพาะกาลทำ “การปกครองระยะเปลี่ยนผ่าน” เพื่อเซ็ตอัพการปกครองที่ถูกต้องตามหลักวิชาให้แล้ว จึงเปิดให้มีการเลือกตั้งเสรีในภายหลัง ถ้าไม่มีรัฐบาลเฉพาะกาลที่รู้ในเรื่องหลักวิชาเหล่านี้ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง

แต่ประชาธิปไตยในทางการเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย หัวใจของการสร้างประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจอยู่ที่การกระจายที่ดินให้ไปอยู่ในมือของประชาชน ไม่ได้อยู่ในมือของนายทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ผูกขาดที่อยู่เบื้องหลังการถือครองอำนาจรัฐเหมือนหลายๆ ประเทศในวันนี้

เป็นเรื่องที่น่าหวาดเสียวเป็นอย่างยิ่งว่าการให้สิทธิที่ดินที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากการเปิดประเทศพม่า และมันจะกลายเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” กลายเป็น “ระเบิดเวลา” ในสังคมพม่าในอนาคต เพราะการไม่ปฏิรูปที่ดินไปพร้อมๆ กับการสร้างประชาธิปไตยในทางการเมืองย่อมทำให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของคนมือยาว (เงินมาก) ไปเสียหมด ผลก็คือทำให้ผู้มีเงินเหล่านั้นสามารถเข้าไปถืออำนาจอธิปไตยแทนคนยากคนจนเพื่อนำอำนาจอธิปไตยเหล่านั้นไปหาผลประโยชน์ไปพร้อมๆ กับการกดขี่ประชาชนกลายเป็น “เงื่อนไขสงคราม” ประชาชนใหม่ขึ้นอีกครั้งเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในบางประเทศในขณะนี้

ขนาดยังไม่เปิดประเทศเลยตอนนี้ คนรวยพม่าซื้อที่ดินเอาไว้ในมือกันจ้าละหวั่นกันแล้ว คนไม่มีเงินก็ไปเอาเงินคนรวยต่างชาติมาซื้อเอาไว้ ตัวเองทำตัวเป็นนอมินีให้เท่านั้น ที่เขากว้านซื้อที่ดินเอาไว้ก็เพื่อลงทุนร่วมกับคนต่างชาติไง แล้วอย่างนี้จะเอาคนยากคนจนไปอยู่ที่ไหน

ผมว่าชนชาติส่วนน้อยและรัฐบาลพม่าที่กำลังจะเจรจาทางการเมืองกันในเดือนหน้าควรเอาเรื่องที่ผมเรียนนี้ไปขบคิดนะครับ เปิดประเทศมาเพื่อให้คนรวยในประเทศกับคนรวยจากต่างชาติ เดี๋ยวก็สงครามประชาชนรอบสองจะหาว่าผมไม่เตือนไม่ได้นะครับ

“รสซะ” รองประธานพรรคมอญใหม่ เสียชีวิตด้วยวัย 67-68 ปี เขาเดินทางเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคมอญ (แต่ก่อนไม่ได้ชื่อว่าพรรคมอญใหม่นะครับ) หลังจากจบปริญญาตรีโทด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยในพม่าเมื่อ 42 ปีที่ผ่านมา เพราะมอญในยุคโน้นถูกพม่ากดขี่

ด้วยความสุขุมและมีหลักการทำให้ รสซะ นอกจากจะเป็นที่รักแล้วยังเป็นที่หวังของคนมอญในประเทศพม่าด้วยว่า เขาจะเป็นอีกคนหนึ่งที่จะใช้ความเป็นพรรคต่อสู้ในแนวทางอาวุธ “ต่อรอง” ให้คนมอญนับล้านๆ คนในพม่า ได้มีชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับชนชาติอื่นๆในสังคม แต่ระหว่างที่กำลังจะมีการเจรจาทางการเมืองในไม่อีกกี่วันข้างหน้า เขาก็เสียชีวิตลงไปเสียก่อนด้วยโรคมะเร็งลำไส้

มีผู้เข้าร่วมงานศพ รสซะ ทั้งมอญในพม่า มอญในไทย และตัวแทนชนชาติส่วนน้อยโดยเฉพาะกะเหรี่ยงที่มีพื้นที่ทับซ้อน ทิ้งลูก 5 คนพร้อมกับภรรยาไว้เบื้องหลัง โดยลูกคนโตกำลังเรียนแพทย์อยู่ที่ย่างกุ้ง ส่วนงานเผ่าศพได้จัดขึ้นที่บ่อญี่ปุ่น เขตพญาตองซู ใกล้เจดีย์สามองค์ของฝั่งไทย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา