posttoday

ฮอกไกโดตะวันออก : เรือตัดน้ำแข็ง โคลนเดือดและไอนุ

11 พฤษภาคม 2556

เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขต “ขั้วโลกเหนือ” ที่หนาวเย็น ถึงอากาศจะอบอุ่นขึ้นบ้างตามฤดูกาลที่เปลี่ยนไป

โดย...จำลอง บุญสอง

เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขต “ขั้วโลกเหนือ” ที่หนาวเย็น ถึงอากาศจะอบอุ่นขึ้นบ้างตามฤดูกาลที่เปลี่ยนไป แต่ผิวน้ำบางส่วนน้ำในทะเลสาบอะคัง (Akang) แห่งฮอกไกโดตะวันออกที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อ 6,000 ปีที่ผ่านมายังคงแข็งเป็น.. “น้ำแข็ง” หลงเหลือจากฤดูกาลก่อนนั่นเอง น้ำแข็งที่ยังหลงเหลือให้เราเห็นนั่นแหละ เป็นที่มาของกิจกรรมที่เรียกว่า กิจกรรม “ล่องเรือตัดน้ำแข็ง” ให้คนได้ “เสียว” กับเสียงแผ่นเหล็กที่ครูดไปกับความแข็งที่ท้าทายของน้ำก้อน

โรงแรม HANAYUKA ที่ตั้งอยู่บริเวณขอบทะเลสาบในย่านที่มีน้ำแร่เหลือเฟือ HANAYUKA จึงมีออนเซ็นบริการแขกเหมือนให้เปล่า นักท่องเที่ยวที่ใช้ออนเซ็นก็มีแต่ลุงๆ กับป้าๆ สาวๆ ที่อยู่ในวัยทำงานก็มีอยู่แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะญี่ปุ่นมี “ผู้อาวุโส” ล้นประเทศ ที่มีล้นประเทศก็เพราะวิถีการผลิตของญี่ปุ่นเปลี่ยนจากการเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

เป็นกฎทางสังคมอยู่ว่า ถ้าประเทศใดที่อยู่ในห่วงแห่งการผลิตแบบอุตสาหกรรมเมื่อไหร่ ผู้คนในประเทศนั้นๆ ก็จะถูกบังคับสภาพให้มีลูกกันคู่ละไม่กี่คน เพราะวิถีการผลิตแบบอุตสาหกรรม การมีลูกมากคือ “ภาระ” ต่างกับคนในวิถีการผลิตแบบเกษตรกรรม ที่การมีลูกมาก คือ การเพิ่ม “แรงงาน” มาช่วยทำงาน

ไม่เพียงแต่มีลูกน้อยเท่านั้น วัฒนธรรมการกินอยู่ของคนญี่ปุ่น คือ “กินอาการสด สะอาด และถูกอนามัย” (ผักผลไม้สด เนื้อสด อาหารทะเลสด) ก็มีส่วนทำให้คนญี่ปุ่นอายุยืนด้วย คนที่ผลิตอาหารส่งประเทศนี้ล้วนตระหนักดีว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเข้มงวดมาก ความที่กินแต่อาหารดีๆ จึงทำให้คนญี่ปุ่น “มีอายุยืนยาว” “แข็งแรง” ผู้เฒ่าหลายคนเดินขึ้นเขาสูงๆ ได้สบายๆ คนหนุ่มๆ บ้านเราสู้ไม่ได้ก็แล้วกัน

และด้วยความที่ญี่ปุ่นปฏิวัติประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย ญี่ปุ่นจึงมีสวัสดิการสังคมอยู่ในขั้นดีเยี่ยม ผู้อาวุโสจึงสามารถออกมาโลดแล่นไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ ผู้อาวุโสญี่ปุ่นเหล่านั้นแหละที่ทำให้การท่องเที่ยว “ภายใน” ของญี่ปุ่น

“มีเงินไหลเวียน”

ไหลไปทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง (ของฝาก ร้านอาหาร เสื้อผ้า ก่อสร้าง ฯลฯ) ไม่ “พังพาบ” ไปกับการล่มสลายของระบบทุนนิยม (โลก)

ไปเห็นผู้อาวุโสญี่ปุ่นท่องเที่ยวรับใช้เศรษฐกิจชาติแล้ว อดคิดถึงคนแก่ในเมืองไทยที่ต้องร่อนเร่หากินบน “กองขยะ” หากินด้วยการขอทานหรือหากินด้วยการเอาของพื้นเมืองมาขายไม่ได้ คนแก่หลายคนว้าเหว่จากการออกไปหากินต่างถิ่นต่างแดนของลูกหลาน หลายคนเจ็บป่วยนอนรอความตายอย่างไร้คนเหลียวแล ระบอบเผด็จการกับระบอบประชาธิปไตย “ต่างผล” กันอย่างนี้นี่เอง

แม้หิมะจะหยุดตกระหว่างที่เราเดินไปขึ้นเรือแต่หิมะที่ตกตั้งแต่เมื่อคืนก็ยังคงไม่ละลายไปมากนัก ต้นไม้และอาคารที่อยู่ย่านนั้นขาวโพลนกลบสีทุกสีที่มีอยู่โดยสิ้นเชิง ภาพที่ถ่ายออกมาจึงออกโทนขาวและดำเหมือนไม่เคยพบเห็นสีอื่นใดเลย ความหดหู่ของจิตใจอันเนื่องจากความเป็นสีขาวและดำนั่นแหละ จึงทำให้ผู้คนในแถบขั้วโลกหรือกึ่งขั้วโลกบินมาเยือนเมืองไทยในช่วงฤดูหนาวของพวกเขา

แม้ว่าอากาศจะดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ผมก็ต้องใส่เสื้อผ้าชั้นในมากขึ้น เพราะไม่แน่ใจว่าในแต่ละช่วงเวลาของอากาศบนเกาะที่อยู่ในเขตขั้วโลกเหนือนั้น จะผันแปรลงไปอย่างไร

เรือจำนวนมากขึ้นคานเอาไว้เพื่อรอนักท่องเที่ยวในหน้าใบไม้ผลิ เรือลำเล็กลำน้อยสีสดใสที่ลอยเท้งเต้งอยู่ในน้ำเป็นดรรชนีชี้วัดได้ว่า ทะเลสาบแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของคนญี่ปุ่นเพียงใด

เรือแล่นไปในน้ำใสได้สักพักก็ชนเข้ากับก้อนน้ำแข็งขลุกขลัก เหมือนขับรถชนกินก้อนใหญ่ไปใต้ท้องรถยังไงยังงั้น เสียงน้ำแข็งกระทบกราบเรือทำให้หลายคนรู้สึกตื่นเต้น

แม้จะรู้ในเบื้องต้นว่า อย่างไรเสีย “เรือเหล็ก” ย่อมชนะน้ำแข็งอยู่ดี แต่เสียงคล้ายเรือชนหินโสโครกก็ทำให้คนที่นั่งในเรืออดเสียวไม่ได้ว่าเรือที่ตนนั่งอยู่จะล่มลงหรือไม่ ผู้คนวิ่งไปดูน้ำแข็งครูดกับกราบเรือโดยไม่ได้นัดหมาย แรงกดของหัวเรือที่มีต่อแผ่นน้ำแข็งทำให้น้ำแข็งม้วนเข้าและออกตามหลักกลศาสตร์จนคนบนเรือรู้สึกได้ ทว่าน้ำแข็งทุกก้อนก็ไม่สามารถทำให้เรือล่องทะเลสาบที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษลำนั้น “บุบสลาย” ลง!

กินข้าวเช้าในโรงแรมแล้ว การท่องเที่ยวอะคังก็พาเราไปยังศูนย์การเรียนรู้ในอีกซีกมุมของทะเลสาบ นอกจากการบอกเล่าเรื่องราวทางชีววิทยาและภูมิศาสตร์ในห้องแสดงแล้ว เจ้าหน้าที่ก็พาเราเดินฝ่าหิมะไปดูโคลนเดือดที่กำลังปุดๆ ขึ้นมาที่ริมทะเลสาบอะคัง ความร้อนที่ผุดขึ้นใช่เพียงแต่ผุดอยู่ในบ่อโคลนบนผืนดินเท่านั้น แต่ความร้อนยังผุดขึ้นในทะเลสาบก็มีด้วย ความร้อนบวกความเย็นกลายเป็นความอุนดังกล่าวจึงทำให้ “กวางป่า” และสัตว์อื่นๆ มาอาศัยความร้อนใต้แผ่นพิภพ “คลายหนาว” ให้เสมอ

ไอนุ ชนเผ่าพื้นเมืองของญี่ปุ่น

ไม่มีใครรู้ว่าชนเผ่าไอนุอยู่บนผืนแผ่นดินของเกาะฮอกไกโดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ร้อยปีที่ผ่านมาคนจากถิ่นอื่นของญี่ปุ่นก็เข้ามาครอบครองพื้นที่ ไม่ต่างอะไรกับคนผิวขาวยึดครองดินแดนของอินเดียนแดงในอเมริกา คนผิวขาวยึดครองพื้นที่อะบอริจินส์ในออสเตรเลีย พวกเขาก็มีตัวตนอยู่จริงบนแผ่นดินภาคเหนือเช่นเดียวกับชนเผ่า Okhosk

กลางวันเราไปเรียนรู้การทำเครื่องดนตรีของชนเผ่าที่ศูนย์กลางของชนเผ่าที่อยู่กลางเมือง ตอนค่ำเราไปดูการแสดงของพวกเขาที่ Ainu Ikoro Theater ซึ่งเป็นโรงละครที่เปิดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้รู้ได้เข้าใจในความเป็นไอนุ ไปแล้วก็ได้ดูการแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของพวกเขา ที่น่าสนใจก็คือระบำนกกะเรียนและอื่นๆ แสดงเสร็จแล้วก็เปิดโอกาสให้คนดูได้ถ่ายรูปร่วม งานนี้คนถ่ายรูปด้วยไม่ต้องจ่ายทิปให้แบบถ่ายร่วมกับการแสดงของสาวประเภทสองในเมืองไทย

กลับมานอน Tsurua Wings สุดยอดของรีสอร์ตแอนด์สปาของขอบอ่างทะเลสาบอะคัง

ปล.ห้องน้ำในประเทศญี่ปุ่นเป็นห้องน้ำที่ดีที่สุดในโลก เพราะทั้งสะอาดและอุ่น (เพราะมีเครื่องทำความอุ่นแทบจะทุกเครื่อง) ที่ห้องน้ำญี่ปุ่นสะอาดเพราะคนญี่ปุ่นถูกสอนมาให้ทำความสะอาดโถส้วมทุกครั้งก่อนออกจากห้องน้ำ เพื่อที่คนใช้ห้องน้ำคนต่อไปจะได้ใช้ได้สะดวก

ชื่นชมในความอ่อนน้อมถ่อมตนของคนญี่ปุ่นจนกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม ขอบคุณศาสนาชินโตที่สร้างบรรทัดฐานที่ดีให้คนญี่ปุ่น

ขอบคุณการท่องเที่ยวอะคัง