posttoday

ไซ่ง่อน-ลักย้า-ฟู่ก๊วก

16 กุมภาพันธ์ 2556

เรา...สมาชิกชมรมผู้สื่อข่าวท่องเที่ยวอาเซียน ออกเดินทางจากนครไซ่ง่อน (โฮจิมินห์) เวียดนามใต้

เรา...สมาชิกชมรมผู้สื่อข่าวท่องเที่ยวอาเซียน ออกเดินทางจากนครไซ่ง่อน (โฮจิมินห์) เวียดนามใต้

โดย...จำลอง บุญสอง

เรา...สมาชิกชมรมผู้สื่อข่าวท่องเที่ยวอาเซียน ออกเดินทางจากนครไซ่ง่อน (โฮจิมินห์) เวียดนามใต้ หลังจากไปกินเงาะสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจนฉ่ำใจแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ ลักย้า (Rach Gia) ในจังหวัดเกียนยาง เมืองชายฝั่งทะเลเมืองหนึ่งของที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงเพื่อขึ้นเรือไปฟู่ก๊วก (Phu Quoc) เกาะตากอากาศที่สำคัญเพียงหนึ่งเดียวของเวียดนามใต้ที่มีขนาดเท่าสิงคโปร์

ลักย้าแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็มีความสำคัญ เพราะอยู่ริมทะเลเหมือนสมุทรสาคร เพราะเป็นเมืองประมงและมีทั้งทรัพยากรน้ำจืดและน้ำเค็มครบ ด้วยความเป็นศูนย์กลางของทรัพยากรทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ตลาดลักย้าจึงอุดมไปด้วยพืชและสัตว์น้ำจืดและน้ำเค็มอย่างมากมาย เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของน้ำจืดและน้ำเค็ม จึงมีสินค้าสดๆ มาจำหน่ายคล้ายๆ ตลาดแม่กลองบ้านเรา แต่ทว่าถูกกว่ามากเพราะไม่มีโรงงานส่งออกขนาดใหญ่

นอกจากอาหารทะเลแล้วยังมีปลาน้ำจืด งูน้ำจืด เช่น งูเห่า งูสิง และงูเหลือมหลาม มาวางขายแบบเดียวกับตลาดงูน้ำที่โตนเลสาปเมืองเสียมราฐ ที่ผมเคยถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านท่องเที่ยวโพสต์ทูเดย์อ่าน ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนในลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจึงกินงู เพราะงูในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงนั้นมีมากพอๆ กับที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเรือกสวนไร่นาอันเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่ปลาและหนู

นาที่อยู่ริมแม่น้ำโขงนั้นมากเหลือเกิน ตลอดระยะเวลาที่เรานั่งรถโดยสารมาเราจะเห็นได้ว่าเวียดนามใต้มี “นา” มากพอๆ กับที่ราบลุ่มปากแม่น้ำเจ้าพระยารวมกับปากแม่น้ำบางปะกงรวมกับท่าจีนและแม่กลองรวมกันทีเดียว เรือบรรทุกข้าวเพื่อส่งออกมีเต็มไปแทบจะทุกลำน้ำ นี่ถ้าเวียดนามปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้เท่าที่ประเทศไทยทำ ผมว่าเวียดนามไม่ธรรมดาทีเดียว

แต่ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ก็เสียดายแทนคนกัมพูชาที่ต้องสูญเสียที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงไป ไม่งั้นกัมพูชาเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมาที่สุดในโลกอีกประเทศหนึ่งแน่ นึกถึงสมเด็จสีหนุที่ยอมให้กองกำลังเวียดกงเดินทัพผ่านกัมพูชาไปตีไซ่ง่อนเพื่อแลกกับดินแดนปากแม่น้ำโขงแล้วอดสงสารไม่ได้ คนชนะเท่านั้นที่จะได้เป็นคนขีดเส้นแบ่งแดน

จากลักย้าเราไปถึงฟู่ก๊วกด้วยเรือด่วนแบบที่ไปสมุยนั่นแหละ แม้จะมีพื้นที่เท่าสิงคโปร์แต่ก็มีคนอยู่เพียง 1 แสนคน แต่มีชายฝั่งทะเลยาว 115 กม. ซึ่งถือว่ายาวมาก

เราต้องนั่งเรือเร็วถึง 2 ชั่วโมง กว่าจะไปถึงจุดหมาย (แต่ถ้านั่งเครื่องบินเล็กมาจากไซ่ง่อนก็ชั่วโมงเดียว) พอไปแล้วแทนที่พวกเราจะได้บรรยากาศแบบภูเก็ตหรือเกาะช้าง กลับต้องเผชิญกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เช็กอินได้ก็ไปเดินตลาดสดที่มีปูปลาสดโดยไม่ต้องแช่น้ำแข็ง “เฮียสี่” พูนศักดิ์ อุดมเลิศลักษณ์ แห่งอินโดไชน่า เอ็กซ์พลอเรอร์ ได้ปูราคาถูกเอามาให้คนกัมพูชาที่ไปหากินอยู่ที่ฟู่ก๊วกต้มให้กิน เขาต้มปูให้กินโดยไม่คิดสตางค์ เพราะเป็นคนกัมพูชาที่เคยมาหากินที่โรงเกลือมาก่อน

ฟู่ก๊วกนี่เป็นแหล่งผลิตน้ำปลาดีของเวียดนามใต้นะครับ ใครบอกว่าน้ำปลาเป็นของไทย ก็ต้องบอกว่าน้ำปลาเป็นของทั้งไทย เวียดนาม และกัมพูชา เพราะเป็นวัฒนธรรมการกินของภูมิภาคแบบเดียวกับน้ำบูดูที่เป็นวัฒนธรรมการกินร่วมของคนภาคใต้ มาเลย์ หมู่เกาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

สุเทพ พวงมะโหด เพื่อนร่วมชมรมท่องเที่ยวอาเซียนของผม ท่านยกย่องน้ำปลาเวียดนามเหลือเกิน ท่านบอกว่ามันทั้งหอมและกลมกล่อมเหมือนน้ำปลาไทยในอดีต ผมชิมแล้วก็เห็นด้วย เพราะทั้งหอมทั้งกลมกล่อมจริงๆ สุเทพเคยไปกินน้ำปลาที่ห่าเตียน (เมืองที่ติดชายแดนกัมพูชา) มาก่อน จึงบอกว่าน้ำปลาที่ห่าเตียนดีกว่าที่ฟู่ก๊วก เฮียสี่ขำก๊าก เพราะน้ำปลาจากห่าเตียนหลายเจ้าก็เอาไปจากฟู่ก๊วกนั่นเอง เพียงแต่ห่าเตียนเป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองขายส่ง

จุดเด่นของฟู่ก๊วก คือ มีหาดทรายขาวสะอาด มีแหล่งดำน้ำที่มีแหล่งปะการังสมบูรณ์ อยู่ติดกับเมืองแก้ป จังหวัดกัมปอต ภาคใต้ของกัมพูชา ว่ากันว่าที่นี่เป็นต้นกำเนิดของสุนัขพันธุ์หลังอาน

ตามแผนพัฒนา เวียดนามจะสร้างเกาะแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก (แบบเดียวกับภูเก็ต บาหลี) สนามบินขนาดใหญ่จะสร้างเสร็จในปี 2563 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ 2.6 ล้านคนต่อปี และในปี 2573 จะทำเป็นสนามบินนานาชาติรองรับได้ถึง 7 ล้านคนต่อปี

เราไปซื้อน้ำปลาที่ตลาดห่าเตียน ก็เห็นน้ำปลาจากฟู่ก๊วกมาขายเต็มไปหมด แถมราคาแพงกว่า ที่ฟู่ก๊วกเขาเอาน้ำปลามาขายเป็นของฝากทุกโรงแรม ถ้าใครไปฟู่ก๊วกอย่าลืมซื้อน้ำปลามาเป็นของฝากนะครับ รับรองว่าหอมอร่อยเพราะหมักได้ที่จริงๆ

ใครสนใจไปท่องเที่ยวสามประเทศแถบอินโดจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม ลองโทรไปขอข้อมูลหรือจะให้จัดทริปได้ที่ Indochina Explorer กรุงเทพฯ 02-898-2324 อรัญประเทศ โทร. 037-230-125-6 หรือดูรายละเอียดที่ www.indochinaexplorer.com หรือ E-mail [email protected]