posttoday

จิตติรัตน์ วิภูสุพรรณ์ ช็อป ชอบ

29 ธันวาคม 2555

ความสุขของ “ป้อ-จิตติรัตน์ วิภูสุพรรณ์” คือได้เป็นสาวกพระเจ้าหลุยส์ (วิตตอง) พระเจ้าแอเมส พระนางชาแนล

ความสุขของ “ป้อ-จิตติรัตน์ วิภูสุพรรณ์” คือได้เป็นสาวกพระเจ้าหลุยส์ (วิตตอง) พระเจ้าแอเมส พระนางชาแนล

โดย...กาญจน์ อายุ

ความสุขของ “ป้อ-จิตติรัตน์ วิภูสุพรรณ์” คือได้เป็นสาวกพระเจ้าหลุยส์ (วิตตอง) พระเจ้าแอเมส พระนางชาแนล สิ่งที่หลายคนบอกว่าฟุ่มเฟือย แต่สำหรับเธอมันคือความสุข เป็นความสุข ณ ช่วงอายุนี้ที่กำลังประสบความสำเร็จในชีวิต ได้เป็นเจ้าของคลินิกเสริมความงาม “ลาลาน่า คลินิก” ที่กำลังไปได้สวย มีลูกชายวัยสองขวบ มีครอบครัวสุขสันต์ และมีกำลังซื้อมากพอที่ไม่ทำให้ตัวเองและครอบครัวเดือดร้อน

แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิต เธอยังคงเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เคยเดินทางไปประเทศอินเดียเพื่อนั่งสมาธิและทำบุญในเส้นทางสี่สังเวชนียสถาน และจะไปเป็นครั้งที่สองในปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงหนึ่งอาทิตย์ที่ทำให้คุณป้อกลับมาทบทวนชีวิตอีกด้านของตัวเอง

ชีวิตสองด้านในตัวเธอกลายเป็น “ความลงตัว” ที่คอยสมดุลชีวิตไม่ให้สุดโต่ง เกิดเป็นความสุขทั้งทางธรรมและทางโลกของสาววัยย่าง 35 คนนี้

โลก

คุณป้อออกตัวหนักแน่นว่าเธอ “ไปเที่ยวเพื่อช็อปเป็นหลัก” ดังนั้นถ้าอยากทราบข้อมูลว่าประเทศไหนลดเดือนอะไรเธอรู้หมด “ฮ่องกงต้องไปเดือนหกถึงเดือนแปด (มิ.ย.-ส.ค.) ช่วงนั้นจะเซลส์ทั้งเกาะ” เธอเริ่มยกตัวอย่าง “แต่ถ้าฝรั่งเศสต้องเดือนเจ็ด (ก.ค.) ของแบรนด์เนมจะลดราคาเยอะประมาณ 30-70% ยกเว้นยี่ห้อแอเมส ชาแนล และหลุยส์วิตตอง ที่จะไม่ลดราคา”

คุณป้อเล่าประสบการณ์ช็อปล่าสุดที่ไปฝรั่งเศสกับความพยายามอ้อนพนักงานขายแอเมสถึง 4 วัน จนได้กระเป๋าแอเมสรุ่นเบอร์กิ้น (Birkin) มา 1 ใบ “คนที่ซื้อกระเป๋าแอเมสได้ต้องมีโปรไฟล์” เธอเล่าความยากลำบากให้ฟัง “คือคนธรรมดาจะเดินเข้าไปในช็อปแล้วซื้อกระเป๋าแอเมสเลยไม่ได้ คุณต้องเป็นคนดังหรือคนที่มีโปรไฟล์ในสังคมถึงจะมีสิทธิเป็น Waiting List” คนธรรมดาฟังแบบนี้ถึงกับอึ้ง เธอเล่าต่อ

“กระเป๋าแอเมสบางรุ่นอย่างรุ่นเบอร์กิ้น ต้องรออย่างน้อยหนึ่งปีถึงจะมีสิทธิซื้อ และระหว่างรอนั้นเราต้องซื้อสินค้าอื่นๆ ของเขาไปด้วย ที่สำคัญเราต้องไปซื้อกับพนักงานคนเดิมเพื่อให้เขาจำเราได้”

ประเทศไหนที่คุณป้อไปเที่ยวแล้วมีช็อปแอเมส ภารกิจสำคัญของเธอคือ ขอเป็น Waiting List ในเมืองนั้นให้ได้ “ตอนไปฝรั่งเศสเลือกนอนโรงแรมที่ใกล้ช็อปแอเมสที่สุด ก่อนเดินไปช็อปต้องแต่งตัวเต็มให้ดูหรูหรามากที่สุด เดินเข้าไปอ้อนพนักงานคนเดิม ซื้อของในร้านกลับมาทุกวัน จนวันสุดท้ายก่อนกลับพนักงานก็ใจอ่อนยอมให้ซื้อจนได้” ซึ่งเธอคิดว่า “เขาคงสงสาร”

และที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม “ที่ฮานอยมีช็อปแอเมส เราก็ไปเป็น Waiting List จนได้ แต่ก่อนเป็นป้อต้องซื้อของในร้านประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งเป็นของที่ไม่อยากได้เลย ซึ่งตอนนี้ผ่านมาครึ่งปีแล้วก็ยังไม่ได้กระเป๋า”

ฟังแบบนี้แล้ว อดถามไม่ได้ว่าทำไมถึงมีความพยายามอยากได้กระเป๋ายี่ห้อนี้นัก “มันเป็นความสุขของเรา เป็นความชอบของเรา” เธอตอบ และอีกเหตุผล “ซื้อมาแล้วมันไม่ขาดทุน เพราะยี่ห้อนี้เขาไม่พัฒนารุ่น ไม่พัฒนาแบบ อย่างรุ่นเบอร์กิ้นนี้มีมาเป็นร้อยปีแล้วก็ยังเหมือนเดิม ถ้าคิดจะขายจริงๆ มูลค่าก็มีแต่มากขึ้นเรื่อยๆ”

นอกจากความยุ่งยากที่กว่าจะได้กระเป๋ามาถือสักใบแล้ว ตัวกระเป๋าเองก็น่าทึ่ง “กระเป๋าทั้งใบทำด้วยมือทั้งหมด” เธอเล่า “และแต่ละใบจะมีรหัสของช่างที่ทำกระเป๋า ถ้ากระเป๋าพังต้องส่งไปซ่อมกับช่างคนเดิมที่เย็บกระเป๋าใบนั้นขึ้นมา” ยิ่งฟังก็ยิ่งตื่นเต้นกับกระเป๋าไฮโซยี่ห้อนี้ แต่คุณป้อยังเล่าไม่จบ

“ราคาของกระเป๋าขึ้นอยู่กับสี หนัง และรุ่น สีชมพูจะแพงสุด สีเหลือง สีม่วง ก็แพงกว่าสีอื่นเหมือนกัน หนังที่แพงสุดคือหนังจระเข้ที่เลี้ยงในบ่อหินอ่อนเพื่อไม่ให้หนังมีรอย และรุ่นที่แพงเป็นพิเศษคือ เบอร์กิ้นและเคลลิ้น (Kelly) โดยประมาณแล้วกระเป๋าใบหนึ่งมีราคาตั้งแต่ 3 แสนไปถึง 3 ล้านบาท”

คนธรรมดาฟังแล้วหัวใจเต้นแรงกับความรู้ใหม่ของคนชั้นสูง แต่ถึงอย่างไรคุณป้อก็ยังคงประมาณตน เพราะชิ้นไหนที่แพงเกินตัวก็ไม่ทุรังซื้อ “ขอแค่ชื่นชมก็พอ”

ธรรม

และถึงแม้คุณป้อจะได้กระเป๋าแต่ละใบมาด้วยความอดทน แต่เธอก็เคยมีความคิด “ซื้อมาทำไม เอาไปบริจาคดีมั้ย” ความคิดนี้มันเกิดขึ้นหลังจากที่เธอกลับมาจากทริปแสวงบุญในประเทศอินเดียและเนปาล เมื่อเธอได้เห็นชีวิตคนอินเดีย

“ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะไปอินเดียได้ เพราะเป็นคนรักสบาย แต่พอได้ไปเห็นจริงๆ รู้สึกดีใจที่ได้ไป เพราะมันทำให้ได้เห็นชีวิตคนอื่นที่ลำบากและน่าสงสารมาก พอเห็นแล้วมันทำให้รักบ้านเกิดมากขึ้น รักตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่มีชีวิตแบบนี้ และที่สำคัญทำให้เราอยากทำบุญมากขึ้นเยอะๆ พอกลับมาเจอขอทานที่เมืองไทย รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ควรให้แต่ก็อยากให้ เพราะเรามีมากกว่าก็อยากให้คนที่มีน้อยกว่า”

หรือเวลาที่เครียดๆ เธอก็จะนึกถึงช่วงเวลาที่ไปอินเดีย คิดถึงธรรมะ การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ ซึ่งในปีหน้า (พ.ศ. 2556) เธอจะไปแสวงบุญอีกครั้ง ซึ่งเธอได้แนะนำทัวร์เอื้องหลวงสำหรับคนที่อยากไปอินเดียแบบไม่ลำบาก “เราอยากไปแสวงบุญเราก็อยากมีความรู้สึกดีๆ ไม่อยากเกิดความรู้สึกอยากกลับไทยเวลาไปถึงที่นั่น ซึ่งทัวร์นี้แพงกว่าทัวร์อื่น แต่มั่นใจได้ว่านอนดี กินดี เดินทางดี มีการเตรียมวัตถุดิบจากไทยไปทำอาหารที่นั่นเลย มั่นใจได้ว่าไม่มีโมเมนต์นั่งสมาธิไปท้องร้องไป เพราะได้ทานอิ่มอร่อยทุกมื้อ”


ทั้งนี้ คุณป้อมั่นใจว่าเมื่อแก่ตัวไปจะไม่ช็อปปิ้งมากเหมือนตอนนี้ เพราะพอลูกโต เธอก็จะพาลูกไปเที่ยวในที่ที่ลูกอยากไปหรือที่ที่อยากพาลูกไป และเมื่อแก่ขึ้นไปอีก “ตอนนั้นอาจไปอยู่ในบ้านต่างจังหวัด ใช้ชีวิตเบาๆ ที่แตกต่างจากตอนนี้ไปเลย” สาวนักช็อปพูด