posttoday

ศรัทธาจากพงไพร

29 ธันวาคม 2555

ป่ากับปะเกอกะเญอนั้นเป็นดั่งชีวิตที่ไม่สามารถแยกออกจากกัน หลายครั้งที่เรามักได้ยินข่าวคราวของกลุ่มปะเกอกะเญอที่พากันถอยร่นเข้าไปในป่าลึก

ป่ากับปะเกอกะเญอนั้นเป็นดั่งชีวิตที่ไม่สามารถแยกออกจากกัน หลายครั้งที่เรามักได้ยินข่าวคราวของกลุ่มปะเกอกะเญอที่พากันถอยร่นเข้าไปในป่าลึก

โดย...ปลิวลม

ป่ากับปะเกอกะเญอนั้นเป็นดั่งชีวิตที่ไม่สามารถแยกออกจากกัน หลายครั้งที่เรามักได้ยินข่าวคราวของกลุ่มปะเกอกะเญอที่พากันถอยร่นเข้าไปในป่าลึก เพราะป่าที่พวกเขาอิงอาศัยนั้นถูกรุกล้ำและโดนสังคมเมืองผู้เรียกตัวเองว่าความศิวิไลซ์กลืนกินเข้าไป และเข้าใกล้ทุกที เท่าที่เห็นจะมีเพียงชาวปะเกอกะเญอแห่งบ้านพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน ที่สามารถดำรงวิถีแบบดั้งเดิมอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รุกคืบเข้ามารอบด้าน ซึ่งเหตุผลสำคัญเห็นจะเป็นด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนาอันแรงกล้าที่ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านยังคงหมั่นเข้าวัด ตักบาตร กินมังสวิรัติตลอดชีพ มากกว่านั้นคือยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมได้อย่างเคร่งครัด และหนึ่งในประเพณีที่สะท้อนถึงความศรัทธาได้เป็นอย่างดีเห็นจะเป็น “ประเพณีแห่ครัวตาน” หรือ “แห่ครัวทาน” ที่ริเริ่มโดยครูบาวงศ์ หรือ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา พระนักพัฒนาผู้เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวปะเกอกะเญอทั่วแผ่นดินล้านนา

อลังการ ‘ตานใช้-ตานแทน’

เสียงฆ้องและกลองสะบัดชัยดังแว่วมาจากหน้าประตูทางเข้าพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ที่ตระหง่านอยู่กลางหมู่บ้านด้วยความสูงถึง 71 เมตร เจดีย์สีทองสุกปลั่งแห่งนี้จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้งได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน คือมีเจดีย์ใหญ่เป็นประธานและมีเจดีย์รายเล็กๆ ล้อมรอบ ในวันสำคัญเช่นนี้ใช่เพียงชาวปะเกอกะเญอกว่า 10 หมู่บ้านใน อ.ลี้ เท่านั้นที่แต่งชุดปะเกอกะเญอตัวเต็มยศมาร่วมงาน ด้วยเหตุที่งานสมโภชพระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวนับตั้งแต่ครูบาชัยยะวงศาฯ ได้สร้างเจดีย์แห่งนี้ขึ้นมา ทำให้ตลอด 7 วัน 6 คืน ของงานสมโภชจึงเต็มไปด้วยชาวปะเกอกะเญอและชาวกะเหรี่ยงนับหมื่นจากทุกพื้นที่ ทุกหุบเขาในภาคเหนือ ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าแม้ครูบาชัยยะวงศาฯ จะละสังขารไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ทว่าด้วยความศรัทธา ทำให้ทุกคนตั้งใจมาร่วมงานบุญใหญ่ครั้งนี้โดยไม่เกี่ยงถึงความลำบาก เฉกเช่นในสมัยก่อนที่ครูบาชัยยะวงศาฯ ได้พาชาวปะเกอกะเญอและกะเหรี่ยงนับพันไปช่วยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ

สำหรับงานสมโภชพระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัยนี้ ไม่ได้สร้างความตื่นตาด้วยสีสันแห่งชาติพันธุ์จากพื้นที่ต่างๆ ในภาคเหนือเท่านั้น ไฮไลต์ของงานอยู่ที่ “ต้นครัวตาน” หรือที่ภาคกลางเรียก “ต้นไทยทาน” ซึ่งตามธรรมดาก็จะเห็นเป็นพุ่มเตี้ยๆ ประดับข้าวของเครื่องใช้ หรือไม่ก็เป็นเพียงการนำเครื่องไทยทานใส่พาน ใส่กระป๋องไปถวายพระสงฆ์เท่านั้น แต่ชาวบ้านพระบาทห้วยต้มกลับตกแต่งต้นครัวตานให้สูงใหญ่หลายสิบเมตร มองเผินๆ ต้นครัวตานนี้มีรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายต้นคริสต์มาสที่ห่อพันด้วยผ้าผืนยาวหลากสีสัน ซึ่งเมื่อได้ถามไถ่ถึงความหมายและที่มา กลับพบว่าครูบาชัยยะวงศาฯ ตั้งใจจัดประเพณีแห่ตานใช้-ตานแทน ก็เพื่อเป็นการขอขมาต่อครูบาอาจารย์ รวมทั้งให้ชาวบ้านได้ร่วมกันขอขมาต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งที่จะทำด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โดยพิธีการขอขมาครูบาอาจารย์ของครูบาท่านนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะทำกันอย่างยิ่งใหญ่ หรือสิ้นเปลืองแล้วจบไป ครูบาท่านได้ใช้โอกาสแห่งงานประเพณีสอดแทรกคำสอนเรื่องของกฎแห่งกรรม อีกทั้งยังเป็นกุศโลบายในการนำของที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคมาเป็นกองกลางของหมู่บ้าน เพื่อแจกจ่ายในยามแร้นแค้นต่อไป

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าในสมัยก่อนบ้านพระบาทห้วยต้มเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางป่าเขาของ อ.ลี้ กระทั่งครูบาชัยยะวงศาฯ ได้เข้ามาพัฒนา บูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม หรือวัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มในสมัยก่อน ชาวปะเกอกะเญอจาก จ.ตาก เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ที่ศรัทธาในตัวท่านจึงติดตามมาฝึกปฏิบัติภาวนา ทำให้หมู่บ้านที่มีประชากรเพียงร้อยเศษกลายเป็นหลักพันในไม่กี่ปีถัดมา

การที่ประชากรเพิ่มมากขึ้น แต่ไร่นาไม่พอต่อการทำกินบวกด้วยความแห้งแล้ง นั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ ครูบาท่านจึงได้จัดตานใช้-ตานแทนขึ้น โดยให้ผู้ศรัทธานำข้าวสารอาหารแห้ง ผัก ผลไม้ ผ้าทอ ย่ามทอ เครื่องใช้ต่างๆ เท่าที่หาได้ รวมทั้งเงินคนละเล็กคนละน้อยมาผูกติดอยู่บนโครงไม้ไผ่ด้านใน จากนั้นก็นำผ้าผืนยาวหลากสีสันมาพันคลุมไว้แล้วแห่แหนไปรอบเมือง ซึ่งผ้าหลากสีนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงป้องกันข้าวของในต้นครัวตานไม่ให้เสียหายเท่านั้น แต่ผ้าเหล่านั้นจะถูกนำกลับมาใช้วนในงานพิธีต่างๆ ของทางวัดโดยไม่ต้องเสียเงินทองแต่อย่างใด

แต่เดิมงานแห่ครัวตานจะทำในช่วงปีใหม่ของปะเกอกะเญอ คือวันที่ 13 เม.ย. และช่วงออกพรรษาเท่านั้น ทว่าหลังจากที่ครูบาชัยยะวงศาฯ มรณภาพ งานแห่ตานใช้ ตานแทน จึงถูกจัดขึ้นในวันเปลี่ยนผ้าจีวรท่านครูบา ซึ่งตรงกับวันที่ 15-17 พ.ค.ของทุกปี แต่สำหรับในปีนี้ถือว่าเป็นครั้งพิเศษที่ประเพณีการแห่ตานใช้ ตานแทน ถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่เนื่องในโอกาสสมโภชองค์เจดีย์ชาวปะเกอกะเญอ 10 หมู่บ้านต่างช่วยกันตัดไม้ไผ่สร้างต้นไทยทานสูงกว่า 12 เมตร รวม 15 ต้น เป็นเวลากว่า 3 เดือน

อันที่จริงชาวบ้านหลายคนตั้งใจจะสร้างต้นไทยทานให้สูงใหญ่เฉกเช่นสมัยก่อน แต่เนื่องจากสายไฟที่ไขว้ขวางถนนไปมา ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นเป็นอันต้องจบไป ทว่าสุดท้ายต้นไทยทานที่เล็กลงก็ไม่ได้หยุดยั้งความศรัทธาลงได้ กับภาพของชาวบ้านนับหมื่นที่ช่วยกันแห่แหนต้นไทยทาน แบกเสลี่ยงท่านเจ้าอาวาส วนไปรอบเมืองเป็นเวลานานร่วม 4 ชั่วโมง ส่วนในยามค่ำคืนและย่ำเช้าเสียงสวดมนต์จากคนนับพันกระหึ่มก้องสะท้อนจากรอบองค์เจดีย์ไกลไปถึงท้องทุ่ง ส่วนยามเช้าตุงขนาดใหญ่ขนาด 300 วา ถูกปล่อยลอยขึ้นฟ้าเป็นอันจบพิธีการแห่ตานใช้ ตานแทน

สู่วิถีปะเกอกะเญอ

หลังจากที่ครูบาชัยยะวงศาฯ ได้เข้ามาพัฒนาหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม วิถีของชาวปะเกอกะเญอก็เริ่มเปลี่ยน หลายคนเลิกนับถือผี หันมานั่งสมาธิ ภาวนาตามหลักพุทธศาสนา ที่สำคัญคือเกือบทั้งหมดหันมากินมังสวิรัติเพื่อลดการเบียดเบียนตามแบบอย่างครูบาชัยยะวงศาฯ และนั่นทำให้ปัจจุบันหมู่บ้านพระบาทห้วยต้มกลายเป็นหมู่บ้านมังสวิรัติเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออันจะเห็นได้จากร้านอาหารข้างทางที่จัดเสิร์ฟมังสวิรัติ เช่น กะเหรี่ยงกะลาก็ขายเฉพาะก๋วยเตี๋ยวมังสวิรัติเน้นเต้าหู้เป็นหลัก มีขนมหวานเป็นข้าวโพดไร่นำมาคั่ว และการที่กลายเป็นหมู่บ้านไม่กินเนื้อ จึงทำให้ที่นี่ไม่มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปทำเป็นอาหาร รวมทั้งห้ามขายเนื้อสัตว์ต่างๆ อย่างเด็ดขาด

นอกจากการกินมังสวิรัติ และมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดแล้ว หมู่บ้านปะเกอกะเญอที่ใหญ่ที่สุดในลำพูนแห่งนี้ ยังมีความน่าสนใจอยู่ที่การรักษาวิถีดั้งเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น กว่าครึ่งของเด็กรุ่นใหม่ยังคงทอผ้าจากกี่คาดเอวได้อย่างคล่องแคล่ว เครื่องเงินกะเหรี่ยงลายธรรมชาติที่ขึ้นรูปด้วยมือยังคงเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวต้องการ แม้จะมีไฟฟ้าและถนนเข้าถึงแต่บ้านเกือบจะทุกหลังยังคงมุงหญ้าคาและใบตองตึง ใต้ถุนบ้านมีชุดขาวยาวกรอมเท้าของปะเกอกะเญอและผ้าทอลายตีนกบให้ได้เห็น ซึ่งนั่นแปลว่าไม่ว่าจะมาเที่ยวในช่วงเทศกาล หรือวันธรรมดาก็จะได้เห็น ได้สัมผัสกับวิถีดั้งเดิมของปะเกอกะเญอที่ดำรงอยู่เป็นปกติ

อย่างที่เกริ่นไว้ว่า อ.ลี้ มีหมู่บ้านชาวปะเกอกะเญอรวมได้ 10 หมู่บ้าน และหนึ่งในหมู่บ้านที่จะผ่านเลยไม่ได้คือ “บ้านน้ำบ่อน้อย” ที่น่าสนใจก็ด้วยบ้านไม้อย่างง่ายๆ มุงหลังคาตองตึงและหญ้าคากว่าสิบหลังคาเรือนนี้ขอปฏิเสธสิ่งที่เรียกตัวเองว่าความเจริญ รวมทั้งไฟฟ้าอย่างสิ้นเชิง และแม้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้จะมีรั้วติดกับหมู่บ้านที่มีไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างครบครัน แต่ทุกคนในบ้านน้ำบ่อน้อยยังคงยึดมั่นที่จะอิงอาศัยธรรมชาติแบบก่อนเก่า เจดีย์สานด้วยไม้ไผ่แบบพม่าสูงขนาดสองเมตรเศษ และรอยพระพุทธบาท คือศูนย์กลางแห่งความศรัทธา ในทุกวันพระทุกคนยังคงมารวมตัวกันที่ใจบ้าน ซึ่งตั้งครอบบ่อน้ำขนาดเล็กที่มีน้ำผุดขึ้นมาเสมอปากบ่ออยู่ตลอดปี

นอกจากการท่องเที่ยวแบบใช้สองเท้าเดินไปพูดคุยเพื่อความเข้าใจคนปะเกอกะเญอให้มากขึ้นแล้ว ก่อนลาจากบ้านน้ำบ่อน้อยต้องไม่ลืมแวะไปชมขั้นตอนการทำสร้อยจากกะลามะพร้าวที่เหลือช่างผู้รู้อยู่เพียงคนเดียวในหมู่บ้าน และแม้หลายต่อหลายคนจะบอกว่ามะพร้าวเป็นสิ่งที่หาได้จากธรรมชาติ ส่วนเครื่องมือเจาะกะลาก็ประยุกต์มาจากเครื่องใช้ที่อยู่รอบบ้าน แต่เอาเข้าจริงเมื่อได้มาเห็นขั้นตอนการเจาะกะลาให้กลายเป็นวงกะลาขนาดเล็กกว่าข้อนิ้วก้อยอยู่หลายเท่า รวมทั้งการขัดกระดาษทราย ลงน้ำมัน ต้องบอกเลยว่าสร้อยกะลาราคาเพียงเส้นละ 25-50 บาท นั้นถูกเสียจนอยากจะส่งกลับไปให้ช่าง หรือจะเรียกว่าศิลปินชาวปะเกอกะเญอผู้นี้ตีราคาเสียใหม่ให้สูงขึ้นหลายเท่า เหมือนดั่งคุณค่าของวิถีชีวิตชาวปะเกอกะเญอที่มีเรื่องราวแห่งผืนป่าและศรัทธาให้ได้เรียนรู้อย่างไม่รู้จบ จนน่าจะบรรจุอยู่ในหนังสือวิชาท้องถิ่นของชาวเมืองลี้เสียด้วยซ้ำไป