posttoday

ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมโคนมไทย

29 ธันวาคม 2555

อีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้าเราก็จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าเป็นการรวมตัวกันของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

อีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้าเราก็จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าเป็นการรวมตัวกันของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา

อีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้าเราก็จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าเป็นการรวมตัวกันของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ในการร่วมกันผนึกกำลังทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นฐานเศรษฐกิจเดียวกัน อันจะนำมาซึ่งอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจในระดับโลก แต่อย่างไรก็ตามหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มีการคาดการณ์กันก็คือ จะมีการเปิดให้มีการลงทุนอย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ เกิดการแข่งขันไม่เพียงแค่ในประเทศเท่านั้น หากแต่ว่าจะต้องแข่งขันกับนักลงทุนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำคัญที่อุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งจะสามารถขยายฐานไปสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้ ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าประเทศไทยของเรามีอุตสาหกรรมและธุรกิจอะไรบ้างที่มีศักยภาพตรงจุดนี้ เชื่อเหลือเกินว่าหนึ่งในคำตอบอันดับต้นๆ คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโคนม

ประเทศไทยคือศูนย์กลางในการผลิตน้ำนมดิบอันดับหนึ่งในอาเซียน เพราะสามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปี โดยมีปัจจัยเสริมมาจากการพัฒนากิจการโคนมในประเทศมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องกว่า 50 ปี ทำให้มีการพัฒนาสายพันธุ์โคนมที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยและสามารถให้น้ำนมในปริมาณที่สูง นอกจากนั้นแล้วผลิตภัณฑ์นมของประเทศไทยยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของหลายประเทศในอาเซียน ด้วยเหตุนี้โดยภาพรวมแล้วอาจดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมโคนมไทยจะมีอนาคตที่สดใส แต่อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลบังคับใช้ นั่นก็คือการโยกย้ายถิ่นฐานกลับสู่ประเทศบ้านเกิดของแรงงานต่างด้าว อันมีปัจจัยมาจากการลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านอุตสาหกรรมและความต้องการแรงงานราคาถูกในประเทศเหล่านั้น ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกวันนี้ ภาคอุตสาหกรรมของไทยพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ดังนั้นจากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ คุณสุขศิริ รุ่งเรือง ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) วิเคราะห์ได้ว่า อุตสาหกรรมโคนมไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอาวิทยาการและเทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตนมไทยเดนมาร์คที่ในอดีตนั้น เครื่องบรรจุนมพาสเจอไรซ์ต้องใช้พนักงานปฏิบัติงานถึงไลน์ผลิตละ 20 คน แต่ในปัจจุบันเมื่อได้มีการปรับปรุงเครื่องจักรและนำเข้าเทคโนโลยีสมัยใหม่มาแทนที่ ทำให้ใช้พนักงานปฏิบัติงานเพียงไลน์ละ 8 คนเท่านั้น มากไปกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์และเพิ่มกำลังการผลิตได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ด้านคุณธวัชชัย สำโรงวัฒนา ประธานกรรมการ อ.ส.ค. บอกกับเราว่า กิจการโคนมของประเทศไทยมีจุดแข็งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพราะก่อกำเนิดมากว่า 50 ปี ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มต้นกิจการโคนมได้เพียงไม่กี่ปี ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ทางด้านการเลี้ยงโคนมมากที่สุด มีบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงโคนม มีโคนมที่สามารถผลิตน้ำนมได้มากถึง 5 แสนตัวทั่วประเทศ และที่สำคัญคือมีโรงงานแปรรูปผลิตนมครบวงจร ทั้งที่เป็นของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้อุตสาหกรรมโคนมไทยเติบโตจนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมโคนมไทยก็จะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป ด้วยการปรับปรุงคุณภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้ได้รับมาตรฐานในระดับสากล เพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษให้กับบุคลากร เพราะภาษาอังกฤษจะกลายมาเป็นภาษาหลักในการสื่อสารระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก และการขยายโรงงานผลิตนมให้กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาค ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตและการขนส่งได้

ไม่เพียงแค่การตั้งรับเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเท่านั้นที่จะทำให้อุตสาหกรรมนมไทยเป็นผู้นำของอาเซียนได้ หากแต่การวางแผนในเชิงรุกด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบของความร่วมมือ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำควบคู่กับไปด้วย ซึ่งคุณนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. เล่าถึงแผนการในอนาคตของ อ.ส.ค.ให้เราฟังว่า อ.ส.ค.ได้มีความพยายามที่จะร่วมมือกับสหกรณ์โคนมต่างๆ ทั่วประเทศ ในการเป็นฐานของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมโคนม ซึ่งหากบรรลุจุดประสงค์ของความร่วมมือกันก็จะทำให้เกิดเป็นเครือข่ายที่เชื่อมเข้าหากันทั่วประเทศ อันจะทำให้อุตสาหกรรมโคนมไทยมีรากฐานที่แข็งแกร่ง มากไปกว่านั้นภายในระยะเวลาอีก 5 ปี อ.ส.ค.ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้นมไทย-เดนมาร์ค เป็นนมแห่งชาติ เปรียบเสมือนตัวแทนของประเทศไทยในการเข้าไปส่งเสริมความร่วมมือทางด้านกิจการโคนมในประเทศต่างๆ ในอาเซียน เฉกเช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นของกิจการโคนมในประเทศไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการให้ความช่วยเหลือของประเทศเดนมาร์ก ด้วยเหตุนี้คุณนพดลจึงวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมโคนมไทยจะยังเติบโตได้อีกมาก เพราะทุกวันนี้นมพร้อมดื่มที่ผลิตได้ภายในประเทศ สามารถตอบสนองความต้องการได้เพียงร้อยละ 60 ในขณะเดียวกันฐานการบริโภคนมของคนไทยในปัจจุบันมีเพียง 14 ลิตรต่อคนต่อปี แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนบางประเทศที่ก้าวกระโดดไปถึง 30 ลิตรต่อคนต่อปี

คุณนพดลยังทิ้งท้ายกับเราอีกว่า ลองจินตนาการดูว่าหากทุกวันนี้ เราทุกคนดื่มนมให้มากขึ้นเฉลี่ยคนละ 2-3 ลิตรต่อคนต่อปี เมื่อรวมกันทั้งประเทศแล้วจะคิดเป็นปริมาณความต้องการนมที่เพิ่มขึ้นมหาศาลเพียงใด ดังนั้นก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมโคนมและอาชีพการเลี้ยงโคนมไทยก็จะยังคงเติบโตได้อีกยาวไกลในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่จะเติบโตไปในรูปแบบไหนนั้น ถือเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องจับตากันต่อไป แต่สุขภาพที่ดีสามารถเริ่มต้นได้ในวันนี้ ด้วยการหันมาดื่มนมโคสดแท้เป็นประจำทุกวัน