posttoday

เที่ยวไทยหัวใจใหม่ฯ ตอน ตามฝันกันที่...ระนอง

22 ธันวาคม 2555

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน คอลัมน์เที่ยวไทยหัวใจใหม่ฯ ก็กลับมาพบกับท่านผู้อ่านอีกครั้งแล้วครับเป็นประจำทุกวันศุกร์-เสาร์ที่ 4 ของทุกเดือน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน คอลัมน์เที่ยวไทยหัวใจใหม่ฯ ก็กลับมาพบกับท่านผู้อ่านอีกครั้งแล้วครับเป็นประจำทุกวันศุกร์-เสาร์ที่ 4 ของทุกเดือน

โดย...นิธิ ท้วมประถม

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน คอลัมน์เที่ยวไทยหัวใจใหม่ฯ ก็กลับมาพบกับท่านผู้อ่านอีกครั้งแล้วครับเป็นประจำทุกวันศุกร์-เสาร์ที่ 4 ของทุกเดือน และนี่ก็เกือบจะเป็นเสาร์สุดท้ายของเดือน ธ.ค.แล้วครับ จะสิ้นปีกันแล้วนะครับ ไวเหลือเกิน ทำอะไรได้ไม่เท่าไร หมดปีอีกแล้ว

หรือจะพูดอีกที ยังเที่ยวไม่เท่าไรเลย หมดปีอีกแหละ หุหุ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกไม่น้อยทีเดียวครับ ที่ยังน่าไปสัมผัสและค้นหา ซึ่งผมเองก็ยังมีเรื่องที่ยังค้างต้องมาเขียนรายงานให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบอยู่อีกไม่น้อยเหมือนกัน ก็ต้องขอยกยอดข้ามไปปีหน้าก็แล้วกันนะครับ ซึ่งก็จะทยอยเขียนลงเรื่อยๆ ก็แล้วกัน

มาถึงเรื่องสุดท้าย ท้ายปีนี้ผมขอพาท่านผู้อ่านไป จ.ระนอง ครับ จังหวัดที่ซ่อนตัวเองอยู่หลังเส้นทางคดโค้งหลายร้อยโค้ง ผ่านขุนเขาไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูก

ระนองเมืองเล็กๆ สงบๆ แต่เต็มไปด้วยสีสันของชีวิต ทั้งในเรื่องของธุรกิจประมง ธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตแบบเงียบๆ แต่ก็ความเป็นอยู่ของคนที่ระนองนี้ยังคงเรียบง่ายอย่างน่าอิจฉาจริงๆ

สนามกีฬากลางเมืองระนอง ยังเป็นศูนย์รวมของคนระนอง ที่ออกมานั่งพักผ่อน หรือมาออกกำลังกายกันตั้งแต่เวลาประมาณ 4 โมงเย็นไปจนกระทั่งถึงพระอาทิตย์ลับแสง เมื่อเทียบกับชีวิตของคนกรุงเทพฯ อย่างผมแล้ว 4 โมงเย็นยังทำงานกันแบบหัวเป็นเกลียวอยู่เลย กว่าจะเงยหน้าจากคอมพิวเตอร์ได้ ก็ 3 ทุ่มกันไปแล้ว

เห็นความเป็นอยู่แบบเรื่อยๆ สบายๆ ของคนระนองแล้วน่าอิจฉาครับ ไม่ต้องเร่งไม่ต้องรีบอะไรมากมาย แถมบรรยากาศของเมืองยังน่าสบายเสียด้วย ก็ที่นี่ถนนหนทางก็ยังไม่ใหญ่ไม่โต ยังเป็นถนนเล็กๆ ลัดเลาะไปตามภูเขา ต้นไม้เขียวขจีไปหมด ฝนก็ตกอยู่เรื่อยๆ ชุ่มฉ่ำดีไม่น้อย

ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีแนวคิดจะสร้างให้ระนองเป็นเมืองท่องเที่ยวในด้านของการรักษาสุขภาพ เพราะที่นี่มีบ่อน้ำแร่ร้อน ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในประเทศไทย และถ้าใครได้แช่น้ำแร่ที่นี่ก็ถือว่าดีต่อสุขภาพไม่น้อยครับ ทั้งเรื่องของการไหวเวียนของเลือดลมทั้งหลาย และเรื่องของการคลายกล้ามเนื้อก็ว่ากันไป

จะว่าไปแล้วน่าเสียดายไม่น้อยเหมือนกันที่คนไทยไม่ค่อยจะนิยมไปเที่ยว จ.ระนอง กันเท่าไรครับ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเส้นทางการเดินทางมาสู่ จ.ระนอง ที่ต้องผ่านคดโค้งแห่งขุนเขาหลายร้อยโค้ง ทำให้หลายๆ คนขยาดที่จะมาเที่ยวที่นี่

แต่ก็ต้องขอบอกนะครับว่าเดี๋ยวนี้ถนนหนทางการเดินทางมาที่ จ.ระนอง นี้ สะดวกสบายแล้วครับ ถนนเกือบจะ 4 เลนหมดแล้ว ใช้เวลาเดินทางจาก กทม.มาก็ประมาณ 7 ชั่วโมง แบบเรื่อยๆ ครับ

แวะมาตามรายทางไม่น่าเบื่อหรอกครับ เดี๋ยวเดียวก็ถึง ออกจากกรุงเทพฯ เช้าหน่อย มาถึงระนองบ่ายแก่ๆ ไม่เหนื่อยแน่นอน และก่อนจะถึงระนอง อย่าลืมแวะบ้านทับหลีนะครับ ที่นี่เขาขึ้นชื่อเรื่องการทำซาลาเปา ซึ่งผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านน่าจะคุ้นชื่อ ซาลาเปา ทับหลี กันอยู่แล้ว

คราวนี้มาทานถึงที่กันเลยครับ บ้านทับหลีนั้นตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางจาก จ.ชุมพร มา จ.ระนอง ครับ ประมาณ 60 กม.เห็นจะได้ กำลังมึนๆ กับโค้งอยู่พอดี ก็ถือว่าหยุดพักรถ พักคนนั่งหน่อยก็ดีไม่น้อย สมัยก่อนที่ผมมาระนอง ที่บ้านทับหลีมีร้านขายซาลาเปา ขนมจีบ อยู่ไม่กี่ร้านครับ บ้านแถวนั้นก็เป็นบ้านไม้ มีอยู่ประมาณ 10 หลังเท่านั้น เรียกว่าเป็นจุดแวะพักเล็กๆ ระหว่างทาง

แต่มาวันนี้ ทับหลีเปลี่ยนไปไม่น้อยเลย ผมเองขับรถมาถึงที่บ้านทับหลีแล้วยังงงๆ ว่าถึงแล้วหรือ เพราะนึกว่าเป็นเมืองเล็กๆ ที่ไหน เปลี่ยนไปเยอะเหลือเกิน ตึกแถวขึ้นเรียงรายอยู่ริมถนนเต็มไปหมด ร้านขายซาลาเปา เจ๊โน่น เจ๊นี่ มีอยู่เป็นสิบๆ ร้าน แถมทุกร้านบอกว่าตัวเอง เป็นร้านดั้งเดิม สูตรเก่าแก่อีกด้วย

หุหุ ผมเห็นอย่างนี้แล้วก็ขำครับ เวลาเห็นร้านขายของตามริมทาง ที่เหมือนๆ กันไปหมด เวลาจะจอดทีต้องลุ้นว่าตาดีได้ ตาร้ายเสียจริงๆ เพราะไม่รู้ว่าร้านไหนของดี ร้านไหนย้อมแมวบ้าง เฮ้อ...นี่แหละครับ เมืองไทย พอใครขายได้ ขายดี ก็มาขายบ้าง ซึ่งก็ไม่รู้แล้วว่าเจ้าไหนของจริงของเก่าแก่ เจ้าไหนของแจมมาใหม่ ก็แล้วแต่ดวงพวกเราก็แล้วกัน

เหมือนกับเวลาเราจะไป จ.เพชรบูรณ์ เหมือนกัน พอถึง อ.วิเชียรบุรี ร้านไก่ย่างวิเชียรบุรี มีเป็นสิบๆ ร้าน แล้วจะเลือกยังไงล่ะ ว่าวิเชียรบุรีเจ้าไหนของแท้ ไม่ได้เอาไก่ซีพีมาย่างขาย โอย...ขนาดไปถึงที่แล้ว ยังไม่ชัวร์เลยครับว่าจะได้กินของแท้หรือเปล่า อย่างนี้หาซื้อไก่ย่างวิเชียรบุรีที่ขายตามตลาดในกรุงเทพฯ ก็น่าจะเหมือนกันเนอะ

เรื่องนี้ผมว่า ททท. น่าจะหารือกับองค์กรท้องถิ่นที่มีสินค้าของตัวเอง ในการคุมคุณภาพของสินค้าเหล่านี้หน่อยก็ดีนะครับ เพราะหากปล่อยให้ขายกันแบบนี้ละก็ ผมว่าต่อไปจะไม่มีนักท่องเที่ยวกล้าแวะซื้อของเหล่านี้ เพราะกลัวครับว่าจะเจอกับของอะไรก็ไม่รู้ที่ทำมาแบบขอไปที หลอกขายนักท่องเที่ยวได้แล้วก็จบกัน เพราะคงไม่มีใครขับรถย้อนกลับไปต่อว่าแล้วละครับ แต่ก็เข็ดกันไป ซื้อแล้วไม่ได้ของดี อย่างนี้ต่อไปก็ไม่มีใครแวะซื้อแล้วครับ

เอ้า...กลับมาที่ระนองกันต่อดีกว่าครับ ขับรถต่อจากทับหลี อีกประมาณ 1 ชม.ก็มาถึงตัวเมืองระนองแล้วครับ ต้องถือว่า ระนองนั้นเจริญขึ้นมามากทีเดียว มีโรงแรมขนาดเล็ก ประเภท บูทีก โฮเต็ล เปิดใหม่หลายแห่งทีเดียว จากเดิมที่เวลามีใครมาเที่ยวระนอง ร้อยทั้งร้อย ต้องพักโรงแรมจันสมธารา โรงแรมที่ต่อท่อน้ำแร่มาให้ใช้กันในห้องพักเลยทีเดียว ก็เรียกได้ว่า มาถึงระนองกันจริงๆ เลยก็ว่าได้ เพราะได้มาอาบน้ำแร่กันแล้ว

แต่หากใครไปพักที่อื่นแล้วอยากจะไปอาบน้ำแร่ ก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ ขับรถไปที่บ่อน้ำแร่ได้เลย ที่นั่นมีบริการแช่น้ำแร่ซึ่งบริหารงานโดยเอกชนอยู่แล้วครับ มีทั้งแบบแช่น้ำแร่กลางแจ้งซึ่งเป็นเหมือนสระว่ายน้ำครับ ใครอยากลงไปโชว์หุ่น อวดหนุ่มอวดสาวก็ทำได้เลยครับ เสียค่าลงสระไป 30 บาท

แต่ถ้าไม่ต้องการอวดใคร ไปฝั่งตรงข้าม จะมีห้องอาบน้ำแร่แยกเป็นสัดส่วน กันการเหนียมอาย แต่สนนราคาก็ขยับขึ้นมาเป็น 150 บาทต่อคน มีทั้งแบบอ่างจากุซซี รวมและแยกห้องเป็นส่วนตัวเลือกได้ตามสบาย อ้อ...ถ้าจะไปใช้บริการควรนำชุดว่ายน้ำส่วนตัวไปด้วยครับ อย่าไปเสี่ยงเช่าใช้ของทางร้านเลยครับ สยิวไปหน่อย

แถมการมาระนองครั้งนี้ผมโชคดีไม่น้อยครับ เพราะเป็นวันแรกที่ จ.ระนอง จัดถนนคนเดินขึ้น ซึ่งอยู่หน้าโรงแรมที่พักพอดีเลยครับ ไม่ต้องขึ้นรถไปให้เมื่อย ออกมาเดินได้เลย

จริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้ ถนนคนเดินนั้นกลายเป็นเสน่ห์ของแต่ละจังหวัดไปแล้วนะครับ ซึ่งส่วนตัวแล้วผมชอบนะ แต่ขอให้สินค้าที่มาขายเป็นสินค้าพื้นบ้าน ประเภทขนม อาหาร ประจำท้องถิ่น ก็เอามาเลยครับ ขออย่าเอาสินค้าพวกตลาดนัดก็แล้วกัน อย่างนี้ไม่ไหว

การมา จ.ระนองครั้งนี้ ผมตามฝันอีกอย่าง นั่นคือการมาตกปลาครับ หลังจากที่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาผมเองได้มีโอกาสไปตกปลา ในแถบน่านน้ำทะเลสิมิลันแห่ง จ.พังงา กันไปแล้ว มาคราวนี้เลยขอเปลี่ยนบรรยากาศมาตกปลาที่ จ.ระนอง เสียหน่อย

และไม่ได้ไปตกแค่ในน่านน้ำระนองนะครับ แต่เป็นการข้ามเขตแดนไปตกกันในเขตประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่ากันเลยทีเดียว

ทริปนี้ ททท.จัดขึ้นเพื่อเป็นการสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวในรูปแบบของกิจกรรมกลางแจ้ง ในลักษณะของการตกปลา ที่ต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการเดินทางไปยังแหล่งตกปลาในพื้นที่ใกล้เคียง และ จ.ระนอง ก็เป็นหนึ่งในแหล่งตกปลาที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นไปได้

การไปตกปลาที่ประเทศพม่านั้นไม่ได้เข้าไปกันง่ายๆ นะครับ ต้องทำเรื่องทำเอกสารกันไม่น้อยทีเดียว เริ่มตั้งแต่เรือที่จะพาเราเข้าไปตกปลาที่นั่น ต้องเป็นเรือที่ซื้อตั๋วกับทางการพม่าเป็นรายปีไว้แล้ว ไม่ใช่ว่าเรือลำไหนก็เข้าไปตกได้นะครับ ถูกจับติดคุกขี้ไก่กันมาหลายลำแล้ว

ติดคุกน่ะไม่ค่อยเท่าไรหรอกครับ แต่พวกเล่นยึดอุปกรณ์ตกปลาไปด้วยนี่สิเจ็บใจเหลือเกิน เพราะอุปกรณ์ตกปลาน้ำลึกแบบนี้ ถ้ารวมๆ กันทั้งลำก็หลายแสนบาทละครับ บางกรุ๊ปอุปกรณ์ระดับเทพๆ ก็ถึงหลักล้านแน่นอน

ถ้าเราจะไปตกปลาน่านน้ำพม่า ก็ต้องส่งพาสปอร์ตไปให้กับเจ้าของเรือที่เขาจะพาเราไป ซึ่งในทริปนี้คือเรือ POLARIS FIVE ครับ มีไต๋นุเป็นผู้กุมพังงาเรือพาเราบุกทะเลพม่าตลอด 4 วัน 3 คืน

ส่งพาสปอร์ตแล้ว ส่งรูปขนาด 2 นิ้วอีก 2 รูป พร้อมเงินอีกคนละ 130 เหรียญสหรัฐ เป็นค่าผ่านแดนเข้าไปตกปลาที่นั่น ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยครับ สำหรับใครที่จะไปตกปลาที่นั่นหากคำนวณคร่าวๆ แล้วการไปตกปลาที่พม่า โดยมาขึ้นเรือที่ จ.ระนอง ก็ตกเฉลี่ยคนละ 23.-2.5 หมื่นบาทครับ ซึ่งบางคนอาจมองว่าแพง แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ

แต่เชื่อหรือเปล่าครับ ธุรกิจพานักท่องเที่ยวไปตกปลาในพม่านั้น กำลังได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย ไต้หวัน มาเลเซีย ที่ชื่นชอบกิจกรรมทางนี้ไม่น้อย และที่สำคัญมาใช้บริการเรือไทย มาพักเมืองไทย แค่ไปตกปลาที่พม่าเท่านั้น ยังไงๆ เมืองไทยก็ได้ประโยชน์ไม่น้อย และตอนนี้เห็นว่า ททท.กำลังจะโปรโมตกิจกรรมนี้ในตลาดประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน ก็ขอเอาใจช่วยครับ ยิ่งต่างชาติมากันมากๆ อย่างนี้ ททท.ชอบ เศรษฐกิจไทยก็ชอบด้วย

ตอนแรกว่าจะลงเรือกันตั้งแต่ช่วงเช้าครับ แต่ต้องรอเจ้าหน้าที่ ตม.มาตรวจเอกสารที่ท่าเรือ รวมทั้งซื้อสิ่งของจำเป็นอีกนิดหน่อย เพื่อความพร้อมที่จะใช้ชีวิตบนเรือตกปลาตลอด 4 วัน ถ้าขาดอะไรละก็อย่าหวังเลยว่าจะหาที่ไหน

กว่าเรือจะขยับออกจากเรือที่ท่าน้ำระนอง ก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงแล้วครับ เรือมุ่งหน้าไปทางตะวันตก มุ่งไปทางประเทศพม่า แต่เรายังดิ่งไปตกปลาไม่ได้นะครับ เพราะต้องไปทำเอกสารเข้าประเทศพม่าที่เกาะสองเสียก่อน

และต้องรับไกด์พม่าขึ้นเรือเรามาด้วยอีก 1 คน ซึ่งถือเป็นระเบียบที่เรือตกปลาจากไทยทุกลำต้องทำอย่างนั้น ซึ่งไกด์พม่าที่มากับเรานั้น จะมาคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยระหว่างการเดินทางในเขตพม่า หากมีเรือตำรวจหรือทหารมาตรวจครับ

และอีกอย่างคือคอยดูนักตกปลาคนไทยว่าตกปลาตามที่กฎหมายประเทศพม่ากำหนดหรือเปล่า เพราะที่พม่านั้นห้ามตกปลาฉลามครับ ถ้าตกได้ต้องตัดปล่อยสถานเดียว ห้ามเอาขึ้นมาปลดบนเรือ หากนักตกปลาคนใดเอาปลาฉลามขึ้นเรือต้องถูกปรับ 1,000 เหรียญสหรัฐ อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

ระหว่างที่กำลังทำเอกสารเข้าพม่า ก็เลยลองไปเดินเล่นแถวๆ ท่าเรือเกาะสอง ซึ่งเดินไปได้ไม่เกิน 100 เมตรหรอกครับ อากาศร้อนเหลือเกิน แถมร้านค้าแถวนี้ก็ขายสินค้าที่ผมไม่ได้ใช้ด้วย อย่างพวกบุหรี่ต่างประเทศ เห็นพวกพี่ ททท.ซื้อกันมาคนละ 1-2 Cotton เห็นบอกว่าถูกๆ ก็ว่ากันไป

เห็นป้ายบริษัททัวร์ ลองเดินเข้าไปดูก็ต้องทำหน้างงๆ ออกมา ไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวไหนในพม่าต่อดี ก็พี่หม่องเล่นเขียนจุดหมายปลายทางเป็นภาษาพม่าเสียหมด แล้วอย่างนี้ผมจะไปไหนถูกละครับ

บ่ายโมงกว่า เรือโพลาริส ไฟว์ ก็เคลื่อนตัวออกจากเกาะสอง พร้อมไกด์พม่าที่ชื่อ ซูงโฮ ติดสอยห้อยตามมาบนเรือของเราด้วย

ทันทีที่เรือได้วิ่งเต็มความเร็วที่ประมาณ 7 น็อต/ชม. ก็นับไปได้เลยครับว่าอีก 14 ชั่วโมง เราก็จะถึงที่หมายจะตกปลากัน อ่านไม่ผิดหรอกครับว่า 14 ชั่วโมง

ตลอด 14 ชั่วโมง ไม่มีอะไรทำดีไปกว่า นั่งๆ นอนๆ ประกอบอุปกรณ์ คุยแลกเปลี่ยนกับพี่ๆ จาก ททท.ที่ร่วมเดินทางกันมา มิตรภาพต่างๆ ถูกสานขึ้นเพียงแค่เราได้ลงเรือลำเดียวกัน

4 ทุ่มของอีกวันคือเวลาที่ไต๋นุเบาเครื่องเรือ นั่นหมายความว่าความฝันที่เฝ้ารอกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว แต่ทุกอย่างจะเป็นจริงได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเราและโชคชะตา

เหยื่อเหล็กหรือเหยื่อ JIG ถูกหย่อนลงน้ำทันทีที่เสียงเครื่องเรือหยุด การมาตกปลาครั้งนี้เราไม่ได้มาตกปลาแบบครั้งที่ผ่านมา เพราะจะไม่ใช้เหยื่อสดครับ แต่จะใช้เหยื่อปลอมเป็นหลัก เพื่อหลอกล่อ ปลากะพง ปลาทูน่า ปลาสาก และปลาอื่นๆ ที่หลงกลเหยื่อปลอมตัวเงาๆ เลียนแบบลูกปลา

การตกปลาด้วยเหยื่อ JIG นั้นให้ประสบการณ์อีกแบบที่ต้องแลกด้วยเหงื่อและแรงแขนที่หดหายไปอย่างรวดเร็ว จากการที่ต้องกระชากเหยื่อปลอม ที่ทำจากตะกั่ว จากพื้นน้ำขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ปลากะพงตัวแรกคว้าเหยื่อตะกั่วเข้าเต็มปากหลังจากที่ผมกระชากเหยื่อไปเพียงไม่กี่ครั้ง

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเราต้องดั้นด้นกันไปไกลถึงพม่า เมืองไทยไม่มีปลาให้ตกหรือยังไง ก็ต้องบอกว่าเมืองไทยมีครับปลาให้ตก แต่น้อยกว่าเยอะครับ ความชุกชุมของปลาเมืองพม่า ปลานุ่งโสร่งมีมากกว่าเห็นๆ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ที่พม่าเค้าทำประมงน้อยกว่าของไทยครับ ทรัพยากรทางทะเลของเขาเลยเหลืออีกมากครับ

ไม่ใช่แค่จำนวนปลานะครับ แต่ช่วงที่เรือแล่นผ่านเกาะแก่งต่างๆ ที่ทะเลพม่า ต้องยอมรับเลยครับว่าเกาะที่พม่ายังสวยอยู่มากทีเดียว ชายหาดขาวจั๊วะเลยทีเดียว น่าเสียดายไม่มีโอกาสลงไปเหยียบเกาะแถวนั้น

แต่แค่มองด้วยสายตาแล้ว ถ้าพม่าเปิดประเทศแบบเต็มๆ ละก็ ไทยหนาวแน่ครับ เพราะทรัพยากรทางธรรมชาติของเขายังบริสุทธิ์อยู่มากทีเดียว

ที่นี่เราตกปลากันแบบที่เรียกว่าเมื่อยไปทั้งตัวเลยครับ ไม่ได้เมื่อยเพราะได้ปลาเยอะนะครับ แต่เมื่อยเพราะต้องยกเหยื่อขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็สนุกไปอีกแบบครับ

ช่วงกลางวัน ไต๋นุพาเรามาตกปลาเก๋าถ่านกับปลาสีทอง ซึ่งอยู่ในระดับน้ำลึก 200 กว่าเมตร ซึ่งหมดสิทธิที่จะใช้เหยื่อปลอมครับ เพราะต้องถ่วงด้วยตะกั่วหนักเกือบ 1 กิโลกรัม ถ้าต้องใช้กำลังตัวเองขอลาก่อนครับ

อย่างนี้ต้องใช้รอกไฟฟ้าครับในการตกปลาน้ำลึกขนาดนี้ แถมตัวใหญ่เสียด้วย เหยื่อที่ใช้ก็ปลาโอแล่ เกี่ยวเบ็ดลงไปเลยครับ ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก ปลากินแล้วก็กดปุ่มให้รอกไฟฟ้าลากปลาขึ้นมาเป็นอันเสร็จพิธี

ทริปนี้เราตกปลากันแบบพอเพียงครับ เอากลับบ้านกันไปพอสมควร แต่ได้ใจไปเต็มๆ กับความสนุกสนานในเทคนิคตกปลาใหม่ๆ มิตรภาพดีๆ และปริมาณปลาในทะเลที่ทำให้ผมแอบภูมิใจว่า ธรรมชาติยังสมบูรณ์อยู่แม้ว่าจะไม่ใช่ในทะเลไทยก็ตาม