posttoday

คนแม่ฟ้าหลวง

24 พฤศจิกายน 2555

ดอยตุงคือความสำเร็จแบบยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่เข้ามาพัฒนา “คน”

โดย...กาญจน์ อายุ

ดอยตุงคือความสำเร็จแบบยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่เข้ามาพัฒนา “คน” จนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพัฒนาพื้นที่ให้ดอยตุงงดงามอย่างเช่นปัจจุบัน ลบคราบอดีตของไร่เลื่อนลอยและดอกฝิ่นด้วยกลิ่นหอมของกาแฟและสวนดอกไม้

ไม่เพียงเท่านี้ ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงยังเข้าไปพัฒนาอีกหลายพื้นที่ด้วยหลักการไม่กี่ข้อแต่ได้ผลเกือบทุกแห่ง เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจนักจากการบอกเล่าของ “คุณพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และจากความรู้สึกของเด็กสาว “ปุ๊งปิ๊ง-นันทนัช เตชามหาชัย” บัณฑิตจบใหม่ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิ ช่วงเวลาที่ทำให้สาวกรุงเทพฯ อย่างเธอได้เห็นชีวิตอีกด้าน และได้บอกสิ่งที่เรียนรู้มาผ่านคลิปแอนิเมชันชิ้นแรกในชีวิตของเธอ

คนแม่ฟ้าหลวง

 

3 หลัก

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” 3 คำที่ฟังคุ้นหูที่ไม่ใช่เพียงหลักการลอยๆ แต่เป็น 3 คำที่ “ต้องทำ” ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงคน

ขอให้ข้อมูลโดยย่อว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเป็นกลุ่มคนทำงานที่จะลงไปยังพื้นที่ที่มีปัญหาเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น ผ่านการทำงานกับ “คน” ในพื้นที่นั้น มีทั้งแบบมูลนิธิเลือกเข้าไปทำเองและแบบผู้นำในพื้นที่เรียกร้องให้เข้าไปพัฒนา

“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา คือแนวทางที่ในหลวงทรงให้ไว้ เราก็แค่ทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงให้มา” คุณพิมพรรณตอบคำถามที่ว่ามูลนิธิเปลี่ยนจิตใจคนได้อย่างไร

คุณพิมพรรณ อธิบายต่อว่า ทุกอย่างต้องเริ่มที่ความ “เข้าใจ” เข้าใจปัญหาในพื้นที่ เข้าใจปัญหาของคนในพื้นที่ เข้าใจความต้องการ เข้าใจความไม่ต้องการ เพื่อที่จะหาทางแก้ไขร่วมกัน เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้อง “เข้าถึง” นั่นคือการลงพื้นที่ ลงไปมองแววตาเขา ฟังเสียงเขา “ถ้าประชุมกับคนพื้นที่แล้วยังมีคนขมวดคิ้วอยู่ หรือมีคนไม่สนใจสิ่งที่เราพูด เราก็ต้องแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ค่อยๆ อธิบายให้ทุกคนเข้าใจไปด้วยกัน”

คนแม่ฟ้าหลวง

 

จากนั้นคือการ “พัฒนา” เมื่อทุกคนเปลี่ยนความคิดแล้วก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย และเมื่อลงมือทำการพัฒนาในพื้นที่ก็จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จากนั้นทางมูลนิธิจะถอนตัวออกมาให้ชาวบ้านเป็นคนสานงานต่อเอง โดยจะมีผู้นำชุมชนเป็นคนคอยดูแล ซึ่งหากในพื้นที่มีปัญหาเกิดขึ้นอีก พวกเขาก็จะแก้กันเองโดยนำ 3 คำที่ทางมูลนิธิเคยใช้เป็นแนวทาง

3 สาเหตุ

คุณพิมพรรณยังพูดถึงอีก 3 คำที่สำคัญคือ “เจ็บ จน ไม่รู้” 3 คำที่เป็นสาเหตุของสารพัดปัญหา

เธออธิบายว่า ถ้าคนเราไม่แข็งแรง ไม่มีแรง ก็จะไม่มีกำลังและกำลังใจในการทำงาน “สมเด็จย่ากล่าวว่าต้องมีขาเทียม เพราะอะไร เพราะหากไม่มีขาก็จะทำอะไรไม่ได้ ทำนาก็ไม่ได้ เดินไปทำงานก็ไม่ได้” เมื่อมีสุขภาพดีแล้วแต่ไม่มีงานที่มั่นคง คนก็จนอยู่ดี ดังนั้นทุกพื้นที่ต้องมีงานที่มีรายได้ ป้องกันไม่ให้คนจนแล้วไปติดหนี้มีสิน สุดท้ายคือต้องขจัดความไม่รู้ออกไป โดยการให้อาชีพ การศึกษา ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ

คนแม่ฟ้าหลวง

 

ตัวอย่าง

คุณพิมพรรณได้ยกตัวอย่างพื้นที่ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเข้าไปพัฒนาแล้วได้ผลดี เช่น จ.น่าน แหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่กลับพบว่าแหล่งป่าไม้เสื่อมโทรม และที่น่าตกใจคือชาวบ้านที่ จ.น่าน จนเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ดังนั้นทางมูลนิธิจึงเข้าไปพัฒนาป่าและช่วยชาวบ้านให้หายจน

จ.อุดรธานี ขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ มูลนิธิก็เข้าไปให้ความรู้ในด้านนี้ สร้างอาชีพเกษตร และจัดตั้งธนาคารแพะ หรือในต่างประเทศมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงก็เข้าไปพัฒนาเช่นกัน เช่น ประเทศอัฟกานิสถาน ที่ได้เข้าไปทำธนาคารแกะ หรืออาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพและลดปัญหาเรื่องโรคมาลาเรีย

คุณพิมพรรณ กล่าวว่า ในต่างประเทศเขาเรียกร้องให้มูลนิธิเข้าไปพัฒนา เพราะเขาเห็นตัวอย่างอย่างดอยตุงที่พัฒนาขึ้นจริงๆ แต่ทั้งนี้ ใช่ว่าทุกแห่งที่มูลนิธิเข้าไปจะสำเร็จ บางแห่งคนในพื้นที่ยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงก็ต้องล้มโครงการกลับบ้านแล้วรอเวลากลับเข้าไปใหม่

คนแม่ฟ้าหลวง

 

เรียนรู้

คุณพิมพรรณยังได้พูดถึงโครงการนักศึกษาฝึกงานนานาชาติ เปิดค่ายให้นักศึกษาทั้งไทยและต่างชาติไปสัมผัสการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปุ๊งปิ๊งนันทนัช เตชามหาชัย ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ

ปุ๊งปิ๊งเพิ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่จากรั้วธรรมศาสตร์ แต่ระหว่างที่ยังเป็นนักศึกษาเธอได้เข้าร่วมโครงการ โดยโครงการนี้ต้องใช้เวลานอกบ้านถึง 2 เดือน “ตัวเองชอบออกค่ายอาสาทุกปีอยู่แล้ว พอรู้จักโครงการนี้ก็อยากไปทันทีแม้ว่าจะไปถึง 2 เดือนแต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะพ่อแม่สนับสนุนและตัวเองก็ไม่กลัวลำบากด้วย” เธอกล่าว

ปุ๊งปิ๊งได้ไปเรียนรู้ที่ดอยตุง จ.น่าน และอุดรธานี แต่จะอยู่ที่ดอยตุงนานที่สุด ซึ่งที่นี่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างแอนิเมชันเรื่อง “ปลูกฝิ่นมันแย่ ปลูกกาแฟดีกว่า” บอกเล่าอดีตของดอยตุงที่เคยเป็นแหล่งฝิ่นมาก่อน แต่ภายหลังถูกพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพดีจากการเข้ามาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยคลิปได้ถูกเผยแพร่ในยูทูบและเฟซบุ๊ก

“คลิปนี้ทำกับเพื่อนในโครงการอีกคนหนึ่ง ใช้เวลาทำหนึ่งเดือน โดยที่ไม่มีพื้นฐานแอนิเมชันเลย ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าตัวเองจะทำอะไรแบบนี้ได้” ปุ๊งปิ๊งกล่าวและยังพูดถึงมูลนิธิด้วยว่า เธอประทับใจมากที่รู้ว่ายังมีคนดีๆ คอยช่วยเหลือประเทศไทย

คนแม่ฟ้าหลวง

 

คุณพิมพรรณ กล่าวว่า 2 เดือนที่เด็กเข้าร่วมโครงการมันคือการสร้างแรงบันดาลใจ เปิดโลกทัศน์ เปลี่ยนชุดความคิด และทำให้ตระหนักถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว

“เด็กที่พัฒนาแล้วเขาไม่รู้หรอกว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเขาอยู่กันยังไง ชาวบ้านเขาอยู่กับธรรมชาติยังไง ป่าหน้าตาเป็นยังไง เมื่อคนกรุงพูดถึงชาวบ้านก็จะรู้สึกสงสาร แต่จริงๆ พวกเขาเก่งแต่แค่ขาดโอกาส”

“คนที่เข้าร่วมโครงการล้วนมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ดังนั้นเราต้องเอาศักยภาพที่มีไปช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่เรียนจบไปทำงานบริษัทใหญ่โต แต่ไม่มองปัญหาของโลกใบนี้”

และกล่าวทิ้งท้าย “โลกของเรามีเพียงกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้นที่มีสมอง”

คนฉลาด คนมีการศึกษา บนโลกนี้อาจมีมาก แต่คนมีสมองที่จะใช้เพื่อคนอื่น เพื่อคนไม่รู้นั้นหายากนัก นี่อาจเป็นความหมายระหว่างคำของคุณพิมพรรณก็เป็นได้

คนแม่ฟ้าหลวง

 

 

คนแม่ฟ้าหลวง

 

 

คนแม่ฟ้าหลวง